การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (local weather finance) คืออะไร เหตุใดจึงสำคัญใน COP29
Article data
- Writer, นาวิน ซิงห์ คัดกา
- Role, ผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อม
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 29 หรือ COP29 ในปีนี้ จัดขึ้นที่กรุงบากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน การประชุมในครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่อง “การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ local weather finance เป็นหลัก
นี่เกี่ยวข้องกับเม็ดเงินที่จำเป็นต่อการรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดหรือโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ไปจนถึงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการนำเสนอพืชพันธุ์ที่ทนต่อความแห้งแล้ง
ผลลัพธ์หลักจากการประชุมนี้อาจจะเป็นการให้คำมั่นสัญญาใหม่ว่ากลุ่มประเทศร่ำรวยจะให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจนกว่าที่อยู่ทางซีกโลกใต้ ซึ่งนี่คือเป้าหมายเชิงปริมาณทางการเงินใหม่ ที่เรียกว่า the Contemporary Collective Quantified Goal
และแม้ว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งถือว่าต้องรับผิดชอบในทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เคยให้คำมั่นว่าจะให้เงินกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ในครั้งนี้ตัวเลขอาจสูงถึงหลักล้านล้านดอลลาร์
ต้องการเงินมากขนาดไหน
เพียงแค่กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด 45 ประเทศที่รวมกลุ่มกันเจรจาในเวที COP ก็ระบุว่าต้องการเงินสนับสนุนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030 เพื่อให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มดำเนินการตามแผนการด้านสภาพภูมิอากาศได้
Skip เรื่องแนะนำ and continue readingเรื่องแนะนำ
Dwell of เรื่องแนะนำ
อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วยประเทศจากแอฟริกา 54 ชาติ ก็บอกเช่นกันว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วควรต้องอุดหนุนเงินกว่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030 สำหรับการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐที่เป็นเกาะเล็ก ๆ ต้องการให้เป้าหมายเชิงปริมาณทางการเงินใหม่ครอบคลุมไปถึงเม็ดเงินสำหรับกองทุนเพื่อจัดการความสูญเสียและเสียหาย (loss and harm fund) ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ด้วย
กองทุนดังกล่าวมีขึ้นเพื่อจัดการผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศอันรุนแรง ที่มีต่อชุมชนต่าง ๆ ที่ไม่สามารถปรับตัว และมีความจำเป็นต้องโยกย้ายถิ่นฐานหรือต้องได้เงินชดเชยสำหรับความสูญเสียที่ไม่อาจแก้ไขให้กลับมาดังเดิมได้
งานศึกษาชิ้นหนึ่งโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระระดับสูงในประเด็นการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Self reliant High-Stage Educated Community on Climate Finance) ซึ่งเป็นกลุ่มอิสระที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้กระบวนการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ระบุว่าจำเป็นต้องมีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (ไม่รวมจีน) เป็นเม็ดเงินกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030 โดยการลงทุนดังกล่าวประกอบด้วยการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ และยังครอบคลุมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ รวมไปถึงการเปลี่ยนไปสู่พลังงานหมุนเวียน และการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กลุ่มดังกล่าวระบุว่า นี่จะถือเป็นการเพิ่มเม็ดเงินขึ้นถึง 4 เท่าจากระดับในปัจจุบัน
รายงานล่าสุดของสหประชาชาติระบุว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องการเม็ดเงินระหว่าง 187,000 ถึง 359,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อการปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 กลุ่มประเทศเหล่านี้ได้รับเงินสนับสนุนส่วนนี้เพียง 28,000 ล้านดอลลาร์
“เงินสนับสนุนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันนั้นยังอยู่ห่างไกลจากที่ควรจะเป็น เมื่อพิจารณาว่าขนาดของความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่นั้นใหญ่แค่ไหน” ทอม มิตเชลล์ กรรมการบริหารของสถาบันนานาชาติเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Worldwide Institute for Environment and Trend – IIED) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในกรุงลอนดอน ระบุ
“มันไม่ต่างจากการพยายามดับไฟป่าด้วยน้ำเพียงไม่กี่แก้ว”
กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้รับเงินสนับสนุนมากแค่ไหน
ในการประชุม COP ที่กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีการตกลงกันว่านับจากปี 2020 กลุ่มประเทศร่ำรวยจะมอบเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในฐานะการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปใช้สำหรับการเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดและการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาบอกว่า คำสัญญาดังกล่าวนี้ยังไม่ได้รับการเติมเต็ม และนี่ทำให้ความเชื่อมั่นในการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศที่จัดโดยสหประชาชาติเสื่อมถอย
พวกเขาบอกว่า กลุ่มประเทศร่ำรวยนับเงินช่วยเหลือปกติว่าเป็นเม็ดเงินช่วยเหลือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงบอกด้วยว่าแม้บางครั้งมีเงินทุนด้านสภาพภูมิกาศ แต่การเข้าถึงเม็ดเงินดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไม่เห็นด้วย องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Financial Co-operation and Trend – OECD) บอกว่าพวกเขามอบเงินช่วยเหลือด้านสภาพภูมิอากาศไปกว่า 116,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022
กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ควรต้องร่วมจ่ายด้วยหรือไม่
ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งถูกเซ็นในปี 2015 บอกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งในทางประวัติศาสตร์ถือเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล ควรจะต้องจ่ายเงินสนับสนุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
แต่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วบอกว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่ (rising economies) เช่น จีน อินเดีย และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่เช่นกัน ควรจะต้องร่วมจ่ายในการพยายามช่วยกลุ่มประเทศยากจนที่เปราะบางด้วย
“มันแฟร์อย่างมากที่จะเพิ่มกลุ่มประเทศที่จะมาร่วมจ่าย เนื่องจากข้อเท็จจริงและความสามารถทางเศรษฐกิจนั้นมีวิวัฒนาการอยู่ตลอด” สหรัฐฯ กล่าว
ด้านสหภาพยุโรปเห็นด้วยว่าเหล่าประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประมาณมากและมีความสามารถในทางเศรษฐกิจอย่างสูง ควรมีส่วนร่วมจ่ายมากกว่านี้
แต่กลุ่มจี 77 จีน (G77 China) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาบนเวทีเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศของยูเอ็น กลับปฏิเสธแนวคิดนี้
ทางกลุ่มบอกว่าทั้งความตกลงปารีสและกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1992 นั้นระบุว่า กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วต้องเป็นผู้จ่าย และการเจรจาบนเวที COP นั้นก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของกรอบข้อตกลงดังกล่าวทั้งสอง
เม็ดเงินจะมาจากภาษีอย่างเดียวหรือไม่
เหล่าประเทศพัฒนาแล้วบอกว่า เมื่อประเมินจากขนาดของเม็ดเงินที่ต้องจ่าย เงินจากภาครัฐอย่างเดียวนั้นจะไม่พอ และภาคเอกชนจำเป็นต้องเข้ามาร่วมจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระระดับสูงในประเด็นการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เห็นพ้องว่าบทบาทของภาคเอกชนนั้นสำคัญมาก พร้อมระบุว่าเงินอุดหนุนของภาคเอกชนในระดับนานาชาติ ซึ่งมักมาในรูปของเงินกู้ จะต้องขยายตัวอีกกว่า 15 เท่า จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ด้านสภาพภูมิอากาศได้
แต่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาบอกว่า การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรรวมเงินให้เปล่า และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำด้วย
“เงินกู้ที่เก็บดอกเบี้ยในอัตราตลาด ไม่สามารถจัดให้เป็นการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้… และนี่จะทำให้เงินทุนไหลกลับจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไปยังประเทศพัฒนาแล้ว” กลุ่ม G77 China ระบุในแถลงการณ์
กลุ่มประเทศยากจนบอกว่า การให้เงินกู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหมายความว่าพวกเขาจะยิ่งเป็นหนี้มากขึ้น
นักวิเคราะห์จาก IIED แสดงข้อมูลให้เห็นว่า ประเทศที่ถูกสหประชาชาติจัดให้เป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐที่เป็นเกาะขนาดเล็ก 58 แห่ง ได้จ่ายเงินเพื่อชำระคืนหนี้รวมกันกว่า 59,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 ในขณะที่กลุ่มประเทศเหล่านี้ได้รับเงินสนับสนุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียง 28,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้นในปีเดียวกัน
เหตุใดโลกจึงต้องการข้อตกลงทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใหม่
อุณหภูมิเฉลี่ยโลกนั้นสูงเกิน 1.2 องศาเซลเซียสแล้วเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามันไม่ควรสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หากเราต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ประเทศต่าง ๆ ต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดและแข็งขันเพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการคำนวณว่าภายในปี 2030 ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องลดการปล่อยมลพิษลงให้ได้ 42% จากระดับในปี 2019
แต่แผนการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่าที่มีการประกาศกันออกมาจะลดมลพิษเหล่านี้ลงได้เพียง 2.6% เท่านั้น
เหล่าประเทศกำลังพัฒนาบอกว่า หากไม่มีเงินอุดหนุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเขาก็ทำอะไรได้ไม่มากนัก
นั่นจึงเป็นที่มาว่าเหตุใดเป้าหมายหมายเชิงปริมาณทางการเงินใหม่ซึ่งคาดว่าจะมีการเซ็นกันระหว่างการประชุม COP29 จึงมีความสำคัญมาก
แต่เงินพวกนั้นจะมาจากไหน นี่ถือเป็นคำถามมูลค่าล้านล้านดอลลาร์
ที่มา BBC.co.uk