ตัวแทนจำหน่าย OPPO กับ realme ยอมรับติดตั้งแอปฯ เงินกู้มาจากโรงงาน แล้วมันน่ากลัวอย่างไร ?

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/คุณลุงไอที

คำบรรยายภาพ, มีผู้ร้องเรียนว่าเป็นเหยื่อจากแอปพลิเคชัน “สินเชื่อแห่งความสุข” ราว 100 ราย จากข้อมูลสภาองค์กรของผู้บริโภค

ราว 7 เดือนที่แล้วผู้ใช้งานรายหนึ่งในเว็บบอร์ดเรดดิท (Reddit) ให้ความเห็นว่า “ฉันเห็นแอปฯ นี้ในโทรศัพท์แม่ของฉัน ดังนั้น ฉันจึงต้องการกำจัดมันออกไป เพราะแม่อาจเผลอกดยืมเงินจากแอปฯ นี้ขึ้นมาก็ได้” ในโพสต์ที่สอบถามว่าจะลบแอปพลิเคชันฟินอีซี (Fineasy) ออกจากโทรศัพท์ยี่ห้อออปโป้ (OPPO) ได้อย่างไร

คำแนะนำหลังจากนั้นพบว่าพวกเขาไม่สามารถกำจัดแอปพลิเคชันที่มาพร้อมกับการอัปเดตระบบปฏิบัติการของเครื่อง แต่สามารถตั้งค่าไม่ใช้งานแอปฯ ดังกล่าวได้เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้งานอีกรายหนึ่งโพสต์เตือนในเว็บไซต์ OPPO Community เมื่อต้นปีที่แล้วว่าแอปฯ Fineasy สามารถคัดลอกการ์ดแบบ NFC (Shut to Discipline Dialog) ได้ ซึ่งเป็นระบบที่พบในระบบชำระเงิน บัตรผ่านประตูต่าง ๆ ฯลฯ

“ผมได้รายงานปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ไปยังผู้เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับที่ชัดเจน” ผู้ใช้งานดังกล่าวเขียนเตือนให้ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ตั้งค่าไม่ใช้งานแอปฯ ดังกล่าวเพื่อความปลอดภัย

สำหรับประเทศไทย กระแสความกังวลเกี่ยวกับแอปฯ ให้กู้เงินดังกล่าวเพิ่งเริ่มต้นขึ้นได้เพียงไม่กี่วันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “คุณลุงไอที” ออกมาตั้งคำถามในทำนองเดียวกัน แต่มากกว่านั้นคือ มีอีกแอปพลิเคชันหนึ่งพ่วงเข้ามาด้วย นั่นคือ “สินเชื่อแห่งความสุข” โดยพบการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าวในโทรศัพท์บางรุ่นของออปโป้ (OPPO) และเรียลมี (realme)

Skip เรื่องแนะนำ and continue learningเรื่องแนะนำ

End of เรื่องแนะนำ

ทั้งสองแอปพลิเคชันมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการของเครื่องในลักษณะติดตั้งไว้ล่วงหน้า (Pre-installed software program) ซึ่งหมายถึงเป็นแอปฯ ที่ติดตั้งในโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ก่อนที่จะขายให้กับลูกค้า โดยไม่จำเป็นต้องไปโหลดจากแอปสโตร์แยกต่างหาก ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้วมันคือซอฟต์แวร์ที่ถูกบรรจุมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์ตั้งแต่แรกนั่นเอง

Fineasy และ สินเชื่อแห่งความสุข เข้าถึงข้อมูลใดในโทรศัพท์ได้บ้าง

จากการสืบค้นข้อมูลโดยบล็อกนัน (Blognone) พบว่าทั้งสองแอปพลิเคชันมีที่มาแตกต่างกัน โดยทาง Fineasy มีดีลข้ามชาติกับออปโป้ในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น จึงไม่แปลกใจที่พบข้อกังวลเกี่ยวกับแอปฯ นี้ในเว็บบอร์ดภาษาอื่น ๆ ในช่วงราว 2 ปีที่ผ่านมา

เจ้าของแอปฯ Fineasy คือ บริษัท Wealth Hope Pte. มีผู้ถือหุ้นเพียงรายเดียว ชื่อว่า Shenzhen Yufei Expertise Corp. ซึ่งจดทะเบียนในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน แต่บล็อกนันตั้งข้อสังเกตว่าแทบไม่มีข้อมูลบริษัทที่ปรากฏในการสืบค้นผ่านอินเทอร์เน็ตเลย และพบอีเมลฝ่ายสนับสนุนที่ลงท้ายด้วยอีเมลแอดเดรสของออปโป้ จึงเกิดข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้วแอปฯ ดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับออปโป้อย่างไร

ส่วนแอปฯ ชื่อว่า “สินเชื่อแห่งความสุข” นั้น ทางบล็อกนันตั้งข้อสังเกตว่า เป็นแอปฯ สินเชื่อที่เจาะตลาดคนไทยโดยเฉพาะหากดูจากชื่อของแอปฯ นอกจากนี้ยังพบว่ามีที่อยู่ติดต่อในประเทศไทยด้วย แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นที่อยู่จริงหรือไม่

สินเชื่อแห่งความสุขให้บริการกู้เงินเช่นเดียวกันกับ Fineasy แต่แอปฯ ทั้ง 2 เจ้าไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะแอปพลิเคชันสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลหรือที่เรียกกันในชื่อว่า “แอปฯ เงินกู้”

แอปฯ สินเชื่อแห่งความสุขสามารถเข้าถึงตำแหน่งผู้ใช้งาน ปฏิทิน กล้องถ่ายรูป และรายชื่อผู้ติดต่อได้ ขณะที่ Fineasy เข้าถึงข้อมูลลักษณะเดียวกัน แต่มีหลายฟังก์ชันเพิ่มเติม เช่น ควบคุม NFC เป็นต้น

ที่มาของภาพ, Google playstore

คำบรรยายภาพ, แอปพลิเคชัน Fineasy ยังมีให้ดาวน์โหลดในเพลย์สโตร์ของกูเกิลอยู่

แล้วมันน่ากังวลอย่างไร ?

สถาบันธนาคารไทยระบุว่าในปี 2566 คนไทยราว 19.8% เป็นหนี้นอกระบบ และแอปฯ เงินกู้เถื่อนคือหนึ่งในสาเหตุที่ซ้ำเติมปัญหานี้ เนื่องจากมักล่อลวงให้เหยื่อดาวน์โหลดแอปฯ นอกแอปสโตร์ของแอปเปิลหรือเพลย์สโตร์ของแอนดรอยด์ จากนั้นให้กู้เงินโดยใช้เพียงแค่เบอร์โทรศัพท์และบัตรประชาชน

ต่อมาพบว่าบางแอปฯ ให้เงินจริง แต่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด บ้างขยายเวลาเงินกู้เพื่อให้เหยื่อจ่ายหนี้นาน ๆ หรือแสร้งทำเป็นว่าระบบมีปัญหาเมื่อเหยื่อต้องการปิดยอดหนี้

สิ่งที่สร้างปัญหามากที่สุดคือ แอปฯ เงินกู้เถื่อนมักแอบเก็บข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ บัตรประชาชน และอาจเข้าถึงรายชื่อผู้ติดต่อของเหยื่อ จากนั้นโทรหรือส่งข้อความไปหาผู้ติดต่อตามรายชื่อในโทรศัพท์ เพื่อประจานเหยื่อให้เสียหาย รวมถึงข่มขู่ คุกคาม หากทวงเงินจากเหยื่อไม่ได้

ประสบการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับผู้ใช้รายหนึ่งในเว็บบอร์ดพันทิปของไทย บอกว่าได้ลองกู้เงินจากแอปฯ สินเชื่อแห่งความสุขจำนวน 2,000 บาท ต้องใช้คืน 2,014 บาท ภายใน 7 วัน แต่พอจะกดจ่ายคืนเงิน สรุปยอดปิดหนี้อยู่ที่ 2,614.75 บาท

“รู้สึกไม่ถูกต้องเลยไม่ได้จ่ายคืน ปล่อยให้เลยกำหนดไป หลังจากนั้นก็โทรขู่เรื่องกฏหมายนั่นนี่ และโทรไปยังบุคคลที่ 3 ที่มีรายชื่อในโทรศัพท์บางคน อยากสอบถามว่ากรณีแบบนี้ทางออกคือยังไงคะ” ผู้ใช้รายนี้ตั้งกระทู้ถามเมื่อปี 2565

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค ยังชี้ให้เห็นว่าการเข้าถึงกล้องและไฟล์ภาพวิดีโอของแอปฯ ยังสุ่มเสี่ยงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลเกินขอบเขต เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าบางครั้งแอปฯ ปล่อยเงินกู้ได้คัดลอกภาพและวิดีโอส่วนบุคคลภายในเครื่องเพื่อใช้ข่มขู่หรือประจานเหยื่อให้จ่ายหนี้

ล่าสุดมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับแอปฯ เงินกู้เถื่อนมายังสภาองค์กรของผู้บริโภคประมาณ 1,800 ราย มูลค่าความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียหายจากแอปฯ สินเชื่อแห่งความสุขประมาณ 100 ราย และแอปฯ Fineasy ประมาณ 40 ราย ซึ่งนายภัทรกรคาดว่าเรื่องร้องเรียนจะเข้ามาเพิ่มมากขึ้นจากความตื่นตัวของผู้บริโภค

เขายังบอกด้วยว่าการเข้าถึงกล้องซึ่งเก็บข้อมูลสแกนใบหน้าบุคคล รวมถึงบัตรประชาชนของผู้กู้เงิน อาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพนำไปใช้เปิดบัญชีธนาคารในลักษณะบัญชีม้าได้ด้วย เนื่องจากจนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้ใดทราบเลยว่าเจ้าของที่แท้จริงของแอปฯ ทั้งสองคือใคร

ทางออปโป้และเรียลมี ซึ่งเป็นบริษัทมือถือสัญชาติจีนออกแถลงการณ์ไล่เรี่ยกันเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ระบุว่า ทางบริษัทให้ความสำคัญอย่างสูงกับความปลอดภัยด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานและประสบการณ์การใช้งาน และกำลังตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด

ทั้งนี้ ทางแอปฯ Fineasy ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินออกแล้ว คงไว้เฉพาะบริการเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเท่านั้น หากผู้ใช้งานต้องการลบแอปพลิเคชันดังกล่าวทันที ให้ติดต่อกับศูนย์บริการทั่วประเทศ

ทั้งสองบริษัทยังบอกด้วยว่าได้หยุดติดตั้งแอปพลิเคชันสินเชื่อทุกประเภทในสมาร์ทโฟนรุ่นต่อไป และหยุดการแสดงผลแอปพลิเคชันสินเชื่อเป็นแอปฯ แนะนำใน APP Market ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดาวน์โหลดและจัดการแอปพลิเคชันเฉพาะมือถือทั้งสองยี่ห้อ

OPPO กับ realme อาจเข้าข่ายผิดเรื่องอะไรบ้าง

นายภัทรกรบอกว่าโดยปกติแล้วแอปฯ เงินกู้เถื่อนมักอยู่นอกแอปสโตร์หรือเพลย์สโตร์ หรือหากอยู่ในแพลตฟอร์มดังกล่าวก็ถือได้ว่า ผู้กู้เงินยินยอมดาวน์โหลดด้วยตนเอง แต่สำหรับ Fineasy และ สินเชื่อแห่งความสุข นั้น ถูกติดตั้งมาพร้อมกับโทรศัพท์

“มันจึงทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่าผู้ผลิตมีการคัดกรองแล้ว” เขาบอก “ถ้าบริษัทลงแอปฯ ไป 1 ล้านเครื่อง นั่นหมายความว่าเขา [หมายถึงแอปฯ ดังกล่าว] สามารถหาลูกค้าได้ 1 ล้านคน แต่คนที่อยากใช้บริการจริง ๆ อาจมีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ และถึงมีเพียง 1-5% ก็ถือว่าเยอะมาก มีผู้เสียหายจำนวนมาก”

ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคจึงมองว่าผู้ผลิตและจำหน่ายมือถือทั้ง 2 ยี่ห้อ ไม่มีความโปร่งใสกับผู้บริโภค พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าผู้ประกอบธุรกิจ “อาจมีผลประโยชน์ร่วมกับ third party [หมายถึงเจ้าของแอปฯ] หรือเปล่า”

รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคฯ ยังเห็นว่ากรณีนี้อาจเข้าข่ายปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงสัญญาเงินกู้ตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ควรเข้ามาตรวจสอบว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกแอปฯ เก็บไปนั้น รั่วไหลออกไปยังกลุ่มมิจฉาชีพหรือไม่

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสืบหาให้ได้ว่า กรณีที่ผู้มีแอปฯ อยู่ในเครื่องถูกส่งข้อความชวนเล่นพนันออนไลน์และกู้เงินผ่านแอปฯ นั้น ใครเป็นคนทำ” นายภัทรกร กล่าว

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

ตัวแทนจัดจำหน่าย OPPO กับ realme ยอมรับกับ กสทช. ว่าติดตั้งแอปฯ มากับตัวเครื่องจริง

สื่อต่าง ๆ รายงานว่าเมื่อวันที่ 13 ม.ค. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญบริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อออปโป้ และบริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อเรียลมี มาสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการติดตั้งแอปพลิเคชันกู้เงินในเครื่องโทรศัพท์มือถือ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เข้าร่วมรับฟังด้วย

จากการรายงานของไทยพีบีเอส ระบุว่าในเบื้องต้นทั้งสองบริษัทฯ ยอมรับว่ามีการติดตั้งแอปฯ มากับตัวเครื่องตั้งแต่ออกจากโรงงาน โดยผู้บริหารของ บ.โพสเฟซี่ กรุ๊ป อ้างว่าเพื่ออำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมทางการเงินให้กับผู้บริโภค แต่ไม่ได้ขออนุญาตกับ ธปท. โดยบอกว่าทางบริษัทจะตรวจสอบเรื่องนี้อีกครั้ง

ฐานเศรษฐกิจรายงานว่าภายในวันที่ 16 ม.ค. ทั้ง บ.โพสเซฟี่ กรุ๊ป และ บ.โปรทา ต้องสรุปข้อมูลมาให้ สคส. ว่าใครเป็นเจ้าของแอปพลิเคชันดังกล่าวและมีการแต่งตั้งตัวแทนสำหรับการรับผิดชอบข้อมูลส่วนบุคคลตามที่กฎหมายระบุหรือไม่ หากพบการกระทำผิดจะต้องได้รับโทษทางแพ่งและอาญาในอัตราปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทั้งสองบริษัทบอกว่าจะไปสอบถามเจ้าของผู้ผลิตมือถืออีกที เนื่องจากตนเองเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น

ทั้งสองบริษัทขอเวลา 1 เดือนในการส่งลิงก์ให้ประชาชนลบแอปฯ ที่มีอยู่แล้ว แต่ทาง สคส. เห็นว่าช้าเกินไป และให้ทั้งสองบริษัทมาชี้แจงใหม่ในวันที่ 16 ม.ค. นี้

ทว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้มีมาตรการเร่งด่วนที่ระบุว่ามือถือของ OPPO และ realme ที่วางขายอยู่ในร้านค้าและกำลังจะวางขายในอนาคต ต้องไม่มีแอปพิเคชันเงินกู้ดังกล่าวอยู่ในเครื่องอีกต่อไป