ณัฐวุฒิ-จตุพร ประเมินพลังมวลชน 2568 หากเกิด “ม็อบสนธิ”
Article data
- Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
- Feature, ผู้สื่อข่าว.
“นี่คือประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ทำอะไรรอบนี้ต้องทำด้วยความระวัง สู้ครั้งนี้ถ้าจะสู้ที่สุดแล้วต้องชนะลูกเดียว” สนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวต่อหน้ามวลชนและสื่อมวลชนเมื่อ 9 ธ.ค. โดยมีเสียงกระพือ “มือตบ” อุปกรณ์ประกอบการชุมนุมของมวลชน “เสื้อเหลือง” และเสียงตะโกน “สนธิสู้ ๆ” ให้หลังคำกล่าวของเขา
สนธิ เป็นแกนนำผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งประสบความสำเร็จในการขับไล่-โค่นล้ม “รัฐบาลชินวัตรผู้พ่อ” ส่งสัญญาณพร้อมหวนคืนสู่ท้องถนนอีกครั้งใน “รัฐบาลชินวัตรผู้ลูก”
วานนี้ (9 ธ.ค.) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองวัย 77 ปี เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่น 6 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ให้ยกเลิก “เอ็มโอยู 44” ซึ่งเขาเรียกเอกสารนี้ว่า “เอ็มโอยูขายชาติ” โดยกำหนดเวลา 15 วันจะกลับมาทวงคำตอบ
สำหรับเอ็มโอยู 44 (MOU 44) คือ บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิเส้นไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่ง รมว.ต่างประเทศของ 2 ประเทศ ลงนามกันในปี 2544 แต่ถูกหยิบมาใช้เป็นประเด็นกล่าวหารัฐบาลชุดปัจจุบันว่าจะทำให้ไทยเสียดินแดน
“พวกแกนนำเก่า ๆ พากันพูดว่าไม่มีมวลชนแล้ว วันนี้ไม่ได้ปลุกระดมพ่อแม่พี่น้องแต่ว่ามากันด้วยใจ ถ้าถึงเวลาจะต้องลงถนนจะมามากกว่านี้เป็นพันเท่า” อดีตผู้นำมวลชนเสื้อเหลืองประกาศ
Skip เรื่องแนะนำ and continue finding outเรื่องแนะนำ
Quit of เรื่องแนะนำ
.พูดคุยกับ 2 อดีตผู้นำมวลชนที่เรียกตัวเองว่า แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จแห่งชาติ (นปช.) – ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ จตุพร พรหมพันธุ์ – ซึ่งครั้งหนึ่งเคยใส่ “เสื้อแดง” ร่วมต่อสู้กับเครือข่ายอนุรักษนิยมและต่อต้านเผด็จการทหารตั้งแต่ยุครัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ทว่าวันนี้พวกเขาแยกกันเดิน-ยืนคนละขั้วความคิด
มุมมองของ เต้น-ตู่ ต่อ “มวลชน 2568” เหมือนหรือต่างกันอย่างไร .ขอไล่ทำความเข้าใจไปทีละประเด็น
1. ฝ่ายอนุรักษนิยมยุคนี้คือใคร
ณัฐวุฒิ เจ้าของแนวคิด “การเมือง 3 ก๊ก” วิเคราะห์ปรากฏการณ์มวลชนโดยเอาคะแนนเลือกตั้ง 2566 เป็นเกณฑ์ ประกอบด้วย ก๊กแรก กลุ่มคนที่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร 2557 และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 เป็นหลัก ฐานคะแนนอยู่ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) อยู่ในก๊กนี้ด้วย, ก๊กสอง กลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย (พท.) และก๊กสาม กลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคประชาชน (ปชน.)
ณัฐวุฒิ ผู้สวมหมวกเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ชี้ว่า การเข้าสู่อำนาจรัฐของฝ่ายอนุรักษนิยมส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง แต่ยึดครองอำนาจไว้นาน ๆ แล้วสร้างกติกา-กลไก-เครือข่ายเพื่อรักษาฐานอำนาจของตน หรือสร้างข้อได้เปรียบในเวทีการเมืองและสนามเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งของไทย นอกจากประชาชนเลือกพรรคใด บางครั้งมีพลังการเมืองอื่นมากำหนดผลหลังการเลือกตั้งว่าพรรคไหนจะได้หรือไม่ได้เป็นรัฐบาล
ภายใต้ทฤษฎี 3 ก๊กการเมือง ณัฐวุฒิ จัดพรรคร่วมฯ ลงก้อนอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน แต่เมื่อถามถึงพรรคต้นสังกัดของเขา เจ้าตัวปฏิเสธจะให้คำจำกัดความว่าพรรค พท. เป็นเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยม โดยให้เหตุผลว่า ถ้าบอกว่าเป็นอนุรักษนิยม พรรคก็จะบอกว่าไม่ใช่ และ ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ก็เคยปฏิเสธว่าเพื่อไทยไม่ใช่อนุรักษนิยมใหม่ แต่ครั้นจะบอกว่าเป็นเสรีนิยม การจัดตั้งรัฐบาลหน้าตาแบบนี้ก็ทำให้มวลชนเกิดคำถาม
ขณะที่ จตุพร แบ่งฝ่ายอนุรักษนิยมออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่อยู่ในรัฐบาลกับกลุ่มที่อยู่นอกรัฐบาล การเกิดขึ้นของรัฐบาลผสมข้ามขั้วทำให้ 2 ส่วนนี้ไม่ไปด้วยกัน พรรคการเมืองอาจผสมกันได้ แต่ประชาชนไม่ได้เห็นพ้องเพราะไม่ได้ตัดสินใจให้เกิดรัฐบาลแบบนี้
“เรามาถึงจุดที่การเมืองแยกฝ่ายได้ยากมากว่าใครคือเสรีนิยม ใครคืออนุรักษนิยม การได้มาซึ่งรัฐบาลชุดนี้ทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือของนักการเมือง ดังนั้นฝั่งไม่ใช่รัฐบาล ประชาชนยังมีจุดยืนเหมือนเดิม เคยไม่เอาทักษิณอย่างไร ความคิดก็ยังเป็นอย่างนั้น แต่อารมณ์ของประชาชนต้องถูกกระชากอีกรอบว่าท้ายที่สุดจะตัดสินใจอย่างไร จากนี้เป็นเรื่องเหตุผลในขณะนั้น”
ระหว่าง “กลัวพรรคส้ม” กับ “เกลียดทักษิณ” มวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมรู้สึกอย่างไรมากกว่ากัน
“ความกลัวพรรคส้มเป็นความต้องการของทักษิณ” อดีตแกนนำ นปช. ผู้ผันตัวมาเป็นวิทยากร “คณะหลอมรวมประชาชน” ร่วมกับ นิติธร ล้ำเหลือ อดีตแนวร่วมคนสำคัญของกลุ่ม พธม. และ กปปส. ตอบ
จตุพร บอกว่า อดีตนายกฯ อยู่ได้เพราะพรรคส้มถูกสร้างให้เป็นปิศาจแทนที่ตนเอง โดยบอกว่าพวกนี้เป็นพวกรื้อโครงสร้าง ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ จ.อุดรธานี ชัดเจนว่า ทักษิณ สลัดความเป็นปิศาจไปอยู่ที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรค ปชน. และพยายามบอกว่าตัวเองคือผู้อาสามาปราบปิศาจตนใหม่ ทั้งที่ปิศาจนี้ไม่ได้น่ากลัวเลย แต่ถูกสร้างให้น่ากลัวเกินกว่าเหตุ
“ถ้าฝ่ายอนุรักษนิยมในส่วนประชาชนลองลำดับความเป็นจริง จะเห็นว่าความน่ากลัวอยู่ที่ ทักษิณ มากกว่า ธนาธร เพราะฝั่ง ธนาธร ทำได้อย่างมากที่สุดคือคำพูด แต่ฝั่ง ทักษิณ ผ่านการกระทำในทุกรูปแบบหมดแล้วไม่ว่าเรื่องดีหรือชั่ว” จตุพร ระบุ
2. ประเด็นไหนคือ ควัน-ไฟ-ฟางเส้นสุดท้าย
หากไล่เลียงประเด็นที่เครือข่ายอนุรักษนิยมนอกสภาใช้โจมตีรัฐบาลแพทองธาร จะพบว่า พุ่งเป้าไปที่ประเด็นชาตินิยมแบบดั้งเดิมโดยเฉพาะเรื่องดินแดน ไม่ว่าจะเป็น MOU 44 ที่นำไปเชื่อมโยงกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่เกาะกูด จ.ตราด ที่ ทักษิณ เสนอแนวคิดให้ไทย-กัมพูชาใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลร่วมกันแล้วแบ่งปันผลประโยชน์สัดส่วน 50-50, นโยบายให้ต่างชาติเช่าที่ดินทำประโยชน์ได้ 99 ปี, ปัญหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย ฯลฯ
สนธิ-จตุพร ผู้ตอกย้ำเรื่องราวเหล่านี้ผ่านสื่อ ใช้คำว่า สถานการณ์ “ใกล้สุกงอม”
จตุพร อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่บอกว่า “ใกล้” เพราะเวลานี้รัฐบาล “แค่แสดงความอยาก ยังต้องรอการแสดงจริง” ซึ่งจะสร้างอารมณ์ร่วมให้แก่มวลชนได้
ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ประเด็นที่ฝ่ายอนุรักษนิยมใช้ตั้งต้นมวลชนกดดันรัฐบาลอย่างได้ผลมาโดยตลอดคือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมหลักของสังคมไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะเห็นว่าตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ-สมัคร-สมชาย-ยิ่งลักษณ์ ต้องเจอกับ “ปฏิญญาฟินแลนด์” “ทำบุญวัดพระแก้ว” “ผังล้มเจ้า” และอีกหลายเรื่องที่อ้างถึงสถาบันหลักโดยเฉพาะชาติกับพระมหากษัตริย์
แต่รอบนี้หากจะใช้ประเด็นเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากล่าวหารัฐบาล ณัฐวุฒิ เห็นว่า “โจมตีรัฐบาลชุดนี้ด้วยเรื่องเหล่านั้นค่อนข้างยากแล้ว” เพราะรัฐบาลปัจจุบันเป็นการแตะมือระหว่างพรรคที่กลุ่มมวลชนของสนธิอาจมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่ในรัฐบาลก็มีพรรคที่พวกเขาเลือกร่วมอยู่ด้วย นี่เป็นหัวใจสำคัญที่สร้างความแตกต่าง ทำให้การเคลื่อนไหวมวลชนครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งอื่น
“ที่ผ่านมา กลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวจะแสดงออกชัดเจนว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มวลชนที่จะเคลื่อนไหวเป็นมวลชนที่เลือกพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นมันจึงทำให้บางประเด็นที่ถูกใช้อย่างได้ผลในอดีต เอากลับมาใช้ในปัจจุบันยาก ถ้าฝ่ายอนุรักษนิยมจะเชื่อว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ไม่ประสงค์ดีกับสถาบันเบื้องสูง พูดยากนะครับ ถ้าพูดปุ๊บ พรรคร่วมฯ ก็จะออกมาบอกว่าเขายืนหยัดเรื่องเหล่านี้ชัดเจน และฝ่ายที่กล่าวหาก็กล่าวหายาก เพราะเป็นคนเลือกพรรคเหล่านั้นมา” ณัฐวุฒิ อธิบาย ก่อนย้อน-ย้ำว่านี่คือเหตุผลที่ต้องใช้ชุดอุดมการณ์ชาตินิยมมาจุดกระแสต่อต้านรัฐบาล
ดูเหมือนข้อวิเคราะห์ของ ณัฐวุฒิ จะให้น้ำหนักที่ส่วนผสมของรัฐบาลเป็นหลัก และเลี่ยงจะพูดถึงอีกแนววิเคราะห์ที่ว่า ทักษิณ-เพื่อไทย มีวันนี้เพราะผ่าน “ภารกิจพิสูจน์ความจงรักภักดี” ด้วยการขับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พ้นจากอำนาจ
“ไม่นะ” ที่ปรึกษาของนายกฯ แย้งทันควัน และว่า เรื่องพรรค ก.ก. ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ก็เป็นเรื่องของพรรค ก.ก. ซึ่งพรรค พท. พยายามอย่างที่สุดอย่างน้อยก็โหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. ด้วยคะแนนเสียงเต็ม 2 ครั้ง ถ้าวันนั้นสามารถรวมเสียง สว. ได้แบบที่พรรค ก.ก. ประกาศไว้ รัฐบาลก็เกิดขึ้น
“แต่ใด ๆ ก็ตามที่ก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ได้ แล้วบอกว่าเพื่อไทยเป็นคนพิสูจน์เรื่องความจงรักภักดี ผมว่าคนละเรื่อง” เขาบอก และย้ำว่า พรรค พท. มีวาระของตัวเอง และต้องเดินอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้กลับไปสู่สถานการณ์บอบช้ำอย่างหนักหนาสาหัสอีก สิ่งที่พรรค ก.ก. เจอ ไม่มีอะไรที่พรรค พท. ไม่เจอมาก่อน แถมเจอมาหนักกว่า แต่วันนี้วิถีทางทำให้พรรค พท. เลือกเดินในทางที่อยู่กับความเป็นจริงทางการเมือง ยึดกุมอำนาจไว้เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน
หากในช่วงชุมนุมของกลุ่ม พธม. ภาคแรก (2548-2549) และ พธม. ภาค 2 (2551) วาทะ “กู้ชาติ” และ “เราจะสู้เพื่อในหลวง” ถูกชูเป็นประเด็นขับไล่รัฐบาล “ทักษิณ-สมัคร-สมชาย” ปัจจุบันเหลือเพียงวาทะ “ขายชาติ” เป็นวลีที่ สนธิ ใช้จุดกระแสต่อต้านรัฐบาล “แพทองธาร”
ตู่-จตุพร มองการหายไปของประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันฯ ในความเคลื่อนไหวของมวลชนระลอกใหม่ไม่ต่างไปจาก เต้น-ณัฐวุฒิ โดยเป็นผลจากการจับมือจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ทว่าเขามีมุมมองบางส่วนแตกต่างออกไป
จากการสังเกตการณ์ของ จตุพร การกลับบ้านของอดีตนายกฯ ทักษิณ และการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว มาพร้อมกับคำว่า “ไฟเขียว” และพยายามสร้างเหตุผลและสร้างจินตนาการเรื่องต่าง ๆ ต่อเนื่อง เช่น ไม่ติดคุกสักวัน และรอดบางเรื่อง ดังนั้น สนธิ จึงหลีกเลี่ยงประเด็นที่เคยใช้เป็นหลักในปี 2548 แต่เอาปัญหาที่สามารถกระชากคนได้อย่างรวดเร็วคือเรื่องดินแดน และผลประโยชน์ไทย-กัมพูชามาเล่นก่อน โดยเชื่อว่าจะเป็น “จุดสปาร์ค” เพราะท่วงทำนองของ ทักษิณ คือไม่พยายามพูดเรื่องสัมปทานที่ให้บริษัทเอกชนไปแล้วตั้งแต่ปี 2515 ทำให้เกิดช่องว่างทางความรู้สึก
ตู่-จตุพร ไม่เชื่อว่า อดีตนายเก่าจะได้ “ไฟเขียว” ไปเสียทุกแยกหรือทุกเรื่อง สะท้อนผ่านการไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เดินทางออกนอกประเทศ, การตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติซึ่งบัดนี้ยังเข้าที่ประชุม ครม. ไม่ได้ เช่นเดียวกับการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee – JTC) ที่ไม่รู้จะได้เห็นเมื่อไร
อย่างไรก็ตามถ้าดูพระราชหัตถเลขาอภัยลดโทษเมื่อ 31 ส.ค. 2566 ตามที่ ทักษิณ ยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา หลังต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้จำคุก 8 ปี จาก 3 คดี และได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษเหลือโทษจำคุก 1 ปี
เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า อดีตนายกฯ “ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” และการพระราชทานอภัยลดโทษให้ ทักษิณ “เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป”
นี่คือเหตุผลที่ทำให้แกนนำมวลชนไม่อาจนำเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันฯ มาวิจารณ์ อดีตนายกฯ คนที่ 23 อีกต่อไปหรือไม่
เกี่ยวกับเรื่องนี้ จตุพร บอกว่า ในพระราชโองการเขียนตามคำถวายฎีกาที่ยื่นขอพระราชทานอภัยลดโทษ ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษ ซึ่งในการการพระราชทานอภัยโทษให้บุคคลอื่นในอดีตก็มีเนื้อหาไม่ได้ต่างกัน โดยยึดตามคำถวายฎีกา
“คุณทักษิณประกาศเจตนาแรกว่าจะกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน ส่วนการทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ไม่จำเป็นต้องเดินสายหาเสียง อบจ. หรือไปประกาศล่วงหน้า แล้วให้รัฐบาลทำตามหลัง” จตุพร กล่าว
นอกจากประเด็นชาตินิยม ปมปัญหาใหญ่ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นปัญหาร่วมของนายกฯ ตระกูลชินวัตรทั้ง 3 คน หนีไม่พ้น ข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
- ทักษิณ: ขายหุ้นชินคอร์ปไม่เสียภาษี
- ยิ่งลักษณ์: ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย หวังล้างผิดให้พี่ชายได้กลับบ้าน (ขณะนั้นทักษิณอยู่ต่างประเทศ), โยกย้ายเลขาธิการ สมช. โดยมิชอบเพื่อเปิดทางให้เครือญาติขึ้นเป็น ผบ.ตร.
- แพทองธาร: กรณี MOU 44 เอื้อประโยชน์ให้กัมพูชา, ไม่ทำความจริงให้กระจ่างกรณี “ชายชั้น 14” และอาจมีชนวนใหม่หาก “พาอาปูกลับบ้าน” ตามที่ ทักษิณ ลั่นวาจาไว้ว่าน้องสาวจะมาฉลองสงกรานต์ที่ไทยปี 2568
ในทัศนะของ จตุพร เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นประเด็นยืนพื้นอยู่แล้วสำหรับการจุดกระแสต่อต้านรัฐบาลจากตระกูลนี้ ซึ่งการที่ ทักษิณ แสดงวิสัยทัศน์ในงาน “ไทยแลนด์วิชัน” ก่อน แล้วรัฐบาลทำตาม 11 จาก 14 นโยบาย ก็ไปตอกย้ำความไม่ไว้วางใจของผู้คนที่มีอยู่ดั้งเดิม
3. ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป ส่งผลอย่างไรต่อการระดมมวลชนขนาดใหญ่
หากในอดีต “ทีวีจอสี” ไม่ว่าจอเหลือง-แดง-ฟ้า คือเครื่องมือสำคัญที่แกนนำ พธม., นปช., กปปส. ใช้สื่อสารกับมวลชนในระหว่างการชุมนุมใหญ่ในช่วงทศวรรษก่อน (2548-2557) ปัจจุบันผู้คนติดตามข่าวสารวินาทีต่อวินาทีผ่านโซเชียลมีเดีย จึงน่าสนใจว่าภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป จะส่งผลต่อวิธีทำการเมืองบนท้องถนนไปอย่างไร
จตุพร อ้างว่า ผู้มีอำนาจในปัจจุบันพยายามดิ้นรถจะบล็อกสื่อหลักที่เขาไปออกรายการในฐานะคอมเมนเตเตอร์ทางการเมืองซึ่งสะท้อนให้เห็นความกลัว แต่ขณะนี้เร็วเกินไปที่จะประเมินว่ารูปแบบและขนาดมวลชน
“การประเมินม็อบอย่าประเมินในวันยังที่ไม่จุดติด ต้องประเมินวันที่ติดแล้ว ซึ่งคนจุดม็อบไม่ใช่แกนนำหน้าไหน แต่คือรัฐบาล” เขาบอก
อย่างไรก็ตามทั้ง จตุพร-ณัฐวุฒิ เห็นตรงกันว่า สมัยก่อนคนลงถนนเพื่อระบาย แต่วันนี้มีโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่แสดงออก-อธิบายความคิด-ระบายความรู้สึก จึงส่งผลให้รูปแบบการชุมนุมเปลี่ยนแปลงไป
ถ้าการชุมนุมใหญ่เกิดขึ้นจริง จำเป็นต้องมีมวลชนเท่าไรจึงจะเรียกว่า “จุดติด”
ทั้ง จตุพร-ณัฐวุฒิ ปฏิเสธจะพูดถึงตัวเลข โดยบอกเพียงว่าไปคิดก่อนไม่ได้ ขอรอดูตามความเป็นจริงและสถานการณ์
ส่วนบรรดาพรรคการเมืองที่เคยเปิดหน้า-จัดมวลชนไปหนุนหลังสารพัดม็อบ ไม่ว่าจะเป็นพรรค ปชป. หรือพรรค รทสช. ซึ่งเป็นอดีตคนประชาธิปัตย์ ต่างเข้าร่วมรัฐบาลหมดแล้ว น่าจะทำให้ยอดผู้สนับสนุนการเมืองบนท้องถนนหายไปอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
จตุพร มองโลกในแง่ดีว่า ถึงเวลาสถานการณ์มันเปลี่ยนได้หมด ประชาชนจะล่วงหน้าพรรค จะเกิดแรงกระแทกและอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เพราะอารมณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ใช่การร่วมหัวจมท้ายตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว แต่รวมกันเพราะผลประโยชน์เฉพาะหน้า
แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับมุมมองของ ณัฐวุฒิ ที่ประเมินว่า “คงยังไม่มีม็อบใหญ่อย่างที่เราเคยเห็นอย่างน้อยถึงสิ้นปีนี้ถึงต้นปีหน้า” โดยให้เหตุผลว่า ถ้าจะปลุกม็อบเป็นหมื่นหรือแสนต้องเห็น 3 ปรากฏการณ์สำคัญ ได้แก่
- การขยับตัวของพรรคการเมือง ซึ่งวันนี้ยังไม่เห็นว่ามีพรรคไหนขยับไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล
- การเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนย่อย ต้องเริ่มมีการพูดคุยกัน มีการตกลงผนึกกำลังและออกมาร่วมขบวนการต่อสู้
- การเคลื่อนไหวของคนการเมือง-ผู้มีเครือข่าย-ผู้มีบารมีการเมืองที่ต้องจับกลุ่มวางแผนคิดอ่านประเมินสถานการณ์ คนนี้ไปคุยกับคนนั้น พอเห็นตรงกันก็พาคนนั้นไปคุยกับคนโน้น ขยายวงไปเรื่อย
“ทั้งหมดนี้ผมยังไม่เห็น” อดีตแกนนำคนเสื้อแดงสรุป
4. ทุนไหนจะเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง”
ไม่ต่างจากบรรดานายทุนที่ประกาศสนับสนุนและเลือกอยู่ข้างรัฐบาลแล้ว นั่นทำให้เกิดคำถามว่าแล้วใครจะเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” ให้ผู้ประท้วงบนท้องถนน
ณัฐวุฒิ กล่าวว่า พอไม่มีพรรคการเมืองหลักสักพรรคออกมาเคลื่อนไหว มันจึงขาดเจ้าภาพในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งรวมถึงทุนด้วย
ส่วน จตุพร ไม่ได้ตอบตรง ๆ ว่าจะหาทุนจากไหน โดยบอกใบ้เพียงว่า ทุนที่เคยอยู่กับ ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ล้วนแต่เป็นทุนเดิมทั้งนั้น “ทุนไม่ได้ผูกขาดกับความสัมพันธ์ ทุนไม่เคยเปลี่ยน มีแต่ผู้ปกครองที่เปลี่ยนไป”
5. ถ้ามี “ม็อบ 2568” ฉากจบจะลงเอยแบบใด
ปฏิเสธไม่ได้ผู้ประท้วงบนท้องถนนของไทยที่โค่นล้มรัฐบาลหลายต่อหลายชุด ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียง “ผู้ออกบัตรเชิญ” ให้ทหารมาปิดเกมด้วยอำนาจนอกระบบ
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ถ้าจัดม็อบ แต่ไม่มีทหาร จะล้มรัฐบาลได้อย่างไร
นี่เป็นอีกคำถามที่ จตุพร ไม่ได้ตอบตรง ๆ โดยบอกเพียงว่าเมื่อรัฐบาลรู้ว่าปลายเหตุจะเป็นเช่นนั้น ก็ต้องหยุดกระทำตั้งแต่ต้นเหตุ ไม่สร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่จุดนั้น
“ปัญหาของการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมต้นซอยเมื่อปี 2556 ถึงเวลาเจ้าของพรรคเขาเกิดจะเอาสุดซอย คุณมีปัญญาทำอะไรไหมละ เพราะฉะนั้นกองเถียงแทนทักษิณ และบรรดานางแบกทั้งหลาย เวลาทักษิณตัดสินใจอย่างไร พวกนี้ก็หน้าแตก”
อดีตคนเสื้อแดง-อดีตผู้แทนราษฎรสังกัดพรรค พท. ย้ำว่า รัฐบาลชินวัตรผ่านบทเรียนการถูกยึดอำนาจมาแล้ว 2 ครั้ง รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุ ทุกเรื่องที่จะทำวันนี้ไม่ใช่นโยบายหาเสียงปี 2566 แต่งอกขึ้นมาทั้งสิ้น และเกี่ยวกับผลประโยชน์ล้วน ๆ เลย “ถ้าไม่ต้องการให้สิ่งเดิมเกิดขึ้น ไม่ต้องการให้จบแบบเดิม รัฐบาลก็ไม่ควรเดินแบบเดิม”
ณัฐวุฒิ บอกว่า ถ้าเป็นม็อบของฝ่ายอนุรักษนิยมปลายทางจะจบลงที่อำนาจนอกระบบ เพราะใน 3 ก๊ก ก๊กอนุรักษนิยมเป็นก๊กที่มีพลังทางมวลชนน้อยที่สุด แต่มีพลังแฝงมากที่สุด ดังนั้นปลายทางในการเคลื่อนไหวจึงไม่ได้เดินไปสู่สนามเลือกตั้ง เพราะถ้าไปสู่ตรงนั้นก็ยากที่จะพลิกขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แล้วตั้งรัฐบาลได้ สุดทางจึงเป็นเรื่องของอำนาจนอกระบบ เพียงแต่คราวนี้เงื่อนไขแตกต่าง
เขาทดลองสมมติแบบไปให้สุดโดยโยนคำถามขึ้นมาว่า “สมมติมีการชุมนุมขนาดใหญ่ แล้วเพื่อไทยตัดสินใจยุบสภา จะมีพรรคไหนบอยคอตไหม” ก่อนตอบเองว่า แต่เชื่อว่ามีพรรคพร้อมเลือกตั้งคือ พรรค พท. กับพรรค ปชน. แล้ว 2 พรรคนี้มี สส. ในสภารวมกัน 300 คน ถ้าแกนนำพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านลงเลือกตั้ง มันไม่มีความชอบธรรมให้ใครไปขัดขวางได้ ดังนั้นบริบทมันแตกต่างกัน ที่ผ่านมากลไกประชาธิปไตยไม่มีทางตัน แต่มันตันเพราะมีคนไปขวาง ทำให้ระบบเดินด้วยตัวเองไม่ได้ แล้วเอาวิธีการนอกระบบมา ครั้งนี้มันจะไปอีกฉาก แม้คาดหวังได้ยาก แต่การเมือง 3 ก๊กทำให้อำนาจนอกระบบสำแดงเดชได้ยาก อย่างน้อยที่สุดทุกคนยังรักษากลไกของระบบรัฐสภาให้ไปต่อได้
6. การเมืองไทย “3 ก๊ก” vs “2 ขั้ว”
ในขณะที่ ณัฐวุฒิ นำเสนอแนวคิด “การเมือง 3 ก๊ก” (ก๊กอนุรักษนิยมดั้งเดิม, ก๊กพรรค พท., ก๊กพรรค ปชน.) เพื่อใช้อธิบายภาพหลังยุครัฐบาลข้ามขั้ว โดยทั้ง 3 ก๊กมีทั้งมุมที่เผชิญหน้ากัน และมุมที่ประสานประโยชน์ประสานพลังกัน และการขยับของก๊กหนึ่ง จะมีผลต่ออีก 2 ก๊กทั้งในเชิงแตะมือกันและในเชิงต้องรับมือ และก็จะเป็นโอกาสของก๊กใดก๊กหนึ่งเสมอเมื่อมีการขยับของ 3 ก๊กนี้
ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า หักล้างว่า การเมืองไทยไม่ใช่ 3 ก๊ก แต่เป็น “การเมือง 2 ขั้ว” (พลังใหม่, พลังเก่า) และอยู่ใน “ระบอบประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต” กล่าวคือ พรรคการเมืองจะเข้าสู่อำนาจรัฐ-ได้เป็นรัฐบาล นอกจากได้รับใบอนุญาตจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งแล้ว ยังต้องมีใบอนุญาตให้เป็นรัฐบาลจากชนชั้นนำจารีตประเพณีด้วย
“ถ้าผู้ทรงอำนาจออกใบอนุญาตที่ 2 ไม่เอา พรรคนั้นก็อาจไม่ได้เป็นรัฐบาล ถ้าผู้ทรงอำนาจออกใบอนุญาตที่ 2 ไม่พอใจ ก็อาจยึดคืนใบอนุญาตได้” ปิยบุตร อธิบายไว้
อย่างไรก็ตาม ณัฐวุฒิ มองว่า การเมือง 2 ขั้วเป็น “ภาคเดิม” ตั้งแต่หลังปี 2475 ซึ่งแบ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายเสรีนิยม โดยมีพลังการเมืองอื่นมากำหนดผลหลังเลือกตั้งว่าพรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาล ซึ่งเป็นภาพที่เราเห็นมายาวนาน พรรค ทรท. พปช. พท. ก็เจออย่างนี้ เลือกตั้งได้ที่ 1 >> ตั้งรัฐบาล >> ถูกมวลชนที่เรียกว่า “ม็อบมีเส้น” ออกมาชุมนุมต่อต้าน >> ถูกจัดการด้วยอำนาจนอกระบบ และฝ่ายตรงข้ามก็ “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร เป็นรัฐบาลที่มากด้วยภูมิคุ้มกัน” จึงเห็นว่าการเมือง 2 ขั้วเป็นภาคที่ได้ข้อสรุปแล้ว และไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์มวลชนยุคนี้ได้ชัดเจน
เช่นเดียวกับคำว่า “ประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต” ซึ่ง ณัฐวุฒิ เห็นเป็นเรื่องเดิมตั้งแต่ 2475 เพียงแต่ไม่ได้ถูกเรียกว่าใบอนุญาต ทำไมพรรค ทรท. 377 เสียงอยู่ไม่ได้ ทำไมรัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งพ่ายแพ้การเลือกตั้งถึงอยู่ได้ ถ้าบอกว่ามาจากพลังฝ่ายอนุรักษนิยม เครือข่ายกลไกอำนาจนอกระบบทั้งหลายช่วยกันกดดัน ช่วยกันสร้างสถานการณ์ก็พูดได้ แต่ถ้าเอาคำอธิบาย “2 ใบอนุญาต” มาใช้มันก็ใส่กันได้พอดี จึงไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่วันนี้พอใช้คำว่าใบอนุญาต มันจึงดูเป็นคำใหม่ขึ้นมา
ถ้าเช่นนั้นการที่พรรค พท. ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐามาถึงรัฐบาลแพทองธาร เป็นเพราะได้รับใบอนุญาตจากใคร
คำตอบของ ณัฐวุฒิ คือ ก็ประชาชนที่เขาเลือกพรรค พท. มาส่วนหนึ่ง แล้วประชาชนที่สนับสนุนพรรคร่วมณ มาส่วนหนึ่ง
แล้วถ้าจะมีเหตุให้รัฐบาลชุดนี้ต้องพ้นไป ใครคือผู้ริบใบอนุญาต
เขาไม่ขอตอบคำถามนี้-ไม่อยากอธิบายแทน โดยโยนให้ไปถามคนที่พูดถึงเรื่องใบอนุญาต
7. ตระบัดสัตย์
ส่วน จตุพร ไม่ขอลงรายละเอียดในทั้ง 2 ทฤษฎี โดยย้ำว่าพอตั้งรัฐบาลแบบนี้มันแบ่งฝั่งกันไม่ถูกว่าผิด-ถูก เลว-ดี ดำ-ขาว พอเสียสัจจะก็เสียทุกอย่าง “ฉะนั้นเจ้าของทฤษฎี 3 ก๊ก ตอนตั้งรัฐบาลบอกไปด้วยไม่ได้ ขอยืนส่งแค่นี้ วันนี้ไม่รู้ว่าแอบขึ้นรถไปตอนไหน”
วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน กล่าวว่า ตอนตั้งรัฐบาลข้ามขั้วเป็นการ “อธิบายแบบก่ะล่อน” ตอนรัฐบาลเศรษฐาอาจพออ้างได้เพราะมี สว. 250 คน แต่ตอนรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง สว. ไม่มีอำนาจโหวตแล้ว ทำไมไม่แยกมา “เป็นเพราะคุณอยากอย่างนี้ตั้งแต่ต้น ไม่อย่างนั้นทักษิณจะได้กลับบ้านหรือ แต่มาพูดอธิบายเป็นตอน ๆ”
“เหตุที่สัจจะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราผ่านเหตุการณ์พฤษภา 2535 มา เราสู้เรื่องคำพูดมา วันนี้สังคมอาจไม่ถือสา แต่ต่อไปนักการเมืองก็จะแข่งโกหกกัน หาเสียงอย่าง ถึงเวลาทำอีกอย่าง” จตุพร กล่าว
จตุพร เคยร่วมชุมนุมประท้วงในเหตุการณ์พฤษภา 2535 เพื่อขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ออกจากตำแหน่งนายกฯ หลังนายพลรายนี้ร่วมก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย และประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ แต่ต่อมากลับเข้าดำรงตำแหน่งโดยทิ้งวาทะ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้านอย่างกว้างขวาง
เมื่อย้อนมาดูสถานการณ์ปัจจุบัน สนธิ เคยประกาศเมื่อ 12 ก.ย. 2562 หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษออกจากเรือนจำว่า “จะให้ความรู้คนมากกว่า การออกถนนคงไม่ออก คิดว่าหมดยุคของการออกถนนแล้ว” แต่ล่าสุดกลับสัญญาณพร้อมลงถนน โดยกล่าวเมื่อเดือน พ.ย. ว่า “ถ้าจำเป็นเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตก็จะทำ”
จตุพร อธิบายว่า บุคคลอื่นเป็นเรื่องปัจเจก ไม่เกี่ยวกับอำนาจ ใครพูดอะไรไว้ก็ต้องชี้แจงไป แต่เรื่องใหญ่สุดคือการให้คำมั่นสัญญากับประชาชนอันเป็นเหตุให้เขาเลือก เอาสิ่งที่คุณหลอกจนได้เสียงเขามาไปทำในทางตรงข้าม ถามว่าถ้าไม่ประกาศแบบนั้น ลองประกาศว่าจะทำแบบที่ทำอยู่ตอนนี้ คนจะเลือกคุณหรือ
“เราเคยมีมาตรฐานกับสุจินดาอย่างไร เราจะมีข้อยกเว้นกับอุ๊งอิ๊งได้อย่างไร” จตุพร กล่าว
ท้ายที่สุดเมื่อถาม จตุพร-ณัฐวุฒิ ว่ามีอะไรฝากถึงอีกคนหรือไม่ คำตอบของทั้งคู่ตรงกันว่า “ไม่มี” และพวกเขาไม่ได้คุยกันนานแล้ว
จตุพร บอกว่า ท้ายที่สุดมันเป็นทางเลือกใครทางเลือกมัน ไม่มีปัญหา ก็ไปตามสิ่งที่ตัวเองเลือก
ณัฐวุฒิ ไม่ขอพูดถึงเกลอร่วมรบเก่า แต่บอกเพียงว่าตัวเขา “ไม่ได้แอบขึ้นรถ” ตอนจะกลับมาช่วยงาน หลายคนบอกให้ช่วยอยู่ข้างหลัง เพราะถ้าเปิดตัว จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีคณะทัวร์สารพัด แต่ก็พร้อมรับ และคิดว่าต้องบอกกล่าวกับประชาชน
ที่มา BBC.co.uk