วงคุยเปิดปมปัญหา ‘มายาคติตีตรา ช่องโหว่-การบังคับใช้ทางกฎหมาย' ทำผู้พิการเข้าไม่ถึงสิทธิการจ้างงาน นักสิทธิฯ เห็นพ้อง การทลายปัญหาต้องเริ่มที่การแก้กฎหมายบนหลัก ‘เข้าถึง' และ ‘ช่วยเหลืออย่างสมเหตุสมผล'
เมื่อ 8 พ.ย. 2567 สำนักข่าวประชาไท ร่วมด้วย ThisAble.me จัดเสวนา “งาน การเดินทาง อิสรภาพ: อุปสรรคและมายาคติที่คนพิการเจอ” ดำเนินรายการโดยมีนลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการ ThisAble.me และมีวิทยากรร่วมพูดคุยดังนี้
- เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีพิการ ประสบอุบัติเหตุแล้วนั่งวีลแชร์ตอนอายุ 27 ปี ปัจจุบันทำงานเป็นสมาชิกคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิคนพิการ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการของสมัชชาคนพิการอาเซียน สมาคมสตรีพิการ เด็กพิการ และครอบครัว
- ผศ.ดร. ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนเรื่องสิทธิคนพิการ และมีความสนใจเรื่องความสามารถในการเข้าถึง (Acessibiliy) การออกแบบที่เป็นสากล (In vogue Desig) การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ความเสมอภาค (Equality) และกฎหมายการเดินอากาศ
- อรรถพล ศรีชิษนุวรานนท์ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมลฑล โดยใช้แนวคิดการดำรงชีวิตอิสระคนพิการเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก นอกจากนี้ยังมีความสนใจด้านการแสดง การเคลื่อนไหวทางภาคสังคม
ช่องโหว่ทางกฎหมายของการจ้างงานคนพิการ
“พอเราไปสมัครงาน คุณรู้ไหมว่าเราไม่เคยได้ถูกสัมภาษณ์หรอกค่ะ เพราะเราเขียนว่ามีความพิการ (ใบสมัคร) มันลงตะกร้าหมด จนกระทั่งมาได้งานๆ หนึ่ง ซึ่งงานนี้เขารับเชิญไปทำ เป็นโรงแรมในจังหวัดพิจิตร เจ้าของโรงแรมเป็นพ่อของเพื่อน เป็นธุรกิจครอบครัว เขาเห็นว่าเราเคยทำงานธนาคารมาก่อนเลยชวนให้ไปทำบัญชี พี่ก็ได้ไปทำงาน ได้ค่าตอบแทนตามยุคสมัยนั้น เนี่ยถือเป็นมาตรการเฉพาะที่ครอบครัวเพื่อนจัดให้ เขาไม่ได้ดูว่าเราเป็นคนพิการ แต่ดูว่าเราเป็นคนที่มีศักยภาพ และก็เป็นเพื่อนของลูก”
เสาวลักษณ์ เล่าประสบการณ์การทำงานส่วนตัวเมื่อราว 30 ปีก่อนว่า ก่อนจะเริ่มขยับมาทำงานเคลื่อนไหวด้านนโยบายเกี่ยวกับคนพิการ
เสาวลักษณ์ ทองก๊วย
เสาวลักษณ์ กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานคนพิการที่ชัดเจนคือมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ประกอบด้วยมาตรา 33 34 และ 35 โดยมาตรา 33 กำหนดให้เอกชนจ้างงานแบบสัดส่วน 100 : 1 (พนักงานทั่วไป 100 คน : พนักงานพิการ 1 คน) หากบริษัทที่ไม่ต้องการจ้างงานตามสัดส่วนนั้นก็ใช้มาตรา 34 จ่ายเงินค่าปรับเข้ากองทุนพัฒนาคนพิการ หรือมาตรา 35 จ้างคนพิการทำงานสาธารณะประโยชน์ในพื้นที่ทั่วไป ทำให้คนพิการมีโอกาสถูกจ้างงานมากขึ้น เพราะมีกฎหมายกำกับและมีผลบังคับ
ดังนั้น เราจึงเห็นคนพิการออกมาใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้น มีโอกาสในการทำงานมากขึ้นผ่านการจ้างงานตามกฎหมายดังกล่าว คนพิการถูกพูดถึงในกระแสสังคมมากขึ้นในแง่มุมต่างๆ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
แม้จะเริ่มมีกฎหมายรองรับ มีการยกระดับกรมประชาสงเคราะห์เป็นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตัดคำว่า ‘สงเคราะห์’ ออกไปเพราะต้องการเป็นรัฐสมัยใหม่ แต่ผ่านไป 17 ปี ระเบียบปฏิบัติไม่ได้ปรับเปลี่ยนในเนื้อหาสำคัญ เช่น การกีดกัน การจำกัดสิทธิ การสร้างเงื่อนไขให้คนพิการไม่ถูกกล่าวถึงในกฎหมาย การเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ
เช่น มาตรา 1 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้คำนิยามไว้แค่ความพิการ โดยปราศจากเรื่องเพศสภาพ อายุ ชาติพันธุ์ ศาสนา ถิ่นที่อยู่ แสดงให้เห็นว่าไม่มีมิติของความเป็นมนุษย์ เวลารัฐบาลต้องรายงานสถิติคนพิการจึงไม่มีจำแนกประเภทที่ละเอียดเพียงพอ จำแนกเพียงเพศ ระดับการศึกษา อาชีพ ซึ่งเอามาใช้งานไม่ได้
แม้แต่จำนวนคนพิการที่รายงานโดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ก็ต่ำกว่าของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พก. ระบุว่ามี 2.2 ล้านคน สำนักงานสถิติฯ ระบุว่า 4.4 ล้าน เพราะสำนักงานสถิตินับจากคนพิการที่มีบัตรและไม่มีบัตร แต่ พก.นับจากคนมาทำบัตร แสดงให้เห็นว่าจำนวนสถิติมีปัญหา เมื่อไปดูจำนวนคนพิการที่ได้งานจึงเชื่อถือไม่ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถเอามาวางแผนการส่งเสริมการจ้างงาน การส่งเสริมการศึกษา ซึ่งมีผลต่อตัวเลขคนพิการที่เข้าสู่ตลาดแรงงานทั่วไปได้
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่า แม้มีบัตรคนพิการก็ไม่ได้แปลว่าได้สิทธิประโยชน์อัตโนมัติ ต้องไปแสดงเจตจำนงในทุกเรื่องแม้แต่เบี้ยคนพิการก็ต้องไปแสดงเจตจำนงก่อน ยังไม่นับเรื่องทัศนคติที่มักไม่คิดว่างานที่คนพิการทำคือเนื้องาน หลายครั้งคนพิการถูกรับเชิญไปงานต่างๆ แต่ไม่ได้ค่าเดินทาง ไม่ได้ค่าวิทยากร
ประเด็นสุดท้าย กฎหมายการจ้างงานคนพิการที่มีเงื่อนไขและล็อกสเปกทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติทุกมาตรา เกิดช่องว่างให้บุคคลที่ 3 เป็นตัวแทนคนพิการเข้ามาจัดการ โดยเฉพาะมาตรา 33 และ 35 เพราะเราไม่มีระบบจับคู่ตำแหน่งว่างกับผู้สมัครที่พิการ บริษัทจึงต้องพึ่งพาบุคคลที่ 3
เมื่อการจ้างงานมาตรา 33 ทำยาก มาตรา 34 ที่กำหนดให้จ่ายค่าปรับเข้ากองทุนพัฒนาคนพิการแทนการจ้างงานก็ได้รับความนิยมอยู่พักหนึ่ง เพราะเอกชนทำได้ง่ายกว่า จนกองทุนมีเงินเป็นหมื่นๆ ล้าน แต่ผ่านมาระยะหนึ่งบริษัทเริ่มท้อในการส่งเงินเข้ากองทุน เพราะนายจ้างมองไม่เห็นว่าคนพิการได้ประโยชน์อะไร ไม่มีรายงานว่าเงินที่จ่ายในมาตรา 34 สร้างคุณประโยชน์อะไร ทำให้นายจ้างหันมาใช้มาตรา 35 เลยกลายเป็นวัฏจักรที่หน่วยงานภาครัฐก็ไปพูดเชียร์มาตรา 35 พร้อมนำเสนอเทคนิคทางกฎหมาย
หากคนพิการถูกเลือกปฏิบัติจากการจ้างงานให้ไปร้องที่คณะกรรมการวินิจฉัยด้วยเหตุแห่งเพศ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ที่อยู่ภายใต้กฎหมายคนพิการที่มีอนุฯ ขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความพิการ และสามารถไปที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก่อนที่จะให้เรื่องดำเนินศาลแพ่งหรือศาลอาญา และต้องได้รับการพิสูจน์ว่าเสียหายหรือกำลังเสียหาย
กฎหมายระหว่างประเทศไม่สามารถใช้วินิจฉัยในศาลไทยได้
ด้านอาจารย์ลลิน ยกตัวอย่างคำวินิจฉัยประเทศอินเดียเรื่องที่วิกัส กุมาร (Vikash Kumar) ผู้พิการชาวอินเดีย ฟ้องหน่วยงานจัดสอบราชการที่ไม่ให้โจทก์สอบ เพราะเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวแล้วขอคนช่วยเขียนคำตอบ โดยให้เหตุผลว่าตามกฎแล้วมีเพียงคนตาบอดเท่านั้นที่ขอคนช่วยเขียนคำตอบได้
“ถ้าคนพิการที่มีความสามารถ ไม่สามารถเข้าถึงการสอบแข่งขันได้เพียงเพราะว่าติดขัดข้อกำหนดจัดหาวิธีการที่เหมาะสมในการสอบ ไม่ใช่แค่คนพิการที่เสียโอกาส คนที่แพ้ที่สุดในเรื่องนี้คือ หน่วยงานจัดสอบราชการ เพราะปฏิเสธโอกาสของประเทศชาติที่จะได้คนมีความสามารถอยู่ในระบบ” ส่วนหนึ่งในคำวินิจฉัยของศาลอินเดีย ซึ่งอาจารย์ลลิลระบุว่ามีความก้าวหน้าอย่างมาก
นอกจากนี้ ศาลอินเดียใช้ความคิดเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิคนพิการเรื่องการช่วยเหลือคนพิการที่สมเหตุสมผลมาตัดสิน ผลการตัดสินคดีความออกมาว่า หน่วยงานจัดสอบราชการต้องจัดหาคนช่วยเขียนให้ แต่สำหรับศาลไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น
อาจารย์ลลิล หยิบยกคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดของประเทศไทย เรื่อง นักโทษขอปลดตรวน เนื่องจากคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์และฎีกา และศาลปกครองกลางวินิจฉัยในปี 2564 กรณีที่ชาวต่างชาติจ่ายค่ารักษาพยาบาลแพงกว่าชาวไทยเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยทั้ง 2 เรื่องนำสนธิสัญญาหรือกฎหมายระหว่างประเทศ การเป็นรัฐภาคีของไทยมาร่วมพิจารณา แต่ถูกปัดตก เพราะศาลไทยไม่รู้กฎหมายต่างประเทศ และยังไม่นำอนุสัญญามาปรับเป็นกฎหมายภายใน
อย่างไรก็ดี เสาวลักษณ์ เสริมในส่วนที่ศาลมีการปรับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยหยิบยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยเรื่อง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ลลิน ก่อวุฒิกุลรังศี
ทั้งนี้ ในวันที่ 29 ก.ค. 2551 ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการสหประชาชาติและปฎิบัติตามพันธกรณีที่ระบุไว้ในอนุสัญญาตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. 2551 (วันที่ให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคี) หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ตามพันธกรณีข้อ 27A กำหนดห้ามการเลือกปฏิบัติคนพิการทุกด้านเกี่ยวกับการจ้างงาน และข้อ G หลักเกณฑ์การรับคนเข้าทำงานต้องคำนึงถึงด้วย
ขณะที่ประกาศรับสมัครข้าราชการตุลาการและผู้ช่วยผู้พิพากษาระบุว่า ผู้สมัครต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามคือ กายหรือจิตใจไม่เหมาะสม การกำหนดลักษณะการรับผู้สมัครเช่นนี้อยู่ในกรอบกฎหมายคนพิการและสอดคล้องกับอนุสัญญาซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น ผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงออกมาว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 วรรค 3
ที่ผ่านมาคณะกรรมการมนุษยชนแห่งชาติแถลงมีข้อเสนอแนะให้กับ พก. ปรับกฎหมายคนพิการให้เป็นตามมาตรฐานสากล หรือ CRPD แต่ 2 ปีแล้วข้อเสนอแนะยังไม่นำมาพูด ยังไม่เห็นว่าหน่วยงานฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารเคลื่อนไหวอะไร องค์กรคนพิการถูกจำกัดสิทธิเลยไม่เกิดความเคลื่อนไหว คนพิการในประเทศถูกเลือกปฏิบัติแบบเงียบๆ
‘ทัศนคติ' จุดตั้งต้นทำให้การจ้างงานคนพิการเป็นเรื่องยาก
“แนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการจะช่วยสร้างความเสมอภาคทางโอกาสในการคิดและตัดสินใจให้แก่คนพิการ การมีอยู่ของผู้ช่วยคนพิการ (Non-public Assistant) หรือ PA คือผู้ช่วยที่ไม่คิดและตัดสินใจแทน แต่คนพิการก็ต้องเคารพผู้ช่วยในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ไม่ใช่ไปจิกหัวใช้เขา ผมอาจจะเอื้อมหยิบของชั้นบนไม่ถึง ซึ่งผมอาจจะต้องการ PA มาช่วยบางเวลา คนพิการก็ไม่ได้อยากรบกวนใคร” อรรถพล กล่าว
หลังจากนั้น อรรถพล กล่าวถึงอคติและทัศนคติที่เป็นอุปสรรคต่อการจ้างงานคนพิการว่ามี 2 เรื่องหลักคือ 1.คนพิการไร้ซึ่งความสามารถ ไร้ซึ่งความคิดและการตัดสินใจด้วยตัวเอง 2. เรื่องบาปบุญ ที่เป็นความเชื่อถูกส่งต่อมาอย่างยาวนานและยังอยู่อย่างเหนียวแน่น
ตอนที่เจ้านายผมชวนให้กลับมาทำงาน ผมถามทำไมอยากให้ผมกลับไปทำงานทั้งที่ผมพิการ ถ้าเขาจ้างผมเพราะสงสารคงไม่ไป แต่เขาว่าคุณยังทำงานได้
อรรถพล ชี้ว่า หากทำให้ผู้คนมีวิธีคิดเช่นนี้ได้ ก็อาจไม่ต้องไปเริ่มต้นที่นโยบาย ไม่ต้องไปเริ่มต้นที่กฎหมาย ไม่ต้องไปเริ่มต้นจากผู้นำประเทศคนไหน มันเริ่มต้นเกิดจากแนวคิดหรือวิธีคิดของคนทำธุรกิจหรือจ้างงานเอง ถ้าทำไม่ได้ก็หาวิธีการแก้ไข
อรรถพล ศรีชิษนุวรานนท์
นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นนโยบายส่งเสริมอาชีพคนพิการไทยเลย ทั้งมีพวกเขามีศักยภาพ มีเพียงไม่กี่อาชีพที่พูดถึงกัน เช่น ขายล็อตเตอรี นักกีฬาพาราลิมปิก
“หากรัฐบาลและคนทำงานด้านคนพิการมีวิธีคิดโดยการสนับสนุนให้เขามีชีวิตอิสระได้ ผมว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สนับสนุนให้มีชีวิตต่อไป ซึ่งก็ยอมรับกฎหมายเป็นตัวที่ทำให้ทัศนคติปรับเปลี่ยนเร็วขึ้น ถ้าไม่มีกฎหมายแล้วรอให้ทัศนคติปรับเปลี่ยนเป็นไปได้ยาก”
ด้านเสาวลักษณ์ กล่าวโดยหยิบยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ได้เป็นรัฐภาคีกับ CRPD เพราะมั่นใจว่ากฎหมายคุ้มครองคนพิการของอเมริกา (The Americans with Disabilities Act : ADA) ดีอยู่แล้ว โดยเห็นได้จาก มาตรา 1 การเลือกปฏิบัติต่อคนพิการในการจ้างงานทำไม่ได้ ตั้งแต่ประกาศรับสมัครงาน การสัมภาษณ์ การได้งานทำ การเลื่อนขั้น และการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงาน ถ้าคนพิการรู้สึกว่าเลือกปฏิบัติสามารถฟ้องได้ภายใน 180 วัน และถ้ามีลูกจ้าง 15 คนขึ้นไปต้องจ้างงานคนพิการ 1 คน ไม่อย่างนั้นถือเป็นการเลือกปฏิบัติ
นอกจากนี้ ยังหยิบยกประสบการณ์ตรงตอนไปกินอาหารจีนที่รัฐหนึ่งในสหรัฐอเมริกาแล้วถูกปฏิเสธรับคนพิการเข้าร้าน เพราะพื้นที่แคบและขาดสิ่งอำนวยความสะดวก แขกในร้านเห็นก็ลุกขึ้นแล้วบอกว่า เจ้าของร้านทำแบบนี้สามารถเขาฟ้องได้ ทำให้เจ้าของร้านหน้าเสีย หลังจากนั้นไปร้านเดิมอีกรอบพบว่าทำทางลาด และต้อนรับคนพิการเข้าร้าน เรื่องนี้ทำให้เห็นว่ากฎหมายทำให้เกิดกระบวนการปรับเปลี่ยนสถานที่ กระบวนการทางสังคม และการสร้างความตระหนักรู้เกิดขึ้น
ความคาดหวัง ความฝัน ของคนพิการ
เสาวลักษณ์ หวังว่า กฎหมายต้องปรับให้ทันสมัยเท่าที่ทำได้ รูปธรรมคือต้องตัด พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 35 วรรค 3 เรื่องการเลือกปฏิบัติในกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการออก แผนยุทธศาสตร์ชาติควรแสดงถึงการปฏิบัติเรื่องคนพิการที่ทำได้จริงโดยลำดับความสำคัญ และองค์กรคนพิการเข้มแข็ง
นักเรียน นิสิตนักศึกษาทุกระดับชั้นควรได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อทำลายมายาคติว่า สิทธิมนุษยชนเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ความเป็นจริงเป็นคนละเรื่องกัน หากคุณภาพชีวิตของคนพิการไม่ดี คนพิการถูกเลือกปฏิบัติ คนพิการถูกจำกัดสิทธิ ก็จะไม่มีความมั่นคงเกิดขึ้น
“สิ่งหนึ่งของไทยที่เราเห็นว่ามันขาดคือ ความสามารถในการเข้าถึง (Accessibility) และการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล (Life like Accommodation) ซึ่งไม่มีเขียนในกฎหมายไทย การที่คนพิการจะเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้หมายถึงเราต้องปรับสภาพสังคม มีการออกแบบที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ (In vogue Invent) อย่างเช่น มีบันไดต้องมีทางลาด มีบันไดเลื่อน มีลิฟต์ เวลาเดินทางเราถือของหนักๆ เราก็อยากลงลิฟต์ ซึ่งมันไม่ใช่แค่สำหรับคนพิการ มันสำหรับทุกคน” สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ยังทำให้ฝันของอาจารย์ลลิน ไม่เป็นจริง
อาจารย์ลลิล กล่าวว่า เวลาเดินทางด้วย BTS หรือ MRT แล้วมีช่องว่างระหว่างชานชาลาควรหาแผ่นมาวางปิดช่องให้เข็นวีลแชร์เข้าไปได้ นี่จึงเป็นวิธีการการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล หรือการเข้าถึงข้อมูลต้องคำนึงว่าทุกคนจะเข้าถึงได้ อย่างเอกสารราชการหรือคำพิพากษาพิมพ์เป็นไฟล์ .note .pdf แต่เวลาเผยแพร่เอกสารกลับปรินต์ออกมาแล้วสแกนกลับเข้าไปเป็นภาพ คนตาบอดก็อ่านไม่ได้ ฟอนต์และสระเพี้ยน แทนที่จะใช้ไฟล์ที่โปรแกรม Conceal Reader อ่านได้ตั้งแต่ทีแรก
“สิ่งเหล่านี้เป็นการเข้าถึงสำหรับทุกคน มันคือการออกแบบที่เป็นสากล เรื่องนี้อยากให้หน่วยงานของรัฐทำแล้วมีการเผยแพร่” อาจารย์ลลิน กล่าว
บรรยากาศงานเสวนา
อาจารย์ลลิล กล่าวอีกว่า ต่อมาอยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง จริงจัง กล้าเลือกมาตรการอย่างเคร่งครัด จะเห็นได้จากกระทรวงคมนาคมของสหรัฐอเมริกาปรับเงินสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ (American Airways) จำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเงิน 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าสู่รัฐบาล ส่วนที่เหลือให้สายการบินเอาไปทำระบบรถเข็นคนพิการให้ดี ชดเชยความเสียหายให้กับคนที่ร้องเรียน แล้วต้องต้องรายงานให้กระทรวงฯ ตามระยะเวลาที่กำหนดหรือรายงานเป็นระยะๆ เพื่อให้เห็นว่านำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์จริง
เรื่องใหญ่ที่หวังที่สุดคือ เรื่องทัศนคติและการมีส่วนร่วมคนพิการและไม่พิการอยู่ร่วมกันได้โดยคิดว่าเรื่องการเข้าถึงและการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผลเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะได้ปรับทัศนคติที่เกิดขึ้น
ส่วนอรรถพล มีภาพความหวัง 3 ระยะ คือ 1. อยากเห็นคนพิการที่รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาเรื่องการจ้างงานไม่เป็นธรรม แล้วส่งเสียงออกมาดังจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยิน
2. ภาพความหวังระยะกลาง คือ อยากเห็นภาพทางสังคมและการเมืองเปิดโอกาสรับแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ
3. ภาพความหวังระยะท้ายคือ แก้รัฐธรรมนูญใหม่ ประชาธิปไตยและแนวคิดของการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้ารัฐธรรมนูญถูกออกแบบไม่ให้เกิดการรัฐประหาร เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นหนทางที่จะช่วยลดอคติเรื่องคนพิการลดลงได้
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )