กทม.เผยยอดเก็บกระทงรวมทั้งหมด 5.1 แสนใบ ลดลงจากปีที่แล้ว 20% 1.2 แสนใบ ส่วนใหญ่ใช้วัสดุธรรมชาติ เขตลาดกระบังครองแชมป์ที่สุด 23,006 ใบ
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2567 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต 50 เขต ได้จัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอยเนื่องในเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อม จัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักการระบายน้ำ จัดเก็บในคลองและบึงรับน้ำที่รับผิดชอบ สำหรับสำนักงานเขต 50 เขต จัดเก็บในสวนสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทง และบริเวณที่จัดงานภายในพื้นที่เขต โดยเริ่มจัดเก็บกระทงตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 15 พ.ย. 2567 แล้วเสร็จก่อนเวลา 05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น (16 พ.ย. 2567)
สำหรับในปี 2567 กรุงเทพมหานคร จัดเก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 514,590 ใบ เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ จำนวน 506,320 ใบ คิดเป็นร้อยละ 98.39 กระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 8,270 ใบ คิดเป็นร้อยละ 1.61 สำหรับจำนวนกระทงทั้งหมดลดลงจากปีก่อน 125,238 ใบ คิดเป็นร้อยละ 19.57 โดยสถิติปี 2566 จัดเก็บกระทงได้ 639,828 ใบ เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ 618,951 ใบ และกระทงโฟม 20,877 ใบ
ในส่วนของการลอยกระทงออนไลน์ ซึ่งเป็นปีแรกที่กรุงเทพมหานครเชิญชวนประชาชนลอยกระทงออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ในบรรยากาศเสมือนจริงของสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 34 แห่ง และริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไอคอนสยาม มีประชาชนร่วมลอยกระทง จำนวน 36,832 ใบ ส่วนการลอยกระทงดิจิทัลในพื้นที่ 4 จุด มีจำนวน 10,885 ใบ
ลอยกระทงปีนี้มีการใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน คือ จากร้อยละ 96.74 เป็น 98.39 ส่วนกระทงโฟมลดลงจากร้อยละ 3.26 เป็น 1.61 โดยเขตที่มีจำนวนกระทงมากที่สุด ได้แก่ เขตลาดกระบัง จำนวน 20,806 ใบ เขตที่มีจำนวนกระทงน้อยที่สุด ได้แก่ เขตคลองสาน จำนวน 147 ใบ
สวนสาธารณะที่เปิดให้บริการ 34 แห่ง มีประชาชนใช้บริการรวมทั้งสิ้น 255,532 คน จำนวนกระทงที่เก็บได้ 96,508 ใบ คิดเป็นจำนวนสัดส่วนประชากรต่อจำนวนกระทง 3 คนต่อ 1 ใบ
จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติแทนการใช้กระทงโฟม แสดงว่าประชาชนและผู้ค้าได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากเป็นการคืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับสายน้ำแล้ว ยังเป็นลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด และช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วย สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้ กรุงเทพมหานครจะคัดแยกก่อนส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกสุขลักษณะ โดยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้จะนำเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม และนำไปฝังกลบ ส่วนกระทงโฟมจะนำไปเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )