การใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของมหาเศรษฐีทั่วโลก มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างไร

ที่มาของภาพ, Getty Photography

Article data

  • Creator, จอร์จินา แรนนาร์ด
  • Role, ผู้สื่อข่าวภูมิอากาศและวิทยาศาสตร์ บีบีซีนิวส์

คณะนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศออกมาเตือนว่า มหาเศรษฐีทั่วโลกกำลังใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเดินทางกันอย่างบ่อยถี่เกินความจำเป็น ไม่ต่างจากการเรียกรถแท็กซี่มาให้บริการ ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดลงใน Communications Earth & Ambiance ซึ่งเป็นวารสารวิชาการในเครือ Nature โดยระบุว่าผลการติดตามเที่ยวบินส่วนตัวของบรรดาคนร่ำรวยติดอันดับโลก รวมทั้งผลการคำนวณปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เที่ยวบินเหล่านี้ปล่อยออกมา ชี้ว่าการใช้พาหนะสุดหรูกันอย่างไม่บันยะบันยัง ได้ผลิตก๊าซที่ทำให้โลกร้อนจนภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้นถึง 46% ระหว่างปี 2019-2023

รายงานวิจัยดังกล่าว มาจากการติดตามเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของเที่ยวบินส่วนตัวในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงหลายเที่ยวบินที่นิยมเดินทางในช่วงวันหยุดฤดูร้อนไปยังเกาะอิบิซาของสเปน, เที่ยวบินของผู้เข้าชมการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศกาตาร์, หรือแม้แต่เที่ยวบินของผู้เข้าร่วมการประชุมด้านภูมิอากาศของสหประชาชาติที่นครดูไบ

การเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเป็นเวลาเพียง 1 ชั่วโมง สามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกได้มากกว่าที่คนทั่วไป 1 คน ผลิตออกมาทั้งปี

ศาสตราจารย์สเตฟาน กอสลิง ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยลินเนียสของสวีเดน บอกว่า “มีคนมากมายที่ใช้เครื่องบินส่วนตัวแบบไม่ต่างจากการเรียกรถแท็กซี่ ไม่ว่าพวกเขาจะต้องเดินทางในระยะใกล้หรือไกลแค่ไหนก็ตาม เพียงเพราะว่ามันสะดวกดี”

Skip เรื่องแนะนำ and continue studyingเรื่องแนะนำ

Cease of เรื่องแนะนำ

“หากภายใน 1 ชั่วโมง เที่ยวบินของบางคนปล่อยคาร์บอนออกมาเท่ากับที่คนทั่วไปปล่อยโดยเฉลี่ยใน 1 ปี เพียงเพราะว่าคนผู้นั้นอยากจะไปชมการแข่งขันฟุตบอล มันหมายความว่า พวกเขามองเห็นตนเองอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์มาตรฐานที่ประชาคมโลกยึดถือปฏิบัติกัน” ศ.กอสลิงกล่าว

ผลการวิจัยยังพบว่า เมื่อปี 2023 เที่ยวบินส่วนตัวของคนร่ำรวยผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาราว 15.6 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับปริมาณที่เกิดจากการขับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 3.7 ล้านคัน เป็นเวลานานหนึ่งปีเต็ม

แม้จะดูเป็นปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เล็กน้อย โดยคิดเป็นเพียง 1.8% ของการปล่อยคาร์บอนในทุกภาคส่วนของทั้งโลก และกิจกรรมการเดินอากาศโดยรวมก็ปล่อยคาร์บอนเพียง 4% ของที่มนุษย์ผลิตออกมาทั้งหมด แต่ศ.กอสลิง บอกว่า “มันอาจจะดูไม่มาก แต่ลองคิดอีกทีว่านี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของมนุษยชาติเท่านั้น คนกลุ่มนี้แต่ละคนปล่อยคาร์บอนออกมาในหนึ่งปี มากกว่าที่เมืองเล็ก ๆ ในแอฟริกากลางทำได้เสียอีก”

โดยเฉลี่ยแล้วมนุษย์แต่ละคนปล่อยคาร์บอนปีละ 4.3 ล้านตัน แต่ประชากรในพื้นที่ยากจนห่างไกลความเจริญอย่างแอฟริกากลาง อาจปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าคนอื่นที่ราว 0.1 ตันต่อปี

การที่ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวปล่อยออกมา เพิ่มขึ้นถึง 46% ในช่วง 4 ปีก่อน อาจมีสาเหตุมาจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้การเดินทางหลายรูปแบบถูกสั่งระงับ รวมทั้งการเดินทางด้วยเครื่องบินพาณิชย์ ทำให้ความต้องการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเพิ่มสูงขึ้นในหมู่คนร่ำรวย

ที่มาของภาพ, Getty Photography

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีแนวโน้มจะเลือกใช้เครื่องบินส่วนตัวเดินทางอยู่เสมอนั้น มักจะเป็นมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งติดอันดับโลก หรือที่บางครั้งเรียกกันว่า “บุคคลผู้มีมูลค่าสุทธิสูงยิ่งยวด” (ultra-high-web-worth person) ซึ่งตัวเลขประมาณการชี้ว่าน่าจะมีบุคคลเหล่านี้อยู่ทั้งหมด 256,000 คน ซึ่งคิดเป็น 0.003% ของจำนวนประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลก และโดยเฉลี่ยแล้วคนเหล่านี้มีทรัพย์สินอยู่ประมาณคนละ 123 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการศึกษาบอกว่า ได้ทำแผนที่เส้นทางการบินของบุคคลผู้มีชื่อเสียงระดับโลกจำนวนหนึ่ง โดยระบุในรายงานวิจัยเพียงว่า คนเหล่านี้เป็น “นักร้อง นักแสดง และผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง” ทว่าไม่ได้มีการเปิดเผยชื่อและตัวตนของพวกเขาแต่อย่างใด เพราะทีมนักวิทยาศาสตร์ไม่ต้องการจะกล่าวโทษผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ

หนึ่งในคนกลุ่มนี้เดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวบ่อยถึง 169 ครั้ง ในปี 2023 ซึ่งเท่ากับปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก 2,400 ตัน ไม่ต่างจากการขับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 571 คัน เป็นระยะเวลาหนึ่งปี

เครื่องบินเจ็ตของเหล่ามหาเศรษฐีเหล่านี้ ส่วนใหญ่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา (69%) ส่วนประเทศที่มีการจดทะเบียนเครื่องบินส่วนตัวรองลงมาคือบราซิล, แคนาดา, เยอรมนี, เม็กซิโก, และสหราชอาณาจักร

ทีมผู้วิจัยยังพบว่า เที่ยวบินดังกล่าวส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อการเดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจ หรือเพื่อเข้าร่วมงานสำคัญต่าง ๆ เช่นเทศกาลภาพยนตร์และการแข่งขันฟุตบอล ในจำนวนนี้มีมากถึง 47.4% ที่เป็นเที่ยวบินระยะสั้น ซึ่งเดินทางสู่จุดหมายที่ห่างออกไปไม่เกิน 500 กิโลเมตร

ส่วนในช่วงฤดูร้อนของโลกตะวันตก เที่ยวบินที่เดินทางไปยังสถานที่ตากอากาศริมชายฝั่งทะเล อย่างเช่นเกาะอิบิซาของสเปนและเมืองนีซของฝรั่งเศส จะหนาแน่นเป็นพิเศษโดยมีเครื่องบินส่วนตัวทั้งขาเข้าและขาออกมากที่สุดในช่วงสุดสัปดาห์

ในตอนที่กาตาร์จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 มีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว 1,846 ลำ มาลงจอดที่สนามบินของประเทศเจ้าภาพ ซึ่งทำให้มีการปล่อยคาร์บอนออกมาราว 14,700 ตัน

ทีมผู้วิจัยยังค้นพบข้อมูลที่น่าขบขัน เพราะระหว่างการประชุม COP 28 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีผู้มาเข้าร่วมประชุมด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว 291 ลำ ซึ่งอาจเป็นของบรรดานักธุรกิจชั้นนำ ทำให้มีการปล่อยคาร์บอนอย่างน้อย 1,500 ตัน ในการประชุมเพื่อสิ่งแวดล้อมครั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ไม่ได้ติดตามศึกษาการเดินทางของเหล่านักการเมืองคนสำคัญหรือประมุขของรัฐ เนื่องจากคนกลุ่มนี้นิยมเดินทางด้วยเครื่องบินพาณิชย์แบบเช่าเหมาลำ มากกว่าจะใช้เครื่องบินส่วนตัวของตนเอง

สำหรับที่มาของข้อมูลปริมาณคาร์บอน ซึ่งปล่อยออกมาเพิ่มสูงขึ้นจากเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวนั้น ทีมผู้วิจัยคำนวณจากการติดตามเที่ยวบินประเภทดังกล่าว 18,655,789 เที่ยวบิน ผ่านเว็บไซต์ ADS-B Exchange ซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูง โดยดูว่าแต่ละเที่ยวบินใช้เวลาเดินทางนานเท่าใด ก่อนจะนำมาคำนวณเทียบกับอัตราการใช้เชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยของเครื่องบินเจ็ตรุ่นนั้น

“ภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า ผู้คนจะหวนมานึกเสียใจว่า ก่อนหน้านี้เราควรจะพยายามให้มากขึ้น เพื่อหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ” ศ.กอสลิงกล่าว “เราจำเป็นต้องตัดลดกิจกรรมบางอย่าง และเราต้องเริ่มทำจากระดับบนก่อน เพื่อประกาศให้รู้ทั่วกันว่า ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องตัดลดการปล่อยคาร์บอน”

รายงานของสหประชาชาติระบุว่า หากทั่วโลกไม่พยายามตัดลดการปล่อยคาร์บอนลงอย่างเร่งด่วน โลกอาจร้อนขึ้นกว่าเดิม 3.1 องศาเซลเซียส ภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ ทั้งที่ปัจจุบันโลกก็ร้อนขึ้นกว่ายุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม 1.2 องศาเซลเซียสอยู่แล้ว

คาดการณ์ว่าปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาจากการคมนาคมขนส่งเชิงพาณิชย์ จะเพิ่มขึ้นอีก 2.5 เท่า จากระดับสถิติของปี 2021 โดยเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นภายในปี 2050 ทำให้สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประกาศคำมั่นว่าจะทำให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (web zero) ภายในปี 2050

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า ยังคงไม่มีพลังงานทางเลือกที่โดดเด่นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ซึ่งสามารถจะนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเก่าในการคมนาคมขนส่งทางอากาศได้