ครม.อนุมัติ ขสมก. กู้เสริมสภาพคล่องปีงบ 68 วงเงิน 8,540 ล้านบาท ใช้ในการเติมเชื้อเพลิง-ซ่อมบำรุง ด้าน 3 หน่วยงาน ‘กระทรวงคลัง-สำนักงบ-สศช.’ แนะเร่งเข็นแผนฟื้นฟู
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน กรณีรายได้ไม่รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงินรวม 8,540.73 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ รวมถึงการกำหนดวิธีกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆในการกู้เงิน
@ออกสตาร์ทงบปี 68 ขสมก.ก็ขาดทุนพุ่ง 30,025.66 ล้าน
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ขสมก.ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก เนื่องจากผลประกอบการที่ขาดทุนและไม่ได้รับเงินชดเชยผลการขาดทุนตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง โดยประมาณการรายรับรายจ่ายเงินสดในปีงบประมาณ 2568 คาดกันว่ารายรับรวมเพียง 6,435.43 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่คาดการณ์ว่าจะมีสูงขึ้น 36,461.09 ล้านบาท โดยจะมีเงินสดคงเหลือปลายงวดขาดมือ จำนวน 30,025.66 ล้านบาท
ดังนั้น ขสมกจึงมีความจำเป็นต้องขอกู้เงินจำนวน 30,025.66 ล้านบาท โดย ครม. มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 โดยบรรจุในแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2568 สำหรับเงินกู้จำนวนนี้ ขสมก.จะเอาไปใช้ในการจ่ายหนี้เงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระจำนวน 21,484.93 ล้านบาท และจ่ายค่าเชื้อเพลิง ค่าเหมาซ่อม และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน จำนวน 8,540.73 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนหลัวนี้ ขสมก.กู้ตาม พ.ร.ฎ. การจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 2519 ที่กำหนดให้การกู้เงินของ ขสมก. ที่วงเงินกู้เกิน 5 ล้านบาท จะต้องได้รับการอนุมัติจากครม.ก่อน
@คลัง-สำนักงบฯ-สภาพัฒน์ แนะ ขสมก. เร่งแผนฟื้นฟู
ขณะที่ความเห็นที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการคลังเสนอว่า จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ขสมก. ควรเร่งดำเนินการปรับปรุงแผนขับเคลื่อนกิจการ ขสมก. โดยปัจจุบันแผนอยู่ระหว่างปรับปรุงใ้ห้เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมควรกำกับ ขสมก. ให้ดำเนินมาตรการที่ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้องค์กร และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ควรกำหนดบทบาทขสมก.ให้ชัดเจน หลังจากมีผู้ประกอบการเอกชนสามารถให้บริการได้ดี และกำหนดเส้นทางเดินรถให้สอดคล้องกับบทบาทที่เหมาะสม
ด้านทางสำนักงบประมาณ ก็ได้กำชับให้ ขสมก. จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อใช้ในการดำเนินงานและนำเสนอครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็ว รวมถึงให้ติดตามแผนการจัดหารถโดยสารปรับอากาศพลังงานสะอาดตามแนวทางแผนขับเคลื่อนกิจการ ให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย
ส่วนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นสอดคล้องว่า ขสมก.และกระทรวงคมนาคมควรเร่งปรับปรุงแผนขับเคลื่อนกิจการ เพื่อให้มีแนวทางการปฏิรูปที่ชัดเจน โดยเฉพาะแนวทางการลงทุนและการหารายได้ที่จะช่วยให้ ขสมก. สามารถแก้ปัญหาการเงินในระยะยาว