กสทช.เตรียมบูรณาการการแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านโทรทัศน์ด้วยระบบ EWS (Emergency Warning Diagram) ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเชื่อมโยงกับ cell broadcast
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการจัดหารือตลอดทั้งวัน ระหว่างศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จากสำนักงาน กสทช. กับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารภัยพิบัติ อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ตลอดจนผู้แทนจากผู้ประกอบการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ได้แก่สถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) กรมประชาสัมพันธ์ และไทยพีบีเอส รวมถึงสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เพื่อติดตามความคืบหน้าการแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านโทรทัศน์ตามประกาศหลักเกณฑ์ว่าด้วยภัยพิบัติที่มีอยู่ และพัฒนาแนวทางเพิ่มเติมโดยบูรณาการช่องทางสื่อสารผ่านโครงข่ายทีวีดิจิทัล
สำหรับระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน (Emergency Warning Diagram: EWS) ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เป็นระบบที่สามารถกระจายข้อมูลภาพและเสียงได้ในพื้นที่วงกว้าง โดยสามารถแจ้งเตือนทั่วทั้งประเทศwร้อมกันหรือเลือกสื่อสารเฉพาะพื้นที่ได้ตามลักษณะพื้นที่ครอบคลุม ซึ่งประชาชนจะสามารถเข้าถึงได้ทันทีขณะที่รับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ทั้งนี้ ทาง ททบ. ได้มีการติดต่อประสานงานมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อทดลองทดสอบและพัฒนาระบบดังกล่าว และกสทช.ได้จัดการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ปลายปี 2567 โดย ททบ. ได้มีการทดลองทดสอบเบื้องต้นในระบบปิดซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี
จากการสำรวจทางเทคนิคในเบื้องต้น MUX ที่มีความพร้อมและสามารถทดลองทดสอบในระบบเปิดได้เลยคือโครงข่ายของ ททบ. และไทยพีบีเอส ซึ่งครอบคลุมสัดส่วนการรับชมประมาณร้อยละ 88 ของผู้รับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังมีรายละเอียดที่ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ฯ ผู้ให้บริการช่องรายการโทรทัศน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องทำความเข้าใจและประสานงานกันในอีกหลายประเด็น จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและเตรียมการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน (EWS) ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลขึ้น เมื่อต้นปี 2568 ที่ผ่านมา โดยมีรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ เป็นที่ปรึกษา
อนึ่ง การผลักดันระบบ EWS สอดคล้องกับนโยบายและแผนการดำเนินงานที่สำคัญของ กสทช. ประจำปี 2568-2569 ที่ระบุถึงการส่งเสริมการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการออกแบบสำหรับทุกคน (inclusive invent) และบูรณาการการแจ้งเหตุฉุกเฉินและการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีเป้าหมายการให้บริการการเตือนภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน (EWS) ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล การสนับสนุนการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ (Cell Broadcasting Diagram Cellular Alert Diagram) รวมทั้งติดตามการดำเนินการในการจัดทำระบบเพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ในระหว่างการประชุม ผู้แทนจาก ปภ.ได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าของระบบแจ้งเตือนภัยผ่านมือถือ ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ได้สนับสนุนงบประมาณให้ ปภ.เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในส่วนของ Cell Broadcast Entity (CBE) เป็นผู้รวบรวม ตรวจสอบข้อมูล และกำหนดข้อความและเนื้อหาในการเผยแพร่ โดยมีกระทรวงดิจิทัลฯ รับหน้าที่เชื่อมต่อระบบ Cloud Server และการเชื่อมต่อ CBE กับศูนย์ Cell Broadcast Heart (CBC) โดยในการเผยแพร่ข้อความ ปภ. จะใช้มาตรฐานกลางของข้อมูลที่จะแลกเปลี่ยนระหว่างระบบที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ (Standard Alert Protocol: CAP) ซึ่งเป็นมาตรฐานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (Global Telecommunication Union: ITU) รองรับได้ทุกช่องทางการสื่อสาร ทุกประเภทของภัยพิบัติ
ในส่วนของช่องโทรทัศน์ภัยพิบัตินั้น ก่อนหน้านี้ ในการประชุมคณะกรรมการ กสทช. เมื่อวันพุธที่ 18 กันยายน 2567 บอร์ด กสทช. มีมติเห็นชอบอนุญาตให้ ทรท.ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบตามโครงการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล หมายเลข 1 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน โดยอนุญาตสำหรับการทดลองหรือทดสอบเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. รวมถึงได้มีการมอบหมายให้สำนักงาน กสทช.จัดทำบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีภารกิจหน้าที่ด้านภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ได้แก่ ปภ. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมฝนหลวงและการบินเกษตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานของ ทรท. รูปแบบการนำเสนอเนื้อหารายการ และการติดตามและประเมินผลการดำเนินการของ ทรท.
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านเนื้อหาในการสื่อสารด้านภัยพิบัติ และการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติหลายหน่วยงานยังไม่แล้วเสร็จ จึงทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ กระนั้น ที่ประชุมเห็นประโยชน์ของการมีช่องทางเฉพาะที่เชื่อถือได้ในการสื่อสารภัยพิบัติในระดับสาธารณะ จึงเห็นว่าควรแสวงหาแนวทางปรึกษาหารือกับ ปภ. และหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับผู้มีอำนาจสั่งการตามกฎหมายในแต่ละประเภทภัยพิบัติต่อไป
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )