จีนและเกาหลีเหนือคิดอย่างไรกับสถานการณ์ทางการเมืองของเกาหลีใต้ในตอนนี้ ?

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

คำบรรยายภาพ, คิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ

Article files

  • Creator, ซังมี ฮัน
  • Role, บีบีซีแผนกภาษาเกาหลี

ก่อนเข้าสู่ปี 2025 เพียงไม่กี่สัปดาห์ ดูเหมือนว่าสถานการณ์ทางการเมืองของเกาหลีใต้กลายเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ และร้อนแรงขึ้นไปอีกขั้นตอนเข้าสู่วันที่ 3 ธ.ค. 2024 เมื่อประธานาธิบดียุก ซอก-ยอล ประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยไม่มีใครคาดคิด

จากนั้นไม่นานสภานิติบัญญัติของเกาหลีใต้ได้มีมติยกเลิกประกาศดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ประธานาธิบดี ต้องถอนคำสั่งในเวลาต่อมา

ในเวลาต่อมาสภานิติบัญญัติได้ลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุน ซึ่งขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่สืบสวนต่อต้านการทุจริตมาจนถึงตอนนี้

สถานการณ์ในเกาหลีใต้จึงมีความผันผวนอย่างมาก และบุคคลหนึ่งที่เฝ้ามองเหตุการณ์เหล่านี้อย่างใกล้ชิดจากพรมแดนที่มีการป้องกันหนาแน่น คือ คิม จอง-อึน ผู้นำของเกาหลีเหนือ

เกาหลีเหนือมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการประกาศกฎอัยการศึกเพียง 2 ชิ้น โดยชิ้นแรกรายงานเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2024 หรือ 8 วันให้หลังจากการประกาศกฎอัยการศึก และรายงานข่าวนี้อีกครั้งเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา

Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ

Kill of เรื่องแนะนำ

ทว่าภาษาและข้อเท็จจริง รวมถึงน้ำเสียงที่ฟังดูเป็นกลาง ช่างแตกต่างจากรายงานข่าวเกี่ยวกับเกาหลีใต้ก่อนหน้านี้ จึงน่าสนใจว่าท่าทีเหล่านี้มีความหมายอย่างไร ?

ความกระอักกระอ่วนใจของคิม จอง-อึน ?

บางคนอาจโต้แย้งว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย เนื่องจากประเทศรับประกันสิทธิพลเมืองในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและสามารถยื่นถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งได้ด้วย ขณะที่ผู้คนก็มีเสรีภาพในการเข้าชุมนุมเพื่อสนับสนุนแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือจุดเทียนประท้วงต่อต้านผู้นำก็ได้

สิ่งเหล่านี้อาจทำให้นายคิมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ เพราะในทางตรงกันข้าม ประเทศของเขาสืบทอดมรดกระบอบเผด็จการมาถึง 3 รุ่น รวมถึงตัวเขาเองที่กุมอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น

ดังนั้น คิมอาจกังวลว่าชาวเกาหลีเหนืออาจได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่เกิดขึ้นข้างบ้าน จนทำให้เกิดการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในบ้านตัวเอง ด้วยเหตุนี้ยิ่งพูดถึงเหตุการณ์นี้น้อยมากเท่าไร ก็ยิ่งดีมากเท่านั้น

คิม ยอง-ฮุย นักวิจัยจากสถาบันเกาลีเหนือศึกษาของมหาวิทยาลัยทงกุก บอกกับบีบีซีว่า “เกาหลีเหนือไม่รู้ว่าพวกเขาสามารถเลือกผู้นำระดับชาติได้โดยตรง ตอนที่ผมอยู่เกาหลีเหนือ ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย พวกเขา [หมายถึงผู้นำ] ไม่ต้องการให้ประชาชนรู้ ดังนั้นพวกเขาไม่ต้องการให้คนในประเทศเห็นถึงความเป็นไปได้ในเรื่องนี้”

“คิมจะมองเหตุการณ์นี้และคิดว่าเขาไม่ควรยอมรับในประชาธิปไตย” เธอกล่าว และเสริมว่า “เขาปฏิเสธการเลือกตั้งเสรี แต่เมื่อเห็นประชาชนออกมากล่าวโทษผู้นำและยื่นถอดถอนผู้นำของพวกเขา ทำให้เขารู้สึกอึดอัดใจ”

แต่มันไม่ได้เป็นเช่นนี้เสมอไป

“ในตอนแรกเกาหลีเหนือวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเกาหลีใต้ว่าเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง แต่ยิ่งให้ประชาชนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากเท่าไร พวกเขาก็ตระหนักได้มากขึ้นว่ามันอาจเป็นภัยคุกคามต่อระบอบของเกาหลีเหนือ” ควาก กิล-ซุป อดีตนักวิเคราะห์เกาหลีเหนือของหน่วยข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีใต้

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ชาวเกาหลีใต้กลุ่มนี้สนับสนุนการจับกุมประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล

มุมมองของจีน

จีนซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเกาหลีใต้และเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเกาหลีเหนือ ก็เฝ้ามองสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดเช่นกัน เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลจีนได้เน้นย้ำถึงหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมีการกล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดในเกาหลีใต้

เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา นายหวัง อี้ รมว.การต่างประเทศของจีน กล่าวกับนายโช แท-ยุล รมว.การต่างประเทศของเกาหลีใต้ผ่านโทรศัพท์ว่า “จีนได้รับทราบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล่าสุดต่อสถานการณ์ภายในประเทศของเกาหลีใต้ จีนเชื่อว่าประชาชนเกาหลีใต้มีสติปัญญาและความสามารถในการจัดการกับปัญหาภายในประเทศได้อย่างเหมาะสม”

ศ.สตีฟ ซัง ผอ.สถาบันจีนศึกษาของวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา (Faculty of Oriental and African Analysis, SOAS) หรือ โซแอส ในกรุงลอนดอน อธิบายว่าความเห็นของนายหวังนั้นเป็นคำพูดที่ถูกใช้บ่อยจนซ้ำและแทบไม่มีความหมายอะไร

เขาบอกกับบีบีซีว่า “จีนไม่มีระบบที่เอื้อให้ผู้นำระดับสูงสามารถถูกถอดถอนได้ ผู้นำสูงสุดสามารถตกเป็นเหยื่อของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นภายในพรรคคอมมิวนิสต์ได้เท่านั้น แต่เขาไม่สามารถถูกถอดถอนโดยสภาประชาชนแห่งชาติ (รัฐสภาของจีน) หรือจากการประท้วงของประชาชน”

อย่างไรก็ดี พบว่าสื่อของจีนต่างหากที่พูดเกี่ยวกับเกาหลีใต้มากกว่ารัฐบาล และการเผยแพร่ของสื่อจีนได้ให้เบาะแสว่าผู้มีอำนาจในจีนคิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้

ก่อนที่สภานิติบัญญัติของเกาหลีใต้จะลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุน หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ซึ่งเป็นสื่อที่อยู่ในความควบคุมของพีเพิลส์เดลี (Of us's Everyday) สื่อชั้นนำของพรรคคอมมิวนิสต์ในจีน รายงานว่าเกาหลีใต้ตกอยู่ใน “สถานการณ์อันแปลกประหลาด” เพราะ “ยุนไม่สามารถปกครองได้ตามปกติตลอดวาระที่เหลือของเขา”

หลังจากรัฐสภาเกาหลีใต้ ซึ่งมีพรรคประชาธิปไตย (Democratic Celebration) ฝ่ายค้านที่เป็นเสียงข้างมากได้มีมติถอดถอนนายยุนเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2024 นายกรัฐมนตรีฮัน ดัก-ซู ได้ขึ้นมาเป็นรักษาการประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม นายฮันถูกลงมติถอดถอนในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา เนื่องจากเขาปฏิเสธแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 3 คน ซึ่งทางรัฐสภาเลือกมาให้ดูแลการพิจารณาฟ้องร้องคดีของนายยุน ส่งผลให้นายชเว ซาง-มก เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการ ในเวลาต่อมา

ไชนา นิวส์ เซอร์วิส นิตยสารรายสัปดาห์ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ความยาว 4,000 คำ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับภูมิหลังทางการเมืองของนายชเว แลคาดเดาว่า “ทำไมเขาถึงปกป้องนายยุนอย่างมุ่งมั่น”

การอภิปรายอย่างเปิดเผยและการคาดเดาเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของเกาหลีใต้ดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงความมั่นใจของจีนที่มีต่อความสัมพันธ์อันยาวนานกับโซล

นักวิจารณ์ชาวอเมริกันบางคนถึงกับเสนอว่าวิกฤตในกรุงโซลในปัจจุบันกำลังส่งผลดีต่อปักกิ่ง

อีวานส์ รีเวียร์ เจ้าหน้าที่กิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในสมัยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ บอกกับวอยซ์ ออฟ อเมริกา ซึ่งเป็นสื่อของสหรัฐฯ ว่า “จีนมองว่าการมีอำนาจในสภามากขึ้นของพรรคประชาธิปไตย (ฝ่ายค้าน) ในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีความเห็นอกเห็นใจจีนนั้น เป็นพัฒนาการเชิงบวก”

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (APEC) เมื่อเดือน พ.ย. 2024

สังคมนิยมที่แตกต่างกัน

ท่าทีการตอบสนองของจีนและเกาหลีเหนือต่อความวุ่นวายในเกาหลีใต้ที่แสดงออกแตกต่างกัน เชื่อมโยงกับระบอบการเมืองของรัฐบาลทั้งสองชาติที่ไม่เหมือนกัน

ผู้ปกครองของเกาหลีเหนือสนับสนุนอุดมการณ์การปกครองในสิ่งที่เรียกว่าสังคมนิยมสไตล์เกาหลี แนวทางนี้มีพื้นฐานมาจากแนวคิด “จูเซ (Juche)” ที่แปลว่าการพึ่งพาตัวเอง ซึ่งส่งเสริมการเป็นเอกเทศหรือแม้กระทั่งการโดดเดี่ยวประเทศอย่างเข้มข้น ความคิดนี้ถูกใช้เป็นสิ่งเสริมสร้างอำนาจให้กับตระกูลการเมืองของคิม เพื่อให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จมากขึ้น

ส่วนจีนอ้างว่าอยู่ภายใต้การปกครองแบบสังคมนิยมก็จริง แต่ประเทศกำลังอยู่บนเส้นทางการปฏิรูปที่โน้มเอียงไปทางทุนนิยมมากขึ้น ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา จีนและคู่ค้าได้ละทิ้งความแตกต่างด้านอุดมการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อผลประโยชน์ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

เมื่อประธานาธิบดียุนและสี จิ้นผิง ผู้นำของจีนพบกันที่เปรูเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว ในการประชุมนอกรอบของการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปค (APEC) มีรายงานว่าพวกเขาหารือเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันเพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือทางทหารระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซีย

แม้ยุนไม่ได้อยู่ในอำนาจต่อไปแล้ว แต่ ศ.ซัง เชื่อว่าใครก็ตามที่สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากเขา จะไม่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเกาหลีใต้ “ซึ่งถูกควบคุมด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างมากกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคล”

“จากมุมมองของสี จิ้นผิง ผู้นำต่างประเทศมาแล้วก็ไป แต่เกาหลีใต้จะยังคงเป็นเพื่อนบ้านที่ชิดใกล้ของจีน โดยเกาหลีเหนือกำลังแสดงความท้าทายซึ่งส่งผลให้เกาหลีใต้ต้องทำงานร่วมกันกับจีน” เขากล่าว

ที่มาของภาพ, KYUN/EPA-EFE/REX/Shutterstock

คำบรรยายภาพ, ผู้สนับสนุนนายยุน ซอก-ยอล ชุมนุมต่อต้านการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า ระบอบการปกครองของคิมในเกาหลีเหนืออาจใช้ภูมิทัศน์การเมืองของเกาหลีใต้อันสั่นคลอนมาใช้เป็นเหตุให้พวกเขามั่นใจได้ว่าระบอบการปกครองของพวกตนนั้นจะมีความสถาพรสืบไป

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์คนอื่น ๆ ก็กล่าวว่ายี่ห้อสังคมนิยมที่โดดเดี่ยวตัวเองอย่างสุดโต่งของเกาหลีเหนือ หมายความว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเปิดให้สาธารณะรับทราบสิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ เนื่องจากกลัวว่าอาจเกิดผลกระทบขึ้นกับผู้ปกครองชนชั้นสูง ดังนั้น ระบอบการปกครองจึงเลือกที่จะเงียบเสียงในเรื่องนี้

คิม ยอง-ฮุย นักวิจัยเกี่ยวกับเกาหลีเหนือกล่าวว่า “ชาวเกาหลีเหนือคุ้นเคยกับระบบที่ไม่รู้ว่าการเลือกตั้งเสรีมีความหมายอย่างไร” และ “พวกเขายังคงคิดว่าหากประเทศส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง พวกเขาก็ต้องลงคะแนนสนับสนุนโดยไม่มีเงื่อนไข”

ทว่า ควาก กิล-ซุป นักวิเคราะห์และ ผอ.ศูนย์วันโคเรีย (One Korea) บอกว่า “ผลกระทบของเหตุการณ์ในเกาหลีใต้ที่มีต่อระบอบของคิมอาจไม่ใหญ่ขนาดนั้นในตอนนี้ แต่ในท้ายที่สุด หากผู้นำถูกฟ้องร้องและข้อมูลที่เกี่ยวข้องค่อย ๆ เผยออกมา เราอาจเห็นความเคลื่อนไหวเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน”