เมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมงานงานหนึ่งที่พูดถึงคนพิการที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะทั้งเรื่องสิทธิ ชีวิตความเป็นอยู่ ค่าแรง รวมทั้งความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในฐานะแรงงานข้ามชาติคนพิการในทั่วโลก
สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากคือ จากประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมพบว่า ปัญหาของแรงงานข้ามชาติที่เป็นคนพิการในประเทศไทยยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก ไม่มีเจ้าภาพที่รับผิดชอบดูแล และพวกเขายังคงเจอกับปัญหาในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง
งานชิ้นนี้จะชวนผู้อ่านรู้จักกับแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ที่ล้วนเข้ามาเพื่อฝันที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่เพราะความพิการที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน ทำให้งาน ร่างกาย ครอบครัว และฝันที่มีต้องเปลี่ยนแปลงไป พวกเขามีชีวิตอย่างไร เผชิญความยากลำบากแบบไหน และอะไรคือสิ่งที่รัฐและเราทำได้เพื่อให้คุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่มีความพิการนั้นดีขึ้น
แรงงานต่างด้าว vs. แรงงานข้ามชาติ สำคัญต่างกัน
สำหรับการใช้คำว่า ‘แรงงานข้ามชาติ’ อาจจะยังไม่คุ้นหูหรือหลายคนอาจนึกว่าเป็นคนละความหมายกับ ‘แรงงานต่างด้าว’ ความหมายของสองคำนี้ ปสุตา ชื้นขจร ผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ ระบุว่า การใช้คําว่าแรงงานข้ามชาติในไทยนั้นครอบคลุมกว่ามากและเป็นคําที่ภาคประชาชนต้องการที่จะผลักดันเพื่อทำให้เป็นคําที่เป็นกลางมากขึ้น เมื่อเทียบกับคำ ที่คนอาจจะค่อนข้างคุ้นเคยคือ แรงงานต่างด้าว ซึ่งตามกฎหมายหมายถึงคนทุกคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะฝรั่ง หัวทอง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็นับเป็นคนต่างด้าว
อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงคําว่า ‘ต่างด้าว’ มักมีความรู้สึกลบเกิดขึ้น หลายคนมักนึกถึงคนจากประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าที่จะเป็นฝรั่ง เพราะเวลาที่เป็นฝรั่งหัวทอง เกาหลี จีน ญี่ปุ่น คนจะคิดว่าเป็นคนต่างชาติมาลงทุน มาท่องเที่ยว อีกทั้งคำว่า ต่างด้าว ยังประกอบไปด้วยอคติ เช่น คนต่างด้าวฆ่าโหด หรือต่างด้าวบุกไทย พอถูกใช้แบบนี้ก็ทำให้ถูกเหมารวมตีตรา
‘ด้าว’ แปลว่า ดินแดน หรือเขตแดน ในภาษาอังกฤษคือคำว่า Country หรือ Territory คำว่าต่างด้าวจึงแปลได้ว่าต่างดินแดน ในทางกฎหมาย คนต่างด้าวเป็นคำที่ถูกบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 หมายถึง ‘บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย’ ครอบคลุมคนงานที่ไม่ใช่คนไทยทุกคน ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือจากประเทศตะวันตก และทั้งกลุ่มที่มีทักษะและไม่มีทักษะ
ส่วนคำว่า ‘แรงงานข้ามชาติ’ ตามความหมายขององค์การสหประชาชาติในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว มาตรา 2 คือ คนที่ถูกจ้างให้ทำงาน หรือเคยถูกจ้างให้ทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนในประเทศที่ตัวเองไม่ใช่พลเมือง
ปสุตา เสริมว่า นอกจากคำเรียกที่อาจสร้างความต่างแล้ว ในระดับนโยบายและการปฏิบัติก็เกิดความต่างอย่างชัดเจน เช่น ถ้าไปหน่วยงานที่ต้องมีการรายงานตัว จะเห็นว่า มีการแยกศูนย์สำหรับคน 3 สัญชาติประเทศเพื่อนบ้าน ออกจากอีกศูนย์ที่ไว้บริการชาวต่างชาติและมีการออกแนวปฏิบัติต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน
นอกจากนี้ ยังมีความคิดที่มองว่า คนต่างด้าวจะมาแย่งงานคนไทย ซึ่งหลายปีผ่านมาปสุตาเองก็ได้พิสูจน์แล้วว่าความคิดนี้ไม่ถูกต้อง เพราะบ้านเราขาดแคลนคนทำงานจริงๆ และจำเป็นจะต้องพึ่งพาแรงงานกลุ่มนี้
สอดคล้องกับแถลงการณ์ของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือที่เรียกร้องต่อรัฐบาลไทย โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องคือ ขอให้รัฐบาลแก้ไขคำว่า ‘แรงงานต่างด้าว’ ในกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ เป็น ‘แรงงานข้ามชาติ’ เพื่อลดอคติและสร้างทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติ
ปากท้องและความไม่สงบ เหตุผลให้ย้ายถิ่น
จากข้อมูลของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ระบุว่า ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาในไทยมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา ลาว และกัมพูชา 90 % เป็นชาวเมียนมาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น พม่า คะฉิ่น มอญ ทวาย ไทยใหญ่ กระเหรี่ยง ปะโอ ลาหู่ อาข่า ฯลฯ โดยเข้ามาทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ดี ทุกกลุ่มมีความหวังร่วมก็คือต้องการการยกระดับคุณภาพชีวิต แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึงเมื่อเทียบกับแรงงานไทย
จากสถิติของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า มีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในไทยจำนวนทั้งสิ้น 3,350,969 คน โดยอยู่ในมาตรา 62 ส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายอื่นๆ จำนวน 59,801 คน มาตรา 63/1 ชนกลุ่มน้อย จำนวน 93,839 คน มาตรา 63/2 มติ ครม. 7 กุมภาพันธุ์ 2566 จำนวน 1,578,828 คน มติ ครม. 3 ตุลาคม 2566 จำนวน 813,869 คน และมาตรา 64 คนต่างด้าวที่เขามาทำงาน ไป-กลับจำนวน 39,711 คน
ปัญหาของสวัสดิการที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้แรงงามข้ามชาติหลายคนเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตในไทย
เช่นเดียวกับ ทองคำ เจ้าหน้าที่ของ MAP Foundation เธอเป็นคนหนึ่งที่เข้ามาในไทยด้วยช่องทางธรรมชาติเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นเธอใช้วิธีการเดินเท้าพร้อมกับม้าที่แบกสัมภาระต่างๆ เวลานอนก็ใช้ใบไม้ปู หลังจากถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน เธอก็ไปรับจ้างเกี่ยวข้าว และย้ายไปทำงานบ้าน อยู่ได้สักพักภาครัฐก็มีนโยบายทำบัตรพื้นที่สูงของกลุ่มชาติพันธ์
ทองคำกำลังจัดรายการวิทยุเพื่อบอกเล่าปัญหาและสิทธิต่างๆ ของพี่น้องแรงงานข้ามชาติผ่าน MAP Radio
“บัตรพื้นที่สูงหรือบัตรชมพูจะเขียนว่าไม่ใช่คนไทย แต่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ทำที่ไหนก็ต้องอยู่ที่นั่น เมื่อก่อนจะออกนอกเขตพื้นที่ไม่ได้ หรือถ้าจะออกต้องไปขอใบออกนอกพื้นที่ทุกครั้ง
“ตอนเข้ามาแรกๆ ยังไม่ได้ภาษา ก็อาศัยการดูละคร จำคำพูดที่ซ้ำๆ ช่วงหนึ่งเราตกงานก็เลยกลับบ้าน กลับมาใหม่โดนหลอกไปขายที่สวนสัปปะรด จังหวัดประจวบฯ ตอนนั้น มีผู้ใหญ่ 60 คน เด็ก 5 คน ไปรถทัวร์ เราไม่มีเพื่อน ไม่พูดกับใคร พอไปถึงบ้านเจ้านายปรากฏว่าไม่มีอะไรเลย ต้องไปซื้อเองหมด ทั้งหม้อข้าว ผ้าใบ เสื่อ เช้าเย็นก็เก็บผักบุ้งกิน วันเสาร์ก็ได้ไปจับปลากิน กินแต่ปลากับผักบุ้ง อยู่มาสิบกว่าวันถึงได้รู้ว่าถูกเอามาขาย
“เราไปเบิกตังเขาบอกว่าไม่ให้ เพราะพวกเธอโดนเอามาขายคนละห้าหมื่น ถ้าหนีจะโดนฝังดิบ วันหนึ่งเราป่วยเป็นฝี ไม่ได้ทำงานก็เลยเข้าไปสำรวจในหมู่บ้านว่ามีรถไหม อีกวันเราก็ไปติดต่อรถ แล้วหนีไปเลย เขามาตามนะ เอาปืนมาขู่ด้วย” ทองคำเล่าอย่างออกรส
เช่นเดียวกับอีกหลายๆ คน ความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ความไม่สงบ และความหวังที่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นทำให้พวกเขาเลือกที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในไทย
อ๊อด เกิดที่พม่า ย้ายมาไทยตอนอายุ 20 ต้นๆ หลังจากเกิดปัญหาความไม่สงบในประเทศ ตัวเขาเคยเป็นทหารไทใหญ่ แต่สุดท้ายด้วยปัญหาความขัดแย้งก็ทำให้ต้องหนีออกนอกประเทศ ปัจจุบันเขานั่งวีลแชร์และไปไหนมาไหนอย่างคล่องแคล่วด้วยวีลแชร์และรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างที่ดัดแปลงเพื่อให้ขับวีลแชร์ขึ้นไปจอดได้
“หลังจากเกษียณจากกองทัพพม่า ผมก็หนีมาไทยเพราะมองว่าไทยปลอดภัยที่สุด ช่วงแรกๆ ก็ทำงานก่อสร้าง รับจ้างได้ค่าแรงวันละ 100 กว่าบาท ได้ทำบัตรพื้นที่สูง ไม่มีประกันสังคม ความพิการเกิดขึ้นตอนทำงานแล้วตกนั่งร้าน 6 ชั้น ช่วงล่างชาไปเลย ยังมีสติรู้เรื่องทุกอย่างแต่ขายกไม่ได้ ตื่นมาอีกทีไปอยู่ที่โรงพยาบาล ตอนนั้นก็ทำใจยากเหมือนกันเพราะจากคนปกติกลายเป็นแบบนี้” อ๊อดเล่า
คล้ายกับครอบครัวของ เอ และภรรยา ชาวไทใหญ่ที่เข้ามาไทยตั้งแต่อายุยี่สิบกว่าเพื่อมาทำมาหากิน สามีของเอพิการจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ตอนนี้เป็นคนพิการติดเตียง จำอะไรไม่ค่อยได้และพูดจาติดขัด ทั้งสองคนและลูกย้ายมาเพราะความขัดสน จึงมองว่าการเข้ามาหางานในไทยจะทำให้มีโอกาสมากขึ้น
ป้าแดง ซึ่งอยู่ไทยมา 17 ปีแล้ว เธอเริ่มจากเข้ามารับจ้างทั่วไป ทำงานก่อสร้างและเป็นคนสวน เหตุผลที่ป้าแดงย้ายมาที่นี่ก็เพราะขาดหัวหน้าครอบครัว และทำงานไม่พอกินจนทำให้มีชีวิตอย่างยากลำบาก จึงย้ายมาหางานทำด้วยพาสปอร์ตทำงาน และมีประกันสังคมในช่วงก่อนเกิดอุบัติเหตุ
ความพิการที่ไม่เคยถูกบันทึก
แรงงานข้ามชาติที่มีความพิการเกือบทุกคน เข้ามาเป็นแรงงานโดยที่ไม่ได้มีความพิการมาก่อน
ทองคำเล่าว่าแรงงานข้ามชาติแทบทุกคนเจอปัญหาคล้ายคลึงกันอย่างเรื่องการทำบัตร ค่าแรงที่ไม่ได้ตามที่รัฐกำหนด สวัสดิการต่างๆ การรักษาพยาบาลที่บางครั้งนายจ้างก็ไม่ได้ทำประกันสุขภาพตามอายุงานหรือไม่ได้เอาเข้าประกันสังคม เมื่อกลายเป็นคนพิการ เขาก็ไม่ได้รับสิทธิคนพิการ รวมถึงอาจจะสูญเสียงานที่มีอยู่ด้วย
ช่วงแรกหลังตกนั่งร้าน 6 ชั้น อ๊อดยังมีความหวังที่จะกลับมาเดินได้ แต่ด้วยอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลังนั้นมีโอกาสน้อยมากถึงไม่มีเลยในการที่จะกลับมาเดินได้อีก และนั่นก็ตรงกับที่หมอพูด
อ๊อดและมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง
“หมอบอกว่าหมดโอกาสแล้ว คนเป็นแบบนี้ไม่มีใครกลับมาได้เลย ในเชียงใหม่มีสามสี่พันคนเป็นแบบนี้ พอรู้แบบนั้นเรารับไม่ได้ คิดแต่ว่าแบบนี้ตายดีกว่า สิทธิต่างๆ ก็ไม่มี เคยเป็นแผลกดทับต้องนอนโรงพยาบาลสองเดือนกว่า หมดค่าใช้จ่ายไปหกแสน ก็ได้มูลนิธิมาสงเคราะห์ให้ เหลือจ่ายเองสี่พัน” อ๊อดเล่า
คล้ายกันกับป้าแดง ที่ทำงานก่อสร้างแล้วหน้ามืดจนตกนั่งร้าน
“ตอนตกลงมาก็หมดสติ โดนหิ้วไปโรงพยาบาล รู้ตัวขึ้นมาก็รู้สึกว่าเจ็บ เดินไม่ได้ ข้อเท้าและไหปลาร้าหัก ตอนนั้นก็ใช้สิทธิประกันสังคม พักรักษาอยู่สองปีกว่าๆ ได้ไปเข้าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพแรงงานและช่วยงานได้เงินเดือนเดือนละ 7,000 กว่าบาท พอหายป่วยบัตรแรงงานก็หมดอายุ ประกันสังคมนายจ้างก็ไม่ได้ต่อให้ เนื่องจากโมโหที่ต้องจ่ายเงินชดเชยย้อนหลัง เลยมาทำบัตรสามสิบบาทของคนพื้นที่สูง
“ตอนออกจากศูนย์ฟื้นฟูไม่มีอะไรช่วยเหลือสักอย่าง ไม่มีเงินเยียวยา จนต้องเอาทองไปขายเพื่อมารักษาต่อ เมื่อหายดีก็ไปทำงานโรงงานไส้อั่ว ทำทุกอย่าง ทั้งปิ้ง ทั้งบด วันที่เกิดเหตุกำลังกำใบมะกรูดยื่นลงเครื่องบด แต่ใบมันติด เอาไม่ลง เราก็เลยดัน พอดันแล้วนิ้วก็ติดเข้าไปด้วย แต่ก็ปิดเครื่องไม่ได้เพราะสวิตช์อยู่ด้านหลัง ก็เลยดึงมืออกแล้วปิดสวิตช์ เพื่อนก็หายาสมุนไพรมาทาแต่ว่าเลือดไม่หยุดไหล นิ้วก็เป็นแว่นๆ หมดแล้ว ตอนนั้นไม่ได้ตกใจมากเพราะเคยเห็นมาก่อน ไปถึงโรงพยาบาลเขาก็เย็บแผลหมดไป 7,600 กว่าบาท หลังจากนั้นก็ไปล้างแผลทุกวัน สุดท้ายทำแผลไปๆ มาๆ เขาบอกเนื้อมันไม่ติดกัน เนื้อตายแล้วต้องตัด เราก็คิดว่าตัดก็ตัด แต่ขอให้หายไวๆ จะได้ไปทำมาหากิน ทุกวันนี้ก็ยังล้างแผลอยู่แต่ก็ยังปวด โดนน้ำไม่ได้ ยกอะไรก็ไม่ได้ และต้องจ่ายเงินทุกอย่างเอง ถ้าถามเราก็อยากมีประกันสังคม แต่ตอนนี้จ่ายไม่ไหว ก็เลยต้องถอนตัวออกมา” ป้าแดงกล่าว
แตกต่างกับกรณีของเอ ครอบครัวของเอทำงานโดยมีสิทธิประกันสังคม จึงทำให้ตอนที่เกิดอุบัติเหตุสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ได้ ถึงแม้จะไม่ครบทุกอย่าง แต่ก็นับว่าช่วยไปได้มากทีเดียว
“เข้ามาไทยก็มาทำงานก่อสร้าง ก่อๆ ฉาบๆ ทำทุกอย่าง อะไรที่ได้เงินก็ทำหมด วันที่เกิดอุบัติเหตุแม่ไม่ได้ไป แต่ได้ยินว่ามีรถมาชนหลังรถมอเตอร์ไซค์พ่อ หลังจากนั้นพ่อก็ไม่รู้สึกตัวเลย ประมาณสองชั่วโมงหลังเกิดเหตุ หมอโทรมาหาว่าเราอยู่ไหน เป็นอะไรกับคนไข้ เขาไม่รู้สึกตัวต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จำใครไม่ได้ เลือดไหลออกทุกทาง จนหมอบอกว่าต้องผ่าตัดด่วน ก็เลยเข้าไปผ่าตอนตีหนึ่ง” ภรรยาของเอเล่า
อย่างไรก็ดี เอมีพาสปอร์ตทำงานของกรมแรงงานและมีประกันสังคม จึงทำให้ในตอนที่เกิดอุบัติเหตุมีสวัสดิการค่ารักษาต่างๆ ที่เบิกจ่ายได้ จะมีเพียงยานอกบัญชีและค่ารถที่ต้องจ่ายเอง และเขาไม่ได้รับเงินเยียวยาใดๆ หลังจากที่มีความพิการ
“นายจ้างก็ช่วยจ่ายเงินให้ก่อนตอนอยู่ไอซียู แล้วให้เราทำงานคืน เขาอยู่ไอซียู 28 คืน ต้องใส่ท่อหายใจ เราก็กลัวเขาเสียชีวิต ถ้าเขาไปแล้วเราจะทำยังไง ก็บอกเขาว่าต้องหายนะ จนเขาฟื้นขึ้นมาต้องใส่สายระบายเลือดลงช่องท้อง หมอถามชื่อเขาก็จำได้แต่ปากแข็งไปหมด เราก็ต้องเคาะปอด นวดแก้ม นวดกราม สอนทุกอย่างใหม่หมด ตั้งแต่สอนกินและพูด เขาก็ค่อยๆ ดีขึ้นที่ละนิด เพิ่งจะพูดได้ประมาณเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา” ภรรยาของเอเล่า
สิทธิที่เลือนรางและสูญหาย เมื่อแรงงานข้ามชาติพิการ
แม้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ เช่น การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการ โดยไม่มีกำหนดในพ.ร.บ.ว่าต้องเป็นคนมีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นไปตามหลักการไม่เลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities – CRPD) ที่ไทยได้ให้สัตยาบันไว้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 และมีผลบังคับวันที่ 28 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา
แต่อย่างไรก็ดี มาตรา 19 กลับเป็นอุปสรรคอย่างมีนัยสำคัญในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของคนพิการที่ไม่มีสัญชาติไทย เมื่อถูกระบุว่า การจะได้มาซึ่งสิทธิตามมาตรา 20 นั้น คนพิการต้องยื่นคำขอมีบัตรคนพิการต่อนายทะเบียนกลาง นายทะเบียนจังหวัด ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด เพราะระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ การออกบัตร และการกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวคนพิการ ข้อ 6 นั้นระบุให้ ‘คนพิการซึ่งมีสัญชาติไทยไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดอื่นยื่นคำขอมีบัตรต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด หรือหน่วยงานของรัฐ ตามที่ผู้อำนวยการหรือผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนด’ นั่นทำให้คนข้ามชาติไม่สามารถยื่นคำขอได้
ในกรณีของเอ ภรรยาเคยไปถามเทศบาลเรื่องการทำบัตรคนพิการ เพราะสามีเดินไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองก็ไม่ได้ จะไปกายภาพเพื่อฝึกทักษะก็ทำไม่ได้ เแต่สุดท้ายก็ทำบัตรไม่ได้เพราะเป็นคนข้ามชาติ ไม่มีบัตรประชาชน ตอนนี้เธอและสามีจึงยังเลือกส่งประกันสังคมอย่างต่อเนื่องเพราะอยากได้สิทธิรักษา
เอ และภรรยา
สิทธิในการฟื้นฟูที่ขาดหายนี้ ปสุตา ได้ตั้งข้อสังเกตไว้เช่นกันว่า ศูนย์ฟื้นฟูที่อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงานเองก็ไม่รับคนต่างชาติเข้าไปฟื้นฟูทั้งที่เป็นแรงงานเหมือนกัน แสดงให้เห็นว่าพอเกิดปัญหาขึ้น คนกลุ่มนี้ก็ถูกทอดทิ้ง
“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราคิดว่ารัฐไทยต้องทบทวนตัวเองว่ายังจะมีแนวทางเป็นแบบนี้ต่อไปเหรอ คุณกลัวอะไร แม้เราไม่แน่ใจว่าศูนย์ฟื้นฟูนี้มีฟังก์ชั่นมากน้อยขนาดไหน แต่คิดว่าสามารถช่วยคนที่บ้านอาจจะไม่พร้อม ไม่มีพื้นที่ ถึงไม่ได้เลิศเลอที่สุด แต่ทุกคนควรเข้าถึงบริการได้ เพราะหลายคนสูญเสียฟังก์ชั่นหรือต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่กว่าคนๆ หนึ่งจะฟื้นฟูกลับมาเหมือนเดิมมันใช้ทั้งเงินและเวลา แล้วหลังจากนี้ก็อาจเผชิญความยากลำบากในการหางานด้วย” ปสุตากล่าว
เช่นเดียวกับ อ๊อด ที่ตั้งแต่เกิดแผลกดทับตอนพักฟื้นครั้งนั้น ก็ทำให้เขาพยายามเข้าถึงสิทธิคนพิการและการรักษาพยาบาล เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูงประกอบกับระยะเวลารักษาที่ยาวนาน ทำให้เขาต้องสูญเสียเงินและสูญเสียงานไป การมีสิทธิคนพิการจึงจะช่วยเขาให้สามารถดำรงชีวิตและหาเลี้ยงชีพได้
การเชื่อมต่อวีลแชร์ของอ๊อด เข้ากับมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง
“เนื่องจากผมยกลำไส้ออกมาอยู่ที่หน้าท้อง เวลาขับถ่ายก็ออกทางนี้ ผมไม่ค่อยได้ย้ายตัว บางทีก็ลืม ไม่รู้สึกว่าเมื่อยหรือเจ็บ จนเกิดความร้อน อับ เนื้อพอง เซลล์ตายและเกิดแผลกดทับ แต่ตั้งแต่ติดหนี้ค่ารักษา ผมก็ไม่ได้ไปโรงพยาบาลอีก แม้จะแผลหายแล้วก็เป็นใหม่วนไปวนมาแบบนี้ ทุกวันนี้ก็ยังทำแผลวันละสองครั้ง อุปกรณ์อย่างผ้าก็อซ น้ำเกลือก็ต้องซื้อมาทำเองจากเงินบริจาคเดือนละ 500 บาท เอาจริงๆ เงินที่ได้มาไม่พอหรอก ถ้ามีสิทธิเราก็ไปขอได้ ผมเคยไปขอบัตรคนพิการนะ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะเขาไม่มีนโยบายให้คนต่างด้าวหรือคนต่างถิ่น ถ้าไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีทะเบียนบ้านก็หมดสิทธิ
“นอกจากนี้ การไม่มีบัตรทำให้ไม่ถูกจ้างงาน เพราะส่วนใหญ่บริษัทที่จะจ้างงานคนพิการก็จะจ้างคนพิการที่มีบัตรเพื่อให้ตรงตามโควต้าการจ้างงาน ถ้ามีบัตรคนพิการหรือทะเบียนบ้าน อะไรสักอย่างก็คงพอคุยกันได้ แต่ผมไม่มีเลยก็คุยกันยาก ตอนนี้ครึ่งชีวิตผมก็เลยอยู่ที่นี่เพราะบ้านก็กลับไม่ได้ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบ ก็หวังว่าจะได้บัตรพื้นที่สูงหากอยู่ในหมู่บ้านนานๆ ไม่ก่อเรื่องก่อราว ช่วยเหลืองานหมู่บ้าน คนก็อาจจะเห็นใจ” อ๊อด สะท้อน
ประสบการณ์นี้เป็นประสบการณ์ที่ปสุตาเองก็เจอ จากการทำงานร่วมกับเครือข่ายพี่น้องแรงงานข้ามชาติมาสักระยะ โดยเธอพบว่า แรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการไม่ได้รับสวัสดิการคือแรงงานที่มีฐานะยากจน ซึ่งอาจไม่มีทางเลือกอื่นในการรักษาพยาบาลนอกจากสิทธิที่รัฐมีให้
“หากมองเรื่องสวัสดิการ เราจะพบว่า แรงงานกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจดีไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพาปัจจัยสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐ หากไปดูที่โรงพยาบาลรัฐจะเห็นว่ากลุ่มพี่น้องแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติจะใช้บริการเยอะเพราะมีความจำเป็น ส่วนกลุ่มที่มีทางเลือก เช่น นักท่องเที่ยวหรือนักลงทุนเขาก็ไปหาโรงพยาบาลเอกชนที่พร้อมบริการแบบเต็มที่มากกว่า
“หากมองตามกฎหมาย แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเหมือนกับแรงงานไทย แต่ก็จะมีการยกเว้นบางอย่างเอาไว้เหมือนกัน เช่น หากดูอนุสัญญาระหว่างประเทศจะพบว่า สิ่งเดียวที่คนที่คนข้ามชาติไม่สามารถมีได้ในอีกประเทศหนึ่ง ก็คือสิทธิพลเมืองอย่างการเลือกตั้ง แต่บ้านเรากลับมีข้อยกเว้นบางอย่างที่มักเป็นสวัสดิการของรัฐ เช่น ถ้าเป็นแรงงานข้ามชาติที่มีความพิการก็ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการได้ หรือกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนเงินทดแทน กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ที่มีไว้เยียวยาลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานก็เช่นกัน” ปสุตา กล่าว
ปสุตา เล่าถึงเคสปี 2551 นางหนุ่ม ไม้แสง ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติประสบอุบัติเหตุจากการทำงานหลังทำงานก่อสร้างให้กับโรงแรมเชนใหญ่ที่หนึ่งในเชียงใหม่ หลังใช้เวลาต่อสู้คดีประมาณ 8 ปี จนชนะ ศาลปกครองเขียนคําพิพากษาออกมาเป็นแนวว่า กองทุนเงินทดแทนมีหน้าที่จ่ายเงินให้กับลูกจ้างไม่ว่าจะมีบัตรหรือไม่มีบัตร เพราะว่าวัตถุประสงค์คือต้องการเยียวยาความเสียหายให้เกิดกับลูกจ้างก่อน แม้คดีนี้ชนะ แต่สิทธิอื่นๆ อย่างการขึ้นทะเบียนคนพิการก็ยังไม่สามารถทำได้เพราะต้องใช้บัตรประชาชน
“เราคิดว่ารัฐไม่ได้มองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่า การไม่ขึ้นทะเบียนไม่ได้เกิดขึ้นจากลูกจ้าง หลายครั้งนายจ้างก็เลือกที่จะไม่ขึ้นทะเบียนเพราะว่าไม่อยากรับผิดชอบ เยาวชนเคสหนึ่งเกิดในประเทศไทย พ่อแม่เป็นแรงงานข้ามชาติก็ไม่เข้าใจว่าต้องทำเอกสารอะไรบ้าง แต่โชคดีที่น้องมีสูติบัตร พอน้องอายุ 17 ปี ก็เข้ามาทำงานในโรงงานผลิตภัณฑ์แปรรูปสัตว์ หลังทำงานได้ประมาณ 2 เดือน ปรากฏว่าแขนเข้าไปติดในเครื่องโม่จนขาด เราพาไปยื่นกองทุนเงินทดแทน กองทุนก็บอกว่า เขาเป็นคนต่างด้าว และนายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้ แม้เกิดในไทยแต่เจ้าหน้าที่ก็ยังงงๆ เคสนี้ก็เลยไม่ได้ไปต่อ เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า แม้คุณเกิดเป็นคนไทยแต่ว่าถ้าคุณไม่มีบัตรประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐก็มองคุณเป็นอีกแบบหนึ่ง
“และแม้ว่าจะมีคําพิพากษา มีแนวปฏิบัติอะไรออกมาเยอะแยะ แต่ทัศนคติคนทำงานยังไม่ได้เปลี่ยนไป หากเคสนี้ได้รับเงินทดแทน เขาอาจจะรักษาตัวกลายเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า แต่ว่ารัฐก็ไม่ได้สนใจ หาแค่ว่าบัตรประชาชนอยู่ไหน ทั้งที่จริงๆ แล้วสัญชาติไม่ควรนำมาตัดสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญกับชีวิตเขาได้” ปสุตากล่าว
ความฝันของแรงงานข้ามชาติพิการ
จากข้อมูลของ อาทิตย์ โชติสัจจานันท์ ในเพจศูนย์ช่วยเหลือด้านสิทธิและสถานะ สมาคมลาหู่ในประเทศไทยได้มีการตั้งคำถามถึงการได้มาซึ่งสิทธิคนพิการของกลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติไว้เช่นกัน โดยนอกจากคนข้ามชาติจะเจอกับปัญหาด้านสิทธิในด้านต่างๆ อย่างเห็นได้ชัดแล้ว ความเป็นไปได้ของการได้รับสิทธิคนพิการก็ยังเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ตามที่ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย ในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่าระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการฯ ที่กำหนดให้คนที่จะขึ้นทะเบียนคนพิการต้องมีสัญชาติไทยนั้นเกิดจากการที่ระบบราชการไทยต้องการความโปร่งใสในการจ่ายเงิน
ขณะที่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สะท้อนในบทความเดียวกันว่า ในระยะยาวควรมีการแก้กฎระเบียบ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นการเลือกปฏิบัติออกไป และความต่างของการดูแลคนพิการไทยและคนข้ามชาตินั้นยอมรับได้หากเหมาะสมตามหลักมนุษยธรรม เช่น คนสัญชาติไทยควรจะได้รับการดูแลดีที่สุด คนต่างชาติที่มีส่วนร่วมทางสังคมไทยก็ควรได้รับสวัสดิการคนพิการเท่าคนไทย เช่น อาจกำหนดว่าถ้าทำงานในไทย อาศัยในไทยเกินกว่า 10 ปี ก็จะได้สวัสดิการคนพิการไทย เช่นเดียวกับเรื่องการศึกษาที่ชูศักดิ์เองก็อ้างอิงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2540 เด็กไม่มีสัญชาติก็ได้ศึกษาโดยเกลี่ยกับค่าศึกษารายหัวปกติ ได้ เขาจึงเสนอให้นำเงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้ามาช่วยเหลือแบบสมควรแก่เหตุ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นมนุษย์ อาจไม่ต้องถึงขั้นให้บริการที่เป็นประชานิยม เช่น เบี้ยคนพิการ แต่อะไรที่ทำให้อยู่รอดก็ควรจะจัดเป็นสิ่งพื้นฐาน เช่น ประกันสุขภาพ อุปกรณ์เครื่องอำนวยความสะดวกที่ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ในเรื่องสิทธิและสวัสดิการแรงงานข้ามชาติพิการ ก็คือ ทัศนคติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งคนทำงานเคลื่อนไหวอย่างปสุตา และแรงงานข้ามชาติที่เป็นคนพิการล้วนอยากให้เปลี่ยน
“ถ้าเขามองว่าคนข้ามชาติมาแย่งงาน ผมว่าไม่ใช่ เพราะแรงงานข้ามชาติเขาไม่เลือกงาน ค่าแรงถูกเงินน้อยก็ทำ คนพม่าส่วนใหญ่มาทำงานเพราะมีปัญหาเรื่องการเมืองพม่า สำหรับผมประเทศไทยดีที่สุดแล้ว ขนาดไม่ได้รับสิทธิ แต่ถ้าแก้ส่วนนี้ได้ พี่น้องแรงงานข้ามชาติที่มาเกิดอุบัติเหตุทั้งรถชน ตกตึก ก็น่าจะมีสิทธิ มีบริษัทรับเข้าทำงาน เพื่อให้เขามีโอกาสมากขึ้น” อ๊อด กล่าว
ภรรยาของเอ ระบุว่า เนื่องจากการเข้าถึงการรักษาเป็นยาก และอะไรที่ต้องใช้เงินก็เข้าถึงยาก จึงอยากให้สามีได้ทำบัตรคนพิการเพื่อให้ได้สิทธิคนพิการ เช่นเดียวกับป้าแดง ที่ฝันอยากจะกลับไปช่วยทำงานหาเงินเพื่อจุนเจือครอบครัวอีกครั้งได้ในเร็ววัน
“ตอนนี้แฟนต้องทำงานก่อสร้างคนเดียวเป็นหลัก เรารู้สึกแย่ที่ทำอะไรไม่ได้ ก็ฝันอยากให้แรงงานข้ามชาติได้ทำงานดีๆ มีงานที่มั่นคง มีเงิน ตอนทำงานโรงงานไส้อั่วก็มีงานแค่เดือนละ 10 วันเพราะของขายไม่ดี เราก็ได้เดือนละ 5,000 กว่าบาท ยิ่งตอนมีโควิด-19 ก็ยิ่งงานน้อย ทั้งที่อยากมีงานทุกวัน จะขับไปทำงานในเมืองเราก็ไม่กล้าขับรถ กลับบ้านก็คงไม่ได้ เพราะตั้งใจว่าจะทำงานหาเงินส่งลูกเรียนที่นี่ตลอดไป เพราะอยู่นู่นถึงจะทำงานเยอะก็กินไม่พอ ยิ่งมีการสู้รบกันคนก็ยิ่งหนีออกมา ก็ได้แต่ติดต่อพี่สาวที่ยังอยู่ที่นู่นนานๆ ครั้งเพราะไม่ค่อยมีสัญญาณ” ป้าแดง เล่า
ในขณะที่ปสุตา ให้ความเห็นต่อการได้สิทธิคนพิการของแรงงานข้ามชาติว่า กรณีของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนั้นสามารถแก้ไขได้ หากมีแรงเรียกร้องมากพอ แต่คนที่เรียกร้องก็อาจจะเจอแรงต้านจากสังคมว่า เป็นพวก ‘ขายชาติ’ ที่ให้สิทธิแรงงานข้ามชาติมากเกินไป ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วคนกลุ่มนี้อยู่กับสังคมเรามาโดยตลอด
“การมีอยู่ของเขาทำให้เรามีประชากรที่เป็นแรงงาน ยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ก็นับว่าเป็นเรื่องท้าทายที่จะเติมประชากรทดแทน ด้วยการออกวีซ่าที่เอื้อให้มีคนเข้ามา คิดว่าเป็นโมเดลที่ไทยอาจจะต้องศึกษา อย่างประเทศญี่ปุ่นแม้ว่าจะมีความชาตินิยมสูง แต่ในเรื่องนี้ก็ถือว่าเปิดกว้างระดับหนึ่ง
“เราคิดว่าคนไทยอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้าอย่างดีพอ เราคงต้องทำความเข้าใจกับคนในวงกว้างว่าการให้สวัสดิการถ้วนหน้า ก็ไม่ได้ทำให้เราเสียสวัสดิการอะไร อาจเพราะภาครัฐชอบพูดว่า เราไม่มีเงิน ขนาดจะแจก Digital pockets ก็ยังต้องเลือกว่าจะให้ใครบ้าง หรือบัตรคนจนก็ต้องไปลงทะเบียนความจน ประเทศไทยวนอยู่กับการแข่งขันว่าใครจะได้ ไม่ได้ แล้วเราจะทำยังไงให้คนเชื่อมั่นได้ว่าคนข้ามชาติควรได้สิทธิด้วย” ปสุตา เสริม
นอกจากนี้ ปสุตา ยังได้เสนอวิธีการในการเปลี่ยนแปลงความคิดและนโยบายต่างๆ ว่า อย่างแรกควรทำให้เกิดคดีตัวอย่างผ่านกลไกการฟ้องคดีในศาล เพื่อใช้กลไกลทางศาลบังคับให้หน่วยงานรัฐใช้กฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น
อย่างที่สอง คือ การทำแคมเปญรณรงค์สาธารณะ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสิทธิต่างๆ พยายามทำให้เรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องใกล้ตัวคนมากขึ้น เช่น แรงงานข้ามชาติช่วยแบ่งเบาอะไร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง และพวกเขาไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่มาเอาแล้วไปอย่างเดียว แต่มีเม็ดเงินที่หมุนอยู่ในประเทศไทยเช่นกัน
“องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (World Labour Group : ILO) เคยทำวิจัยตอนปี 2018 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมที่คนข้ามชาติเข้ามาทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ของ GDP ถือว่าสูงเหมือนกัน ยังไม่นับเรื่องภาษีทางอ้อม เรื่องการเช่าที่พักอาศัย หรือว่าการทำให้เศรษฐกิจเล็กๆ อย่างร้านชํา รถพุ่มพวงอยู่ได้ แต่คนเราไม่ค่อยมองตรงนั้น แรงงานข้ามชาติก็เหมือนคนบ้านเราที่ไปทำงานต่างประเทศ ทั้งอิสราเอล เกาหลี ญี่ปุ่นหรือยุโรป แทบทุกคนไปทำงานก็เพราะอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น
กลุ่มประชากรข้ามชาติเองก็มีความต้องการที่หลากหลาย มีทั้งคนที่อยากเข้ามามีครอบครัวที่นี่ มีคนที่คิดว่าฉันจะมาทำงานเพื่อส่งเงินกลับบ้าน รวมเงินได้แล้วก็กลับไปอยู่บ้าน หรือคนที่อยากจะตั้งรกรากที่นี่เลย แต่เจ้าหน้าที่รัฐฝังหัวว่า ถ้าให้สวัสดิการเดี๋ยวเธอจะต้องมาสร้างบ้าน เปลี่ยนเมืองไทยให้เป็นเมืองของพวกเธอ ทั้งที่จริงๆ แล้วสิทธิในการตั้งครอบครัวหรือโยกย้ายถิ่นฐานสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและเป็นธรรมชาติของมนุษย์ตามที่ควรจะเป็น” ปสุตา กล่าว
อ้างอิง
แรงงานข้ามชาติ : ชีวิต สิทธิ และความหวัง
แรงงานผู้ร้าวราน ความทรมานเมื่อถูกรัฐแปะป้ายเป็น ‘ต่างด้าว’
สถิติจำนวนคนตางดาวที่ไดรับอนุญาตทำงาน คงเหลือทั่วราชอาณาจักร
‘คนพิการไร้สัญชาติ’ ความทับซ้อนแห่งวังวนปัญหาเรื่อง ‘สิทธิ’
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )