‘ปตท.’ ตั้งกรรมการสอบหาคนผิด พยายามหลอกขายหุ้นเพิ่มทุน STARK มูลค่า 6,000 ล้าน ตั้งแต่ ต.ค.64 แต่ ‘บอร์ด’ พบ ‘พิรุธ-ปกปิดข้อมูล’ เลยตีตก สั่ง ‘ถอนวาระ’ ก่อนบริษัทเจ๊ง เพราะการทุจริต
…………………………………..
แหล่งข่าวระดับสูงในบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน ) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา . ว่า ในช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารของ ปตท. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีที่ผู้บริหารและอดีตผู้บริหารกลุ่มหนึ่งใน ปตท. ได้เสนอให้คณะกรรมการ ปตท. ซื้อหรือลงทุนในหุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK มูลค่า 6,000 ล้านบาท เมื่อเดือน ต.ค.2564
ทั้งนี้ แม้ในท้ายที่สุดคณะกรรมการ ปตท. จะไม่อนุมัติและให้ถอนวาระการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวออกไปก่อน เพราะพบพิรุธในการนำเสนอข้อมูลหรือมีการปกปิดข้อมูลต่อคณะกรรมการ ปตท. อย่างไรก็ดี แต่เนื่องจากการดำเนินการเพื่อเสนอให้มีซื้อหุ้น Stark หรือที่เรียกว่า Stark Project นั้น ได้สร้างความเสียหายให้แก่ ปตท.แล้ว โดยเฉพาะการจัดจ้างที่ปรึกษาทางด้านการเงินเป็นเงินนับสิบล้านบาท
“ในช่วงกลางปี 2566 ปรากฏข่าวการทุจริตในบริษัท STARK และมีการดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัท STARK ทาง ปตท. จึงเห็นว่าการพยายามเสนอขายหุ้น STARK ให้แก่ ปตท. ดังกล่าว น่าจะเป็นความพยายามในการฉ้อโกงของบุคคลกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น ถ้า ปตท. ซื้อหุ้น STARK ตามที่มีความพยายามเสนอขาย คงสร้างความเสียหายให้กับ ปตท. อย่างมาก ผู้บริหาร ปตท. ชุดต่อมา จึงแต่งตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนดังกล่าว” แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในครั้งนี้ ได้ดึงบุคคลภายนอกทั้งตำรวจอัยการเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส หากผลสอบออกมาว่า มีมูลความผิด จะมีการตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาสอบสวนทางวินัย และหากเข้าข่ายความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานองค์การของรัฐก็จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนด้วย
สำหรับ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 9 มิ.ย.2563 ในหมวดธุรกิจ อุตสาหกรรมการผลิต (Industrials) ประกอบธุรกิจผลิตสายไฟฟ้า มีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ต่อมาในปี 2564 บริษัท STARK มีความพยายามจะเพิ่มทุน โดยคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นการพยายามเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงให้กับ ปตท. แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ในเดือน ต.ค.2564 บริษัท STARK ได้ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,500,000,000 หุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (Non-public Placement) รวม 12 ราย ในราคาหุ้นละ 3.72 บาท โดย บลจ.บัวหลวง ได้รับการจัดสรร 182,000,000 หุ้น ส่วนที่เหลือจัดสรรให้ 12 ราย ได้แก่ บล.เกียรตินาคินภัทร ,บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ,บลจ.วรรณ ,บลจ.เอ็มเอฟซี ,บลจ.ไทยพาณิชย์
บลจ.กสิกรไทย ,บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) ,บลจ.ทิสโก้ ,บลจ.กรุงไทย, บลจ.เอไอเอ และบลจ.แมนูไลฟ์ ได้รับจัดสรรรายละ 53,763,000 หุ้น ซึ่งปรากฏว่า ผู้ได้รับการจัดสรรหุ้นทั้งหมดได้รับความเสียหาย หลังจากมีการทุจริตภายในบริษัท STARK
ต่อมาในปี 2566 STARK ประสบปัญหาทางการเงิน โดยงบการเงินประจำปี 2565 แสดงผลขาดทุนสุทธิ 6,651ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 4,403 ล้านบาท จนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่ามีการทุจริต ภายในบริษัทของผู้บริหาร จึงกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และมีการดำเนินคดีกับผู้บริหารหลายข้อหา ดังนี้
1.ตกแต่งงบการเงินและเปิดเผยข้อมูลเท็จ โดย ก.ล.ต.กล่าวโทษบุคคลรวม 10 รายต่อดีเอสไอ กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564-2565 เพื่อลวงบุคคลใดๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง
2.เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับฐานะการเงิน ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำผิด 5 ราย กรณีเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของ STARK
3.ฉ้อโกงประชาชน ผู้บริหารบางรายถูกตั้งข้อกล่าวหาฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินคดีในข้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ
ต่อมาในวันที่ 3 ก.ย.2567 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เพิกถอนหลักทรัพย์ของ STARK จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )