“กรมงานแนวร่วม” คือ ‘อาวุธมหัศจรรย์' ของจีน ที่เกี่ยวพันกับการสอดแนมได้อย่างไร ?
Article details
- Author, โค อีว และ ลอรา บิคเกอร์
- Feature, บีบีซีนิวส์
- Reporting from สิงคโปร์ และ ปักกิ่ง
หากว่ากันตามคำกล่าวของอดีตผู้ก่อตั้งอย่างเหมา เจ๋อตุง และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำคนปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมี “อาวุธวิเศษ”
อาวุธวิเศษที่ว่านี้คือ กรมงานแนวร่วม (United Front Work Department หรือ UFWD) และนี่เป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่กำลังสร้างความตื่นตระหนกในประเทศฝั่งตะวันตกไม่น้อยไปกว่าแสนยานุภาพทางการทหารที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ของปักกิ่ง
หยาง เติ้งป๋อ นักธุรกิจชื่อดังที่มีความเชื่อมโยงกับเจ้าชายแอนดรูว์ เป็นชาวจีนโพ้นทะเลรายล่าสุดที่ถูกจับตามองและถูกลงโทษ เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับกรมงานแนวร่วมแห่งนี้
แท้จริงแล้ว กรมงานแนวร่วมไม่ใช่องค์กรลับแต่อย่างใด กรมฯ นี้เป็นหน่วยงานในสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีมานานหลายทศวรรษ และมีหลักฐานบันทึกไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งเคยตกเป็นประเด็นถกเถียงมาก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่สืบสวนทั้งจากสหรัฐฯ หรือออสเตรเลีย ก็ได้อ้างถึง UFWD ในรายงานคดีจารกรรมหลายคดี โดยมักกล่าวหารัฐบาลจีนว่าใช้กรมฯ นี้เพื่อแทรกแซงกิจการภายในของต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาการจารกรรมทั้งหมด โดยระบุว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นเรื่องไร้สาระ
Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ
Pause of เรื่องแนะนำ
สรุปแล้วกรมงานแนวร่วม (UFWD) คืออะไรกันแน่ และมีบทบาทอย่างไร ?
“ควบคุมสารจากจีน”
เดิมทีกรมงานแนวร่วมหมายถึงพันธมิตรคอมมิวนิสต์ในวงกว้าง และเหมา เจ๋อตุง ก็เคยยกย่องว่ากรมฯ นี้เป็นกุญแจสำคัญสู่ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองจีนที่ยืดเยื้อหลายทศวรรษ
หลังสงครามยุติลงในปี 1949 และพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มปกครองประเทศจีน กิจกรรมของกรมงานแนวร่วมก็ลดความสำคัญลงเนื่องจากมีประเด็นสำคัญเร่งด่วนอื่น ๆ ที่รัฐบาลต้องดำเนินการก่อน ทว่าในทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง UFWD กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง
UFWD ในยุคของสี จิ้นผิง ยังคงมีจุดมุ่งหมายสอดคล้องกับแนวทางเดิม คือต้องการ “สร้างพันธมิตรที่กว้างขวางที่สุดกับทุกกลุ่มสังคมที่เกี่ยวข้อง” มาเรอิเคอ ออลเบิร์ก นักวิชาการอาวุโสจากกองทุนเจอร์มัน มาร์แชลล์ (German Marshall Fund) กล่าว
หากมองเผิน ๆ กรมงานแนวร่วม ไม่ใช่องค์กรลึกลับแต่อย่างใด เนื่องจากมีเว็บไซต์ของตัวเองและรายงานกิจกรรมหลายอย่างบนแพลตฟอร์มดังกล่าว แต่ขอบเขตและการเข้าถึงของหน่วยงานนี้กลับไม่ชัดเจนนัก
แม้ว่ากิจกรรมส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศ แต่ ดร.ออลเบิร์กกล่าวว่า “เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้สำหรับงานแนวร่วมคือชาวจีนโพ้นทะเล”
ในปัจจุบัน UFWD พยายามจะขึ้นมามีอิทธิพลเหนือการถกเถียงในประเด็นอ่อนไหวต่าง ๆ ตั้งแต่ไต้หวัน ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นดินแดนของตน ไปจนถึงการปราบปรามชนกลุ่มน้อยในทิเบตและซินเจียง นอกจากนี้ยังพยายามกำหนดทิศทางการเล่าเรื่องเกี่ยวกับจีนในสื่อของต่างประเทศ โจมตีผู้วิจารณ์รัฐบาลจีนในต่างแดน และยังพยายามดึงชาวจีนโพ้นทะเลที่เป็นบุคคลสำคัญให้มาอยู่ในวงอิทธิพล
“งานแนวร่วมอาจรวมถึงการจารกรรม แต่มีขอบเขตกว้างกว่าการจารกรรม” ออเดรีย วอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียกล่าวกับบีบีซี
“นอกจากการได้มาซึ่งข้อมูลลับจากรัฐบาลต่างประเทศ กิจกรรมของงานแนวร่วมยังมุ่งเน้นไปที่การระดมพลชาวจีนโพ้นทะเลในวงกว้าง” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่าจีน “โดดเด่นในด้านขนาดและขอบเขต” ของกิจกรรมการสร้างอิทธิพลเหล่านี้
จีนทะเยอทะยานที่จะมีอิทธิพลในลักษณะนี้มาตลอด ทว่าการเติบโตของประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาช่วยให้รัฐบาลใช้ประโยชน์จากอิทธิพลเหล่านี้ที่ถูกหว่านเอาไว้
นับตั้งแต่สี จิ้นผิงเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2012 เขาได้แสดงความกระตือรือร้นเป็นพิเศษในทำให้โลกรู้ถึงสารที่จีนต้องการจะสื่อออกไป เขาส่งเสริมแนวทางการทูตแบบ “นักรบหมาป่า” ที่เผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม และกระตุ้นให้ชาวจีนในต่างประเทศ “เล่าเรื่องราวของจีนให้ดี”
กรมงานแนวร่วม (UFWD) ดำเนินงานผ่านองค์กรชุมชนชาวจีนในต่างประเทศหลากหลายแห่ง ซึ่งคแยปกป้องพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเข้มแข็ง พวกเขาได้เซ็นเซอร์งานศิลปะที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประท้วงต่อกิจกรรมของผู้นำทางจิตวิญญาณทิเบต ดาไล ลามะ นอกจากนี้ UFWD ยังถูกเชื่อมโยงกับการขู่เข็ญสมาชิกของชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ในต่างประเทศ เช่น ชาวทิเบตและอุยกูร์
อย่างไรก็ตาม งานส่วนใหญ่ของ UFWD มักทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น ๆ ของพรรค โดยผู้สังเกตการณ์ให้คำจำกัดความการทำงานของ UFWD ว่าเป็น “ความสามารถในการปฏิเสธเท่าที่เป็นไปได้”
ความขมุกขมัวไม่ชัดเจนนี้เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสงสัยและความกังวลมากมายเกี่ยวกับ UFWD
ตอนที่นายหยางยื่นอุทธรณ์ต่อการถูกรัฐบาลสหราชอาณาจักรแบนท่ามกลางข้อกล่าวหา การจารกรรม ศาลตรวจคนเข้าเมืองได้ตัดสินว่าเขาได้พยายามกลบเกลื่อนความสัมพันธ์ของเขากับ UFWD ลง โดยเจ้าหน้าที่สหราชอาณาจักรอ้างว่าเขาใช้ความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญในอังกฤษเพื่อการแทรกแซงของรัฐจีน
อย่างไรก็ตาม หยางยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ทำสิ่งใดที่ผิดกฎหมายและข้อกล่าวหาการจารกรรมเป็น “เรื่องที่ไม่เป็นความจริงทั้งหมด”
กรณีแบบนายหยางที่ถูกกล่าวหาเรื่องการจารกรรมพบเห็นได้บ่อยครั้งขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2022 ทนายความชาวจีน-อังกฤษที่มีชื่อว่า คริสตีน ลี ถูกกล่าวหาจาก MI5 ซึ่งเป็นหน่วยสืบราชการลับภายในประเทศของอังกฤษ ว่าเธอได้ดำเนินการผ่าน UFWD เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลมีอิทธิพลในสหราชอาณาจักร
ปีถัดมา เหลียง หลี่ถัง ชาวอเมริกันที่เปิดร้านอาหารจีนในบอสตัน ถูกฟ้องร้องว่ามีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้คัดค้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนในพื้นที่แก่ผู้ติดต่อของเขาใน UFWD
และในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ลินดา ซัน อดีตผู้ช่วยในสำนักงานผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ถูกตั้งข้อหาว่าใช้ตำแหน่งของเธอเพื่อให้บริการผลประโยชน์ของรัฐบาลจีน โดยเธอได้รับสิทธิประโยชน์ รวมถึงการเดินทางเป็นการตอบแทน ตามรายงานจากสื่อของรัฐจีน เธอได้พบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ UFWD ในปี 2017 ซึ่งบอกเธอว่าให้ “เป็นทูตแห่งมิตรภาพจีน-อเมริกา”
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจีนที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จจะมีความเกี่ยวข้องกับพรรคฯ เพราะการจะทำธุรกิจก็มักต้องได้รับการอนุมัติจากพรรค
ทว่าขอบเขตระหว่างการใช้วิธีการสร้างอิทธิพลและการจารกรรมอยู่ที่ไหน ?
“ขอบเขตระหว่างการใช้วิธีการสร้างอิทธิพลและการจารกรรมยังไม่ชัดเจน” เมื่อพูดถึงการดำเนินงานของรับบาลจีน โฮ-ฟัง ฮัง อาจารย์ศาสตราจารย์ด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ กล่าว
ความคลุมเครือนี้ทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากที่จีนผ่านกฎหมายในปี 2017 ที่บังคับให้พลเมืองและบริษัทจีนต้องร่วมมือกับการสืบสวนด้านข่าวกรอง นี่รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลกับรัฐบาลจีน ซึ่ง ดร. ฮัง กล่าวว่า “ทำให้ทุกคนกลายเป็นสายลับที่มีศักยภาพ”
กระทรวงความมั่นคงของรัฐของจีนได้ปล่อยวิดีโอเผยแพร่โฆษณาที่มีข้อความน่าตกใจ เตือนสาธารณชนว่าสายลับต่างชาติมีอยู่ทุกที่และ “พวกเขาฉลาดแกมโกงและลับ ๆ ล่อ ๆ”
นักศึกษาบางคนที่ถูกส่งไปเที่ยวต่างประเทศเป็นกรณีพิเศษ ถูกมหาวิทยาลัยบอกว่าให้จำกัดการติดต่อกับชาวต่างชาติและถูกขอให้รายงานกิจกรรมของพวกเขาเมื่อกลับมา
และถึงกระนั้น สี จิ้นผิง ก็กระตือรือร้นที่จะส่งเสริมภาพลักษณ์ของจีนสู่สายตาโลก เขามอบหมายให้หน่วยงานที่เชื่อถือได้ของพรรคดำเนินการแสดงความแข็งแกร่งในต่างประเทศ
และนั่นกำลังเป็นความท้าทายสำหรับผู้ครองอำนาจฝั่งตะวันตก พวกเขาจะสร้างความสมดุลระหว่างการทำธุรกิจกับเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับสองของโลกควบคู่ไปกับความกังวลด้านความมั่นคงอย่างร้ายแรงได้อย่างไร
การต่อสู้กับแขนที่ยื่นยาวของจีน
ความกลัวอย่างแท้จริงต่ออิทธิพลของจีนในต่างประเทศทำให้ฝั่งตะวันตกมีท่าทีที่แข็งขึ้น และส่งให้รัฐบาลต่าง ๆ มัดอยู่ในภาวะขัดแย้ง
บางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ได้พยายามปกป้องตัวเองด้วยกฎหมายการแทรกแซงต่างประเทศใหม่ ๆ ที่ทำให้บุคคลที่ถูกมองว่าแทรกแซงกิจการภายในประเทศเป็นความผิดทางอาญา ในปี 2020 สหรัฐอเมริกาได้กำหนดข้อจำกัดในการขอวีซ่าสำหรับผู้ที่ถูกมองว่าเข้าร่วมกิจกรรมของ UFWD
รัฐบาลจีนที่ไม่พอใจกฎหมายดังกล่าวและการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นจากกฎหมายเหล่านั้น พร้อมเตือนว่านี่กำลังเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ของสองฝ่าย
“ข้อกล่าวหาที่เรียกว่าเป็นการจารกรรมของจีนเป็นเรื่องที่ไร้สาระอย่างสิ้นเชิง” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวแก่นักข่าวในวันอังคารเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับหยาง “การพัฒนาความสัมพันธ์จีน-สหราชอาณาจักรเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ”
ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าแขนที่ยืดยาวของแนวร่วมของจีนเป็นเรื่องที่น่ากังวลจริง ๆ
“รัฐบาลตะวันตกในปัจจุบันจำเป็นต้องมีความไม่เชื่อใจมากขึ้นเกี่ยวกับงานแนวร่วมของจีนและมองว่ามันเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงไม่เพียงแต่ต่อความมั่นคงของชาติ แต่ยังต่อความปลอดภัยและเสรีภาพของพลเมืองชาวจีนเชื้อสายหลายคน” ดร. ฮัง กล่าว
แต่เขายังเสริมว่า “รัฐบาลยังจำเป็นต้องระมัดระวังต่อการก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อชาวจีนและทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือกับชุมชนชาวจีนเชื้อสายในการต่อต้านภัยคุกคามร่วมกัน”
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ดิ ซานห์ ด่วง ผู้นำชุมชนชาวจีนที่เกิดในเวียดนามและอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย ถูกตัดสินว่ามีความผิดในฐานวางแผนแทรกแซงให้กับต่างประเทศเนื่องจากเขาพยายามสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐมนตรีออสเตรเลีย
อัยการกล่าวว่าด่วงเป็น “เป้าหมายที่เหมาะสม” สำหรับกรมงานแนวร่วม (UFWD) เนื่องจากเขาเคยลงสมัครรับเลือกตั้งในช่วงทศวรรษ 1990 และมีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่จีน
การพิจารณาคดีของด่วงเน้นไปที่ความหมายที่แท้จริงเมื่อเขากล่าวว่าการเชิญรัฐมนตรีเข้าร่วมกิจกรรมการกุศลจะเป็นประโยชน์ต่อ “พวกเราชาวจีน” คำถามคือ เขาหมายถึงชุมชนชาวจีนในออสเตรเลียหรือจีนแผ่นดินใหญ่กันแน่
ในที่สุด การที่ด่วงถูกตัดสินว่ามีความผิด และการที่เขาได้รับโทษจำคุก ได้สร้างความกังวลอย่างรุนแรงว่า กฎหมายต่อต้านการจารกรรมและการดำเนินคดีที่กว้างขวางเช่นนี้ สามารถกลายเป็นอาวุธในการกำหนดเป้าหมายต่อคนเชื้อสายจีนได้อย่างง่ายดาย
“สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นคนเชื้อสายจีนจะสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีน และไม่ใช่ทุกคนที่มีส่วนร่วมในองค์กรชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้จะถูกขับเคลื่อนด้วยความจงรักภักดีอย่างแรงกล้าต่อจีน” ดร. วอง กล่าว
“นโยบายที่รุนแรงเกินไปซึ่งอิงจากการจำแนกเชื้อชาติจะเพียงแต่ทำให้โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีนที่ว่าชาวเชื้อสายจีนไม่เป็นที่ยอมรับถูกต้อง และสุดท้ายจะผลักชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลให้เข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของปักกิ่งมากยิ่งขึ้น”
ที่มา BBC.co.uk