ทำเนียบขาวปรับตัวเลขคว่ำบาตรไทยเป็น 37% ด้านศูนย์วิจัยกสิกรคาด GDP ไทยขยายลดลง 1% ไปอยู่ที่ 1.4% จากเดิมคาดการไว้ 2.4% แนะภาครัฐควรเร่งเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ-ผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐอเมริกาประกาศมาตรการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ (Reciprocal Tariffs) ต่อประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยประเทศไทยถูกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในอัตรา 36% นั้น แต่ปรากฎว่าในภาคผนวกของมาตรการ Reciprocal Tariffs ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ของทำเนียบขาว พบว่า มีแตกต่างของตัวเลขภาษีตอบโต้ที่ทรัมป์นำเสนอระหว่างการแถลงข่าว โดยประเทศไทยถูกเก็บภาษีในอัตรา 37% แตกต่างจากที่ทรัปม์แถลงว่าจะเก็บภาษีในอัตรา 36%
ต่อมาศูนย์วิจัยกสิกรได้ออกข่าววิเคราะห์ว่า GDP ของไทยในปี 2568 นั้นอาจจะขยายตัวลดลง 1% โดยระบุว่าผลกระทบต่อการค้าของไทย (ยังไม่ได้รวมผลจากการเจรจา): ส่งออกไทยปี 2568 มีแนวโน้มหดตัวลงมาอยู่ที่ -0.5% จากประมาณการเดิมที่ 2.5% จากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กับสินค้าไทยที่อัตรา 37% มากกว่าที่คาดไว้ที่อัตรา 10% อย่างมีนัยสำคัญ
ผลกระทบทางตรง: การส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ คาดว่าจะหดตัวที่ -10% ในปี 2568 จากความต้องการสินค้าไทยของสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าที่ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มาก และ/หรือกลุ่มที่อัตราภาษีนำเข้าที่ไทยถูกเรียกเก็บจากสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงกว่าคู่แข่ง ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อ อาหาร (ข้าว ปลา กุ้ง อาหารสัตว์เลี้ยง) และเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งในภาวะที่การแข่งขันในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงและอัตรากำไรมีจำกัด ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยอาจไม่สามารถปรับลดราคาสินค้าเพื่อรักษาอุปสงค์ได้มากเท่าใดนัก
ผลกระทบทางอ้อม: การส่งออกไทยไปยังตลาดอื่นๆ คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานของคู่ค้าต่างๆ ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าไปยังจีน อาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อ โพลิเมอร์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น
การส่งออกไทยไปยังตลาดอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าจีน อาทิ รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ของเล่น พลาสติกและโพลิเมอร์ เป็นต้น
การส่งออกในภาพรวมได้รับผลกระทบจากอุปสงค์โลกที่ชะลอลง โดยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กับคู่ค้าทั่วโลกในระดับสูงคาดว่าจะเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะกระทบสินค้าอื่นๆ เช่น เกษตรและอาหาร รวมถึงน้ำมันสำเร็จรูปด้วย
อย่างไรก็ดี ประมาณการการส่งออกนี้ได้คำนึงแรงหนุนบางส่วนจากมูลค่าการส่งออกทองคำที่ปรับสูงขึ้นตามปัจจัยด้านราคาและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเข้าไปแล้ว โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทองคำจะมีสัดส่วนต่อการส่งออกโดยรวมเพิ่มจาก 2.9% ในปี 2567 มาอยู่ที่ 3.4% ในปี 2568
ในด้านการนำเข้าปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 1.0% จากประมาณการเดิมที่ 3.4% จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของไทยที่คาดว่าจะปรับลดลงสอดคล้องกับการส่งออก ประกอบกับทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง นอกจากนี้ ได้คำนึงถึงแรงหนุนบางส่วนจากมูลค่าการนำเข้าทองคำที่คาดว่าจะขยายตัวตามราคาที่ปรับสูงขึ้นแล้ว อย่างไรก็ดี เนื่องจากฐานมูลค่าการนำเข้าทองคำอยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า จึงคาดว่ามูลค่าการนำเข้าทองคำจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกทองคำในปีนี้
ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย: การลงทุนเอกชนจะมีความล่าช้าออกไป และการบริโภคครัวเรือนได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการสงครามการค้ายังมีความไม่แน่นอน โดยยังขึ้นอยู่กับการเจรจาของแต่ละประเทศกับสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บมีการเปลี่ยนแปลงได้ในระยะข้างหน้า ในขณะที่ยังต้องติดตามมาตรการเยียวยาผลกระทบดังกล่าวจากภาครัฐ
เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่คาดว่าจะเข้ามาจากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปีก่อนหน้าอาจล่าช้าออกไป ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานโลก ประกอบกับได้คำนึงถึงผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในวันที่ 28 มี.ค. ที่คาดว่าจะส่งผลให้การก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์อาจล่าช้าออกไปเล็กน้อย จากก่อนหน้านี้ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการลงทุนภาคเอกชนในภาคก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องในปีนี้อยู่แล้ว ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการลงทุนภาคเอกชนปี 2568 จะลดลงมาอยู่ที่ 1.4% จากประมาณการเดิมที่ 2.5%
การบริโภคภาคเอกชนได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหววันที่ 28 มี.ค. ในขณะที่ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลกระทบผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ภาคการผลิตของไทยที่อาจจะหดตัวลึกขึ้น ส่งผลต่อการจ้างงานที่ชะลอลง ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนยังสูง ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนลงมาอยู่ที่ 2.0% จากประมาณการเดิมที่ 2.4%
ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซ้ำเติมจำนวนนักท่องเที่ยวสำคัญที่เดิมก็มีสัญญาณปรับลดลงอยู่แล้วตั้งแต่กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เป็นต้น ภายใต้การแข่งขันในนักท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในช่วงข้างหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปีนี้มาอยู่ที่ 35.9 ล้านคน จากประมาณการเดิมที่ 37.5 ล้านคน
ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบในเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย และคาดว่าขนาดผลกระทบดังกล่าวอยู่ที่ 1.0% ของ GDP ส่งผลให้ GDP ปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวลดลงจาก 2.4% มาอยู่ที่ 1.4% โดยเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
นโยบายการเงินการคลังอาจจะต้องผ่อนคลายมากกว่าที่ประเมิน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ดอกเบี้ยนโยบายอาจจะปรับลดเร็วขึ้นในเดือนเม.ย. และปรับลดเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยอีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 รวมถึงมาตรการการคลังที่จะออกมาเพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าว ท่ามกลางข้อจำกัดพื้นที่การคลังที่มากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาครัฐควรเร่งสร้างความชัดเจนทั้งข้อเสนอการเจรจาผ่อนปรนเงื่อนไขทางการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ตลอดจนการประเมินผลกระทบและแนวทางเยียวยาภายใต้กรณีต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนและความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )