กรมราชทัณฑ์ แจงเหตุพักโทษ-ปล่อยตัว ‘อภิชาติ จันทร์สกุลพร' หรือ เสี่ยเปี๋ยง ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เหตุคุณสมบัติเข้าตามหลักเกณฑ์กรณีเจ็บป่วยร้ายแรง เพิ่งผ่าตัดปลูกถ่ายไต ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต – อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2567 กรมราชทัณฑ์ ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงข่าว พักการลงโทษ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง อดีต นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ เนื่องจากมีคุณสมบัติเข้าตามหลักเกณฑ์กรณีเจ็บป่วยร้ายแรง เพิ่งได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต (เปลี่ยนไต) จึงต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ไตสามารถเข้าได้กับร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงอันอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เหลือกำหนดโทษปัจจุบัน 21 ปี 11 เดือน 38 วัน
ขณะที่การปล่อยตัวของนายอภิชาติ เป็นการปล่อยตัว พักการลงโทษ และต้องไปรายงานตัวในเขตพื้นที่สำนักงานคุมประพฤติ ตามที่ผู้อุปการะพักอาศัย ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมประพฤติ ตามระยะเวลาที่ได้รับการพักการลงโทษจนกว่าจะพ้นโทษหรือพ้นการคุมประพฤติต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของกรมราชทัณฑ์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
กรมราชทัณฑ์ ระบุรายละเอียดว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ตามที่ นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องของ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ “เสี่ยเปี๋ยง” ที่ได้รับการพักโทษและปล่อยตัว รวมถึงกล่าวถึงค่าเสียหายที่ต้องชดใช้ให้กับรัฐ นั้น
กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ได้ปล่อยตัวพักการลงโทษ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม เหลือกำหนดโทษปัจจุบัน 21 ปี 11 เดือน 38 วัน นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2558 หักขัง 1191 วัน จำมาแล้ว 12 ปี 1 เดือน (นับถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2567) จะพ้นโทษวันที่ 27 กรกฎาคม 2577 ซึ่งนายอภิชาติ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมที่ได้รับการพิจารณาจากคณะทำงานเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษในชั้นเรือนจำ ตามโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ และได้เสนอให้คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ พิจารณาตามลำดับและเห็นควรให้พักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากนายอภิชาติ มีคุณสมบัติเข้าตามหลักเกณฑ์กรณีเจ็บป่วยร้ายแรง ได้แก่ โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ,โรคความดันโลหิตสูง , โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับชนิดรุนแรง ,โรคต่อมลูกหมากโต ,โรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท , โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ,โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมองตีบ
โดยคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ได้ประชุมพิจารณาพักการลงโทษ ครั้งที่ 8/2567 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 มีมติเห็นชอบพักการลงโทษ นายอภิชาติ เนื่องจากนายอภิชาติ ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต (เปลี่ยนไต) จึงต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ไตสามารถเข้าได้กับร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงอันอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ประกอบกับในเรือนจำมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อสภาพของเรือนจำไม่สามารถที่จะควบคุมดูแลผู้ต้องขังเจ็บป่วยร้ายแรงเช่นนี้ได้ ประกอบกับได้รับการจำคุกมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษปัจจุบัน จึงได้พักการลงโทษ
กรมราชทัณฑ์ มีหน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขังตามคำพิพากษาของศาล การให้การดูแลรักษาผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยทั้งจากสถานพยาบาลในเรือนจำ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลภายนอกที่มีศักยภาพที่สูงกว่าตามลำดับ ทั้งนี้ตามสภาพความรุนแรงของการเจ็บป่วย ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 และมีอำนาจในการบริหารโทษภายใต้กฎหมายเกี่ยวของ ได้แก่ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษ และได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 และประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์ มีโครงการพักการลงโทษกรณีพิเศษ 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป 2) โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ หลักสูตร การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของผู้ต้องขังภายใต้โครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และ 3) โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษจากเดิมจะมี 9 โครงการ แต่ได้ยกเลิกไปแล้ว 1 โครงการ และงดดำเนินการ 5 โครงการ ในการนี้ โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป มีการดำเนินการมาตั้งแต่ 2546 อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจปัจุบัน ภายใต้กฎกระทรวงและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกรายที่มีคณสมบัติและเข้าหลักเกณฑ์อย่างเท่าเทียมกัน มิได้ให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด
โดยกรมราชทัณฑ์ได้มีการปล่อยตัวพักการลงโทษกรณีพิเศษ ปี พ.ศ. 2565 จำนวน 18 คน ปี พ.ศ. 2566 จำนวน 26 คน และปี พ.ศ. 2567 จำนวน 27 คน
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ มีผู้ต้องขังที่อยู่ในการควบคุมดูแลเกือบ 3 แสนคน ทำให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังในกรณีพักการลงโทษ ลดวันต้องโทษ และปลอยตัวพ้นโทษ เป็นปกติทุกวัน มิได้ปกปิดในกรณีดังกลาวแต่อย่างใด ทั้งนี้การประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษในเดือนสิงหาคม 2567 พิจารณาเห็นชอบการพักการลงโทษแบบปกติ รวม 281 ราย และกรณีมีเหตุพิเศษ รวม 40 ราย
ดังนั้น กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่า กรณีการปล่อยตัวของนายอภิชาติ เป็นการปล่อยตัว พักการลงโทษ และต้องไปรายงานตัวในเขตพื้นที่สำนักงานคุมประพฤติ ตามที่ผู้อุปการะพักอาศัย ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมประพฤติ ตามระยะเวลาที่ได้รับการพักการลงโทษจนกว่าจะพ้นโทษหรือพ้นการคุมประพฤติต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของกรมราชทัณฑ์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
อนึ่งสำหรับ นายอภิชาติ ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 คดี โดยคดีทุจริตโครงการระบายข้าวจีทูจี ถูกตัดสินลงโทษเป็นระยะเวลากว่า 48 ปี และยังถูกสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมกับ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และ นายนิมล รักดี (โจ) คนใกล้ชิด เป็นจำนวนเงินกว่า 1.69 หมื่นล้านบาท
ส่วนคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร ถูกตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 66 ปี ให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี และรวมชดใช้เงินจำนวน 1,323 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังถูกศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาจำคุก เป็นเวลา 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา จากคดีทุจริตยักยอกข้าวรัฐ หลังตกเป็นจำเลยร่วมกับบริษัทเพรสซิเดนท์ อะกิ เทรดดิ้ง จำกัด ของเขาเอง ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก โดยศาลพิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกนายอภิชาติ สำนวนละ 3 ปี ปรับสำนวนละ 6,000 บาท รวมจำคุกสองสำนวนเป็นเวลา 6 ปี ไม่รอลงอาญา และปรับ 12,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมคืนข้าวสารที่ยักยอกไปในสำนวน อ.833-834/2558 จำนวน 16,400 ตัน หรือใช้เป็นเงินแทนจำนวน 175,480,000 บาท ให้กับกรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ ผู้เสียหาย และให้ร่วมกันคืนข้าวสารในสำนวน อ.835-836/2558 จำนวน 4,742.96 ตัน หรือใช้เงินแทน 54,385,902.07 บาท (รวมวงเงิน 229,865,902.07 บาท) และถูกส่งตัวเข้าขุมขังในเรือนจำ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2559 ขณะที่มีกระแสข่าวปรากฎออกมาเป็นระยะๆ ว่า นายอภิชาติ มีอาการเจ็บป่วยรุมเร้าอยู่ตลอด ถึงขนาดต้องส่งเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลส่วนกลาง
อ่านประกอบ :
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )