ทำไมตาลีบันจึงขอความช่วยเหลือนานาชาติเพื่อต่อสู้ปัญหาโลกร้อนในประเทศ
Article records
- Writer, โคนุล คาลิโลวา, ซีเดต อากิฟกิซี และฟาริด ฮาซานอฟ
- Role, บีบีซี นิวส์ อาเซอร์ไบจาน
- Reporting from รายงานจากกรุงบากู, อาเซอร์ไบจาน
เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐบาลตาลีบันกลับมามีอำนาจในปี 2021 ที่อัฟกานิสถานได้ส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ โดยมีเป้าหมายที่จะขอความช่วยเหลือในการรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
รัฐบาลอัฟกานิสถานระบุว่าคาดหวังความช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้วในการดำเนินตามเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โรฮุลเลาะห์ อามีน หนึ่งในสมาชิกของคณะผู้แทนอัฟกานิสถาน ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี ภาคภาษาอาเซอร์ไบจานในกรุงบากู ระหว่างการประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (COP29) ว่าพวกเขาต้องการ “ร่วมมือ” กับประชาคมโลก
“เราคาดหวังให้ทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน เพราะ [การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ] เป็นปัญหาระดับโลก” อามีนกล่าว
“เราคาดหวังการจัดสรรเงินทุนจากประเทศพัฒนาแล้วและกลไกการเงินระดับโลก เพื่อให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดสามารถดำเนินโครงการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบได้”
Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ
Discontinue of เรื่องแนะนำ
ความเปราะบาง
อัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่เปราะบางที่สุดในโลกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามรายงานของสหประชาชาติ แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่คณะผู้แทนจากรัฐบาลตาลีบันเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว นับตั้งแต่รัฐบาลตาลีบันกลับมามีอำนาจในปี 2021 โดยได้เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ตามคำเชิญของเจ้าภาพอาเซอร์ไบจานที่เมืองบากู
รัฐบาลตาลีบันยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติ เนื่องจากข้อจำกัดด้านสิทธิสตรีที่ตาลีบันนี้กำหนด และตาลีบันเองก็ยังไม่ได้รับสิทธิในการเป็นตัวแทนของอัฟกานิสถานในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติอีกด้วย
สิ่งนี้ได้ทำให้อัฟกานิสถานแทบจะถูกตัดออกจากการประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าประเทศจะได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากอุทกภัยและภัยแล้งที่รุนแรง นอกจากนี้อัฟกานิสถานยังถูกจำกัดการเข้าถึงกลไกทางการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย
การประชุม COP29 ถือได้ว่าเป็นงานประชุมระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลตาลีบันเข้าร่วมตั้งแต่กลับมามีอำนาจ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลตาลีบันยังได้เข้าร่วมการประชุมที่สหประชาชาติจัดขึ้นในวาระเกี่ยวกับอัฟกานิสถานที่กาตาร์ และรัฐมนตรีจากตาลีบันได้เข้าร่วมเวทีการประชุมในจีนและเอเชียกลางในช่วงสองปีที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ในการสัมภาษณ์กับเอเอฟพี มาติอุล ฮัก คาลิส ประธานสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของอัฟกานิสถาน (NEPA) กล่าวว่าประเทศต้องการ “ส่งสาร” ไปยังประชาคมโลก
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก และมันไม่รู้จักปัญหาที่ข้ามพรมแดน” คาลิสซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของอัฟกานิสถานที่มีสมาชิกเดินทางมาร่วมประชุมที่กรุงบากูจำนวน 3 คน กล่าว
เมื่อถูกถามถึงประเด็นเรื่องเพศ คาลิสบอกกับเอเอฟพีว่า การดำเนินโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น “ส่งเสริม” สตรีเช่นกัน
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการครองชีพของอัฟกานิสถานอย่างมาก
น้ำท่วมฉับพลันได้คร่าชีวิตผู้คนหลายร้อยคนในปีนี้ และประเทศซึ่งพึ่งพาเกษตรกรรมอย่างมากแห่งนี้ ยังประสบกับภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
ชาวนาที่ยึดอาชีพเพาะปลูกเพื่อการยังชีพ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารที่หยั่งรากลึกขึ้น
เมื่อปีที่แล้ว สหประชาชาติระบุว่าประชากรราว 29.2 ล้านคน หรือมากกว่าสองในสามของประชากรทั้งประเทศอัฟกานิสถาน ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อความอยู่รอด
ที่มา BBC.co.uk