กฎหมายสมรสเท่าเทียมทำให้ไทยเป็นสวรรค์ของ LGBTQ แล้วจริงหรือไม่ ?

ที่มาของภาพ, Getty Photos

กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยวันที่ 23 ม.ค. นี้ หลังจากได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้นจากรัฐสภาเมื่อปีก่อน และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ปีที่แล้ว

นี่จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่ 3 ในเอเชีย ที่จะมีกฎหมายรองรับการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายฉบับนี้จะทำให้กลุ่ม LGBTQ มีสิทธิในทางกฎหมายเพิ่มขึ้น แต่งานวิจัยจาก ธนาคารโลก (World Bank) แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังต้องเผชิญการถูกเลือกปฏิบัติ รวมถึงถูกจำกัดโอกาสในด้านการทำงานและสิทธิขั้นพื้นฐานด้านอื่น ๆ อยู่

.พูดคุยกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและอาจารย์ด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพื่อหาคำตอบว่าประเทศไทยนั้น คือสวรรค์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้วหรือยัง และอะไรคือปัจจัยที่อาจทำให้ไทยยังไม่ใช่สวรรค์ของกลุ่มคนเหล่านี้

“พูดตรง ๆ เลยว่าไม่มีนโยบายรับสาวสองเข้าทำงาน”

ในอดีตที่ผ่านมากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยถูกเลือกปฏิบัติในเชิงกฎหมายและจากหน่วยงานราชการ เช่น ในอดีตใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือใบ สด.43 ระบุถึงกลุ่ม LGBTQ ด้วยถ้อยคำอย่างเช่น โรคจิตวปริต หรือ โรควิกลจริต แต่ในปัจจุบันกฎหมายถูกปรับเปลี่ยนเพื่อเปิดรับผู้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้น โดยในปี 2555 กระทรวงกลาโหมได้ยกเลิกการใช้ถ้อยคำดังกล่าวและแทนที่ด้วย “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด”

เมื่อรวมกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. นี้ ก็แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยได้รับการขยายสิทธิทางกฎหมายเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางกฎหมาย ซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมได้ทั้งหมด

กวินตรา เทียมไสย์ หญิงข้ามเพศวัย 32 ปีผู้จบการศึกษาด้านเพศวิถีและเพศสถานะศึกษา (Gender Experiences) จากสหราชอาณาจักร ให้ความคิดเห็นกับเรื่องดังกล่าวว่า เธอสัมผัสได้ถึงความไม่เท่าเทียมในสังคมและอุปสรรคหลายด้านในการใช้ชีวิตในประเทศไทย เธอเล่าให้ฟังถึงการถูกกีดกัน ไม่ให้มีบทบาทในการเป็นตัวแทนของบริษัทเพราะถูกตีตราว่าการเป็นผู้หญิงข้ามเพศนั้นทำให้เธอดูไม่น่าเชื่อถือ

“เราเคยทำงานในสายการสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร แต่เขาไม่ให้เราทำเพราะจะดูภาพลักษณ์ไม่ดี แต่ส่วนใหญ่เราจะได้ทำเป็นทีมแต่งหน้า แต่งตัว คิดการแสดง เพราะเขาเหมารวมว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศจะเก่งเรื่องนี้”

กวินตรา ยังเล่าให้.ฟังถึงการเล่นมุขตลกที่ทำให้เธอรู้สึกถูกคุกคามในที่ทำงานซึ่งอาจเกิดจากความไม่เข้าใจในความแตกต่าง

“เวลาเราจะไปเข้าห้องน้ำก็จะถามว่า เราจะเข้าห้องน้ำหญิงหรือชาย ไม่กลัวเขากลัวหรอ” เธอระบุ

ที่มาของภาพ, กวินตรา เทียมไสย์

คำบรรยายภาพ, กวินตรา เทียมไสย์ เล่าถึงประสบการณ์การโดนเลือกปฏิบัติในที่ทำงานเพราะเหตุทางเพศ

แม้ประเทศไทยได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ที่มีบทบัญญัติว่าการเลือกปฎิบัติต่อบุคคลที่มีรูปลักษณ์ภายนอกไม่ตรงกับเพศกำเนิดถือเป็นสิ่งผิดกฏหมาย แต่งานวิจัยเรื่อง “การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย” โดย ธนาคารโลก เมื่อปี 2017 ระบุว่า การถูกเลือกปฎิบัติที่ร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการโดนปฏิเสธใบสมัครงานเพราะเพศวิถี หรือ การถูกคุกคามในพื้นที่การทำงาน

โดยจากผลสำรวจผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวน 2,302 คน มากกว่าครึ่งหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาถูกปฎิเสธงานตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นใบสมัครด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศ และยังระบุด้วยว่า การถูกปฏิเสธงานและการถูกคุกคามในพื้นที่ทำงานส่งผลให้พวกเขาวิตกกังวล เครียด รวมถึงป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

งานวิจัยดังกล่าวยังระบุอีกด้วยว่า มากกว่า 22% ของผู้ถูกสำรวจบอกว่า พวกเขาไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเพราะเหตุอัตลักษณ์ทางเพศ

ณัฐินีฐิติ ภิญญาปิญชาน์ ผู้ก่อตั้งทรานส์ทาเลนท์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการสร้างสถานที่ทำงานที่มีความเป็นมิตรต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้สัมภาษณ์กับ.ว่า เธอถูกปฏิเสธรับเข้าทำงานเพราะอัตลักษณ์ทางเพศของเธอ หลังจากส่งใบสมัครงานไปหลายแห่ง

เธอเล่าว่าได้พบกับคำถามที่ทำให้เธอรู้สึกว่ากำลังโดนเลือกปฏิบัติเพราะเหตุทางเพศ เช่น คุณใส่กระโปรงหรือกางเกง คุณจะแต่งหน้าทาปากจัดไหม และคำถามที่เลวร้ายที่สุดที่เธอเคยพบคือ ผ่าตัดแปลงเพศแล้วหรือยัง โดยบางองค์กรเลือกที่จะบอกเหตุผลกับเธออย่างตรงไปตรงมาว่า “พูดตรง ๆ เลยว่าไม่มีนโยบายรับสาวสองเข้าทำงาน”

ณัฐินีฐิติ ยังเล่าด้วยว่า เธอเคยไม่ได้รับการเลื่อนขั้นในที่ทำงานเพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศ โดยฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้พูดกับเธอว่า ไม่ใช่เพราะว่าเธอไม่เก่งหรือดูไม่มีแวว แต่เพราะเธอเป็นสาวข้ามเพศจึงดูไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งคำพูดเหล่านี้เปรียบเสมือน “บาดแผลที่อยู่ในใจ” ของณัฐินีฐิติ

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, รัฐบาลไทยจัดงานเฉลิมฉลองการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ปุรินทร์ นาคสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวกับ.ว่า แม้หลายหน่วยงานและองค์กรจะออกมาสื่อสารว่าต้อนรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ความอันตรายมักซ่อนอยู่ในเงื่อนไขที่แอบแฝงไว้ แม้จะไม่ได้บอกตรง ๆ แต่ทำให้เห็นถึงการจัดลำดับความสำคัญ

“หลายองค์กรอาจมีการเลือกปฏิบัติอย่างกลาย ๆ เช่น เรื่องการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่ง ถ้าคุณเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจถูกจัดลำดับท้าย ๆ กว่าผู้ที่มีการแสดงออกตามเพศกำเนิด” นักวิจาการจาก ม.เกษตรศาสตร์ ระบุ

ประเทศไทยยังไม่ใช่สวรรค์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ณัฐินีฐิติ บอกกับ.ว่า เธอคิดว่าประเทศไทยยังไม่ใช่สวรรค์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมใกล้จะถูกบังคับใช้แล้วก็ตาม เพราะสำหรับเธอ สวรรค์ต้องหมายถึงที่ซึ่งอยู่แล้วมีความสุข มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ซึ่งยังไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เธอเผชิญทุกวันนี้

แม้บริบททางสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ณัฐินีฐิติเชื่อว่าการเลือกปฏิบัติยังคงมีอยู่และพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เธอบอกว่ารู้สึกได้ถึงการตีตัวออกห่างของคนในที่ทำงานเพียงเพราะเธอเป็นหญิงข้ามเพศ

“บางทีไปพบกับผู้บริหารต่าง ๆ ส่วนมากเขาก็จะไม่คุยกับเรา ถามคำตอบคำ ขนาดนั่งข้างเราเขาก็จะหันไปคุยกับอีกข้างหนึ่ง เราก็รู้สึกว่ามันยังมีพื้นที่ของความกลัวการมีอยู่ของเราอยู่” เธอระบุ

แม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้ แต่สำหรับณัฐินีฐิติ เธอยังมีความกังวลหากเธอจะตัดสินใจแต่งงานในอนาคต เพราะกฎหมายรับรองทางเพศที่อนุญาตให้กลุ่ม LGBTQ เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้ยังไม่เกิดขึ้น นี่ทำให้เธอยังต้องคงคำหน้านามว่า “นาย” ไว้แม้หลังแต่งงาน เธอเล่าว่าหากเธอตัดสินใจรับบุตรบุญธรรมและวันหนึ่งส่งลูกไปโรงเรียนซึ่งยังคงระบบ 2 เพศเอาไว้อยู่ ก็อาจเกิดปัญหาในเรื่องการไม่ถูกยอมรับ

“ต้องอยู่ที่โรงเรียนด้วยว่าพร้อมรองรับสมรสเท่าเทียมในการปฏิบัติของโรงเรียนแล้วหรือยัง อาจจะมีกิจกรรมโรงเรียน เช่น วันพ่อ วันแม่ มันยังมีระบบ 2 เพศปกคลุมอยู่ตรงนั้น แล้วเด็กเขาก็จะงงว่าวันพ่อวันแม่แล้วฉันจะเอาใครไป การมองกฎหมายสมรสเท่าเทียมต้องมองในทุกมิติที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของเรา”

เธอบอกกับ.ว่า สำหรับเธอแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมคือกฎหมายการรับรองเพศ พร้อมเล่าถึงประสบการณ์การโดนกักตัวที่จุดตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อยู่บ่อยครั้ง เพราะคำนำหน้านามเธอไม่สอดคล้องกับเพศสภาพปัจจุบัน เธอเล่าว่าต้องตอบคำถามเรื่องเพศสภาพของตัวเองเมื่อเจ้าหน้าที่เห็นคำนำหน้า “นาย” ในหนังสือเดินทาง บางครั้งเธอต้องถูกกักตัวในห้องที่สนามบินแม้จะมีเอกสารยืนยันว่าเดินทางเข้ามาเพื่อทำธุรกิจ ณัฐินีฐิติเชื่อว่าการเดินทางโดยที่ไม่ต้องมีความกังวลว่าจะต้องถูกกักตัวเพราะอัตลักษณ์ทางเพศเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

“การที่คุณเดินทางไปต่างประเทศได้โดยที่ไม่เคยต้องโดนตรวจ หรือตอบคำถาม (เรื่องเพศสภาพ) เพราะคุณเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง มันเป็นความไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เราต้องตระหนักว่ามันไม่ใช่สิทธิพิเศษ มันคือการทำความเสมอภาคให้เกิดขึ้น”

ที่มาของภาพ, ณัฐินีฐิติ ภิญญาปิญชาน์

คำบรรยายภาพ, ณัฐินีฐิติ ภิญญาปิญชาน์ ผู้ก่อตั้งทรานส์ทาเลนท์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการสร้างสถานที่ทำงานที่มีความเป็นมิตรต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

กวินตรา ก็ได้เล่าถึงความยากลำบากในทางเดินทางไปต่างประเทศของเธอเช่นกัน โดยบอกว่าเธอเองก็ถูกเจ้าหน้าที่ ตม. ของประเทศปลายทางที่ไม่คุ้นชินกับความหลากหลายทางเพศสอบถามถึงข้อมูลส่วนตัว

“ตอนเดินทาง เราก็จะโดนคำถามประจำ ว่าทำไมใช้คำนำหน้าว่านาย ทำไมเราแต่งตัวแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งมันทำให้เราเสียเวลา” กวินตรา บอกกับ.

เธอบอกด้วยว่าเพื่อลดความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกเจ้าหน้าที่ ตม. ในประเทศที่ทำการเปลี่ยนเครื่องบินซักถามหรือตรวจสอบ เธอจึงมักเลือกบินตรงไปประเทศปลายทางเท่านั้น ซึ่งทำให้เธอต้องจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินในราคาที่สูงขึ้น

ด้าน ผศ.ดร.ปุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การนำเสนอภาพผู้มีความหลากหลายทางเพศของสื่อยังทำให้ปัญหาเรื่องมายาคติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงขึ้น เพราะสื่อผลิตซ้ำในเรื่องการนำเสนอเกี่ยวกับชุมชน LGBTQ ว่ามักเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ สำส่อน การใช้สารเสพติด และความรุนแรง

“ถามว่าแล้วกลุ่มชายหญิงที่เป็นรักต่างเพศมีพฤติกรรมแบบเดียวกันไหม ถ้าพูดถึงความถี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เรื่องยา เรื่องความรุนแรง อาจจะมีมากกว่า แต่พอเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจะถูกเน้นย้ำขึ้นมาทันที” อาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์ กล่าว

กวินตรา ให้ความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันว่า การสร้างภาพจำเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะจะทำให้คนในสังคมเหมารวมว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีลักษณะนิสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง และทำให้โอกาสในการเรียนรู้ลักษณะนิสัยของตัวบุคคลนั้นหายไป

สมรสเท่าเทียมคือจุดเริ่มต้น: การต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมยังไม่จบ

“ดีใจได้ แต่อย่าชะล่าใจ” กวินตรา กล่าวถึงความคาดหวังต่อรัฐบาลของเธอที่จะพยายามผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมเรื่องเพศในสังคมอย่างต่อเนื่องหลังการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะแม้เธอจะยอมรับว่า การผ่านกฏหมายฉบับนี้เป็นหมุดหมายที่สำคัญ แต่ยังมีเรื่องอื่น ๆ เช่น การศึกษา การรับรองทางเพศ และการเข้าถึงสวัสดิการด้านสาธารณสุขที่ไม่ควรถูกมองข้ามไป เธอเชื่อมั่นว่าหากรัฐบาลมีความตั้งใจ การขับเคลื่อนนโยบายจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

“ข้อดีคือประเทศไทยเป็น รัฐบาลรวมศูนย์ หมายความว่าหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมที่จะสนองนโยบายรัฐบาลกลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง นโยบายการรับรองทางเพศ หรือนโยบายสาธารณสุข” กวินตรา บอกกับ.

หลังการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ผศ.ดร.ปุรินทร์ กล่าวว่ารัฐบาลควรพยายามที่จะส่งเสริมความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศของสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้มั่นใจว่าสังคมพร้อมที่จะปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมาย เพราะความเท่าเทียมในสังคมจะเกิดขึ้นไม่ได้หากรัฐบาลไม่ทำ 2 อย่างนี้ควบคู่กัน

“การแก้กฎหมายเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม ให้ยอมรับในความหลากหลายด้วย ให้มองว่าความหลากหลายนั้นเป็นเรื่องปกติ” อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ ระบุ

ที่มาของภาพ, EPA

ณัฐินีฐิติ ยังมองเห็นความท้าทายอื่น ๆ ที่กลุ่ม LGBTQ ต้องเผชิญ หลังจากการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วย เธอมองว่ายังมีนโยบายอีกมากมายที่หลายภาคส่วนยังต้องช่วยกันผลักดัน เช่น การให้ฮอร์โมนคนข้ามเพศฟรี หรือการเปลี่ยนคำนำหน้านาม เพราะเธอเชื่อว่าการที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านสภาด้วยคะแนนที่ท่วมท้นและถูกบังคับใช้นั้นเป็นเพราะนโยบายดังกล่าวมีผลประโยชน์ทางบวกกับเศรษฐกิจ ซึ่งต่างกับกฎหมายการรับรองเพศสภาพ และนโยบายอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีงานศึกษาออกมารองรับว่าจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างไร

“ทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้มุมมองทางเศรษฐกิจเท่านั้น มันยังมีมุมมองทางสังคม ซึ่งคนมักจะบอกว่าถ้าออกนโยบายต้องตอบโจทย์ทุก ๆ ด้าน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้” เธอระบุ