ในยุคดิจิทัลที่ข้อพิพาทระหว่างประชาชนเกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย การปะทะกันของชาวเน็ตไทยกับกัมพูชาดูจะดรามามากกว่าเพื่อนบ้านอื่นใด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการ “เคลมวัฒนธรรม” ไล่มาตั้งแต่เรื่องกีฬาอย่าง “กุน ขแมร์” มวยเขมรในซีเกมส์ หรือคนดังอย่าง ลิซ่า แบล็กพิงค์ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งชาวโซเชียลกัมพูชาบอกว่ามีเชื้อสายเขมร
ไล่มาจนถึงเรื่องล่าสุด พรรคพลังประชารัฐจุดกระแสว่าไทยจะเสียเกาะกูด สืบเนื่องมาจาก MOU 44 ที่ไทยลงนามไว้ร่วมกับกัมพูชาตั้งแต่เมื่อปี 2544 ดรามาล่าสุดนี้แม้ว่าจะไม่ลุกลามใหญ่โตเท่ากรณีเขาพระวิหาร แต่ก็ถูกปั่นกระแสวนอยู่ในโซเชียลมาตั้งแต่ต้นเดือน ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีเหตุการณ์ที่ชาวโซเชียลถล่มพรรคภูมิใจไทย หลังจากที่รายงานข่าวว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะไปจับมือประเทศกัมพูชาเพื่อเดินหน้าวัฒนธรรมผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ร่วมกัน จนเกิดทัวร์ลงอนุทิน และแฮชแท็ก #คัดค้านการใช้วัฒนธรรมร่วมกับเขมร ก็ติดเทรนด์ในเอกซ์
ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ชาวเน็ต 2 ประเทศเขม่นกันรุนแรงเป็นพิเศษ และอะไรบ้างที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งของปรากฏการณ์การ ‘เคลม’ หรือการแย่งชิงวัฒนธรรมของสองเพื่อนบ้าน ที่ดูเหมือนจะไม่มีวันจบสิ้น ประชาไทหาคำตอบเรื่องนี้กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิบดี บัวคำศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์กัมพูชาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิบดี บัวคำศรี
ทำไมไทยกับกัมพูชาชอบทะเลาะกัน
สำหรับปรากฎการณ์กระทบกระทั่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ธิบดีไม่คิดว่ามันเป็น “ความขัดแย้ง” เพราะอันที่จริงชาวไทยกับชาวกัมพูชาแค่กระทบกระทั่งกัน หรือเรียกอีกอย่างว่า “เหม็นหน้า” ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะว่ามีช่องทางในการที่จะปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น
อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์อธิบายเหตุปัจจัย 2 ส่วนที่อาจเป็นเหตุก่อดรามา อย่างแรกคือความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีต อย่างที่สองคือประสบการณ์และความรับรู้ (Opinion) ในปัจจุบัน ชาวไทยได้พบปะกับชาวกัมพูชาโดยตรงจากการเดินทางไปท่องเที่ยวหรือคนกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในไทย ซึ่งอย่างหลังนี้อาจทำให้เรามีความเข้าใจใหม่ต่อเพื่อนบ้าน แต่เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่มาแต่เดิมก็ยังคงอยู่
“ที่ทางหรือฐานะของกัมพูชาในประวัติศาสตร์ไทย คือผู้ร้าย แต่เป็นผู้ร้ายที่มีสถานะไม่เท่ากับพม่าซึ่งเป็นศัตรูที่อาจจะมีฐานะที่ทัดเทียมกันในแง่ของการแพ้หรือชนะ แต่กัมพูชาในทางประวัติศาสตร์มักจะถูกมองว่าเป็นพวกที่ชอบลอบกัด ฉวยโอกาสมาโจมตีในเวลาที่จะอยุธยาหรือกรุงเทพฯ อ่อนกําลังลงหรืออยู่ในช่วงที่กำลังติดศึกกับพม่า
ภาพหนึ่งที่มักจะยกขึ้นมาพูดถึง ก็คือกรณีของพระยาละแวกที่ยกทัพมาโจมตีอยุธยาในตอนที่อยุธยาติดศึกกับพม่า สุดท้ายพระนเรศวรก็ยกทัพไปปราบปรามพระยาละแวก นํามาซึ่งคําอธิบายหลายอย่าง ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันแล้วว่า กรณีการจับพระยาละแวกมาตัดหัวแลัวเอาเลือดมาล้างเท้าพระนเรศวร ไม่เคยเกิดขึ้น”
ตัวอย่างข้อความในเอกซ์เกี่ยวกับประเด็นเคลมวัฒนธรรม
กัมพูชามองไทยอย่างไร
ธิบดีตอบคำถามนี้โดยอ้างถึงงานวิจัยของ ดร.ใกล้รุ่ง อามระดิษ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับไทยในทัศนะกัมพูชา ซึ่งหลักฐานที่นำมาศึกษาคือหนังสือที่ชื่อว่า “คำสอนของตามาส” หรือ บ็อณฎำตาเมียะฮ์ (บณฺฎำตามาส-คำสั่งตาเมียะฮ์)
หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และถูกแจกจ่ายเป็นจำนวนมากภายใต้การสนับสนุนของฝรั่งเศส เนื้อหาคือมุมมองและประสบการณ์ของตามาส ซึ่งเป็นชายแก่คนหนึ่งในสมัยสงครามอานามสยามยุทธ์ที่สยามและญวนยกทัพมาใช้กัมพูชาเป็นสนามประลองยุทธ์ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้บรรดาผู้คนในกัมพูชา
ในหนังสือเล่มนี้ สยามถูกมองว่าเป็นพวกที่เข้ามากอบโกยหาผลประโยชน์ จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามา ทำให้สยามไม่กล้าเข้ามารุกราน กัมพูชาจึงกลับสู่ความสงบและรุ่งเรือง กล่าวได้ว่าทัศนะที่กัมพูชามีต่อไทยส่วนหนึ่งสร้างขึ้นมาจากชาวฝรั่งเศส ฝรั่งเศสหยิบยกเอาเรื่องนี้มาขับเน้นและผลิตซ้ำ จนทําให้กลายเป็นภาพหนึ่งของความเข้าใจที่ชาวกัมพูชามีต่อไทย
ปรากฏการณ์การเคลมสะท้อน ‘ชาตินิยมทางวัฒนธรรม’
ธิบดีแสดงทัศนะว่าโดยส่วนตัวแล้วรู้สึกไม่ค่อยชอบการใช้คำว่า “เคลม” หรือการล้อเลียนแบบเหมารวมอย่างคำว่า “เคลมโบเดีย” ที่จะสื่อว่าชาวเขมรเป็นพวกชอบมาเคลมวัฒนธรรมไทยไปเป็นสมบัติของกัมพูชา เนื่องจากมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยกับกัมพูชามีลักษณะผสมผสานและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันมาตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐชาติ ทว่าการเกิดขึ้นของรัฐชาติของกัมพูชาซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสที่มีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างความเป็นชาติกัมพูชาขึ้นมา ได้กลายมาเป็นจุดตัดสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างชัดเจน และเมื่อมีการขีดเส้นแบ่ง การเคลมข้ามเส้นจึงเกิดขึ้น
แต่ว่าเมื่อพูดถึงการเคลม หรือ การแย่งชิงสิ่งที่เรียกว่ามรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ หากมองให้ลึกลงไป เบื้องลึกของปรากฏการณ์นี้มี 2 เรื่องที่ทับซ้อนกันอยู่
หนึ่ง คือ มิติทางประวัติศาสตร์ ในแง่ที่ว่าใครคือเจ้าของหรือเป็นคนสร้างสรรค์วัฒนธรรมนั้นขึ้นมา
สอง คือ ความภาคภูมิใจในชาติว่ามรดกของชาติเราได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
ส่วนเรื่องของระดับความรุนแรงของดรามานั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคน “รู้สึก” กับเรื่องนั้นๆ มากน้อยเพียงใด
แม้แต่มีการเคลมวัฒนธรรมเกิดขึ้นจริง ก็ไม่ได้ทำให้วัฒนธรรมของเราหายไป ข้อกังวลที่พอฟังขึ้นอาจเป็น “ความรับรู้ของต่างชาติ” ต่อวัฒนธรรมไทยมากกว่า ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของการจัดการ การประชาสัมพันธ์ ทำการตลาด สร้างแบรนด์ดิ้งกันไป
ต่อมาในเรื่องของแนวคิดชาตินิยม ธิบดีอธิบายว่าสามารถแบ่งได้เป็นความชาตินิยมทางการเมือง และความชาตินิยมทางวัฒนธรรม ซึ่งประเด็นที่กำลังที่ชาวเน็ตไทยและกัมพูชาทะเลาะกันเป็นเรื่องของอย่างหลังเสียมากกว่า
“พูดอย่างสั้นที่สุดก็คือว่า วัฒนธรรมสร้างชาติ แล้วชาติก็เคลมตัวเองว่าเป็นเจ้าของวัฒนธรรม ดังนั้น วัฒนธรรมคือส่วนหนึ่งของความเป็นชาติ”
“อย่างไรก็ดี สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมนั้นสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชาติอื่นได้ด้วย แต่เมื่อพูดถึง “ชาติ” มักมีนัยยะถึงการขีดเส้นแบ่งที่ชัดเจน ว่านี่คือประเทศ ก. และนี่คือประเทศ ข. ดังนั้นแล้วจึงเกิดความรู้สึกว่าไม่สามารถแชร์วัฒนธรรมเหล่านี้ด้วยกันได้ แม้ว่าวัฒนธรรมนั้นจะมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกันก็ตาม”
โพสต์ในโซเชียลที่มีข้อความเกี่ยวกับการเคลมวัฒนธรรม
ตัวอย่างข้อความในเอกซ์เกี่ยวกับประเด็นเคลมวัฒนธรรม
ชาตินิยมเขมร มรดกตกทอดยุคอาณานิคม
“ชาตินิยมของกัมพูชามีแกนกลางอยู่บน ชุดความคิดและความเข้าใจทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่ฝรั่งเศสมีส่วนสําคัญในการสร้างขึ้น ในช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสปกครองกัมพูชาในฐานะเจ้าอาณานิคมและกัมพูชาในฐานะที่เป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส ในเวลานั้นสิ่งที่ฝรั่งเศสทำคือการสร้างวัฒนธรรมกัมพูชาขึ้นมา”
ธิบดีขยายความว่าคำว่า “สร้าง” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการสร้างปราสาทหินขึ้นมาใหม่จากความว่างเปล่า แต่เป็นการสร้างเรื่องเล่าและความหมายใหม่ให้กับปราสาทหินซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีมาแต่เดิม
“ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้ามา ปราสาทมีความสําคัญต่อชาวเขมรในอีกแบบหนึ่ง ในแง่ที่ว่าบางส่วนถูกแปลงให้กลายเป็นวัดในพุทธศาสนา บางส่วนกลายเป็นที่อยู่ของผีปู่ย่าตายายและที่อยู่ของบรรดาอํานาจศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่ฝรั่งเศสมองสิ่งเดียวกันในแบบที่ต่างออกไป ว่านี่คือพยานยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต ของผู้คนที่เคยมีอํานาจปกครองกัมพูชา และพื้นที่ที่อยู่นอกกัมพูชา”
“ชาติกัมพูชาที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นนั้นเคยเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ แผ่ขยายอำนาจออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะแต่กัมพูชาในปัจจุบันแต่ยังรวมไปถึงเวียดนาม ลาว เข้ามายังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลงไปถึงคาบสมุทรทางใต้ และสิ่งสำคัญที่จะเป็นประจักษ์พยานถึงความยิ่งใหญ่คือ ปราสาทหินและสิ่งที่อยู่ ณ ปราสาทหินนั้นด้วย” ธิบดีกล่าว
จุดเริ่มความหมั่นไส้ของคน 2 ชาติ
ในมุมมองของธิบดี การกระทบกระทั่งกันระหว่างชาวไทยและชาวกัมพูชาในแบบที่แผ่ขยายวงออกไปนั้นอาจอธิบายได้ว่ามีประเด็นเขาพระวิหารเป็นจุดตัดสำคัญ เพราะก่อนที่จะมีกรณีเขาพระวิหาร เราจะเห็นการกระทบกระทั่งกันในระดับรัฐต่อรัฐเสียมากกว่า ซึ่งอาจกระทบต่อผู้คนตามแนวชายแดนเป็นส่วนใหญ่
“หากย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1950 สิ่งที่เกิดขึ้นกับกัมพูชาก่อนหน้านั้นคือ กัมพูชากำลังต่อสู้เรียกร้องเอกราช ความสนใจของชนชั้นนำกัมพูชาจึงอยู่ที่ฝรั่งเศส ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนบ้านจึงไม่ใช่เรื่องหลัก หลังจากนั้นปัญหาไทยกับกัมพูชาเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อการเมืองในกัมพูชาเริ่มนิ่ง
กรณีของเขาพระวิหารนั้นเกิดประเด็นขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1950 มีการตัดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับกัมพูชาถึง 2 ครั้ง (พ.ศ. 2501 และ 2504) ก่อนที่ศาลโลกจะตัดสินให้เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา หลังจากเหตุการณ์นั้นเราจึงเริ่มเห็นการเข้ามามีส่วนร่วมของคน ดังจะเห็นได้จากการออกมาเดินขบวนเรียกร้องเขาพระวิหาร หรือการที่จอมพลสฤษดิ์ขึ้นปราศรัยผ่านวิทยุหลังจากที่รู้วาศาลโลกตัดสินว่าเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา”
กัมพูชาชูประเด็นชาตินิยม หวังผลเลือกตั้ง?
สำหรับฝั่งกัมพูชา หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีการหยิบเอาประเด็นในทางวัฒนธรรมขึ้นมาใช้เป็นประเด็นทางการเมืองในช่วงก่อนการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ เพื่อให้พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ได้รับชัยชนะ เช่น กรณีที่สื่อกัมพูชาเผยแพร่ข่าวอ้างว่า ‘กบ สุวนันท์’ ดาราไทยพูดว่ากัมพูชาขโมยนครวัดไปจากไทย จนนำมาซึ่งเหตุการณ์จลาจลเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชา
ธิบดีให้ทัศนะไว้ว่าโดยทั่วๆ ไปแล้ว กระแสชาตินิยมอาจถูกจุดขึ้นมาโดยใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง กล่าวคือนักการเมืองอาจจะไม่ใช่คนจุดประเด็นโดยตรง แต่ก็อาจฉวยใช้กระแสดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง
เขากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในกรณีของกัมพูชา ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างผลเลือกตั้งกัมพูชาปี 2556 กับกระแสชาตินิยมที่ถูกปลุกขึ้นมาในช่วงก่อนหน้านั้น กล่าวคือ เมื่อปี 2554 มีเหตุปะทะกันระหว่างทหารกัมพูชาและทหารไทยที่ชายแดนไทย–กัมพูชาบริเวณปราสาทเขาพระวิหารตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง ผ่านไป 2 ปีก็มีการเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคประชาชนกัมพูชาได้คะแนนเสียงลดลง เราจึงไม่สามารถฟันธงได้ว่าพรรคประชาชนกัมพูชาได้ประโยชน์จากกระแสชาตินิยมหรือไม่
ข้ามพ้นชาตินิยม เป็นไปได้ไหม?
ธิบดีกล่าวว่าการปะทะกันในโซเชียลชาวเน็ตไทยและกัมพูชาดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา ต่างฝ่ายต่างมอง มีความเชื่อกันคนละแบบ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องวัฒนธรรม ตั้งแต่เรื่องกุนขแมร์ โขน และเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้านั้น ซึ่งอาจไม่ได้สร้างความเสียหายในระดับที่น่ากังวลขนาดนั้น
แต่กระแสชาตินิยมจะนับว่าอันตรายเมื่อมีการหยิบฉวยไปใช้เป็นประเด็นทางการเมือง แต่อย่างดรามาเกาะกูดที่เป็นกระแสตั้งแต่ต้นเดือน ณ ขณะนี้ตนมองว่ายังไม่ได้น่ากังวลมากนัก แต่ถ้าในอนาคตมีการนำเรื่องนี้มาร้องเรียนกลั่นแกล้งกันทางกฎหมายจนส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ถ้าไปถึงจุดนั้นแหละจึงจะน่ากลัว
ส่วนประเด็นที่ว่าไทยกับกัมพูชาจะเลิกเขม่นกันได้ไหม ธิบดีกล่าวว่าสำหรับคนทั่วไปที่มีความเชื่อแบบใดแบบหนึ่งไปแล้ว การสลายอคติที่มีก็อาจจะเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นการจะไปถึงจุดที่ไม่กระทบกระทั่งกันเลยคงเป็นไปไม่ได้ หมายถึงว่าการถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียก็ยังควรมี แต่ต้องยอมรับว่าบางแพลตฟอร์มนั้นอาจไม่เหมาะสำหรับการถกเถียง
ทั้งนี้ ไทยกับกัมพูชามีจุดร่วมที่สามารถพัฒนาร่วมกัน เรายังคงต้องทำมาค้าขายกัน ในแง่ของการค้า ไทยส่งออกไปกัมพูชามากกว่านำเข้า ส่วนในด้านแรงงาน ไทยเองก็ต้องพึ่งพาคนงานกัมพูชาเป็นจำนวนมาก นี่คือจุดที่เราจะต้องอยู่ร่วมกันให้ได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิบดี บัวคำศรี
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )