รายงาน: ณัฐพล เมฆโสภณ
ภาพปก: กิตติยา อรอินทร์
สถานการณ์กองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 30 ก.ย. 2567 มีเงินทุนสะสมอยู่ที่ 2,586,369 ล้านบาท ถือเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีสมาชิกอยู่ในกองทุนประกันสังคมประมาณ 24.84 ล้านคน
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดการณ์ว่า ในปี 2585 (หรืออีก 18 ปีข้างหน้า) เงินทุนสะสมจะถึงจุดสูงสุดแตะที่ 6.02 ล้านล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการปฏิรูป หรือเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายหาเงินเข้ากองทุนฯ ในอีก 30 ปีข้างหน้า (ปี 2597) เงินสำรองของกองทุนฯ จะหมดลง หรือ “ล้มละลาย” เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้กำลังแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมน้อยลง ขณะเดียวกัน เมื่อสมาชิกกองทุนฯ เกษียณอายุการทำงาน กองทุนฯ จะ “ต้อง” จ่ายบำนาญให้กับสมาชิก
ดังนั้น กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการอย่างไรในการป้องกันไม่ให้กองทุนประกันสังคมล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า มาหาคำตอบได้ในงานชิ้นนี้
“แรงงานไทย” กำลังจะหายไป
เมื่อปี 2566 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงอายุสมบูรณ์' (Mature Society) เนื่องจากมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวน 14.03 ล้านคน และในปี 2576 คาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด เนื่องจากมีประชากรอายุเกิน 60 ปี คิดเป็น 28% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากไทยมีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก
แนวโน้มประชากรในประเทศไทย (ที่มา: สำนักงานประกันสังคม)
ข้อมูลจากสหประชาชาติที่ประเมินประชากรทั่วโลก ระบุว่า ประเทศไทยจะสูญเสียประชากรจากอัตราการเกิดที่น้อยลงถึง 34% หรือหายไปมากถึง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ. 2643 เป็นอันดับ 2 ของโลกเป็นรองเพียงประเทศญี่ปุ่น
ขณะที่การคาดการณ์ของ ดร.เกื้อ วงค์บุญสิน และ ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ เมื่อปี 2566 เผยว่าประเทศไทยปัจจุบันมีค่า TFR หรืออัตราการเจริญพันธ์รวมที่ 1.16 เมื่อนำค่าดังกล่าวไปทำการประมาณการ พบว่าประชากรไทยจะลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 33 ล้านคนในอีก 60 ปี (พ.ศ. 2627) ขณะที่กำลังแรงงานของประเทศไทยจะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคนเท่านั้น
อนึ่ง อัตราการเจริญพันธุ์รวม (Entire Fertility Rate : TFR) หมายถึง จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่ สตรีวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่ง หรือ 1,000 คน จะมีได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์ (หญิงอายุ 15-49 ปี)
กระทรวงแรงงานเตรียมมาตรการอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้กองทุนฯ ล้มละลาย
เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงแผนออกนโยบายดึงเงินต่ออายุกองทุนประกันสังคม
มาตรการแรกคือ การปรับยุทธศาสตร์สัดส่วนการลงทุนของกองทุนประกันสังคม จากเดิมอัตราผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ 2.5% ในปี 2567 แต่เป้าหมายต่อไปของการปรับสัดส่วนการลงทุนยุทธศาสตร์ ฉบับที่ 5 ระยะที่ 1 (ปี 2567-2570) ต้องเพิ่มอัตราผลตอบแทนการลงทุนประมาณ 5%
ส่วนจะทำอย่างไรนั้น พิพัฒน์ ระบุว่าจะมีการปรับสัดส่วนการลงทุนยุทธศาสตร์ (SAA) จากเดิมกองทุนฯ จะลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง ยกตัวอย่าง การซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือฝากธนาคารของรัฐ จะไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย เรตติ้งขั้นต่ำ “BBB” ขึ้นไป แต่จะให้อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ตอนนี้ (ก.ย. 2567) อัตราการลงทุนสินทรัพย์มั่นคง (Possibility-free Asset) ต่อสินทรัพย์เสี่ยงน้อย (Unhealthy Asset) อยู่ที่ 70.69% ต่อ 29.31% แต่ในปี 2569 จะปรับสัดส่วนการลงทุนเป็น 65% ต่อ 35%
สัดส่วนการลงทุนสินทรัพย์ ประจำเดือน ก.ย. 2567 (ที่มา: เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม)
นอกจากนี้ จะมีการปรับกลยุทธ์ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของต่างประเทศที่ให้ดอกผลที่สูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มไปลงทุนในอเมริกา หรือยุโรปแล้ว และคาดว่าจะได้ดอกผลเพิ่มขึ้นในปี 2568 อยู่ที่ 5.2%
ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในประเทศ (Domestic Asset) ต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่างประเทศ (International Asset) จากเดิมในปี 2567 ที่ 68.85% ต่อ 31.15% แต่เป้าหมายปี 2569 จะปรับเป็น fifty three% ต่อ 47%
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานมองว่าเป็นเรื่องที่ยากที่จะบรรลุเป้าหมายผลตอบแทนที่ 5% ภายในปี 2568 เพราะต้องเผชิญความผันผวนทางการเงิน ภาวะเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งสหรัฐฯ และบริบทการเมืองโลกอื่นๆ
เป้าหมายการจัดสรรการลงทุนสินทรัพย์ของสำนักงานประกันสังคม (ที่มา: สำนักงานประกันสังคม)
ขยายอายุเกษียณ-เพิ่มอัตราเงินสมทบ
สำหรับมาตรการอื่นๆ กระทรวงแรงงานได้วางแผนขยายเวลาการเกษียณอายุจากเดิม 55 ปี เป็น 65 ปี อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปรับเกณฑ์อายุขึ้นปีละ 1 ปี หรือ แก้ พ.ร.บ.ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมสัดส่วนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายรัฐ
อย่างไรก็ตาม สหัสวัต คุ้มคง สส. ชลบุรี พรรคประชาชน เคยอภิปรายในการประชุมรัฐสภา วันแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เผยว่า ปัจจุบัน รัฐบาลติดหนี้ค้างจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จำนวน 66,900 ล้านบาท และค้างจ่ายดอกเบี้ย 5% อีก 3,345 ล้านบาท โดย สส.พรรคประชาชน เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายในส่วนดอกเบี้ยให้กองทุนประกันสังคมภายในปี 2569 เพื่อนำมาทำสิทธิประโยชน์ให้สมาชิก
ประสิทธิภาพของมาตรการ
ข้อมูลพยากรณ์จาก ILO เผยว่า ถ้าเทียบกัน 3 มาตรการ ได้แก่ การขยายอายุเกษียณ ปรับเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน และเพิ่มเงินสัดส่วนเงินสมทบทุน พบว่ามาตรการเพิ่มเงินสมทบทุนจะสามารถขยายอายุกองทุนประกันสังคมได้มากที่สุดถึง 16 ปี รองลงมา เป็นการเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน (ไม่ต่ำกว่า 5.2%) จะยืดอายุกองทุนได้เพียง 4 ปี และมาตรการขยายอายุเกษียณอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึง 65 ปี จะยืดอายุกองทุนได้แค่ 3 ปีเท่านั้น (ดูภาพ)
ภาพจากทีมลงทุนประกันสังคม เปรียบเทียบ 3 มาตรการ (ซ้าย-ขวา) นโยบายขยายอายุเกษียณ เพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสินทรัพย์ และขยายอัตราเงินสมทบกองทุนฯ
ดึงแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติเข้าระบบประกันสังคม ม.33 ทั้งหมด
นอกจากมาตรการข้างต้น กระทรวงแรงงาน ได้หารือเตรียมมาตรการดึงแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ทุกคน เพื่อเพิ่มเงินในกองทุนประกันสังคม ลดภาระค่าใช้จ่ายของกระทรวงสาธารณสุข และให้แรงงาน 4 สัญชาติมา ‘จ่ายภาษีให้ประเทศไทย’
ปัจจุบัน มีแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ (เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา) อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 เพียง 1.5 ล้านคน แต่มีแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ ลงทะเบียนกับกรมจัดหางาน 3 ล้านคน ดังนั้น โจทย์คือทำยังไงที่จะดึงแรงงาน 4 สัญชาติที่เหลือเข้ามาอยู่ในระบบประสังคมให้ได้
นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติอาจมีจำนวนมากกว่าจำนวนที่ลงทะเบียนกับกรมจัดหางานอีกด้วย แผนของพิพัฒน์คือเตรียมที่จะให้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายมาขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบประกันสังคม และจะสร้างแรงจูงใจคือ คนที่เข้าในระบบประกันสังคม จะได้ทำบัตรสีชมพูของกระทรวงมหาดไทยไปด้วยในตัว
“เราเตรียมแรงงานข้ามชาติที่อยู่ใต้ดินเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมทั้งหมด และจะมีการประกาศให้มาขึ้นทะเบียนใหม่ แต่เมื่อปิดการขึ้นทะเบียนแล้ว กระทรวงแรงงานถือว่าให้โอกาสแล้ว ถ้ายังไม่มาขึ้นทะเบียน จะมีการปราบปรามแรงงานผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด” พิพัฒน์ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า กระทรวงแรงงานมีแผนเตรียมยกเลิกกลุ่มอาชีพที่ถูกงดเว้นไม่ให้เข้าประกันสังคม เช่น ประมง แรงงานภาคเกษตร และแรงงานทำงานบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ให้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมทั้งหมด
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )