หลัง กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติ มีมติไม่เอกฉันท์ คงหลักเกณฑ์ 2 ชั้น เมื่อ 20 พ.ย. 2567 และมีโอกาสสูงมากที่ร่าง กม.จะถูกดองต่ออีก 180 วัน หากสภาใดสภาหนึ่งไม่ยอมรับมติของ กมธ.ร่วมฯ
การยืดเวลาออกไป 180 วันออกไป ส่งผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จทันภายในสมัยรัฐบาล ‘แพทองธาร' ยังคงมีแต่ความไม่แน่นอน แล้วประชาชนยังพอมีความหวังที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2570 หรือไม่
ประชาไทคุยกับณัชปกร นามเมือง จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ พบว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จทันปี 2570 ยังเป็นไปได้ แม้ไม่ง่ายนัก และจุดผลักดันที่ประชาชนต้องทำต่อ ทั้งกดดันฝากฝั่งบริหาร-นิติบัญญัติอย่างประธานสภาฯ ฝ่ายค้าน และสำคัญที่สุดคือ สว.-ภูมิใจไทย ให้สนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยให้ได้
ณัชปกร นามเมือง สมาชิกเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ และสมาชิกกรรมาธิการร่วม (กมธ.ร่วม) เพื่อพิจารณาศึกษาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์หลังจาก กมธ.ร่วมฯ มีมติคงหลักเกณฑ์ 2 ชั้น (Double Majority) เมื่อ 20 พ.ย. 2567 โดยเขามองว่า ประชาชนยังมีความหวังแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในสมัยรัฐบาลนี้ผ่านข้อเสนอภาคประชาชนในการจัดทำประชามติเพียง 2 ครั้ง แต่อุปสรรคสำคัญคือการเจรจากับพรรคภูมิใจไทย ที่กุมเสียงของวุฒิสภา ให้สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้ง 100%
ณัชปกร นามเมือง
หลักเกณฑ์การผ่านประชามติ 2 ชั้น คือ ถ้าจะผ่านประชามติต้อง 1. ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และ 2. ต้องมีผู้ออกเสียง ‘เห็นชอบ’ เกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติ
ก่อนหน้านี้ สว.อ้างว่า ที่ต้องคงหลักเกณฑ์ 2 ชั้น เพราะว่าเป็นเรื่องความชอบธรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องให้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ต่อให้ สส.มาครบก็สู้ฝั่งหลักเกณฑ์ 2 ชั้นไม่ไหว
เมื่อ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา การประชุมคณะ กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ มี สส.ขาดประชุมถึง 3 คน แต่ในกรณีที่ตัวแทนฝั่ง สส.เข้าประชุมครบทุกคน จะสามารถเปลี่ยนแปลงผลการลงมติหรือไม่นั้น ณัชปกร มองประเด็นนี้ว่า ต่อให้ฝั่ง สส.มากันครบ ก็ยังโหวตแพ้เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา เพราะว่า 2 สส.พรรคภูมิใจไทย แสดงจุดยืนอยู่ข้าง สว.ตั้งแต่การประชุมครั้งแรกเลือกประธาน กมธ.ร่วมฯ
“ผลมันรู้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะว่าตอนเลือกประธานกรรมาธิการฯ ตอนนั้นทุกคนเข้าครบ แล้วเสียงฝั่ง สว.เขาได้ 16 แต้ม ทั้งที่มี สว.แค่ 14 คน ก็คือสามารถอนุมานได้ว่า พรรคภูมิใจไทยโหวตให้ สว.เป็นประธานฯ เพราะฉะนั้น เสียงมันไม่เท่ากันตั้งแต่แรก เพราะว่ามันมีเสียงภูมิใจไทย 2 คนเป็นฝั่งเดียวกัน เพราะฉะนั้น ต่อให้ สส.เข้ากันครบ มันก็ไม่ได้เปลี่ยนผลลัพธ์” ณัชปกร กล่าว
โฆษกคณะกรรมาธิการร่วม พ.ร.บ.ประชาชาติ แถลงข่าวเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นชอบตามที่วุฒิสภาแก้ไขให้มีการออกเสียงประชามติ 2 ชั้นเมื่อ 20 พ.ย. 2567 (ที่มา: เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร)
รายชื่อผู้ที่อยู่ใน กมธ.ร่วม วันตัดสินหลักเกณธ์ประชามติ
ฝั่งตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)
1. ประยุทธ์ ศิริพานิชย์
2. ณัฐวุฒิ บัวประทุม (ลา)
3. วิทยา แก้วภราดัย
4. ยุทธการ รัตนมาศ (ลา)
5. กรวีร์ ปริศนานันทกุล (งดออกเสียง)
6. ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ (ลา)
7. ไชยชนก ชิดชอบ (งดออกเสียง)
8. นพดล ปัทมะ
9. พริษฐ์ วัชรสินธุ
10. นิกร จำนง
11. จาตุรนต์ ฉายแสง
12. กฤช เอื้อวงศ์
13. ณัชปกร นามเมือง
14. ปกป้อง จันวิทย์
ฝั่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
1. ชีวะภาพ ชีวะธรรม
2. กอบ อัจนากิตติ
3. ธวัช สุระบาล
4. วุฒิชาติ กัลยาณมิตร
5. นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล
6. บุญจันทร์ นวลสาย
7. ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล
8. พิชาญ พรศิริประทาน
9. พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์
10. สิทธิกร ธงยศ
11. อภิชาติ งามกมล
12. เอนก วีระพจนานันท์
13. ฉัตรวรรษ แสงเพชร (งดออกเสียง ในฐานะประธาน กมธ.ร่วม)
14. กมล รอดคล้าย
มีโอกาสถูกยับยั้งร่าง กม. ไว้ 180 วัน
กระบวนการหลังจาก กมธ.ร่วมฯ รับรองร่างกฎหมายแล้ว จะมีการยื่นร่างเข้าไปแต่ละสภาฯ คือวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร โดยคาดว่าพิจารณาในต้นเดือน ธ.ค.นี้ หากสภาใดสภาหนึ่งไม่รับรอง ร่างกฎหมายจะถูกพับเก็บไว้ 180 วัน (6 เดือน) และจะนำมายื่นให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาใหม่ได้เมื่อครบกำหนดเวลา
ณัชปกร ให้ความเห็นว่า สส.มีโอกาสมากที่จะไม่ยอมรับหลักเกณฑ์ประชามติ 2 ชั้น และน่าจะมีผลทำให้ร่างประชามติถูกยับยั้งไว้ 180 วัน ซึ่งคาดว่าจะกลับมาพิจารณาอีกครั้งประมาณ มิ.ย.-ก.ค. 2568 โดยถ้าผลออกมาเป็นแบบนี้จะไม่มีประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญ พร้อมกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดใน ก.พ. 2568 อย่างแน่นอน
สมาชิกเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ มองว่า อย่างไรก็ดี การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ยังมีโอกาสทันภายในสมัยรัฐบาลนี้ โดยข้อเสนอของภาคประชาชนคือจัดทำประชามติ 2 ครั้ง (แตกต่างจากของมติ ครม.ที่ให้จัดทำ 3 ครั้ง) โดยช่วงระหว่าง 180 วันที่รอพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติ ใหม่อีกครั้ง ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 คู่ขนาน เพื่อไม่ให้เสียเวลา และเพื่อให้หลังจากพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ของสภาฯ เสร็จสิ้นแล้ว จะได้ทำประชามติครั้งแรกได้เลยภายในปี 2568
หลังจากนั้น ปี 2569 ให้มีการจัดเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และก็ใช้ปี 2569 ทั้งปีทำรัฐธรรมนูญใหม่ และในปี 2570 ต้องมีการทำประชามติครั้งที่ 2 เพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จัดทำโดย ส.ส.ร.
จับตา ปธ.สภาฯ บรรจุวาระ – สว.หนุนแก้ รธน. มาตรา 256
ณัชปกร กล่าวต่อว่า 2 ประเด็นที่ต้องจับตาดูต่อวันมูหะมัดนอร์ มะทา (วันนอร์) ประธานรัฐสภา บรรจุร่างแก้ไขกฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เข้าสภาฯ เมื่อไร เพราะว่าก่อนหน้านี้ วันนอร์ไม่บรรจุวาระฯ เพราะโดนทักท้วงจากฝ่ายกฎหมายรัฐสภาว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้บรรจุวาระ และประเด็นต่อมา คือการให้ สว. และพรรคภูมิใจไทย เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจาก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100%
แม้ว่าพรรคภูมิใจไทยประกาศอย่างชัดเจนว่า “เห็นด้วย” กับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่เราก็เห็นกระบวนการเตะถ่วงของฝั่ง สว.สีน้ำเงินมาโดยตลอด โดยเฉพาะการแก้ พ.ร.บ.ประชามติให้กลับไปใช้หลักเกณฑ์ 2 ชั้น, ช่วงตั้ง กมธ.ร่วม 2 สภา สว.มีการเตะถ่วงเลื่อนการประชุม ทำให้เสียเวลาเกือบ 2 อาทิตย์, หรือการยืนยันร่างประชามติหลักเกณฑ์ 2 ชั้น ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่ามีโอกาสถูกยับยั้ง 180 วัน ดังนั้น มันเลยเป็นความท้าทายของปี 2568 ว่าเราจะทำโรดแมปประชามติได้หรือไม่
ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียง 1 ใน 3 จากสมาชิกวุฒิสภา ถึงจะสามารถแก้ไขได้ แต่ตลอดมาก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า สว.กลุ่มใหญ่มักมีแนวโน้มเอนเอียงไปทางเดียวกับมติ หรือความเห็นของพรรคภูมิใจไทย
เมื่อ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าหารืออย่างไม่เป็นทางการกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปมคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งได้ความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องจัดทำประชามติ 3 ครั้ง และพริษฐ์ มีแผนว่าจะเข้าหารือประธานสภาฯ ให้บรรจุวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายใน 27 พ.ย.นี้
ขณะเดียวกัน ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อ เสนอว่า หากร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ถูกตีความเป็นร่างกฎหมายการเงิน เพราะว่าการจัดทำประชามติต้องใช้งบประมาณ จะส่งผลให้ร่างไปผ่านการรับรองจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจช่วยร่นระยะเวลาจาก 180 วัน เหลือเพียง 10 วันได้ และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จัดทำประชามติได้ 3 ครั้งตามมติ ครม.
ชูศักดิ์ ศิรินิล
ฉันทามติประชาชนส้ม-แดงจะเป็นคีย์สำคัญ
ณัชปกร ตั้งข้อสังเกต เขาไม่คิดว่าพรรคภูมิใจไทยไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะว่าสถานภาพตอนนี้ใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็อ่อนแอมากๆ แต่สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยพยายามทำคือ ทำยังไงที่จะเข้าไปแทรกแซงกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านการใช้กลไกวุฒิสภา
“ผมกลัวว่ามันจะเกิดเหมือนกับสมัยที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ คือมี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งจริง แต่ว่ามีแต่งตั้งผสมมาด้วย และมีช่องทางให้พลพรรคของตัวเองเข้าช่องมาได้ ซึ่งมันจะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่กลายเป็นเพียง ‘พิธีกรรม'” ณัชปกร กล่าว
เบื้องต้น คีย์แมนคนสำคัญที่อาจจะพอกดดันพรรคภูมิใจไทยได้มีด้วยกัน 2 ตัวแสดง คือ ฝ่ายรัฐบาล และภาคประชาชน
สมาชิกเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ มองว่า นายกรัฐมนตรีอาจต้องพิจารณาว่า หากพรรคภูมิใจไทยเป็นอุปสรรคในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายกฯ อาจต้องยื่นเงื่อนไขปรับ ครม. เข้าไป แต่ไม่ทราบว่าจะประสบความสำเร็จในการกดดันมากแค่ไหน เพราะเสถียรภาพของรัฐบาลที่ยังมีแต่คำถาม
อีกตัวแสดงสำคัญคือ ‘ภาคประชาชน’ ที่อาจจะต้องกดดันวุฒิสภาให้หนักข้อมากขึ้น เหมือนกับสมัย สว. 250 คนที่มาจากคณะรัฐประหาร อย่างไรก็ดี ณัชปกร มองว่าโจทย์ตอนนี้คือยังไงให้ประชาชนเห็นปัญหาของ ‘สว.สีน้ำเงิน’ มากยิ่งขึ้น และโจทย์ข้างหน้าคือ ประชาชนต้องคิดต่อว่าทำยังไงให้เขาเข้าไปอยู่ในสมการทางอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้ เพราะว่าตอนนี้ประชาชนไม่ได้อยู่ในสมการอำนาจนี้เลย
“ถ้าเราอยากเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนคนทั่วไป ภาคประชาสังคม หรือสื่อมวลชน อันนี้แหละเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่มันเดินหน้า เพราะคาดหวังกับพรรคเพื่อไทยตอนนี้ก็ยาก เพราะว่าเขาก็เปราะบาง เราจะไปเจรจาต่อรองกับภูมิใจไทยก็ยาก เพราะเขารู้สึกว่าเขาถือไพ่เหนือกว่า เราจะไปคาดหวังกับพรรคฝ่ายค้าน ก็ยากเข้าไปใหญ่ เพราะว่ามีจำนวน สส.จริง แต่ไม่มีอำนาจมากขนาดนั้น เพราะฉะนั้น ประชาชนทุกภาคส่วนมันต้องจับมือกันและกดดันให้ 3 องคาพยพ มันเดินหน้าต่อไปได้” ณัชปกร กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )