ทหารรัสเซียหนีทัพผู้เคยเฝ้าฐานนิวเคลียร์ ออกมาแฉความลับสงคราม
Article data
- Author, วิลล์ เวอร์นอน
- Honest, บีบีซีนิวส์
ในวันที่รัสเซียรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือน ก.พ. 2022 แอนตันบอกว่า ฐานอาวุธนิวเคลียร์ที่เขาประจำการอยู่ เข้าสู่สถานะเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับการสู้รบ
“ก่อนหน้านั้น เรามีแค่การฝึกซ้อม แต่ในวันที่สงครามเริ่มต้นขึ้น อาวุธต่าง ๆ ก็เข้าประจำตำแหน่งพร้อมใช้งาน” อดีตเจ้าหน้าที่ในกองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซีย กล่าว “เราพร้อมที่จะปล่อยมันออกไปสู่ทะเลและบนฟ้า ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว มันคือการโจมตีด้วยนิวเคลียร์”
บีบีซีพบแอนตันในสถานที่ลับนอกดินแดนของรัสเซีย และเพื่อความปลอดภัยของเขา บีบีซีจะไม่เปิดเผยว่าพวกเราอยู่ที่ไหน นอกจากนี้ชื่อของเขายังถูกปรับเปลี่ยน รวมถึงไม่เปิดเผยใบหน้าของเขา
แอนตันเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงงานอาวุธนิวเคลียร์ลับสุดยอดในรัสเซีย เขาได้แสดงเอกสารยืนยันหน่วย ยศ และฐานของเขาให้เราดู
ทั้งนี้ บีบีซีไม่สามารถตรวจสอบเหตุการณ์ทั้งหมดที่เขาเล่าได้อย่างอิสระ แม้ว่ามันจะสอดคล้องกับแถลงการณ์ของรัสเซียในขณะนั้น
Skip เรื่องแนะนำ and continue finding outเรื่องแนะนำ
End of เรื่องแนะนำ
3 วันหลังจากกำลังทหารทะลักเข้าไปในพรมแดนยูเครน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียประกาศว่ากองกำลังป้องปรามนิวเคลียร์ของรัสเซียได้รับคำสั่งให้เข้าสู่ “สถานะพร้อมรบเป็นกรณีพิเศษ” โดยแอนตันกล่าวว่ามีการแจ้งเตือนเกิดขึ้นในวันแรกของสงคราม และอ้างด้วยว่าหน่วยของเขา “ถูกผนึกอยู่ในฐานทัพ”
“เรามีแค่ทีวีของรัฐบาลรัสเซีย” อดีตเจ้าหน้าที่กล่าว “ผมไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วทั้งหมดคืออะไร ผมทำหน้าที่ของผมโดยอัตโนมัติ เราไม่ได้ต่อสู้ในสงคราม เราแค่ปกป้องอาวุธนิวเคลียร์”
เขากล่าวเสริมด้วยว่าสถานการณ์แจ้งเตือนถูกยกเลิกหลังจากผ่านไป 2-3 สัปดาห์
คำบอกเล่าของแอนตันให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการทำงานภายในกองกำลังนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นสถานที่ลับสุดยอดของรัสเซีย มันเป็นเรื่องยากมากที่จะมีเจ้าหน้าที่ออกมาพูดกับนักข่าว
“กระบวนการคัดเลือกเข้มงวดมาก ทุกคนเป็นทหารอาชีพ ไม่มีใครเป็นทหารเกณฑ์” เขาอธิบาย
“มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงใช้เครื่องตรวจจับการพูดเท็จกับทุกคน ค่าตอบแทนที่นั่นสูงมาก และกองทัพจะไม่ถูกส่งไปทำสงคราม พวกเขาอยู่ที่นั่นเพื่อขับไล่หรือดำเนินการโจมตีด้วยนิวเคลียร์”
อดีตเจ้าหน้าที่กล่าวว่า ทุกชีวิตถูกควบคุมอย่างเข้มงวดด้วยเช่นกัน
“เป็นความรับผิดชอบของผมที่ต้องทำให้แน่ใจว่าทหารภายใต้การบังคับบัญชาจะไม่นำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในฐานนิวเคลียร์” เขากล่าว
“มันเป็นสังคมปิด ไม่มีคนแปลกหน้าอยู่ที่นั่น หากคุณต้องการให้พ่อแม่ไปเยี่ยม คุณต้องยื่นคำขอไปยังส่วนงานรักษาความปลอดภัยของหน่วยความมั่นคงกลางของรัสเซีย (FSB) เป็นเวลาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน”
แอนตันเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยรักษาความปลอดภัยของฐานทัพ ซึ่งเป็นหน่วยตอบสนองเร็วเพื่อปกป้องอาวุธนิวเคลียร์
“เรามีการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง ระยะเวลาการตอบสนองของเราคือ 2 นาที” เขาบอกด้วยความภาคภูมิใจ
รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์ที่ใช้งานได้อยู่ประมาณ 4,980 หัว จากข้อมูลของสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน แต่มีเพียง 1,700 หัวเท่านั้นที่ “ประจำการ” หรือพร้อมใช้งาน โดยประเทศสมาชิกนาโตทั้งหมดรวมกันก็มีอาวุธนิวเคลียร์ในจำนวนใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าปูตินสามารถเลือกใช้อาวุธ “ที่ไม่ใช่เชิงยุทธศาสตร์” หรือบ่อยครั้งเรียกว่าอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี (tactical nuclear weapon) ได้หรือไม่ ซึ่งอาวุธเหล่านี้เป็นขีปนาวุธขนาดเล็กที่ไม่ก่อให้เกิดกัมตภาพรังสีเป็นวงกว้าง เมื่อตกลงสู่พื้น
อย่างไรก็ตาม หากรัสเซียตัดสินใจใช้อาวุธประเภทนี้ มันจะนำไปสู่อันตรายที่ยกระดับสงครามให้บานปลายไปมากกว่าเดิม
ทว่ารัฐบาลรัสเซียเองก็ทำทุกวิถีทางเพื่อทดสอบปฏิกิริยาของตะวันตก โดยล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีปูตินเพิ่งให้สัตยาบันการเปลี่ยนแปลงหลักปฏิบัติด้านนิวเคลียร์ ซึ่งมันเป็นกฎทางการที่กำหนดว่ารัสเซียสามารถยิงอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างไรและเมื่อใด
หลักปฏิบัติดังกล่าวระบุว่ารัสเซียสามารถปล่อยอาวุธได้ หากอยู่ภายใต้ “การโจมตีครั้งใหญ่” จากขีปนาวุธธรรมดาของรัฐที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ แต่ “ได้รับการสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์” โดยเจ้าหน้าที่รัสเซียกล่าวว่าการปรับปรุงหลักปฏิบัติใหม่ครั้งนี้ ช่วย “ขจัดความเป็นไปได้ที่จะพ่ายแพ้ในสมรภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
แต่คำถามคือ คลังแสงนิวเคลียร์ของรัสเซียยังทำงานได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ ?
ผู้เชี่ยวชาญตะวันตกบางคนชี้ว่า อาวุธจากสมัยโซเวียตส่วนใหญ่อาจใช้งานไม่ได้ด้วยซ้ำ
อดีตเจ้าหน้าที่กองกำลังนิวเคลียร์ปฏิเสธความเห็นดังกล่าว โดยบอกว่า “มันเป็นการมองแบบง่าย ๆ จากผู้ที่เรียกตัวเองว่าผู้เชี่ยวชาญ”
“มันอาจมีอาวุธแบบเก่าบางประเภทในบางพื้นที่ แต่ประเทศนี้มีคลังแสงนิวเคลียร์จำนวนมหาศาล หัวรบจำนวนมาก รวมถึงการลาดตระเวนทางทหารอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทะเล หรืออากาศ”
เขายืนยันว่าอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียยังใช้งานได้เต็มรูปแบบและพร้อมใช้ต่อสู้ เนื่องจาก “งานบำรุงรักษาอาวุธนิวเคลียร์ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง มันไม่เคยหยุดเลยแม้แต่นาทีเดียว”
ไม่นานหลังจากสงครามเต็มรูปแบบในยูเครนเริ่มต้นขึ้น แอนตันกล่าวว่าตนเองได้รับสิ่งที่เขาเรียกว่า “คำสั่งทางอาญา” ซึ่งระบุว่าเขาต้องจัดบรรยายให้กำลังพลของเขา โดยมีแนวทางการบรรยายที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเฉพาะเจาะจงมาก
“พวกเขากล่าวว่าพลเรือนยูเครนเป็นนักรบและสมควรถูกบดขยี้ !” เขากล่าวอ้าง
“นั่นเป็นฟางเส้นสุดท้ายของผม มันคืออาชญากรรมสงคราม ผมบอกว่าจะไม่เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อนี้”
เจ้าหน้าที่อาวุโสจึงดำเนินการตำหนิโทษต่อแอนตัน โดยย้ายเขาไปประจำการที่กองพลจู่โจมทั่วไป ซึ่งอยู่อีกพื้นที่หนึ่งของประเทศ โดยเขาได้รับแจ้งว่าจะถูกส่งไปทำสงคราม
หน่วยเหล่านี้มักถูกส่งไปรบในฐานะ “คลื่นระลอกแรก” ซึ่งทหารหนีรบของรัสเซียจำนวนหนึ่งบอกกับบีบีซีว่า “พวกตัวปัญหา” ที่คัดค้านสงครามจะถูกใช้เป็น “เหยื่อล่อปืนใหญ่”
อย่างไรก็ตาม สถานทูตรัสเซียในกรุงลอนดอนไม่ได้ตอบความเห็นเรื่องนี้กับบีบีซี
ก่อนที่เขาจะถูกส่งไปยังแนวหน้า แอนตันได้ลงนามในแถลงการณ์ปฏิเสธการมีส่วนร่วมในสงคราม และเขาถูกดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งเขาได้แสดงเอกสารยืนยันการถูกย้ายไปยังกองพลจู่โจมและรายละเอียดเกี่ยวกับคดีดังกล่าวให้บีบีซีดู
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศด้วยความช่วยเหลือองค์กรอาสาสมัครสำหรับผู้หนีทหาร
“ถ้าผมหนีออกจากฐานทัพนิวเคลียร์ หน่วยรักษาความปลอดภัยของ FSB ในระดับท้องถิ่นคงตอบโต้อย่างเด็ดขาด และผมคงไม่สามารถออกจากประเทศได้” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่าเป็นเพราะถูกย้ายไปยังกองพลจู่โจมธรรมดา ระบบความปลอดภัยระดับสูงจึงล้มเหลว
แอนตันกล่าวว่าต้องการให้โลกรู้ว่าทหารรัสเซียจำนวนมากต่อต้านสงครามดังกล่าว ขณะที่องค์กรอาสาสมัครช่วยเหลือผู้หลบหนีที่มีชื่อว่า “Idite Lesom” [หรือแปลเป็นไทยได้ว่า หายไป] บอกกับบีบีซีว่าจำนวนผู้หลบหนีที่ขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเป็น 350 คนต่อเดือน
ทว่าความเสี่ยงต่อผู้หลบหนีก็มีมากขึ้นเช่นกัน มีทหารหนีการสู้รบอย่างน้อย 1 คนถูกสังหารหลังจากหลบหนีไปต่างประเทศ และมีหลายกรณีที่ผู้ชายถูกบังคับส่งกลับรัสเซีย ก่อนถูกนำตัวไปพิจารณาคดี
แม้ว่าแอนตันออกจากรัสเซียแล้ว แต่เขากล่าวว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงยังคงตามหาตัวเขาที่นั่น “ผมใช้ชีวิตที่นี่ด้วยความระมัดระวัง ผมทำงานนอกระบบและไม่แสดงตัวตนในระบบทางการใด ๆ”
เขายังบอกด้วยว่าตัวเขาเองเลิกพูดคุยกับเพื่อที่ฐานนิวเคลียร์แล้ว เพราะอาจทำให้เพื่อน ๆ ตกอยู่ในอันตราย
“พวกเขายังต้องเข้ารับการทดสอบด้วยเครื่องจับเท็จ และการติดต่อกับผมอาจนำไปสู่การถูกดำเนินคดีทางอาญาได้”
อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้หลอกตัวเองว่ามันมีความเสี่ยงที่ตนเองต้องเผชิญในฐานะที่ช่วยเหลือทหารคนอื่น ๆ ให้หลบหนี
“ผมเข้าใจว่ายิ่งทำแบบนี้มากเท่าใด โอกาสที่พวกเขาจะฆ่าผมก็ยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น” แอนตันกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา BBC.co.uk