ขายตัวแลกกับทอง ชีวิตจริงที่เหมืองแร่เถื่อนในป่าแอมะซอน
Article files
- Creator, ตาอีส คารันกา
- Role, BBC 100 Females
ไดแอน เลเต ไม่เคยคิดอยากจะเป็นหญิงขายบริการเลย แต่ตอนที่เธออายุได้ 17 ปี สามีของเธอก็เสียชีวิตลงเพราะหัวใจวาย และเธอเองไม่มีเงินพอที่จะจัดงานศพให้กับเขา
บ้านเกิดของเธออยู่ที่เมืองอิไตตูบา ในรัฐปารา ทางตอนเหนือของบราซิล เมืองแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการค้าแร่ทองคำเถื่อนของประเทศ เพื่อนคนหนึ่งของเธอจึงแนะนำให้เธอไปหาเงินด้วยการขายบริการทางเพศให้กับคนงานในเหมือง ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในป่าแอมะซอน
“การเข้าไป [ทำงาน] ในเหมืองก็เหมือนกับการเสี่ยงดวง” เธอกล่าว
“ผู้หญิงที่อยู่ที่นั่นถูกกดขี่อย่างมาก บางคนอาจจะถูกตบหน้าและตะโกนใส่”
“มีครั้งหนึ่ง ตอนที่ฉันกำลังนอนอยู่ในห้องนอน จู่ ๆ ก็มีชายคนหนึ่งกระโดดจากหน้าต่างแล้วก็งัดปืนมาจ่อที่หัวฉัน และหากว่าพวกเขาให้เงิน นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องการได้ผู้หญิงคนนั้น”
ในที่สุดไดแอนก็สามารถหาเงินมาจัดงานศพให้สามีได้สำเร็จ และเมื่อเธออายุได้ 18 ปี เธอก็มีลูกคนแรก อย่างไรก็ตาม ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา ชีวิตของเธอไม่ได้แตกต่างจากผู้หญิงหลายคนในเมืองอิไตตูบา ที่เดินทางไปมาที่เหมืองแร่ซ้ำ ๆ เพื่อไปทำงานทั้งเป็นแม่ครัว แม่บ้านทำความสะอาด สาวเสิร์ฟ และหญิงขายบริการ
และตอนนี้เธอเองก็มีสมาชิกในครอบครัวถึง 7 คนที่ต้องรับผิดชอบ
“ฉันไม่ได้บอกว่าผู้หญิงทุกคนในเมืองนี้ทำเช่นนั้น แต่ก็มีส่วนหนึ่งแหละที่งานขายบริการทางเพศ ดังนั้นมันก็เป็นเรื่องปกติ พวกเราก็ไม่ได้ใส่ใจอะไร” นาทาเลีย คาวัลคันเต หญิงสาวอีกคนที่ผันตัวมาเป็นผู้ให้บริการทางเพศในเขตเหมืองแร่อันห่างไกลตอนอายุ 24 ปี กล่าว
4 ปีหลังจากนั้น หลังจากที่เธอแต่งงานกับเจ้าของบาร์แห่งหนึ่ง เธอก็ได้ผันตัวมาเป็นแม่เล้าของซ่องแทน ก่อนที่จะเลิกทำไปเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อมาดูแลหลานสาวของเธอที่อยู่ในตัวเมือง
ชีวิตในหมู่บ้านแถวเหมืองแร่ในป่าฝนนั้นยากลำบาก มีเพียงถนนหนทางที่สกปรก บาร์ สถานบันเทิง และโบสถ์ แต่คนงานเหมืองเองต้องอยู่ไกลออกไปจากนั้นอีก พวกเขาอาศัยอยู่ในเพิงไม้และผ้าใบ รายล้อมไปด้วยสัตว์ร้าย ไม่ว่าจะเป็นงูและเสือจากัวร์ และอยู่ภายใต้ความมืดมิดทันทีที่เครื่องปั่นไฟไม่ทำงาน ส่วนผู้หญิงที่ทำงานเป็นแม่ครัวก็ต้องอยู่ในแคมป์คนงานกับผู้ชาย
นาทาเลียเสริมว่า คนงานเหมืองมักจะมาปรากฏตัวในหมู่บ้านเมื่อพวกเขาพบเจอทองคำ หรือไม่ก็มีเงินมากพอจะใช้จ่าย ผู้หญิงหลายคนบอกว่า บางครั้งก็ต้องชักจูงคนงานเหมืองพวกนี้ให้อาบน้ำก่อนที่จะมีเซ็กส์
การเปิดซ่องถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในบราซิล แต่นาทาเลียบอกว่า เธอไม่ได้หักส่วนแบ่งจากเด็กในสังกัด เธอแค่จ้างพนักงานที่ทำงานในบาร์และปล่อยห้องเช่าก็เท่านั้น
ผู้หญิงวัยรุ่นอาจจะติดต่อเธอมาเพื่อขอทำงาน บางครั้งเธอก็ให้พวกเธอหยิบยืมเงินสำหรับเป็นค่าเดินทางเข้าเมืองอิไตตูบา ซึ่งใช้เวลาเดินทางราว 7 ชั่วโมงด้วยรถยนต์
เมื่อถามว่า เธอมีความกังวลใจอะไรเกี่ยวกับการให้ผู้หญิงคนอื่นมาทำงานแบบนี้หรือไม่ เธอตอบว่า “บางครั้งฉันก็คิดว่า ‘ฉันเคยผ่านเรื่องนั้นมาแล้ว และฉันรู้ว่ามันไม่ได้น่ารื่นรมย์เท่าไหร่' แต่ฉันก็คิดว่า ‘เด็กผู้หญิงคนนั้นมีครอบครัวแล้ว' บางครั้งก็มีลูกที่ต้องเลี้ยง เด็กผู้หญิงหลายคนที่ไปทำงานที่นั่นมีลูกหนึ่งหรือสองคนแล้ว' เราก็เลยยอมรับได้”
แม้ก่อนที่เธอจะแต่งงาน นาทาเลียเองก็หาเงินได้มากโขอยู่
ตอนนี้เธอมีบ้านเป็นของตัวเองในเมืองอิไตตูบา มีรถมอเตอร์ไซค์หนึ่งคัน และมีทองสะสมไว้ด้วยจำนวนไม่น้อย ซึ่งบางครั้งในการให้บริการทางเพศ เธอได้รับค่าบริการเป็นทองหนัก 2 หรือ 3 กรัม ในแต่ละครั้ง แต่เป้าหมายในชีวิตของเธอคือ การได้เรียนและทำงานเป็นนักกฎหมายหรือไม่ก็สถาปนิก
เธอเล่าต่อว่า ผู้หญิงบางคนในเมืองอิไตตูบา ซึ่งมีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่าเมืองนักเก็ตทองคำ ได้ก่อตั้งธุรกิจของตัวเองจากน้ำพักน้ำแรงที่ได้จากการขายบริการทางเพศ
แต่นี่ก็ถือเป็นความเสี่ยงอย่างมากสำหรับผู้หญิงที่จะเข้าไปยังพื้นที่พักในเหมืองที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและไร้ขื่อแป
แม้เป็นที่ทราบกันดีว่าการทำเหมืองนั้นไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่การทำเหมืองยังมีต้นทุนที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วย ซึ่งองค์การสหประชาชาติระบุว่า สิ่งนั้นก็คือความรุนแรง การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และการค้ามนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรายงาน
ผู้ค้าแร่รายหนึ่งบอกกับบีบีซีว่า ทองที่ผิดกฎหมายจากเหมืองเหล่านี้โดยทั่วไปจะถูกติดฉลากใหม่ให้เป็นทองที่ถลุงได้จากสหกรณ์เหมืองแร่ที่ได้รับใบอนุญาต ก่อนจะถูกส่งออกและแปรสภาพเป็นเครื่องประดับและส่วนประกอบสำหรับโทรศัพท์มือถือ หรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
สถาบันคลังสมอง Instituto Escolhas ระบุว่า ลูกค้ารายใหญ่ของอุตสาหกรรมทองคำของบราซิลมี 3 ประเทศ คือ แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร และมากกว่า 90% ของการส่งออกทองคำไปยังยุโรปมาจากพื้นที่ซึ่งพบการทำเหมืองผิดกฎหมาย
เป็นเรื่องที่รู้กันโดยทั่วไปว่าผู้หญิงมักถูกฆาตกรรมในหมู่บ้านเหมืองแร่ ปีที่แล้ว พบศพของราแอล ซานโตส หญิงสาววัย 26 ปี ในห้องที่เธออาศัยอยู่ใกล้กับเหมืองทองคำกุยอู-กุยอู (Cuiú-Cuiú) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองอิไตตูบา ราว 11 ชั่วโมงหากขับรถยนต์
ราแลน พี่สาวของเธอบอกว่า มีผู้ชายคนหนึ่งจะให้เงินน้องสาวเธอหากว่ายอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่น้องสาวเธอปฏิเสธ และในเวลาต่อมา พอชายคนนั้นเจอน้องสาวเธออีกครั้ง เขาก็ทุบตีเธอจนเสียชีวิต
“ในแต่ละวันมีผู้หญิงจำนวนมากที่เสียชีวิต จำนวนมากจริง ๆ” ราแลน กล่าว
“ฉันเกิดในเหมือง และเติบโตขึ้นมาในเหมือง แต่ตอนนี้ฉันกลัวที่จะต้องอยู่ในหมู่บ้านเหมืองแร่จริง ๆ”
มีผู้ชายคนหนึ่งถูกจับกุม เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมราแอล แต่ยังไม่มีการดำเนินคดี ส่วนเขาเองก็ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2023 พื้นที่ทำเหมืองแร่ผิดกฎหมายในบราซิลขยายตัวขึ้นมากกว่าสองเท่ามาเป็นกว่า 220,000 เฮกตาร์ หรือ 2,200 ตารางกิโลเมตร ไม่มีใครทราบว่ามีผู้หญิงที่ทำงานในพื้นที่นั้นจำนวนเท่าใด หรือแม้แต่จำนวนคงงานในเหมืองผิดกฎหมาย รัฐบาลบราซิลระบุว่า จำนวนคนทำงานในเหมืองแร่ผิดกฎหมายดังกล่าวอาจมีจำนวนตั้งแต่ 80,000 คน ไปจนถึง 800,000 คน
รัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีลูอีซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ได้ออกมาตรการที่จะปิดเหมืองแร่ผิดกฎหมาย และหยุดตัวกลางไม่ให้ซื้อทองคำจากเหมืองแร่เหล่านั้นด้วย แต่เมื่อราคาทองพุ่งสูงขึ้น มันก็ผลักดันให้มีคนเข้าไปเสี่ยงดวงในเหมืองแร่มากขึ้น
ไดแอนต้องการจะเลิกทำงานในชุมชนรอบเหมืองแร่แห่งนั้น เพราะความเสี่ยงและความยากลำบากที่ร่างกายเธอได้รับ แต่สิ่งที่เธอกำลังวางแผนคือ เธอหวังว่านี่จะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย เป้าหมายของเธอคือการหาเงินให้เพียงพอภายในระยะเวลา 2 หรือ 3 เดือน เพื่อมาเปิดแผงขายขนมขบเคี้ยวเมื่อเธอกลับมา แม้เธอรู้ว่าอาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
เธอบอกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เธออยู่คนเดียว ตอนที่อยู่ในป่า เธอจะกังวลเกี่ยวกับลูก ๆ ของเธอ
“ฉันจะพยายามต่อไป จนกว่าฉันจะทำไม่ไหวอีก เพราะฉันคิดว่า เมื่อถึงวันหนึ่ง ลูก ๆ ของฉันจะบอกว่า ‘แม่ของฉันทำงานหนักมาก เธอฝ่าฟันอะไรหลายอย่างก็เพื่อพวกเรา และเธอจะไม่ยอมแพ้”
รายงานเพิ่มเติมโดย มาริอานา ชเรเบอร์, บีบีซี แผนกภาษาบราซิล
บีบีซี 100 วีเมน รวบรวมรายชื่อสตรีผู้ทรงอิทธิพลและเป็นแรงบันดาลใจจำนวน 100 คนจากทั่วโลกในทุกปี เรานำข้อมูลที่รวบรวมได้มาสร้างเป็นสารคดี รายการพิเศษ และบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิตของพวกเธอ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง โดยเผยแพร่และออกอากาศในสื่อทุกช่องทางของบีบีซี
ติดตามบีบีซี 100 วีเมน ได้ทางอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก คุณยังสามารถเข้าร่วมการสนทนาทางออนไลน์ได้ โดยใช้แฮชแท็ก #BBC100Women
ที่มา BBC.co.uk