จากการอภิปรายของ ‘ธิษะณา’ สส.พรรคประชาชน เสนอนโยบายแก้ไขปัญหาด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านบนโลกออนไลน์ ติดแฮชแท็ก #พรรคประชาชนพม่า และ สส.พม่า ปลิวว่อนทั่วโลกออนไลน์ แต่คำถามคือ ‘คนทั่วไปคิดเช่นเดียวกับบนโลกออนไลน์หรือไม่'
จากข้อสงสัยดังกล่าวประชาไทลองเดินดุ่มสุ่มถามคนทั่วไป ท่ามกลางกระแสการต่อต้านแรงงานเมียนมาที่กำลังขยายตัว คนไทยมีความเห็นและรู้สึกต่อแรงงานพม่าอย่างไร มองชาวพม่าเข้ามาแย่งงานคนไทย หรือกังวลเรื่องปริมาณคนพม่าที่จะเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือคิดเห็นอย่างไรเรื่องการเรียกร้องสิทธิแรงงานของชาวพม่า
ประมวลไทม์ไลน์ จุดเริ่มต้นกระแสต่อต้านแรงงานพม่า
นโยบายแรงงานข้ามชาติพม่าที่ดี จะช่วยประเทศไทย
จุดเริ่มต้นถึงกระแสต่อต้านชาวพม่าระลอกล่าสุด และเป็นที่มาของแฮชแท็ก #พรรคประชาชนพม่า หรือ สส.พม่า เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว (ก.ย. 2567) เมื่อธิษะณา ชุณหะวัณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เขต 2 กทม. พรรคประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายในการประชุมร่วม 2 สภาในวันแถลงนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
ธิษะณา ชุณหะวัณ ลุกขึ้นอภิปรายเมื่อ 12 ก.ย. 2567 (ที่มา: ยูทูบ TPchannel)
ธิษะณา เสนอว่า ไทยควรมีนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติพม่าและผู้ลี้ภัย และชี้ว่าถ้าเราจัดการนโยบายเหล่านี้ได้ดี ‘จะเป็นคุณกับประเทศไทยมากกว่า’ เธอยกแนวนโยบาย เช่น การระดับสิทธิยกตัวอย่าง การให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชนพม่า แม้ว่าต้องใช้งบฯ เพิ่มขึ้น แต่เป็นการแก้ไขปัญหา และป้องกันไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ การบริการสาธารณสุข เพื่อป้องกันโรคระบาด
สส.พรรคประชาชน เสนอนโยบายสนับสนุนใบอนุญาตทำงานแก่บุคลากรทางการแพทย์เพื่อลดภาระสาธารณสุขไทย และให้มาดูแลคนไข้ชาวพม่า ตลอดจนเปิดให้ชาวพม่าเข้ามาทำงานในส่วนที่ไทยยังขาดแคลน เนื่องจากตอนนี้ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และต้องการคนวัยทำงานเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
‘พริษฐ์’ แจงแก้ปัญหาให้ตรงจุด ต้องให้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม
ต่อมา พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน ชี้แจงหลังเกิดกระแสต่อต้านหลังการอภิปรายของธิษะณา เรื่องสิทธิแรงงานพม่าว่า “แม้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนก็ต้องพูด” พร้อมเสนอให้นำแรงงานข้ามชาติพม่าทั้งหมดที่ผิดกฎหมาย ให้ขึ้นมาอยู่ในระบบ และเข้าถึงใบอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมาย
สส.พรรคประชาชน ชี้ว่าการทำแบบนี้จะเป็นการแก้ไขที่ตรงจุด และเป็นประโยชน์ในการป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน การค้ามนุษย์ และตอบโจทย์บริหารการจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ พริษฐ์ เผยว่า ปัจจุบันมีคนงานพม่าอยู่ในประเทศไทยทั้งแบบถูกและผิดกฎหมาย ราว 6 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลจากกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ในเดือน ก.ย. 2567 มีแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ ประกอบด้วย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่มีใบอนุญาตทำงานทั่วประเทศอยู่ที่ 3,033,302 คน แต่อยู่ในระบบประกันสังคม ประมาณ 1.5 ล้านคนเท่านั้น
ข้อเสนอของพริษฐ์ ตรงกับแผนของพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่จะดึงแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมทั้งหมด เพื่อให้จ่ายภาษีให้ประเทศไทย และต่อชีวิตของกองทุนประกันสังคมซึ่งมีแนวโน้มจะล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า
นอกจากประเด็นดังกล่าว เพจเฟซบุ๊กบางเพจได้หยิบยกคำพูดในอดีตของ เซีย จำปาทอง สส.ปีกแรงงาน พรรคประชาชน จากรายการ “ถกxเถียง นโยบายพรรคก้าวไกล แก้ปัญหาปากท้องได้จริงหรือ ของ Matichon TV” เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2566 ที่เสนอให้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมฝั่งผู้ประกันตนแก่แรงงานข้ามชาติ โดยให้เหตุผลว่าแรงงานพม่าเสียเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเหมือนกับชาวไทย ก็ควรได้สิทธิดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งได้เกิดกระแสวิจารณ์ว่าต่อไปคงมี สส.พม่า หรือถกเถียงว่าแรงงานข้ามชาติจ่ายภาษีให้ประเทศไทยมากน้อยขนาดไหน
อนึ่ง กฎหมายแรงงานข้ามชาติบังคับให้แรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าในระบบประกันสังคม เว้นเพียงผู้ที่เป็นแรงงานภาคเกษตร แรงงานทำงานบ้าน และผู้ที่ทำงานประมง
กระแสต่อต้าน ผุดแฮชแท็ก #พรรคประชาชนพม่า
แม้ว่าพรรคประชาชน ชี้ว่า การให้สิทธิแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในไทยจะเป็นผลดีต่อรัฐไทยแต่ก็มีประชาชนไม่เห็นด้วย โดยเริ่มจากบนสื่อโซเชียลมีเดียผุดแฮชแท็ก พรรคประชาชนพม่า หรือ สส.พม่า เนื่องจากไม่พอใจที่ธิษะณา อภิปรายเรียกร้องสิทธิให้คนพม่า
บางคอมเมนต์ระบุว่า ‘สิทธิคนไทยยังได้ไม่เท่าเทียมเลยจะเอาคนพม่ามาเป็นภาระอีก’ ‘ฉันเสียภาษีให้คนไทย’ ‘คนไทยกำลังเดือดร้อนจากน้ำท่วม แต่อภิปรายให้สิทธิคนพม่า’ ขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคประชาชนบางส่วนเห็นด้วยกับข้อเสนอขึ้นทะเบียนแรงงานพม่าให้ถูกกฎหมาย เพื่อเป็นการป้องกันการคอร์รัปชัน
ไม่เฉพาะในโลกออนไลน์ ในสนามการเมืองก็มีการต่อต้าน ยกตัวอย่าง ชินภัสร์ กิจเลิศสิริวัฒนา อดีตรองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวหาว่า พรรคประชาชนตั้งใจให้สัญชาติไทยแก่แรงงานพม่าราว 6 ล้านคน เพื่อเอามาเป็นฐานเสียงเลือกตั้ง เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะสนับสนุนรัฐบาลเงาของอองซานซูจีสู้กับเผด็จการพม่า กลายเป็นสงครามตัวแทน
ฝ่ายขวาลุยดะ ยื่นหนังสือควบคุมปริมาณแรงงานพม่า จัดการคนก่ออาชญากรรม
จากกระแสออนไลน์สู่กระแสออนไซด์ โดยเมื่อช่วงเดือน ก.ย.จนถึงต้นเดือน ต.ค. 2567 เครือข่ายภาคประชาชน ‘อนุรักษ์นิยม’ ในนาม “เครือข่ายราชภักดี” ร่วมด้วย “ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน” (ศปปส.) ได้ตระเวนยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงานรัฐทั้งกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน และอื่นๆ เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐมีมาตรการที่เข้มงวดในการจัดการปัญหาจำนวนคนพม่าในไทย ทบทวนมาตรการดึงแรงงานข้ามชาติและการให้สัญชาติ ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และอื่นๆ
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ มีความกังวลกับปริมาณแรงงานพม่าในประเทศไทย ปัญหาอาชญากรรมและภัยด้านความมั่นคง ไปจนถึงความไม่พอใจนโยบายต่างๆ ที่ผ่อนผัน และจะเป็นปัจจัยดึงดูดให้แรงงานพม่าเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น และอาจเข้ามาแย่งอาชีพคนไทย
(ซ้าย) “ทรงชัย เนียมหอม” แกนนำประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน และ (ขวา) “อัครวุธ ไกรศรีสมบัติ” แกนนำอาชีวะราชภักดิ์ ระหว่างหารือกับ อารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน)
มองหลากมุม ทัศนคติคนทั่วไปต่อแรงงานพม่า
หลุดจากโลกออนไลน์มาแล้ว มาดูคนทั่วไปคิดอย่างไรในประเด็นแรงงานพม่า ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สัมภาษณ์ประชาชนย่านราชเทวี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นย่านที่มีชาวพม่าอาศัยอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในเพชรบุรีซอย 10 ที่มีชื่อเล่นว่า ‘ซอยกิ่งเพชร’ พวกเขามักประกอบอาชีพทั้งลูกจ้างเฝ้าหน้าร้านขายของ ขายอาหารพม่า พนักงานบริการที่ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงงานรับจ้างอื่นๆ
จากการสัมภาษณ์พบว่าคนไทยไม่มีปัญหาเรื่องแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานถูกกฎหมาย แต่ยอมรับกังวลกับปริมาณแรงงานพม่าที่เข้ามาในไทย เพราะกังวลเรื่องการคุกคามและความปลอดภัย
‘บ่าว' คนขับรถแท็กซี่จาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วัย 54 ปี เขามักเปิดวิทยุฟังข่าวสารเวลาขับรถ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เขาทราบว่าที่ชาวพม่าอพยพเข้ามาในไทย เพราะที่ประเทศพม่ากำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ
บ่าว คนขับแท็กซี่จากภาคใต้
คนขับแท็กซี่จากหาดใหญ่ ไม่เห็นด้วยที่แรงงานพม่าเข้ามาเป็นเจ้าของร้านขายของ เพราะมองว่าเป็นการแย่งอาชีพคนไทยและขัดกับกฎหมาย แต่ไม่ติดใจหากเข้ามาทำงานรับจ้างใช้แรงงาน
“ผมแอนตี้ที่คนพม่ามาเป็นนายจ้าง มาเปิดร้านค้าต่างๆ ทั่วไป มาแย่งอาชีพพ่อค้าแม่ค้าคนไทยเยอะมาก เขาทำได้ไงผมชักอยากจะรู้ มันเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือเปล่า”
“คนพม่าเข้ามาได้แต่ต้องเข้ามาในทางที่ถูกต้อง และตามกฎหมาย คุณต้องมาใช้แรงงานเท่านั้น แต่ไม่ใช่มาเปิดร้านค้า ทำมาค้าขายไม่ได้” บ่าว คนขับแท็กซี่ กล่าว และเขาอยากให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้อย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ พระราชกำหนดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2561) ระบุว่า แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ แต่ยังทำงานเฝ้าหน้าร้านค้า หรือรับจ้างใช้แรงงานได้
อย่างไรก็ดี ไม่นานมานี้ พิพัฒน์ รัชกิจประการ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ตอบปัญหานี้ว่า ทางกระทรวงแรงงานจะมีมาตรการป้องปรามแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ ที่ทำอาชีพสงวนคนไทยโดยเฉพาะการเป็นเจ้าของกิจการ โดยเริ่มจากการตักเตือนสื่อสารให้เข้าใจ แต่ถ้ายังฝ่าฝืน จะมีการปราบปรามอย่างเด็ดขาด ผลักดันกลับประเทศต้นทาง
‘ปิ่น' แม่ค้าล็อตเตอรีอายุ 44 ปี เล่าว่า เธอมีประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดีกับแรงงานข้ามชาติ บางส่วนที่เข้ามาทำงานถูกกฎหมายเธอไม่มีปัญหาอะไร และมีชาวพม่าที่รู้จักด้วย เขาก็เป็นคนนิสัยน่ารัก แต่เธอไม่พอใจที่มีแรงงานข้ามชาติบางส่วนแย่งที่พ่อค้า-แม่ค้าคนไทยขายของ
ปิ่น กล่าวว่า เธอมีเพื่อนขายของอยู่บนฟุตบาธบริเวณนี้ ซึ่งที่นี่จะแบ่งเป็น 2 รอบคือ เช้า และเย็น สมมติเวลาขายของบนทางเท้าต้องเสียค่าที่ให้กับเขต จะเป็นพื้นที่ล็อกใครล็อกมัน แต่วันดีคืนดีมีแรงงานข้ามชาติมาจากไหนไม่ทราบมาขายของทับที่คนอื่น พอเธอพยายามไปเตือนว่าขายไม่ได้ วันถัดมาก็เจอแรงงานข้ามชาติมา 4-5 คนมา ออกแนวคุกคาม ไม่ยอมไปขายที่อื่น เพราะเขาก็อ้างว่าเสียให้เจ้าหน้าที่เหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าเสียอะไร
แม่ค้าล็อตเตอรี ระบุว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ชาวพม่า และเวียดนาม จะขายของโดยใช้รถเข็นตั้งร้าน สินค้าที่ขายมีตั้งแต่ไส้กรอกอีสาน ขนุนที่ปอกเป็นชิ้นๆ ทุเรียน และอื่นๆ
“เราเครียดอยู่นะเวลาเจอแบบนี้ เราไม่ได้อยากให้เขากลัว แต่มันน่าจะเกรงใจ เพราะว่าเราจ่ายเข้าเขต …ถ้าเขาจะมาขาย เราอยากให้เขาปฏิบัติตามกฎหมาย” ปิ่น กล่าว
นอกจากปัญหาข้างต้น แม่ค้าล็อตเตอรียอมรับว่ามีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนแรงงานพม่าที่เข้ามาไทยเพิ่มขึ้น เพราะละแวกที่เธออาศัยมีชาวพม่าจำนวนมาก พอเขารวมตัวกันเยอะ เธอมีความรู้สึกว่าคนพม่าทำอะไรไม่เกรงใจ พูดคุยเสียงดังรบกวน หรือทะเลาะเบาะแว้งกันเอง เธอก็มีกังวลเรื่องความปลอดภัยด้วย ดังนั้น เธอเลยอยากให้เจ้าหน้าที่กวดขันการเข้าเมืองของคนพม่า อยากให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้
หลายคนมองไม่แย่งงานคนไทย
จากประเด็นที่ว่า ‘คิดว่าคนพม่าแย่งงานคนไทยหรือไม่’ พบว่าหลายคนไม่คิดว่าคนพม่าแย่งงานคนไทย เนื่องจากมีงานในไทยเยอะ แค่คนไทยอย่างเดียวไม่พอ หรือบางคนมองว่าคนไทยค่อนข้างเลือกงาน
สะพานเฉลิมหล้า 56 หรือสะพานหัวช้าง
‘ไหม’ แม่ค้าอาหารริมทางวัย 36 ปี จากจังหวัดร้อยเอ็ด เธอไม่คิดว่าคนพม่ามาแย่งงานคนไทย เพราะว่าในไทยมีงานค่อนข้างเยอะ แค่คนไทยอย่างเดียวไม่พอ
“รู้สึกว่าไม่เห็นด้วยที่คนคิดอย่างนั้น(คนพม่าจะเข้ามาแย่งงานคนไทย) ถ้าเขาเข้ามาถูกกฎหมายก็โอเค ไม่ได้แย่งงานหรอก งานมันเยอะนะ” แม่ค้าจากร้อยเอ็ด กล่าว
ขณะที่พ่อค้า ‘นิรนาม' ขอไม่เปิดเผยตัวตน เล่าว่า ช่วงที่ผ่านมาคนพม่าเข้ามาในไทยเยอะขึ้น และที่สนามกีฬาเดี๋ยวนี้มีแต่ชาวพม่าเล่นฟุตบอลและเตะตระกร้อ บางทีเขากังวลไม่กล้าพาลูกอ่อนไปหัดเดิน เพราะกลัวลูกบอลมาโดนลูก
เมื่อถามว่าคนพม่าแย่งงานคนไทยไหมในความคิดเขา พ่อค้ารายนี้ตอบอย่างฉะฉานว่าไม่คิดอย่างนั้น พร้อมสำทับว่าปัญหาอยู่ที่คนไทยเลือกงาน และยกตัวอย่างด้วยว่าถ้าไปดูคนล้างจานในศูนย์การค้า MBK (มาบุญครอง) ลูกจ้างในโรงงานทำน้ำส้มในซอย (พญานาค) หรือตามบ้านเรือน เป็นแรงงานพม่าหมด เพราะว่าคนไทยไม่ทำเอง
“ไปโทษเขาได้ไงว่ามาแย่งงานเราทำ ไอ้ประเด็นแย่งงานผมไม่เห็นด้วย เพราะว่าเราไม่ทำเอง …เขาได้หลายภาษาด้วย ภาษาอังกฤษเขายังปร๋อกว่าเรานะ” พ่อค้าคนเดิมแสดงความเห็น
พ่อค้านิรนาม เสริมว่า แรงงานพม่าไม่ได้เป็นแรงงานราคาถูกอย่างที่เข้าใจ พวกเขาได้ค่าแรงตามค่าจ้างขั้นต่ำ และถ้าพูดภาษาไทยได้ก็จะได้เงินเพิ่มขึ้นเป็นราว 500 บาทต่อวัน ทำงานสักพักออกมาเช่าห้องราคา 20,000 บาท คนไทยบอกแพง แต่คนพม่าเช่าไหว
ไม่เห็นด้วยเรียกร้องสิทธิเท่าคนไทย
จากการตระเวนพูดคุย พบว่าบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องสิทธิของชาวพม่าที่มากหรือเทียบเท่ากับคนไทย อย่าง ‘หนุ่ม' พ่อค้าขายผลไม้รถเข็นอายุ 35 ปี กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาติดตามข่าวที่มีกลุ่มคนไปยื่นหนังสือที่ต่างๆ ประกอบกับการลองศึกษาดูด้วยตัวเอง ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยเรื่องการเรียกร้องสิทธิของคนพม่าที่ต้องการมากกว่าหรือเท่าเทียมกับคนไทย ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ
ยกตัวอย่างว่า ข้อเรียกร้องของแรงงานพม่าที่บอกว่าคนที่เข้ามาผิดกฎหมายหรือหนีภัยการเมืองเข้ามาประเทศไทย ต้องทำบัตรอนุญาตทำงานหรือวีซ่าให้เขาเลย ลูกหลานถ้าเกิดที่นี่ต้องได้สวัสดิการเท่ากับลูกหลานคนไทยทุกอย่าง แบบนี้มันเกินกว่ากฎหมายที่ระบุไว้
“การเรียกร้องสิทธิมันเยอะเกินไป เยอะจนเขาลืมไปรึเปล่าว่าเขามาอาศัยอยู่ หรือมาตั้งกลุ่มแก๊งข่มเหงคนไทย ไม่โอเคเลย คนไทยบางคนได้สิทธิไม่เยอะเท่ากับที่เขาเรียกร้อง” หนุ่ม กล่าว
สำหรับพ่อค้าผลไม้ เขารับได้ถ้าแรงงานพม่าเข้ามาและยินยอมรับสิทธิตามที่กฎหมายมี อย่างไรก็ดี เท่าที่เขาพบเจอ แรงงานพม่าก็เข้ามาทำงานอย่างเดียว ไม่ได้มาเรียกร้องสิทธิอะไรที่เกินคนไทย
‘หนุ่ม' พ่อค้าขายผลไม้วัย 35 ปี
แรงงานพม่าใช้สิทธิรักษาจากภาษีคนไทย (?)
‘แนน’ ชาว อ.แม่สาย จ.เชียงราย อายุ 41 ปี เธอมาขายของเฉพาะช่วงวันหยุด ให้ความเห็นต่อประเด็นที่ว่า ‘คนพม่าใช้ภาษีคนไทยเป็นสิทธิรักษาพยาบาล’ หรือไม่ เธอคิดว่าชาวพม่าที่มารักษาในโรงพยาบาลรัฐ เป็นการใช้สิทธิประกันสังคม ถ้าเขาไม่มีสิทธิประกันสังคม คนพม่าก็ต้องจ่ายเงินเอง หรือบางคนอาจไม่กล้าไปโรงพยาบาล เพราะกลัวถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับตัวระหว่างทาง
“คนพม่าเขาจ่ายในส่วนของเขาเสียประกันสังคมทุกเดือนอย่างที่เราเสียเงินเหมือนกัน นายจ้างจ่ายในส่วนของเขา ไม่ได้มาแย่งอะไร ส่วนคนไทยมีสิทธิเยอะกว่าคนพม่าอยู่แล้ว โดยเฉพาะสิทธิบัตรทองที่เอาเงินงบประมาณของรัฐบาลมาจ่าย ซึ่งคนพม่าเข้าไม่ถึง บางคนเขาไม่เข้าใจ” แม่ค้าเชียงราย กล่าว
ทั้งนี้ ประกันสังคม ม.33 เป็นการจ่ายสมทบจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ ลูกจ้าง (แรงงานพม่า) นายจ้าง และภาครัฐ แต่ถ้าแรงงานข้ามชาติมาทำงานเป็นแม่บ้าน ทำงานประมง หรือแรงงานภาคการเกษตร จะไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม
แนน ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า บ้านของเธออยู่แม่สาย ทำให้เธอรู้จักและคุ้นเคยกับชาวพม่ามานาน สมัยเด็กเธอมีพี่เลี้ยงเป็นชาวพม่า และตัวเธอเองอยากศึกษาในสาขาวิชาพม่าศึกษาที่เชียงรายด้วย แต่สอบไม่ติด เธอกล่าวว่าส่วนตัวไม่กังวลที่คนพม่าจะเข้ามาในประเทศ
“บางคนเขาก็กลัวที่นี่เป็นชุมชนโบราณ เรียกว่าชุมชน ‘บ้านครัว’ คนที่นี่เขาจะปล่อยบ้านเช่า ส่วนใหญ่ก็เป็นคนพม่ามาเช่า และคนพม่าก็ไปใช้ชีวิตรวมกลุ่มในลานกีฬา พวกลุง-ป้าไม่ค่อยให้หลานออกไปเล่น ความรู้สึกเขาคงไม่อยากให้ไปเล่นแถวนั้น แต่ข้อเท็จจริงคนพม่าเขาก็ไม่อะไรนะ เขาก็คนปกติเหมือนกับเรา” แม่ค้าจากเมืองเชียงราย กล่าว
แนน ชาวเชียงราย
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )