คุยกับผู้ประท้วงรัฐบาลเซอร์เบีย เหตุใดยังกังขาว่า ทางการใช้ ‘ปืนใหญ่เสียง' สลายการชุมนุม ?

ที่มาของภาพ : Getty Pictures

ผู้ประท้วงชาวเซอร์เบียหลายแสนคนรวมตัวกันในกรุงเบลเกรดเพื่อประท้วงการทุจริตอย่างเป็นระบบในเซอร์เบีย

Article files

  • Author, มิลิกา ราเดนโควิช เจเรมิช และลารา โอเวน
  • Characteristic, บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
  • Reporting from กรุงเบลเกรดและกรุงลอนดอน

เป็นเวลาเพียงไม่กี่วินาทีแต่ผู้คนกลับตื่นตระหนกกันอย่างมาก เกิดความโกลาหลและความหวาดกลัวแผ่กระจายไปทั่วฝูงชนในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในเซอร์เบีย สิ่งที่เริ่มต้นจากความสับสนได้ลุกลามไปสู่คำถามที่ว่า มีการใช้อาวุธโซนิคผิดกฎหมายเพื่อระงับการชุมนุมหรือไม่

ฉันอยู่ท่ามกลางฝูงชนจำนวนมากในกรุงเบลเกรดเมื่อเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมาด้วย ผู้ประท้วงกำลังยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 15 นาทีเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต 15 รายจากเหตุการณ์ สถานีรถไฟในโนวีซาด เมืองใหญ่อันดับสองของเซอร์เบียถล่มลงมา โศกนาฏกรรมดังกล่าวได้จุดชนวนให้เกิดความไม่สงบไปทั่วประเทศ

จากนั้น จู่ ๆ ก็มีเสียงดังสนั่นแหวกขึ้นมาในความเงียบ

บรรยากาศเปลี่ยนไปในทันที ผู้คนพากันวิ่งขึ้นไปบนทางเดินถนนด้วยความตื่นตระหนก ฉันเองก็รู้สึกตกใจไปกับพวกเขาด้วย ผู้ประท้วงวิ่งกันกระจัดกระจายไปทุกทิศทุกทาง

ในตอนแรก หลายคนคิดว่าเสียงนั้นเป็นเสียงรถพยาบาลฉุกเฉิน หลังจากได้ยินเสียงที่เหมือนกับเสียงรถชน แต่มันก็ไม่มีเสียงไซเรนดังขึ้น

and proceed readingเรื่องแนะนำ

Discontinue of เรื่องแนะนำ

จากนั้นก็มีข่าวลือตามมา มีการกล่าวอ้างว่ามีการนำอาวุธโซนิคซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถสร้างความเจ็บปวด เวียนศีรษะ และความเสียหายต่อการได้ยิน มาใช้โจมตีผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างสงบ

มิลิกา ราเดนโควิช เจเรมิค ผู้สื่อข่าวบีบีซี แผนกภาษาเซอร์เบีย ถ่ายภาพนี้เพียงไม่กี่นาทีก่อนที่ฝูงชนจะแตกกระเจิงไปทุกทิศทุกทาง

ทางการเซอร์เบียปฏิเสธรายงานดังกล่าว โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่ากองกำลังรักษาความปลอดภัยได้นำอุปกรณ์เครื่องขยายเสียงระยะไกล (Long Fluctuate Acoustic Tool – LRAD) หรือที่เรียกกันว่า “ปืนใหญ่เสียง” มาใช้ในระหว่างการประท้วง

สำนักงานอัยการ กรุงเบลเกรด ได้มีคำสั่งให้กระทรวงกิจการภายในดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว

‘เสียงที่น่ากลัวมาก'

การประท้วงครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 275,000 ถึง 325,000 คน ขณะที่รัฐบาลเซอร์เบียรายงานตัวเลขผู้เข้าร่วมอยู่ที่ 107,000 คน

หนึ่งในสถานที่ที่ผู้ประท้วงรวมตัวกันและเป็นจุดเกิดเหตุที่ได้ยินเสียงดังคือ บริเวณนอกศูนย์วัฒนธรรมนักศึกษาที่มีอาคารสีเหลืองสดใสในกรุงเบลเกรด ใจกลางเมืองหลวงของประเทศเซอร์เบีย

การประท้วง โดยนักศึกษาเซอร์เบียที่ออกมาปิดล้อมบริเวณมหาวิทยาลัยของตน กินเวลามากว่า 4 เดือนแล้ว โดยผู้ประท้วงเรียกร้องให้นำตัวผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สถานีรถไฟถล่มเข้ามาสู่กระบวนยุติธรรม

ผู้ร่วมประท้วงซึ่งเป็นพยานในเหตุการณ์พูดคุยผู้สื่อข่าว แผนกภาษาเซอร์เบีย โดยบอกว่าได้ยินเสียงดังกล่าว แต่ความดังหรือความเบาของการได้ยินเสียงจะขึ้นอยู่กับว่าพวกเขายืนอยู่ตรงไหนในฝูงชน

พยานบางรายเปรียบเทียบว่าเสียงนั้นเหมือนกับเสียงดังของรถแข่งฟอร์มูล่าวัน ขณะที่บางคนบอกว่ามันฟังดูเหมือนเสียงเครื่องบินที่บินต่ำอยู่เหนือศีรษะ หรือแม้กระทั่งเสียงเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอ

“มันเหมือนกับการยืนอยู่จุดที่รถคันแรกบนเส้นสตาร์ทของการแข่งขันกรังด์ปรีซ์” อีวาน วาซิช ผู้ประท้วงวัย 43 ปีกล่าว “ผมไม่รู้สึกอะไรหลังจากนั้น แต่ภรรยาของผมบ่นว่าปวดหัวอย่างรุนแรงจนถึงช่วงดึกของคืนนั้น”

ผู้ประท้วงรายอื่น ๆ เล่าว่ารู้สึกเหมือนเวียนหัวคล้าย ๆ กับอาการบ้านหมุน

“มันเป็นเสียงที่น่ากลัวมาก และมันมีพลังมาก ฉันรู้สึกเหมือนจะมีอะไรบางอย่างกำลังตกลงกระแทกบนหัวของเรา” เลลา สเรโดเยวิช วัย 37 ปี กล่าว “ฉันไม่เคยรู้สึกแบบนั้นมาก่อน ฉันกลัวมาก เสียงนั้นดังขึ้นมาไม่ถึงนาที แต่ในขณะนั้นฉันรู้สึกเหมือนกับว่า มันนานชั่วนิรันดร์”

ฉันเองก็ได้ยินเสียงดังก้องในหูจนถึงเวลาดึกดื่นของคืนนั้นเช่นเดียวกัน

ที่มาของภาพ : Reuters

การประท้วงกลายเป็นการเคลื่อนไหวระดับชาติเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในเซอร์เบีย

เทรเวอร์ ค็อกซ์ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเสียงจากมหาวิทยาลัยซัลฟอร์ด บอกกับบีบีซีว่า เสียงที่ดังพอที่จะทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามที่หลายคนรายงานนั้น อาจจะได้ยินชัดเจนในวิดีโอที่มีการแชร์กันแพร่หลายบนโซเชียลมีเดีย

“หากผู้คนได้ยินเสียงดังก้องในหูหรือมีการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวทางการได้ยิน เช่น เมื่อคุณออกจากสถานบันเทิงยามค่ำคืนแล้วมีอาการหูหนวกชั่วคราว นั่นแสดงว่าเสียงนั้น ดังพอที่จะทำให้การได้ยินของคุณเสียหายเป็นการชั่วคราว” เขากล่าว “นั่นอาจจะส่งผลค่อนข้างข้างร้ายแรงได้ เพราะอาจจะนำไปสู่ความเสียหายทางการได้ยินเป็นการถาวรก็ได้”

อย่างไรก็ตาม ค็อกซ์ กล่าวด้วยว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจไม่เกี่ยวข้องกับอาวุธ “ปืนใหญ่สียง”

“แม้ว่าจะเป็นเสียงที่ไม่ดังมากพอที่จะทำให้การได้ยินเสียหาย แต่มันก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองแบบสู้หรือหนีและปฏิกิริยาของฝูงชนจำนวนมากได้ นอกจากนี้ อาการหูอื้อยังอาจเกิดจากความเครียดได้อีกด้วย” เขากล่าวเสริม

เจอร์เกน อัลท์มันน์ นักฟิสิกส์ผู้ศึกษาวิจัยอาวุธเสียงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น กล่าวกับบีบีซีว่า เสียงดังกล่าว “ดูเหมือนจะเกิดจากแหล่งกำเนิดเสียงที่ดัง ซึ่งอาจเป็นอุปกรณ์จากตระกูล LRAD” แต่ยังกล่าวเสริมว่า “แต่การใช้กลไกอื่น ๆ ก็เป็นไปได้”

หนึ่งในกลุ่มเครือข่ายเอ็นจีโอ จากทั้งหมด 6 กลุ่มของเซอร์เบีย กล่าวในแถลงการณ์ร่วมกันว่า “จากรายงาน 500 รายการจากประชาชนและคำให้การของพวกเขา ชัดเจนว่าระหว่างการประท้วงเมื่อวันที่ 15 ม.ค. มีเสียงดังอย่างรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางกายภาพและทางจิตใจต่อผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์”

“ตามคำให้การดังกล่าว มีผู้ที่รู้สึกถึงเสียงกระทบที่รุนแรง ตามด้วยคลื่นความร้อนหรือลม” กลุ่มเครือข่ายเอ็นจีโอดังกล่าวอธิบายเสริม

ที่มาของภาพ : Getty Pictures

ผู้ประท้วงยกโทรศัพท์มือถือขึ้นส่องแสงบนท้องฟ้ายามค่ำคืนเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมในเมืองโนวีซาด

ทำความรู้จัก ‘เครื่องขยายเสียงระยะไกล'

เครื่องมือที่ถูกกล่าวอ้างว่าถูกนำมาใช้ในการชุมนุมนี้เรียกว่า เครื่องขยายเสียงระยะไกล (Long Fluctuate Acoustic Tool – LRAD) ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่ออาวุธ ปืนใหญ่เสียง (sonic cannon)

LRAD เน้นคลื่นเสียงที่ความเข้มข้นสูง โดยทำให้เกิดอาการเจ็บปวด คลื่นไส้ และสับสน การใช้เครื่องมือดังกล่าวเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายของตำรวจเซอร์เบีย

“กองกำลังตำรวจใช้อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น กระสุนยางและแก๊สน้ำตา มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ปืนใหญ่เสียงเป็นการพัฒนาใหม่ล่าสุด ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000” พาเวล อักเซนอฟ ผู้สื่อข่าวด้านกลาโหมจากบีบีซีแผนกภาษารัสเซีย กล่าว

“อาวุธเหล่านี้สามารถกำหนดเป้าหมายเป็นฝูงชนหรือบุคคลได้ และถูกใช้โดยหน่วยตำรวจและทหารในหลายประเทศเพื่อปราบปรามการจลาจล สลายการชุมนุม เฝ้าด่านตรวจ หรือแม้แต่ปกป้องเรือจากการโจมตีของโจรสลัด”

“แม้ว่าอาวุธเหล่านี้จะถูกจัดอยู่ในประเภทไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ยังสามารถก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ ผลกระทบดังกล่าวนั้นยากที่จะควบคุมได้ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้” เขากล่าวเสริม

ปืนใหญ่เสียง ถูกใช้โดยกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิของสหรัฐฯ เพื่อสลายการประท้วงต่อต้านโลกาภิวัตน์ในระหว่างการประชุมสุดยอด G20 ที่เมืองพิตต์สเบิร์กในปี 2009 เช่นเดียวกับระหว่างการจลาจลครั้งใหญ่ในเมืองเฟอร์กูสันในปี 2014

สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (The American Civil Liberties Union – ACLU) ระบุว่ายังไม่มีการศึกษาวิจัยที่ครอบคลุมเกี่ยวกับผลกระทบของอาวุธเสียงต่อมนุษย์ อย่างไรก็ตาม มีรายงานรายบุคคลเกี่ยวกับการสูญเสียการได้ยิน อาการปวดหูเป็นเวลานาน และการมีเสียงดังในหู

ACLU เน้นย้ำด้วยว่าอาวุธดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างไม่เลือกคน เพราะมันไม่เพียงแต่ส่งเสียงถึงผู้ประท้วงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนที่อยู่แถวนั้นและยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

ปฏิกิริยาจากกองทัพเซอร์เบียเป็นอย่างไร ?

กองทัพเซอร์เบียระบุว่ากองทัพไม่ได้ครอบครองปืนใหญ่เสียงหรือเคยใช้อุปกรณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด

ในบทสัมภาษณ์กับสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำชาติของประเทศเซอร์เบีย RTS พลจัตวาสลาฟโก ราคิช จากกองทัพเซอร์เบีย กล่าวว่า “ปืนใหญ่เสียงใช้ระบบเสียงที่ขยายเสียงได้ดีกว่าระบบเสียงของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มาก แต่สิ่งที่เราประสบนั้นไม่เหมือนกับปืนใหญ่เสียงเลย”

“ผลลัพธ์ของเสียงที่ได้คือควรเป็นเสียงที่ถูกขยายและมันควรจะได้ยินได้ในการถ่ายบันทึกวีดีโอ แต่วิดีโอที่บันทึกเสียงไว้กลับไม่เป็นเช่นนั้น”

ตามข้อมูลของศูนย์นโยบายความมั่นคงประจำกรุงเบลเกรด ในปี 2022 กระทรวงกิจการภายในของเซอร์เบียพยายามทำให้การใช้เครื่องมือเสียงเป็นเครื่องมือควบคุมฝูงชนถูกกฎหมาย

แต่หลังจากถูกกดดันจากสาธารณชน ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงถูกถอดออกไป ขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับใหม่กำลังถูกยกร่าง แต่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยคาดว่าจะร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. นี้

ที่มาของภาพ : EPA

ตำรวจในชุดเผชิญเหตุประจันหน้ากับผู้ประท้วง

จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ ?

นักศึกษาที่ออกมาประท้วงอ้างว่าทางการยังไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของพวกเขา ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยเอกสารเกี่ยวกับการสร้างสถานีรถไฟโนวีซาดขึ้นใหม่ และการรับผิดชอบต่อการพังถล่มของหลังคาสถานีรถไฟ

การประท้วงครั้งใหญ่คาดว่าจะกลับมาอีกครั้งในสัปดาห์นี้ ส่วนการประท้วงขนาดย่อม ๆ เช่น การประท้วงที่มีนักศึกษาเข้าร่วมประมาณ 500 คนในวันจันทร์ กำลังกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน

หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสุดสัปดาห์นี้ ฉันได้เดินฝ่าฝูงชนที่ตื่นตระหนกเพื่อตามหาเพื่อนร่วมงาน

นักศึกษาส่วนใหญ่ถอยร่นเข้าไปในอาคารคณะของตน โดยไม่ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงใด ๆ หลังจากได้ยินรายงานการจลาจลที่สวนสาธารณะใกล้เคียง

ความตื่นตระหนกดังกล่าวทำให้เมื่อในที่สุดที่ฉันไปพบกับเพื่อนร่วมงานบนสะพานใกล้เคียง เราก็ตกลงกันว่าหากเกิดการเหยียบกันเสียชีวิต เราจะกระโดดลงไปในแม่น้ำ

แม้ว่าจะมีความโกลาหล แต่ก็ไม่มีใครคาดการณ์ว่าการประท้วงเหล่านี้จะยุติลง

การเคลื่อนไหวซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของนักศึกษาภายหลังการล่มสลายของสถานีรถไฟโนวีซาด ปัจจุบันได้กลายเป็นการประท้วงที่รวมเอาผู้คนจากทุกสาขาอาชีพ

หญิงสาวคนหนึ่งที่ฉันเดินผ่านขณะกำลังจะออกไปจากการประท้วงกล่าวว่า “แทบทุกคนที่ฉันรู้จักร่วมการประท้วงกันหมด ปกติแล้วผู้คนมักจะหาข้ออ้าง แต่ตอนนี้ทุกคนกำลังมุ่งหน้ามาเข้าร่วมการประท้วง”

รายงานเพิ่มเติมโดย แดเนียล วิทเทนเบิร์ก