“ตั้งท้อง 15 เดือน” เปิดโปงขบวนการหลอกคุณแม่มีลูกยากในไนจีเรีย
Article files
- Author, เยมิซี อเดโกเค, ชิอาโกซี นูวอนวู, ลีนา ไชคูนี
- Role, บีบีซีเวิลด์เซอร์วิส
ชิโอมายืนกรานว่าเด็กชาย “โฮป” ทารกที่เธอกำลังประคองกอดอยู่ในอ้อมแขนคือลูกชายของเธอ หลังจากล้มเหลวจากความพยายามจะตั้งครรภ์ก่อนหน้านี้มาเป็นเวลา 8 ปี เธอมองเด็กน้อยผู้นี้่ว่าเป็นทารกน้อยมหัศจรรย์ของเธอ
“ฉันเป็นเจ้าของเด็กคนนี้” เธอกล่าวอย่างดึงดัน
ชิโอมา นั่งอยู่ถัดจาก อิเค ผู้เป็นสามี ในสำนักงานของเจ้าหน้าที่ไนจีเรีย ซึ่งใช้เวลาเกือบชั่วโมงไปกับการสอบปากคำสองสามีภรรยาคู่นี้
ในฐานะกรรมาธิการกิจการสตรีและสวัสดิการสังคมในรัฐอานัมบรา อิฟี โอบินาโบ มีประสบการณ์มากมายในการแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับครอบครัว แต่กรณีนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วไป
สมาชิกจำนวน 5 คนของครอบครัวอิเค ซึ่งแสดงตัวอยู่ในห้องดังกล่าว ไม่เชื่อว่าเด็กชายโฮปเป็นลูกชายแท้ ๆ ทางสายเลือดของสองสามีภรรยา
Skip เรื่องแนะนำ and proceed studyingเรื่องแนะนำ
Discontinue of เรื่องแนะนำ
ชิโอมาอ้างว่าเธอได้ “อุ้มท้อง” เด็กชายมาเป็นเวลา 15 เดือน แต่อิฟี โอบินาโบ และครอบครัวของอิเค ไม่เชื่อคำกล่าวอ้างนี้แต่อย่างใด
ชิโอมาบอกว่า เธอเผชิญกับแรงกดดันจากครอบครัวของอิเคให้ตั้งครรภ์ ครอบครัวนี้ถึงขนาดบอกให้สามีของเธอไปแต่งงานกับผู้หญิงคนใหม่
ด้วยความสิ้นหวังไร้หนทาง เธอเดินทางไปที่ “คลินิก” ที่อ้างว่า “รักษา” ด้วยวิธีที่ไม่ใช่แบบแผนปกติทั่วไป และมันคือการหลอกลวงอันแปลกประหลาดและน่ากังวลที่หาเหยื่อเป็นผู้หญิงที่ต้องการจะเป็นแม่ และนี่ยังพัวพันกับการค้าเด็กด้วย
บีบีซีได้เปลี่ยนชื่อของชิโอมา, อิเค และบุคคลอื่น ๆ ในบทความนี้เพื่อปกป้องพวกเขาจากการถูกตามล้างแค้นในชุมชน
‘การรักษาที่มหัศจรรย์’
ไนจีเรียมีอัตราการเกิดของประชากรสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยผู้หญิงมักเผชิญกับแรงกดดันทางสังคมให้มีลูก และบางครั้งต้องเผชิญกับการถูกกีดกันหรือถูกทำร้ายหากไม่สามารถมีลูกได้
ภายใต้แรงกดดันนี้ ผู้หญิงบางคนจึงลงมือทำสิ่งที่สุดโต่งเพื่อให้ได้มีลูกตามความฝันของตัวเอง
ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ทีมข่าวบีบีซีแอฟริกาอาย (BBC Africa Peek) ได้สืบสวนเกี่ยวกับการหลอกลวง “การตั้งครรภ์อันลึกลับ”
มิจฉาชีพหรือกลุ่มสแกมเมอร์ที่แอบอ้างตัวเป็นหมอหรือพยาบาลจะโน้มน้าวผู้หญิงให้เชื่อว่ามี “การรักษาภาวะเจริญพันธุ์อันมหัศจรรย์” ที่รับรองว่าจะทำให้พวกเธอตั้งครรภ์ “การรักษา” ในระยะแรกมักมีค่าใช้จ่ายหลายร้อยดอลลาร์ ซึ่งประกอบด้วยการฉีดยา การดื่มเครื่องดื่ม หรือการสอดสารบางอย่างใส่เข้าไปในช่องคลอด
ไม่มีผู้หญิงหรือเจ้าหน้าที่ที่เราพูดคุยด้วยในการสืบสวนนี้สามารถบอกได้แน่ชัดว่าสารที่ใช้ในยาเหล่านั้นคืออะไร แต่บางคนบอกว่ายาเหล่านี้ทำให้ร่างกายของพวกเธอเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ท้องบวม ซึ่งยิ่งทำให้พวกเธอเชื่อว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่
ผู้หญิงที่ได้รับ “การรักษา” จะได้รับคำเตือนว่าอย่าไปพบหมอหรือโรงพยาบาลทั่วไป เพราะไม่มีการตรวจหรือการทดสอบการตั้งครรภ์ใด ๆ ที่สามารถตรวจพบ “ทารก” ที่ผู้หลอกลวงอ้างว่าเติบโตอยู่นอกมดลูกได้
และเมื่อถึงเวลาที่จะ “คลอด” ผู้หญิงเหล่านี้จะถูกบอกว่าการคลอดจะเริ่มขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นด้วย “ยาที่หายากและมีราคาแพง” ซึ่งต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก
เรื่องราวเกี่ยวกับวิธี “การคลอด” นั้นแตกต่างกันไปในผู้หญิงแต่ละราย แต่ทุกกรณีเป็นเรื่องที่น่าตกใจยิ่ง บางคนถูกทำให้หลับไปแล้วตื่นขึ้นมาพร้อมกับรอยแผลเหมือนการผ่าคลอดบริเวณหน้าท้อง ส่วนคนอื่น ๆ บอกว่าพวกเธอถูกฉีดยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม และมีอาการหลอนจนทำให้พวกเธอเชื่อว่ากำลังคลอดลูกอยู่
ในที่สุด ผู้หญิงเหล่านี้ก็ได้ทารกที่พวกเธอเชื่อว่าได้คลอดออกมาแล้ว
ชิโอมาบอกกับกรรมาธิการกิจการสตรีฯ อิฟี โอบินาโบ ว่าเมื่อถึงเวลาที่เธอจะ “คลอด” คนที่อ้างว่าเป็นหมอได้ฉีดยาเข้าที่เอวของเธอและบอกให้เธอเบ่ง เธอไม่ได้บอกวิธีที่เธอได้ลูกชายที่ชื่อโฮปมา แต่บอกว่า “การคลอด” นั้น “เจ็บปวด”
ทีมของบีบีซีสามารถแทรกซึมเข้าไปในหนึ่งใน “คลินิกลับ” เหล่านี้ ด้วยการปลอมตัวเป็นคู่สามีภรรยาที่พยายามมีลูกมาเป็นเวลา 8 ปี เราได้ติดต่อกับผู้หญิงที่รู้จักกันในชื่อ “ดร.รูธ”
หญิงที่ใช้ชื่อว่า “ดร.รูธ” เปิดบริการคลินิกของเธอทุก ๆ วันเสาร์ที่สองของเดือนในโรงแรมที่มีสภาพทรุดโทรมแห่งหนึ่งในเมืองอิฮิอาลา รัฐอานัมบรา บริเวณด้านนอกห้อง มีผู้หญิงหลายคนอยู่ตรงทางเดินของโรงแรมเพื่อรอพบเธอ บางคนมีท้องที่ยื่นออกมาชัดเจน
บรรยากาศทั้งหมดเป็นไปด้วยดี ในบางช่วงมีเสียงการเฉลิมฉลองดังขึ้นในห้อง หลังจากที่ผู้หญิงคนหนึ่งได้รับข่าวดีว่าเธอตั้งครรภ์
เมื่อถึงคิวของนักข่าวที่ปลอมตัวเข้าไป “ดร.รูธ” พูดรับประกันว่าการรักษาของเธอจะได้ผล
เธอเสนอการฉีดยาให้ผู้หญิง โดยอ้างว่ายาจะช่วยให้คู่รักสามารถ “เลือก” เพศของลูกในอนาคตได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในการทางการแพทย์
หลังจากที่คู่สามีภรรยาที่เป็นนักข่าวปลอมตัวปฏิเสธการฉีดยา “ดร.รูธ” ได้ให้ถุงยาเม็ดที่บดเป็นผง พร้อมกับยาเม็ดที่จะต้องรับประทานที่บ้าน รวมถึงคำแนะนำเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการมีเพศสัมพันธ์
การรักษาครั้งแรกนี้มีค่าใช้จ่าย 350,000 ไนรา (ประมาณ 7,200 บาท)
นักข่าวที่ปลอมตัวเข้าไปไม่ได้รับประทานยาเหล่านั้นและไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำใด ๆ ของ “ดร.รูธ” นักข่าวคนนี้กลับไปพบเธออีกครั้งหลังจากผ่านไป 4 สัปดาห์
หลังจากที่ “ดร.รูธ” ใช้อุปกรณ์ที่ดูเหมือนเครื่องสแกนอัลตราซาวด์ตรวจที่ท้องของผู้สื่อข่าวของเรา เสียงที่คล้ายกับเสียงหัวใจเต้นก็ดังขึ้น และ “ดร.รูธ” ก็แสดงความยินดีว่าเธอตั้งท้อง
นักข่าวที่ปลอมตัวทั้งคู่ ต่างแสดงความดีใจ
หลังจากบอกข่าวดีแล้ว “ดร.รูธ” อธิบายว่าพวกเขาต้องจ่ายค่ายา “หายาก” และราคาแพงที่จำเป็นสำหรับการคลอดเด็ก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ระหว่าง 1.5 ถึง 2 ล้านไนรา (ประมาณ 35,000 บาท)
หากไม่มียานี้ การตั้งท้องอาจจะยืดยาวออกไปเกิน 9 เดือน “ดร.รูธ” อ้างโดยไม่ได้ยึดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ พร้อมบอกด้วยว่า “เด็กจะขาดสารอาหารและพวกเราจำเป็นต้องเริ่มทุกอย่างใหม่ทั้งหมด”
อย่างไรก็ตาม “ดร.รูธ” ยังไม่ได้ตอบข้อกล่าวหาที่ทางบีบีซีได้สอบถามไป
ข้อเท็จจริงว่าผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับคลินิกแห่งนี้เชื่อในคำกล่าวอ้างเหล่านี้มากน้อยแค่ไหนยังไม่มีความชัดเจน
แต่เบาะแสเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้พวกเธออาจตกเป็นเหยื่อของคำโกหกที่ไร้ยางอายเช่นนี้ บางส่วนพบได้ในกลุ่มสนทนาทางออนไลน์ ซึ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์อย่างแพร่หลาย
เครือข่ายข้อมูลปลอม
การตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว (cryptic being pregnant) ซึ่งผู้หญิงไม่ทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ โดยกว่าจะรู้ก็ไปถึงช่วงปลายของการตั้งครรภ์แล้ว ถือเป็นปรากฏการณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับ แต่ในการสืบสวนเรื่องนี้ บีบีซีพบข้อมูลเท็จที่แพร่หลายอยู่ในกลุ่มและเพจบนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ประเภทนี้
ผู้หญิงคนหนึ่งจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดบนเพจด้วยเนื้อหาเรื่อง “การตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว” อ้างว่าเธอตั้งครรภ์ “มาหลายปีแล้ว” และเรื่องราวเธอไม่สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์
ในกลุ่มปิดบนเฟซบุ๊กหลายกลุ่ม มีโพสต์หลายโพสต์ใช้คำศัพท์ทางศาสนาเพื่อยกย่อง “การรักษา” ปลอมว่าเป็น “ปาฏิหาริย์” สำหรับผู้ที่ไม่สามารถมีลูกได้
ข้อมูลเท็จเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างความเชื่อของผู้หญิงที่ถูกหลอกลวงกลุ่มนี้
สมาชิกในกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้มาจากไนจีเรียเพียงประเทศเดียว แต่ยังมาจากแอฟริกาใต้ ประเทศแถบแคริบเบียน และแม้แต่สหรัฐอเมริกา พวกเขายังถูกมิจฉาชีพใช้เป็นเหยื่อล่อผู้หญิงกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาติดกับด้วย
เมื่อมีคนแสดงความพร้อมที่จะเริ่มกระบวนการหลอกลวงเหยื่อ พวกเขาจะได้รับเชิญเข้าสู่กลุ่มวอตส์แอปป์ (WhatsApp) ที่ปลอดภัยกว่า ในกลุ่มดังกล่าว ผู้ดูแลกลุ่มจะแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับ “คลินิกที่ช่วยให้ตั้งครรภ์ได้” และขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง
‘ฉันยังคงสับสน’
เจ้าหน้าที่ทางการบอกกับเราว่า เพื่อที่จะบรรลุกระบวนการ “การรักษา” กลุ่มสแกมเมอร์จำเป็นต้องมีทารกแรกเกิด และเพื่อทำเช่นนั้น พวกเขาจึงมองหาผู้หญิงที่หมดหวังและเปราะบาง หลายคนเป็นผู้หญิงที่ยังสาวและตั้งครรภ์ในประเทศที่การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ในเดือน ก.พ. 2024 กระทรวงสาธารณสุขของรัฐอานัมบราได้บุกค้นสถานที่ที่ชิโอมา “คลอด” เด็กชายโฮป
บีบีซีได้รับฟุตเทจจากการบุกค้นสถานที่ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่สองอาคาร
อาคารหนึ่งมีห้องหลายห้องที่ภายในมีอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งชัดเจนว่าไว้ใช้กับลูกค้า ขณะที่ในอีกอาคารหนึ่ง มีผู้หญิงตั้งครรภ์หลายคนถูกขังไว้โดยที่ไม่ยินยอม บางคนอายุน้อยเพียง 17 ปี
บางคนบอกกับเราว่า พวกเธอถูกหลอกให้ไปที่นั่นโดยไม่รู้ว่าทารกของพวกเธอจะถูกขายให้กับลูกค้าของสแกมเมอร์
หญิงคนอื่น ๆ อย่างเช่น ยูจู (ไม่ใช่ชื่อจริงของเธอ) รู้สึกกลัวเกินกว่าจะบอกกับครอบครัวว่าตัวเองตั้งครรภ์และพยายามหาทางออกเอง เธอบอกว่าเธอได้รับข้อเสนอเป็นเงิน 800,000 ไนรา (ประมาณ 17,000 บาท) สำหรับทารกของเธอ
เมื่อถามว่าเธอเสียใจที่ตัดสินใจขายทารกของเธอหรือไม่ เธอตอบว่า “ฉันยังคงสับสน”
กรรมาธิการกิจการสตรีฯ โอบินาโบ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามของรัฐในการปราบปรามการหลอกลวงนี้ กล่าวว่า สแกมเมอร์จะใช้ประโยชน์จากผู้หญิงที่เปราะบาง เช่น ยูจู เพื่อหาเด็กทารกมาให้ลูกค้าของพวกเขา
ในตอนท้ายของการสอบปากคำที่ตึงเครียด โอบินาโบ กรรมาธิการกิจการสตรีฯ ของไนจีเรีย ขู่ว่าจะเอาเด็กชายโฮปออกจากมือของชิโอมา แต่ชิโอมาขอร้องให้พิจารณาคดีของเธอ โดยยืนยันว่าเธอเป็นเหยื่อและไม่รู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น
ในที่สุด กรรมมาธิการฯ รายนี้ก็ยอมรับคำอธิบายของเธอ
ตอนนี้ชิโอมาและอิเคสามารถเลี้ยงดูเด็กทารกของพวกเขาไว้ได้ หากพ่อแม่ที่แท้จริงไม่ได้มารับตัวไป
แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากทัศนคติต่อผู้หญิง ภาวะไม่มีบุตร สิทธิในการสืบพันธุ์ และการรับเลี้ยงบุตร ไม่เปลี่ยนไป การหลอกลวงเช่นนี้จะยังคงเติบโตต่อไป
ที่มา BBC.co.uk