ตาลีบันผุดนโยบายทันสมัย ขุดคลองต้านภัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

Article records

  • Author, ฟีรุซ ราฮีมี
  • Position, บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
  • Reporting from รายงานจากภาคเหนือของอัฟกานิสถาน

มันมีความกว้างถึง 100 เมตร และทอดตัวยาวไปจนจรดขอบฟ้า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในภาคเหนือของอัฟกานิสถาน ซึ่งดำเนินการบริหารโดยรัฐบาลตาลีบันนี้ ดูโดดเด่นสะดุดตาผู้คนจนยากที่จะแสร้งทำเป็นไม่เห็นได้

วัตถุประสงค์หนึ่งของโครงการก่อสร้างดังกล่าว นับว่าไม่ธรรมดาอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มติดอาวุธที่กลับมาขึ้นครองอำนาจในปี 2021 เพราะมันคือการต่อสู้กับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งฟังดูเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นหูนัก สำหรับแนวนโยบายการปกครองประเทศที่ผ่านมาของตาลีบัน

โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ตาลีบันกำลังก่อสร้างอยู่นี้ คือคลอง “โคชเทปา” (Qosh Tepa) ซึ่งมีความยาว 285 กิโลเมตร และต้องใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการขุดคลองให้สำเร็จลุล่วง เพื่อผันน้ำจืดมายัง 3 จังหวัดทางตอนเหนือของประเทศที่กำลังขาดแคลนน้ำ

โครงการระดับเมกะโปรเจกต์นี้ ไม่เพียงแต่มุ่งต่อสู้กับภัยแล้ง อันเป็นผลมาจาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ที่จะเปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้ง 5,000 ตารางกิโลเมตร ให้กลายเป็นผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วย ซึ่งรัฐบาลตาลีบันหวังว่า คลองโคชเทปาจะทำให้สถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหารกลับมามีเสถียรภาพ และช่วยให้การทำมาหาเลี้ยงชีพของประชากรหลายแสนคนดีขึ้นกว่าเดิม

ที่มาของภาพ, AP

คำบรรยายภาพ, การปรากฏตัวของผู้แทนรัฐบาลตาลีบัน ในการประชุม COP29 ทำให้หลายคนประหลาดใจอย่างมาก

การที่กลุ่มตาลีบันมีความห่วงกังวลต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องประหลาดใจอย่างมาก เมื่อได้เห็นผู้แทนของรัฐบาลตาลีบันหลายคน เข้าร่วมการเจรจาด้านสิ่งแวดล้อมในเวที COP29 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศอาเซอร์ไบจานเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ

Stay of เรื่องแนะนำ

แม้ตามปกติแล้วกลุ่มตาลีบันมักจะถูกคว่ำบาตรจากประชาคมนานาชาติอยู่เสมอ แต่ในคราวนี้พวกเขาได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวได้ เนื่องจากอัฟกานิสถานกำลังเผชิญกับปัญหาร้ายแรงด้านภูมิอากาศ จนได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่เปราะบางต่อปัญหาภูมิอากาศมากที่สุด และมีความพร้อมรับมือกับปัญหาดังกล่าวน้อยที่สุด

ในการประชุม COP29 ผู้แทนกลุ่มตาลีบันได้ร้องขอต่อประชาคมนานาชาติ ให้ช่วยบริจาคเงินสนับสนุนโครงการต่อต้านภัยด้านภูมิอากาศแก่อัฟกานิสถานอีกครั้ง หลังจากที่เงินสนับสนุนจากต่างชาติในส่วนนี้ถูกระงับไป เมื่อกลุ่มตาลีบันเข้ายึดอำนาจ

มาตูยล์ ฮัก คาลิส หัวหน้าหน่วยงานด้านการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของอัฟกานิสถาน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “เราหวังว่าเมื่อการประชุมสิ้นสุดลง จะมีทางออกให้กับโครงการต่าง ๆ ในอัฟกานิสถาน ที่ดำเนินการได้ล่าช้ากว่ากำหนด”

การขุดคลองโคชเทปา ถือเป็นหนึ่งในแผนการด้านสิ่งแวดล้อมไม่กี่โครงการ ที่รัฐบาลตาลีบันต้องการจะเดินหน้าต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมา โครงการนี้ดำเนินการก่อสร้างด้วยงบประมาณของตาลีบันล้วน ๆ โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุนหรือการสนับสนุนทางเทคนิคจากต่างประเทศเลย แต่ถึงกระนั้น การขุดคลองดังกล่าวกลับรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดโครงการสำเร็จลุล่วงถึง 100 กิโลเมตรแล้ว

โครงการนี้นับได้ว่าเป็นภาระทางการเงินที่หนักอึ้ง สำหรับประเทศที่เศรษฐกิจหดตัวถึงกว่า 20% นับตั้งแต่กลุ่มตาลีบันขึ้นครองอำนาจ ทั้งยังมีประชากรกว่า 90% ที่ดำรงชีวิตอยู่ในภาวะความยากจนข้นแค้น

โครงการขุดคลองโคชเทปานั้นมีความเป็นมาที่ยาวนาน โดยมีผู้ริเริ่มเสนอแผนการนี้ครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1970 โดยหวังจะทำให้พื้นที่แห้งแล้งทางตอนเหนือของประเทศกลายเป็นสีเขียว อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ถูกระงับไว้นานหลายสิบปี ด้วยหนึ่งในสาเหตุหลักที่เนื่องมาจากความไม่สงบภายในประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

รัฐบาลของอัฟกานิสถานชุดก่อน ๆ กล่าวโทษว่าความเคลื่อนไหวทางทหารของกลุ่มตาลีบันในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้แผนการขุดคลองโคชเทปาต้องล่าช้าออกไป จนแทบจะไม่มีความคืบหน้า แต่ถึงกระนั้น ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลับเป็นปัจจัยผลักดันให้การขุดคลองดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนมากขึ้น

คำบรรยายภาพ, ฮัจญี ราจาบ หวังว่าคลองโคชเทปาจะช่วยให้เขาสามารถเพาะปลูกได้อีกครั้ง หลังต้องเผชิญภัยแล้งมานานหลายปี

ฮัจญี ราจาบ เป็นหนึ่งในชาวบ้านทางภาคเหนือของอัฟกานิสถานที่ต้องการความช่วยเหลือ ก่อนหน้านี้เขาทำการเกษตรบนผืนดินใกล้แนวคลองโคชเทปา ในพื้นที่อำเภออักชาของจังหวัดเจาซ์จัน (Jawzijan) มาทั้งชีวิต แต่ไม่กี่ปีมานี้ ฝนในฤดูใบไม้ผลิที่เขาต้องอาศัยพึ่งพาเพื่อการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ กลับไม่ตกต้องตามฤดูกาลอีกต่อไป

ผู้เฒ่าวัย 70 ปี กล่าวขณะที่เดินไปบนพื้นดินแตกระแหงในท้องทุ่งแห่งหนึ่งของเขาว่า พื้นที่แถบนี้เกิดภัยแล้งนานติดต่อกันถึง 3 ปี จนไม่อาจปลูกพืชชนิดใดได้เลย “ผู้คนกำลังลำบาก พวกเขาไม่มีรายได้พอเลี้ยงตัว และภัยแล้งก็ส่งผลกระทบรุนแรงมากจริง ๆ”

ในประเทศที่ประชากรกว่า 80% ต้องพึ่งพาการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพ นี่ถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะหมายความว่าจะมีประชากรกว่า 12 ล้านคน ที่ต้องตกทุกข์ได้ยากจากความไม่มั่นคงทางอาหารขั้นร้ายแรง

แต่อัฟกานิสถานไม่ใช่ประเทศเดียวในภูมิภาคที่ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว ส่วนน้ำที่จะใช้ทำการชลประทานผ่านคลองโคชเทปา ก็จะต้องผันมาจากแหล่งน้ำอื่นด้วย ซึ่งปรากฏว่ารัฐบาลตาลีบันมีแผนจะผันน้ำจากแม่น้ำอามู (Amu River) ซึ่งไหลไปตามแนวพรมแดนตอนเหนือของประเทศ ก่อนจะไหลเข้าไปในเขตแดนของเพื่อนบ้าน คืออุซเบกิสถานและเตอร์กเมนิสถาน

สถาบันเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ มาโนฮาร์ ปาร์ริการ์ (MP-IDSA) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของภูมิภาค ออกมาเตือนว่าหากโครงการขุดคลองโคชเทปาเสร็จสมบูรณ์และเริ่มมีการใช้งานอย่างเต็มที่ การผันน้ำเข้าคลองของอัฟกานิสถาน อาจทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำอามูที่ไหลไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ลดลงถึง 1 ใน 5

ด้านอุซเบกิสถานและเตอร์กเมนิสถาน ก็ได้แสดงความกังวลต่อโครงการดังกล่าวเช่นกัน เพราะสองประเทศนี้ก็ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำอามูเป็นหลักเพื่อทำการเกษตร ซึ่งเรื่องนี้สถาบัน MP-IDSA ได้ออกคำเตือนในรายงานวิจัยฉบับล่าสุดว่า “ความเสี่ยงในประเด็นนี้ยังคงสูงมาก เนื่องจากมีหลายประเทศต้องเผชิญกับความผันผวนไม่แน่นอน”

นอกจากปัญหาในเรื่องการแบ่งปันทรัพยากรแล้ว ยังมีผู้ตั้งคำถามถึงเรื่องที่การขุดคลองรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วเกินคาด ซึ่งน่าสงสัยว่าอัฟกานิสถานมีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคเพียงพอ ที่จะทำโครงการใหญ่ดังกล่าวโดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศหรือไม่

กลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม “แม่น้ำไร้พรมแดน” (Rivers Without Borders) รายงานว่าผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของพวกเขา ชี้ว่าดูเหมือนจะมีการเอ่อล้นของน้ำปริมาณมากจากจุดหนึ่งของลำคลองโคชเทปา

คำบรรยายภาพ, ซาบีฮุลลาห์ มีรี หัวหน้าวิศวกรประจำโครงการขุดคลองโคชเทปา

แต่ถึงกระนั้น บรรดาเจ้าหน้าที่ของอัฟกานิสถานยังคงยืนยันว่า โครงการดังกล่าวยังคงรุดหน้าไปด้วยดี และจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2028 อย่างแน่นอน

ซาบีฮุลลาห์ มีรี หัวหน้าวิศวกรประจำโครงการขุดคลองโคชเทปา ซึ่งเคยร่วมงานกับองค์กรระหว่างประเทศมาแล้วหลายแห่ง เพื่อดำเนินโครงการใหญ่ด้านวิศวกรรมโยธาในอัฟกานิสถาน เชื่อว่าความกังวลในเรื่องที่คลองจะผันน้ำจากแม่น้ำอามูมามากเกินไปนั้น ไม่สู้สมเหตุสมผลเท่าใดนัก “เราพูดได้เลยว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ และจะไม่กระทบต่อเสถียรภาพของทรัพยากรน้ำในพื้นที่อื่น ๆ”

คำบรรยายภาพ, อับดุล โมบิน เกษตรกรชาวอัฟกานิสถานบอกว่า เขาเริ่มได้รับประโยชน์จากคลองโคชเทปาแล้ว แม้โครงการจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์

ผู้คนในอัฟกานิสถานต่างหวังว่า คำกล่าวของวิศวกรผู้นี้จะเป็นจริงและถูกต้อง ตัวอย่างเช่นอับดุล โมบิน เกษตรกรผู้หนึ่งจากอำเภอดาวาลัตบัด จังหวัดบัลข์ (Balkh) ซึ่งทำการเกษตรบนผืนดินแห่งเดิมมาสามชั่วอายุคน

โมบินบอกว่าตลอดสามปีที่ผ่านมา ภัยแล้งทำให้เขาไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้เลย แต่โชคดีที่ปัจจุบันเขาเริ่มได้รับประโยชน์จากคลองโคชเทปาแล้ว แม้โครงการจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม เพราะน้ำบาดาลที่ซึมเข้ามาในแนวการขุดคลอง ได้ให้ความชุ่มชื้นแก่ผืนดินโดยรอบอย่างเพียงพอ จนตอนนี้เขากลับมาทำการเกษตรได้อีกครั้ง

สำหรับชายวัย 37 ปี ที่ต้องรับภาระเลี้ยงดูภรรยาและลูกสามคน รวมทั้งต้องดูแลพี่สะใภ้อีกหนึ่งคนแล้ว คลองโคชเทปาคือโครงการที่ช่วยพลิกฟื้นชีวิตอย่างแท้จริง “ผมอยากจะสร้างบ้านให้ครอบครัวของผมที่นี่ ผมอยากจะย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในที่แห่งนี้ เพราะเราจะมีน้ำกินน้ำใช้ และเราจะปลูกพืชทุกอย่างที่ต้องการบนผืนดินนี้ ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ ผลไม้ หรือเมล็ดพืชที่ให้น้ำมัน”

ในขณะที่ภัยคุกคามด้านภูมิอากาศกำลังขยายตัวทวีความรุนแรงขึ้น ก็ยิ่งมีแรงกดดันมหาศาลให้โครงการขนาดใหญ่นี้ต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีความเสี่ยงและความขัดแย้งรออยู่ในอนาคต

รายงานข่าวเพิ่มเติมโดย ปีเตอร์ บอล