‘คลัง’ เตรียมเสนอ ‘ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร’ ให้ ‘ครม.’ พิจารณาภายใน ม.ค.ปีหน้า กำหนดอายุใบอนุญาตฯ 30 ปี ต่ออายุได้ครั้งละ 10 ปี พร้อมเปิดทาง ‘เช่าที่ดิน’ ได้ไม่เกิน ninety nine ปี
…………………………………….
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ภายในเดือน ม.ค.2568 กระทรวงการคลัง จะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ หลังจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ตามความเห็นจากการรับฟังจากประชาชนและจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอ ครม.พิจารณา
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ…. ที่กระทรวงการคลัง จะเสนอให้ ครม. พิจารณา มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.ร่าง พ.ร.บ.กำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร” ซึ่งมีอำนาจที่สำคัญในการวางนโยบายและวางแนวการบริการจัดการงานของสถานบันเทิงครบวงจรทั้งหมด กำหนดนโยบายในการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร กำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากสถานบันเทิงโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
กำหนดจำนวนใบอนุญาต กำหนดพื้นที่การประกอบสถานบันเทิงครบวงจร การขออนุญาตและเลิกประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร การพิจารณาต่ออายุ หรือเพิกถอนใบอนุญาต กำหนดประเภทกิจการที่ดำเนินการได้ในสถานบันเทิงครบวงจร รวมถึงสัดส่วนพื้นที่กาสิโนในสถานบันเทิงครบวงจร ตลอดจนให้คณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจเสนอต่อ ครม. ให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งดังกล่าว หรือมีกฎหมายขึ้นใหม่ เพื่อให้การดำเนินการสถานบันเทิงครบวงจรมีประสิทธิภาพ
โดยร่าง พ.ร.บ. มาตรา 14 ได้บัญญัติว่า “ในการดำเนินการสถานบันเทิงครบวงจร หากคณะกรรมการนโยบาย เห็นว่ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใดก่อให้เกิดความไม่สะดวกหรือล่าช้า มีความซ้ำซ้อนหรือเป็นการเพิ่มภาระการดำเนินการโดยไม่จำเป็น หรือมีปัญหาหรืออุปสรรคอื่นใดให้คณะกรรมการนโยบายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้มีการดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งดังกล่าว หรือมีกฎหมายขึ้นใหม่ เพื่อให้การดำเนินการสถานบันเทิงครบวงจรมีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบต่อความเสมอภาค สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน และต้องไม่เลือกปฏิบัติ”
2.ร่าง พ.ร.บ. กำหนดให้มี “คณะกรรมการบริหาร” ซึ่งมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบแทนใบอนุญาต กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ กำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าตอบแทนของเลขาธิการ และพนักงานลูกจ้างของสำนักงานฯ พิจารณาอุทธรณ์เรื่องร้องเรียน กำหนดข้อบังคับหรือระเบียบของสำนักงานฯ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้เงิน ทุน หรือทรัพย์สิน รวมถึงค่าใช้จ่ายของสำนักงานฯ
3.ร่าง พ.ร.บ. กำหนดให้มี “สำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร” ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่สำคัญในการศึกษา รวมรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานบันเทิงครบวงจร สนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปิดสถานบันเทิงฯ กำกับ ตรวจสอบ ควบคุม และติดตามการดำเนินการสถานบันเทิงครบวงจร กำหนดหลักเกณฑ์ ประเภท ลักษณะ วิธีการเล่น ลักษณะของบุคคลต้องห้าม
เสนอแนะข้อมูลและความเห็นต่อคณะกรรมการนโยบายฯ รวมถึงออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งต่างๆ รวมถึงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน และค่าบริการต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน
4.ร่าง พ.ร.บ. กำหนดให้ในสำนักงานจะมีเลขาธิการ ซึ่งเป็นบุคคลที่คณะกรรมการนโยบายฯแต่งตั้ง โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการบริการกิจการของสำนักงาน วางระเบียบการ ดำเนินงานของสำนักงานโดยเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน รวมถึงประเมินผลการปฏิบัติงาน บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยของพนักงานและลูกจ้าง
5.พนักงานเจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งโดยสำนักงานฯ จะมีอำนาจหน้าที่ในการเข้าไปในสถานบันเทิงฯ หรือสถานที่ตั้งของผู้ได้รับใบอนุญาต เพื่อตรวจสอบด าเนินการ เรียกเอกสารหรือหลักฐานเพื่อดำเนินการตรวจสอบ ยึด หรืออายัดทรัพย์สิน เอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนข้อเท็จจริง หรือการดำเนินคดี และมีอำนาจสั่งให้หยุดการเล่นหรือการเข้าพนันใดๆ รวมถึงมีอำนาจในการตรวจสอบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับคาสิโน ตรวจสอบการดำเนินงานของผู้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับการเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
6.เงินและทรัพย์สินของสำนักงานฯ เมื่อหักค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการต่างๆ ของการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงฯ เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
7.สถานบันเทิงครบวงจรจะต้องตั้งอยู่บนบริเวณเขตพื้นที่ตามที่กำหนด โดยต้องประกอบด้วยธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้ายฯ อย่างน้อย 4 ประเภทร่วมกับกาสิโน ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยที่มีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท และให้บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตได้รับยกเว้นจากกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
8.ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรต่อสำนักงานฯ และให้ใบอนุญาตมีอายุ 30 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต และอาจพิจารณาต่ออายุได้คราวละไม่เกิน 10 ปี
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. มาตรา 46 บัญญัติว่า “การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบการสถานบันเทิงครบวงจร มิให้นำความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 และข้อ 9 ของกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 มาใช้บังคับ
การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ทำสัญญาเช่าเป็นกำหนดเวลาเกินห้าสิบ (50) ปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็นห้าสิบ (50) ปี
การต่อสัญญาเช่าอาจทำได้แต่จะต่อสัญญาเกินสี่สิบเก้า (49) ปีนับแต่วันครบห้าสิบ (50) ปีไม่ได้
การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงตามมาตรานี้ไม่ถือว่าเป็นการร่วมทุนตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ”
ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. มาตรา 49 บัญญัติว่า “ใบอนุญาตมีอายุสามสิบ (30) ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมรายปีตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด แต่ต้องไม่เกินอัตราตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้
ทุกห้า (5) ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ให้สำนักงานประเมินประสิทธิภาพของการดำเนินงานตามรูปแบบและแผนการประกอบการสถานบันเทิงครบวงจรของผู้รับใบอนุญาต และรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่ออาจพิจารณาทบทวนรูปแบบและแผนการประกอบการสถานบันเทิงครบวงจร
เมื่อใบอนุญาตครบอายุ ให้คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจให้การพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตได้คราวละไม่เกินสิบ (10) ปี ทั้งนี้ การขอต่ออายุใบอนุญาตและอัตราค่าธรรมเนียมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด…”
9.ในส่วนของกาสิโนให้กระทำได้เฉพาะในสถานบันเทิงครบวงจรโดยผู้รับใบอนุญาต และให้มีเฉพาะประเภทที่กำหนด รวมทั้งต้องมีเขตบริเวณสถานประกอบการกาสิโนที่ชัดเจน นอกจากนี้ ผู้รับใบอนุญาตต้องมีสัดส่วนของพนักงานคนไทยและคนต่างด้าวตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด โดยห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเกี่ยวกับกาสิโน เว้นแต่จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารกำหนด รวมทั้งห้ามไม่ให้ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ เข้าในสถานประกอบการกาสิโน
โดยร่าง พ.ร.บ. มาตรา 55 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้บุคคลดังต่อไปนี้ เข้าไปในสถานประกอบการกาสิโน (1) ผู้มีอายุน้อยกว่ายี่สิบ (20) ปีบริบูรณ์ (2) ผู้ซึ่งสำนักงานสั่งห้ามเข้าสถานประกอบการกาสิโน (3) ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งยังมิได้ลงทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมตามที่ คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด (4) ผู้ที่มีลักษณะของบุคคลต้องห้ามตามที่สำนักงานประกาศกำหนด”
10.ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการตามคำสั่งของสำนักงานฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องชำระค่าปรับและอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า จากบัญชีแนบท้าย ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. ฉบับนี้ กำหนดประเภทธุรกิจสถานบันเทิงไว้ 10 ประเภท ได้แก่ 1.ห้างสรรพสินค้า 2.โรงแรม 3. ร้านอาหาร ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ หรือบาร์ 4.สนามกีฬา 5.ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ 6. สถานที่เล่นเกม 7.สระว่ายน้ำและสวนน้ำ 8.สวนสนุก 9.พื้นที่สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้า OTOP และ 10.กิจการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
ส่วนบัญชีแนบท้ายอัตราค่าธรรมเนียม ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดว่า 1.การขอรับใบอนุญาต ครั้งละ 100,000 บาท 2.ใบอนุญาต ครั้งแรก ฉบับละ 5,000 ล้านบาท ,รายปี ปีละ 1,000 ล้านบาท 3.ใบอนุญาต (ต่ออายุ) ฉบับละ 5,000 ล้านบาท ,รายปี 1,000 ล้านบาท 4.ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 100,000 บาท และ 5.ค่าเข้าสถานประกอบการกาสิโนของผู้มีสัญชาติไทย ครั้งละ 5,000 บาท
กระทรวงการคลัง ระบุด้วยว่า การพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจร มีวัตถุประสงค์หลักในการแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกแบบครบวงจรและเป็นผู้นำการท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยดึงเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศในการพัฒนาสถานที่ดังกล่าว ที่สำคัญการนำธุรกิจกาสิโนและการพนันผิดกฎหมายให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างมีมาตรฐานภายใต้การควบคุมของกฎหมาย
จะทำให้มีการจัดเก็บรายได้และภาษีอย่างถูกต้องและสามารถดึงเม็ดเงินนอกระบบของการพนันผิดกฎหมายจากคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเพื่อเล่นการพนันให้มาใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งการประเมินเบื้องต้นคาดว่า จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 9,000–15,300 ตำแหน่ง และน่าจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 118,877–475,510 ล้านบาทต่อปี และรัฐบาลน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร 12,037 – 39,427 ล้านบาทต่อปี
อ่านประกอบ :
ปี 66 เด็ก-เยาวชนเล่นพนันเกือบ 5 ล้านคน ผลสำรวจชี้คนไทยกว่าครึ่งไม่รับกาสิโนถูก กม.
วงเสวนาฯจี้รัฐบาลทำประชามติ‘กาสิโนถูกกม.’-ห่วง‘ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ’มีช่องโหว่
‘อนุทิน'ยัน รบ.เดินหน้า พ.ร.บ.กัญชาฯ พร้อมหนุน'กาสิโน'แจงเป็นมารยาทพรรคร่วม
ดัน‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’ พ่วง‘กาสิโนถูกกฎหมาย’ ได้ไม่คุ้มเสีย-เอื้อทุนใหญ่?
‘ตีเช็คเปล่า-เอื้อทุนใหญ่’! วงเสวนาฯชำแหละ‘ร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’
เปิด‘ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ’ดัน‘กาสิโน’ถูกกม.-ค่า'ใบอนุญาตฯ'ครั้งแรก 5 พันล้าน
บทวิเคราะห์สื่อสิงคโปร์: นโยบายคอมเพล็กซ์คาสิโน นำไทยสู่ผู้นำท่องเที่ยวเชิงการพนัน?
เอกชนลาสเวกัส สนใจลงทุนเปิดบ่อนพนันที่ไทย เชื่อคาสิโนแห่งแรกเกิดได้ในปี 72
สื่อมาเลย์วิเคราะห์ นโยบายฟรีวีซ่าจีนส่งผลไทยอาจผ่าน กม.หนุนจัดตั้งคาสิโนภายในปีนี้
รายงาน UN แฉโครงข่ายธนาคารใต้ดินฟอกเงิน คาสิโนริมฝั่งแม่น้ำโขง-ชายแดนไทย เม็ดเงินมหาศาล
วงเสวนาชี้ ‘กาสิโนถูก กม.' ผลกระทบเพียบ! ย้ำหากเปิดต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีก่อน
ชงโหวตรับรายงานกาสิโนถูกกฎหมาย 27 ก.ค. 65 สกัด 5 ประเด็นศึกษาเชิงลึก
นิด้าโพลเผย ปชช.ส่วนใหญ่ 46.51% ไม่เห็นด้วยกับ ‘บ่อนกาสิโน' ถูกกฎหมาย
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )