ตร.บุกจับเพจหลอกรับจำนำรถยนต์ไปขายประเทศเพื่อนบ้าน เครือข่าย ‘อาร์ม กำแพงแสน’ พบทำมา 2 ปี รถหมุนเวียนกว่า 100 คัน มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท พบรถหรู-กระบะเป็นชนิดรถที่ถูกขโมยไปขายมากสุด
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า วันที่ 17 มกราคม 2568 เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ต.คงกฤช เลิศสิทธิกุล ผบก.ทล. พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.ภคพล สุชล ผกก.2 บก.ทล. พ.ต.ท.กฤตย์ ธีรเวศย์สุวรรณ รอง ผกก.2 บก.ทล. พ.ต.ต.กล้า สมบัติพิบูลย์ สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการ Freeway Grey Market ทลายขบวนการเปิดเพจหลอกรับจำนำรถส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน
จากปฏิบัติการดังกล่าวสามารถจับกุม นายอมรเทพ มนัสตรง อายุ 31 ปี นายทุนใหญ่ นายสนทยา ชนะหาร อายุ 42 ปี หัวหน้าทีมขนรถ นายธีรชัย ขวัญชัย อายุ 39 ปี นายณรงค์ ศรีนาวา อายุ 33 ปี ทำหน้าที่ขนรถ นายประจักษ์ อานามนารถ อายุ 38 ปี นายเมธี นาคเกตุอุ่น อายุ 27 ปี นายหน้าหลอกรับจำนำรถ และ น.ส.วิยดา จุลนันท์ อายุ 25 ปี เจ้าของบัญชีธนาคารรับโอนเงิน พร้อมของกลาง รถยนต์ 25 คัน ในจำนวนนี้มีรถหรูอยู่ด้วยจำนวน 5 คัน
@ทำมา 2 ปี ซื้อขายไป 100 คัน มูลค่า 100 ล้านบาท
พล.ต.ต.คงกฤช กล่าวว่า สำหรับเครือข่ายดังกล่าว ทราบว่าทำมานานกว่า 2 ปี มีการซื้อขายรถมากกว่า 100 คัน มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ทั้งยังพบความเชื่อมโยงกับนายทุนฝั่งประเทศเพื่อนบ้านที่เชื่อว่าน่าจะเป็นกลุ่มแก๊งจีนเทา สำหรับที่ไปที่มาของคดีนี้เริ่มจากเคสร้องเรียนผ่านสายด่วน จึงขยายผลสืบสวนจนทราบตัวกลุ่มแก๊งทั้งขบวนการ และถือเป็นการตามจับกุมผู้กระทำผิดได้แบบยกแก๊ง โดยใช้เวลาในการสืบสวนประมาณ 1 เดือน ทั้งนี้เมื่อจำแนกแยกย่อยจะพบว่าเครือข่ายดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลั่มคนทำหน้าที่เปิดเพจหลอกลวงรับจำนำรถตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มนักบิน หรือ คนรับส่งรถ และ กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ส่งออกรถข้ามแดนไปขายประเทศเพื่อนบ้าน
พ.ต.อ.ภคพล กล่าวว่า จุดเริ่มต้นคดีนี้เริ่มจากจุดเล็กๆ จากการที่มีผู้เสียหายรายหนึ่งนำรถไปจำนำกับเพจเฟซบุ๊กหนึ่งเมื่อวันที่ 26 พ.ย. เป็นเงินจำนวน 8 หมื่นบาท ก่อนจะนัดหมายส่งมอบรถกัน ซึ่งในวันที่ส่งมอบรถผู้เสียหายเองจะได้รับเงินที่กู้มาเพียงแค่ 71,000 บาทเพียงเท่านั้น ส่วนอีก 9,000 บาท ทางเพจอ้างว่าต้องหักไว้เป็นค่าจอดรถ กระทั่งต่อมาวันที่ 7 ธ.ค. ผู้เสียหายนำเงินไปไถ่รถกลับคืนจนหมด แต่พอโอนเงินให้ฝั่งผู้ต้องหาแล้งกลับไม่ได้รถ จึงเชื่อว่าถูกหลอก นำเรื่องเข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.เมืองปทุมธานี พร้อมกับแจ้งร้องขอความข่วยเหลือผ่านสายด่วนตำรวจทางหลวง จนมีการประสานข้อมูลสืบสวนร่วมกัน
@พฤติการณ์เอารถข้ามชายแดนไปขายประเทศเพื่อนบ้าน
พ.ต.อ.ภคพล กล่าวต่อว่า แนวทางสืบสวนทราบว่า หลังผู้เสียหายส่งมอบรถให้กับกลุ่มคนร้ายแล้ว รถได้ถูกขับไปอยู่ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี มุ่งหน้าข้ามชายแดนไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้น เจ้าหน้าที่จึงเริ่มตรวจสอบเส้นทางการเงินบัญชีม้าที่คนร้ายใช้รับโอนเงิน พบว่าเป็นบัญชีธนาคารของ น.ส.วิยดา จึงเชิญตัวมาสอบปากคำจนทราบว่า เคยตกเป็นเหยื่อถูกหลอกเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากตอนที่ น.ส.วิยดา นำรถมาจำนำไม่มีเงินผ่อนดอก ทางเพจรับจำนำจึงให้น.ส.วิยดา เปิดบัญชีธนาคารให้ จากนั้นจึงขยายผลแกะรอยจากเส้นทางการเงินของบัญชีม้าดังกล่าวต่อเนื่องจนกระทั่งทราบตัวกลุ่มคนที่ทำหน้าที่เปิดเพจหลอกรับจำนำรถ หรือ นายหน้า คือ นายประจักษ์ และ นายเมธี ก่อนขยายผลต่อเนื่องไปยังกลุ่มคนที่ทำหน้าที่เป็นนักบินขนรถ อีก 3 คน ก็คือ นายสนทยา นายธีรชัย และ นายณรงค์ ที่หนีไปกบดานซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ จ.ราชบุรี
“ในขณะเข้าจับกุม กลุ่มผู้ต้องหาที่ทำหน้าที่เป็นนักบินขนรถ ทราบว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีพฤติกรรมพกพาอาวุธปืนติดตัวตลอดเวลา จึงต้องดำเนินการวางแผนเข้าจับกุมด้วยความรอบครอบป้องกันการสูญเสีย จนสามารถจับกุมตัวได้โดยละม่อม จากนั้นจึงนำตัวไปขยายผลต่อเนื่อง ทำให้ทราบตัวละครสำคัญ คือ นายอมรเทพ หรือ อาร์ม กำแพงแสน นายทุนใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลัง จนนำมาสู่การตามจับกุมผู้ต้องหาทั้งขบวนการได้ดังกล่าว รวมถึงสามารถตรวจยึดรถของกลางได้จำนวน 25 คัน” พ.ต.อ.ภคพล กล่าว
พ.ต.อ.ภคพล กล่าวอีกด้วยว่า ปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพหลอกรับจำนำรถเชิดขายประเทศเพื่อนบ้านตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆค่อนข้างมีมาก หลังจากนี้จะขยายผลทุกมิติ ดำเนินคดีกับทุกกลุ่ม เชื่อว่ายังสามารถขยายผลต่อได้ และจะขยายผลไปยังเพจอื่นด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล
@รถหรู-กระบะ ยอดนิยมขโมยไปขายประเทศเพื่อนบ้าน
ด้าน พ.ต.อ.บุญลือ กล่าวว่า สาเหตุที่รถส่วนใหญ่จะถูกส่งไปขายประเทศเพื่อนบ้านนั้น เพราะว่าฝั่งประเทศเพื่อนบ้านรถดีๆค่อนข้างหายาก ซึ่งรถที่ถูกส่งไปขายฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน จะมีอยู่ 2 ประเภท อย่างแรกคือรถหรู กลุ่มเป้าหมายที่รับซื้อจะเป็นคนมีฐานะ หรือ กลุ่มแก๊งจีนเทา ส่วนประเภทที่สอง จะเป็นรถใช้งาน จำพวกรถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ ส่วนวิธีการนำรถผ่านข้ามแดน มีหลายรูปแบบ แต่หลักๆจะเป็นการส่งข้ามผ่านช่องทางธรรมชาติ กับ ขับผ่านด่านข้ามแดนเจดีย์สามองค์ปกติ แต่อาศัยการปลอมแปลงเอกสารตบตาเลี่ยงถูกตรวจสอบ
“ส่วนใหญ่ช่องทางที่กลุ่มคนร้ายพารถข้ามชายแดน ก็จะเป็นข่องทางเดิม ซึ่งหากถามว่าจะมีเข้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ เราเองก็ไม่ได้ทิ้งข้อสงสัยนี้ ก็ควต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งหากพบว่ามีจริง ก็จะเร่งส่งเรื่องให้กับทางตำรวจ บก.ปปป. ดำเนินการต่อในทันที”
พ.ต.อ.บุญลือ กล่าวอีกว่า ส่วนการที่ปัญหาดังกล่าวไม่ลดจำนวนลงทั้งที่ผ่านมามีการปราบปรามจับกุมมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องข้อกฎหมายบางอย่าง ในส่วนนี้ก็คงต้องมาคุยกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหารือถึงแนวทางแก้ปัญหา ต้องอาศัยความร่วมมือหลายๆอย่าง
ด้าน พ.ต.ต.กล้า กล่าวว่า สำหรับกลุ่มมิจฉาชีพเปิดเพจหลอกรับจำนำรถมีด้วยกัน 2 แบบ แบบแรก คือ เปิดเพจเพื่อเจตนาที่จะโจรกรรมรถไปขายต่อ โดยอ้างเหตุรับจำนำรถขึ้นมา เพราะหลังจากที่ได้รับรถจากผู้เสียหายมาแล้วพบว่ามีการส่งขายต่อทันทีโดยที่ผู้เสียหายยังไม่มันรู้ตัว พอถึงเวลาไถ่ถอนขอรถคืนก็จะอ้างบ่ายเบี่ยงไปเรื่อยเช่นกรณีที่จับกุมครั้งนี้ ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ การเปืดเพจรับจำนำแต่ตั้งดอกเบี้ยให้สูงไว้ เพื่อให้ลูกหนี้ไม่สามารถส่งดอกเบี้ยไหว จากนั้นก็จะยึดรถแล้วนำไปขายต่อ
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )