คุณล้างขวดน้ำของคุณสะอาดพอหรือไม่ ? เมื่อมันอาจสะสมแบคทีเรียได้ถึง 1 ล้านตัวภายในหนึ่งวัน

ที่มาของภาพ : Gorka Olmo/ BBC

Article data

  • Author, เจสสิกา บราวน์
  • Role, บีบีซีนิวส์

ทุก ๆ ครั้งที่คุณจิบน้ำจากขวดน้ำดื่ม คุณกำลังสะสมแบคทีเรียไว้ในขวดน้ำใบนั้นและแบคทีเรียอาจเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นล้านตัวในหนึ่งวัน นี่คือคำแนะนำจากนักวิทยาศาสตร์ถึงสิ่งที่คุณสามารถทำได้

คาร์ล เบห์นเก สงสัยมาตลอดว่าขวดน้ำดื่มที่ใช้แล้วสะอาดมากน้อยแค่ไหน เมื่อเขาใช้กระดาษเช็ดมือเข้าไปเช็ดภายในขวดน้ำ สิ่งที่เขาพบน่าตกใจอย่างยิ่ง

“กระดาษเช็ดมือมันเคยเป็นสีขาว จนกระทั่งผมดึงมันออกมา” เบห์นเก ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางอาหารแห่งมหาวิทยาลัยเพอร์ดูในรัฐอินเดียนา สหรัฐฯ กล่าว “ผมรู้สึกได้ว่าความรู้สึกลื่น ๆ ในขวดมันไม่ได้มาจากพื้นผิวของวัสดุแต่เป็นสิ่งที่แบคทีเรียผลิตขึ้น”

ขั้นต่อไปที่ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ทำคือการออกแบบการศึกษาวิจัย เบห์นเกและคณะใช้วิธีไปรอดักคนที่เดินผ่านตามทางเดินของมหาวิทยาลัยและขอยืมขวดน้ำที่พวกเขาใช้งานมาใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เพื่อดูว่าขวดน้ำที่คนทั่วไปใช้กันสะอาดมากน้อยเพียงใด

“สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนของโครงการนี้คือ คนมากมายที่ให้ขวดน้ำเรามาไม่ต้องการจะรู้ผล” เบห์นเก ย้อนทวนความจำ “โดยพื้นฐานแล้ว พวกเขารู้ว่าวิธีการทำความสะอาดขวดน้ำของพวกเขาไม่ค่อยดีเท่าไหร่หรือกระทั่งไม่ได้ทำความสะอาดเลย ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผลการศึกษาในเวลาต่อมายืนยัน” ผลการศึกษายืนยันว่าขวดน้ำเหล่านั้นเต็มไปด้วยแบคทีเรีย

and proceed studyingเรื่องแนะนำ

Terminate of เรื่องแนะนำ

ตลาดขวดน้ำแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 339,060 ล้านบาท) ในปี 2024 การศึกษาชิ้นหนึ่งในพนักงานระบบสุขภาพของอิตาลีชี้ว่าครึ่งหนึ่งของบุคลากรใช้ขวดน้ำที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ขณะที่งานวิจัยในนักศึกษามหาวิทยาลัยระบุว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยราว 50-81% ใช้ภาชนะเหล่านี้ในการดื่มน้ำ

แม้ว่าการดื่มน้ำจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ แต่การดื่มน้ำเป็นประจำโดยนำขวดเหล่านี้พกติดตัวไปทุกที่ที่เราไปอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ ดังนั้น เราควรเลิกดื่มน้ำจากขวดหรือไม่ หรือเราสามารถจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ได้

มีอะไรอยู่ในขวดน้ำแบบใช้ซ้ำกันแน่

แม้โดยปกติแล้วน้ำจากก๊อกน้ำในครัว (ในบริบทของสหราชอาณาจักร) นั้นมีความปลอดภัยที่จะดื่ม แต่น้ำจากก๊อกน้ำในครัวก็ยังมีจุลินทรีย์อยู่ในนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พริมโรส ฟรีสโตน นักวิชาการด้านจุลชีววิทยาคลินิกแห่งมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า นี่เป็นสาเหตุที่เมื่อเรากรอกน้ำใส่ไว้ในขวดไว้สักสองสามวันก็จะเป็นการกระตุ้นให้แบคทีเรียเติบโต

ผศ.ฟรีสโตน กล่าวว่าแบคทีเรียที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์จะเติบโตได้ที่อุณหภูมิประมาณ 37 องศาเซลเซียส แต่ยังสามารถขยายตัวได้ที่อุณหภูมิห้องซึ่งอยู่ที่ประมาณ 20 องศาเซลเซียสได้อีกด้วย

“ยิ่งน้ำอยู่ในขวดที่อุณหภูมิห้องนานเท่าใด แบคทีเรียก็จะยิ่งโตขึ้นเท่านั้น” เธอกล่าว

งานศึกษาที่ทำในสิงคโปร์ชิ้นหนึ่งซึ่งศึกษาน้ำประปาต้มสุก พบว่าน้ำประปาที่ต้มสุกแล้วควรที่จะสามารถฆ่-าแบคทีเรียในนั้นเสียชีวิตได้ทั้งหมด ทว่าผลการศึกษาพบว่าจำนวนแบคทีเรียกลับเติบโตอย่างรวดเร็วในขวดน้ำที่พวกเขาใช้ดื่มตลอดทั้งวัน โดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาพบว่า น้ำในขวดน้ำที่ใช้โดยผู้ใหญ่มีแบคทีเรียเพิ่มขึ้นจากประมาณ 75,000 ตัวต่อมิลลิลิตรในช่วงเช้า เป็น 1-2 ล้านตัวต่อมิลลิลิตรภายในเวลา 24 ชั่วโมง

ที่มาของภาพ : Gorka Olmo

ทุกครั้งที่คุณจิบน้ำจากขวดน้ำหรือแก้ว ก็สามารถทิ้งจุลินทรีย์ไว้ที่ภาชนะและปะปนไปกับจุลินทรีย์ที่อยู่ในของเหลวได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฟรีสโตนบอกว่า หนึ่งในวิธีที่ช่วยชะลอการเติบโตของแบคทีเรียให้ช้าลง คือการเก็บขวดน้ำไว้ในตู้เย็นตอนที่ไม่ได้หยิบขึ้นมาดื่ม แม้ว่าจะไม่สามารถหยุดการเติบโตของแบคทีเรียได้โดยสิ้นเชิง

เธอกล่าวอีกว่า ถึงแม้ว่าบางกรณีแบคทีเรียในกระบอกน้ำจะมาจากตัวน้ำโดยตรง แต่จุดที่ทำให้แบคทีเรียมาอยู่ในขวดน้ำมาจากคนดื่มเอง การนำกระบอกน้ำไปที่ทำงาน ยิม หรือกระทั่งการตั้งมันไว้ที่บ้าน สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ขวดน้ำมีจุลินทรีย์อยู่มากมาย และจุลินทรีย์เหล่านี้ก็สามารถมาเกาะที่ขวดน้ำได้ไม่ยาก ประกอบกับแบคทีเรียจากปากของคนดื่มเองทุกครั้งที่ดื่มน้ำด้วย นอกจากนี้ผู้ใช้กระบอกน้ำที่ไม่ได้ล้างมือเป็นประจำอาจพบว่ามีแบคทีเรียเกาะอยู่ที่ขวดได้ เช่น เชื้อแบคทีเรียอีโคไล

“แบคทีเรียที่เกี่ยวข้องกับอุจจาระอย่างอีโคไล อาจมาจากมือและไปจบที่ริมฝีปากของคุณได้ หากคุณไม่ได้รักษาสุขอนามัยหลังจากใช้ห้องน้ำให้ดี” เธอกล่าว

เรายังสามารถแพร่เชื้อหรือรับเชื้อไวรัสได้โดยการใช้ขวดน้ำร่วมกันกับผู้อื่น โรคเช่นโนโรไวรัสสามารถแพร่เชื้อได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีนี้

นักวิชาการฟรีสโตน ระบุว่า โดยทั่วไปคนเรามักจะมีแบคทีเรียสายพันธุ์ต่าง ๆ อยู่ในปากของเรามากถึง 500-600 ชนิด “สาเหตุการติดเชื้อโรคของเราไม่จำเป็นต้องติดจากคนอื่นเสมอไป คุณอาจมีเชื้อโรคพวกนั้นอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว แต่ระบบภูมิคุ้มกันนั้นทำหน้าที่ในการปกป้องเราได้เป็นอย่างดี” เธอกล่าวเสริม

อีกวิธีที่คุณสามารถกระตุ้นให้แบคทีเรียเติบโตในขวดน้ำของคุณ คือการใส่น้ำชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำเปล่าลงไป เครื่องดื่มที่บำรุงร่างกายยังเป็นอาหารของจุลินทรีย์ด้วย ฉะนั้นแล้วเครื่องดื่มใด ๆ ก็ตามอย่างเช่น เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสามารถกระตุ้นให้แบคทีเรียหรือเชื้อราในขวดเติบโตได้

“อะไรก็ตามที่ไม่ใช่น้ำเป็นสวรรค์สำหรับแบคทีเรียและเชื้อรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนเชค” ผศ.ฟรีสโตนกล่าว

หากคุณเคยทิ้งนมไว้ในแก้วเป็นเวลาหลายชั่วโมง คุณอาจสังเกตเห็นว่านมจะทิ้งฟิล์มบาง ๆ ไว้บนแก้วเมื่อคุณเททิ้ง ซึ่งนักวิชาการผู้นี้บอกว่า แบคทีเรียชอบฟิล์มชนิดนี้มาก

แบคทีเรียเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร ?

แบคทีเรียนั้นอยู่รอบล้อมตัวเรา ทั้งในดิน อากาศ และร่างกายของเราเอง แต่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะทราบว่าแบคทีเรียส่วนใหญ่นั้นไม่เป็นอันตรายหรือบางชนิดก็มีประโยชน์ด้วยซ้ำ

น้ำที่ปนเปื้อนแบคทีเรียอย่างเชื้ออีโคไล อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียและอาเจียน แต่มันไม่ได้มีโทษอย่างนี้ตลอดเวลา เชื้ออีโคไลเป็นกลุ่มแบคทีเรียกลุ่มใหญ่ที่พบตามธรรมชาติในสิ่งแวดล้อม แต่ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่พบได้ปกติในลำไส้ของมนุษย์ แต่แบคทีเรียเหล่านี้จะกลายเป็นเชื้อโรคได้ก็ต่อเมื่อแสดงลักษณะบางอย่างที่เป็นอันตรายเท่านั้น จึงจะทำให้ผู้คนป่วยได้

ฟรีสโตนกล่าวว่า จุลินทรีย์ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์แต่คนที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้มากกว่า นอกจากนี้ การป่วยด้วยโรคกระเพาะในบางกรณีอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลำไส้ในระยะยาว

“ลำไส้ของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ในลำไส้มีแบคทีเรียมากกว่า 1,000 ชนิด จึงยากที่จะเปลี่ยนแปลงในแง่ขององค์ประกอบ” เธอกล่าวและว่า “มีตัวแปรมากมายเกินกว่าจะพูดได้ แต่การป่วยอาหารเป็นพิษจากแบคทีเรียที่อยู่ในขวดน้ำจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี”

ผู้ที่เพิ่งกินยาปฏิชีวนะไปไม่นานซึ่งอาจมีผลไปกระทบต่อจุลินทรีย์ในลำไส้อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ร่างกายเปราะบางมากขึ้นต่อการติดเชื้อชนิดอื่น ๆ จากการเก็บตัวอย่างขวดน้ำแบบใช้ซ้ำที่สำนักงานหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรพบว่าขวดน้ำเหล่านี้อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แบคทีเรียดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ ทีมนักวิจัยได้ค้นพบแบคทีเรียสายพันธุ์เคลบเซลลา กรีมอนต์ (Klebsiella grimontii) ซึ่งสามารถสร้างไบโอฟิล์มบนพื้นผิวที่ปราศจากเชื้อได้ในตัวอย่างที่เก็บจากขวดน้ำแบบใช้ซ้ำ แม้ว่ามันอาจเป็นจุลินทรีย์ปกติที่สามารถพบได้ในระบบทางเดินอาหาร แต่ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องร่วงรุนแรงในคนที่เพิ่งกินยาปฏิชีวนะได้

อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตด้วยว่าไม่เคยมีตัวอย่างการเจ็บป่วยรุนแรงที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามีสาเหตุจากขวดน้ำแบบใช้ซ้ำจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา แต่นั่นก็ไม่ได้ความว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น เนื่องจากการตรวจสอบแยกแยะอย่างละเอียดว่าแหล่งที่มาของการติดเชื้อเกิดขึ้นจากแหล่งใดเป็นเรื่องยากมาก

ควรทำความสะอาดขวดน้ำแบบใช้ซ้ำอย่างไร ?

สำหรับเบห์นเก ความคิดเรื่องที่ว่าบางครั้งเขาควรทำความสะอาดกระบอกน้ำของตัวเองให้สะอาดกว่านี้ ทำให้เขาต้องเพ่งดูอย่างใกล้ชิดว่าข้างในมีอะไรอยู่บ้าง เขาใช้ขวดน้ำชนิดกรองและเริ่มสังเกตเห็นว่าน้ำที่เขาดื่มจากขวดนั้นมีรสชาติไม่ดี

“ผมล้างด้วยน้ำร้อนเป็นครั้งคราว แต่ไม่เคยทำอะไรมากกว่านั้นเลย” เขากล่าว

หลังจากตรวจสอบด้วยกระดาษเช็ดมือโดยเช็ดภายในตัวขวดและพบว่าขวดน้ำของเขาเหม็นแค่ไหน งานวิจัยของเขาและคณะก็เริ่มศึกษาลงลึกไปว่าวิถีการใช้ขวดน้ำของผู้คนทั่วไปนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

เบห์นเกพบว่า กว่าครึ่งของผู้ร่วมการสำรวจในวิจัยนี้ 90 คน ระบุว่าพวกเขาใช้ขวดน้ำร่วมกับผู้อื่น และ 15% บอกว่าพวกเขาไม่เคยล้างทำความสะอาดขวดน้ำเลย นั่นไม่น่าแปลกใจเลยที่การที่ผู้ใช้ขวดน้ำดื่มล้างหรือไม่ล้างขวดต่างก็ส่งผลต่อระดับการปนเปื้อน อย่างไรก็ตาม เบห์นเกพบว่า ความถี่ในการล้างทำความสะอาดขวดหรือวิธีในการล้าง ไม่ได้มีผลมากเท่าใดต่อการปนเปื้อนของภาชนะ

คนที่ล้างขวดน้ำด้วยอุปกรณ์อย่างเช่นแปรงหรือใช้เครื่องล้างจานมีแนวโน้มที่จะพบแบคทีเรียในขวดได้น้อยที่สุด เบห์นเกและเพื่อนร่วมทีมวิจัยแนะนำว่า การใช้เครื่องล้างจานที่มีรอบการฆ่-าเชื้ออาจเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผลสรุปของการศึกษาชี้ว่า ข้อค้นพบเหล่านี้อาจเป็นข้อเท็จจริงที่มีความโน้มเอียงจากการที่นักวิจัยใช้วิธีให้ผู้ร่วมการสำรวจรายงานพฤติกรรมการล้างทำความสะอาดด้วยตัวเอง ซึ่งพวกเขาอาจเปลี่ยนแปลงคำตอบเพื่อให้ดูเป็นที่ยอมรับจากสังคมมากขึ้นก็เป็นได้

งานวิจัยยังพบด้วยว่า ขวดที่บรรจุน้ำชา กาแฟ หรือน้ำผลไม้ จะปนเปื้อนมากกว่าขวดน้ำที่ใส่น้ำเปล่าอย่างเดียว

ฟรีสโตน กล่าวว่า การล้างขวดน้ำด้วยน้ำเย็นนั้นไม่เพียงพอ เพราะมันไม่สามารถกำจัดไบโอฟิล์มหรือกลุ่มชั้นบาง ๆ ของแบคทีเรียที่เกาะติดอยู่กับพื้นผิวภายในขวดน้ำเหล่านั้นได้ ซึ่งเป็นสภาพที่สมบูรณ์ต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เธอแนะนำว่าการล้างขวดน้ำแบบใช้ซ้ำได้ควรใช้น้ำร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส (หรือ 140 องศาฟาเรนไฮต์) เพราะเป็นอุณหภูมิที่สามารถฆ่-าเชื้อโรคได้ และควรใช้น้ำยาล้างทำความสะอาดเขย่าในขวด แล้วทิ้งไว้ 10 นาทีก่อนที่จะล้างด้วยน้ำร้อนให้สะอาด หลังจากนั้นควรปล่อยให้ขวดแห้งด้วยอากาศซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงการสะสมของแบคทีเรียในขวด เนื่องจากจุลินทรีย์ชอบสภาพแวดล้อมที่มีความชื้น

คุณควรล้างทำความสะอาดขวดด้วยวิธีนี้หลังการใช้งานแต่ละครั้ง หรืออย่างน้อยที่สุดในสัปดาห์หนึ่งควรล้างหลายครั้ง และ ผศ.สโตนยังเตือนว่า อย่ารอให้มันมีกลิ่นเหม็นเสียก่อน

“หากขวดน้ำของคุณเริ่มจะส่งกลิ่น แสดงว่ามันถึงจุดที่ควรจะโยนมันทิ้งไป” เธอกล่าว และบอกว่าเมื่อคุณมีขวดน้ำที่สะอาดและล้างเป็นอย่างนี้ จำไว้ด้วยว่าควรล้างมือก่อนที่จะสัมผัสมัน

หนึ่งในคนที่ปฏิรูปวิธีการล้างขวดน้ำคือเบห์นเก เขาล้างและผึ่งขวดน้ำให้แห้งทุกสัปดาห์โดยใช้สเปรย์น้ำยาและแปรงล้างขวด ซึ่งเขาใช้ทำความสะอาดปลายขวดหรือบริเวณหัวฉีดและพื้นผิวขนาดเล็กอื่น ๆ

ที่มาของภาพ : Gorka Olmo

การแช่ขวดน้ำไว้ในตู้เย็นตอนที่ยังดื่มไม่หมดสามารถช่วยชะลอการเติบโตของจุลินทรีย์ได้

ขวดน้ำประเภทใดที่ควรหลีกเลี่ยง

แม้ว่างานศึกษาวิจัยบางชิ้นจะพบว่าขวดพลาสติกมีแบคทีเรียมากกว่าขวดสแตนเลส แต่วิธีการทำความสะอาดที่ใช้มักจะทำให้เกิดความแตกต่างมากกว่า ฟรีสโตนกล่าวว่าขวดที่ถูกสุขอนามัยที่สุดคือขวดที่ทำความสะอาดง่ายที่สุด และสิ่งสำคัญคือต้องทำความสะอาดทุกส่วนของขวดน้ำ รวมถึงด้านนอก ฝา และหลอดดูด

อย่างไรก็ตาม อาจมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องเลือกใช้ขวดที่ทำจากวัสดุโลหะแทนพลาสติก

“พลาสติกมักมีสารเคมีเติมแต่งที่ช่วยเพิ่มคุณสมบัติด้านความยืดหยุ่น ความทนทาน ความทนความร้อน และน้ำหนักเบา” ผู้ช่วยศาสตราจารย์อามิต อับราฮัม นักวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพประชากรคลินิกที่สถาบันการแพทย์ Weill Cornell ในกาตาร์กล่าว

“สารเติมแต่งเหล่านี้เป็นสารที่ผสมไปในพลาสติก ซึ่งนั่นหมายความว่ามันสามารถซึมลงไปในน้ำได้” อับราฮัมกล่าว และบอกว่างานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าสารเติมแต่งเหล่านี้ เช่น สารบีพีเอ (BPA) อาจรบกวนการทำงานของฮอร์โมนและอาจเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขึ้น รวมทั้งสโตรกหรือโรคหลอดเลืoดสมอง เบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ

อับราฮัม กล่าวว่าสารพวกนี้ดูเหมือนจะซึมลงในน้ำได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นขวดแบบใช้แล้วทิ้งหรือใช้ซ้ำ นอกจากนี้ตัววัสดุพลาสติกเองก็สามารถสลายตัวได้ทำให้มีไมโครพลาสติกในน้ำดื่มบรรจุขวดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ขวดแก้วหรือสแตนเลสอาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคุณจะเลือกขวดน้ำแบบใด ดูเหมือนว่านิสัยการรักษาสุขอนามัยที่ดีจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้แน่ใจได้ว่า น้ำที่คุณดื่มจะไม่เต็มไปด้วยแบคทีเรียที่เป็นอันตราย