ทำไมสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าอาจถูกเพิ่มเป็นแหล่งมรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย

ที่มาของภาพ, Getty Photos

Article recordsdata

  • Author, สันจายา ดาคาล
  • Role, บีบีซี แผนกภาษาเนปาล
  • Reporting from รายงานจากลุมพินี ประเทศเนปาล

สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าในเมืองลุมพินี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ราบเทไรของเนปาล ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกมาตั้งแต่ปี 1997 แต่อีกไม่นานสถานที่แห่งนี้อาจถูกเพิ่มเป็นแหล่งมรดกโลกที่กำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย (World Heritage in Hazard)

วัดมายาเทวีเป็นศูนย์กลางของสถานที่แสวงบุญ ในวัดแห่งนี้มีศิลาจารึกภายในซึ่งระบุว่าเป็นสถานที่ที่ชาวพุทธเชื่อว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าเมื่อราว 2,600 ปีก่อน วัดแห่งนี้รายล้อมไปด้วยวิหารอีก 14 แห่ง ซึ่งสร้างโดยชาวพุทธจากหลายประเทศ รวมทั้งเกาหลีใต้และฝรั่งเศส อันแสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของพุทธศาสนาได้แผ่ไปไกลเพียงใด

“ผู้คนทั่วโลกมาที่นี่เพื่อแสวงหาความสุขอันเงียบสงบชั่วขณะ” เคนโป เพอร์ปา เชอร์ปา พระสงฆ์จากสิงคโปร์สนทนากับบีบีซี แผนกภาษาเนปาล และบอกด้วยว่า การมาเยือนวัดแถบนี้ในช่วงฤดูร้อนอาจเป็นเรื่องท้าทาย

“ใครเข้าไปในวัดอาจจะอยู่ได้ไม่กี่นาที เพราะด้านในอากาศร้อนมาก อับชื้น และหายใจไม่ออก”

สภาพที่เกิดขึ้นภายในวัดมายาเทวีเป็นหนึ่งในสาเหตุที่องค์การยูเนสโกเสนอให้เพิ่มลุมพินีเป็นแหล่งมรดกโลกที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย โดยยูเนสโกบอกว่าการเสื่อมสภาพของพื้นที่ส่วนหลัก ๆ ในสถานที่แห่งนี้เป็น “สัญญาณเตือนว่าต้องมีการอนุรักษ์”

Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ

Cease of เรื่องแนะนำ

ที่มาของภาพ, Lumbini Constructing Belief

คำบรรยายภาพ, ภายในวิหารวัดมายาเทวีได้รับความเสียหายอย่างมากจากน้ำ

ตามเหตุผลขององค์การยูเนสโก ภัยคุกคามที่เกิดกับพื้นที่ของวิหารมายาเทวี คือ มลพิษทางอากาศ การพัฒนาเชิงพาณิชย์ ความเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นเขตอุตสาหกรรม และการบริหารจัดการพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่กำกับดูแลมรดกทางวัฒนธรรมของโลกแห่งสหประชาชาติตัดสินใจว่าจะให้เวลาแก่ทางการเนปาลอีกระยะเพื่อฟื้นฟูสถานที่แห่งนี้ โดยกำหนดไว้จนถึงวันที่ 1 ก.พ. ที่จะถึงนี้

หลังคารั่ว, มลพิษ และต้นกล้าที่เหี่ยวแห้ง

ในแต่ละปี สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มีผู้มาเยือนราว 1 ล้านคน แต่หลายคนบอกว่า พวกเขาผิดหวังจากการที่ต้องมาผจญกับมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยรอบ กลิ่นเหม็นจากขยะที่กองทับถม และพุ่มไม้ที่รกรุงรังในสวนที่มีน้ำขัง

“ทางการควรจัดให้มีแผนที่และข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว ตอนนี้เราแค่วิ่งจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งโดยไม่มีข้อมูลอะไรเลย” ประภาการ์ เรา นักท่องเที่ยวจากอินเดีย กล่าวกับบีบีซี

ไม่ได้มีแต่เพียงนักท่องเที่ยวเท่านั้นที่บอกว่าสิ่งต่าง ๆ สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ มาโนช ชวธารี คนขับแท็กซี่ในย่านนั้นยังแสดงความกังวล

“ผมรู้สึกโกรธกับการจัดการที่ไม่เหมาะสมที่นี่ ลองดูพวกขยะที่กลาดเกลื่อนไม่มีคนเก็บแถวนี้ดูสิ” เขากล่าวกับบีบีซี

สภาพของวัดมายาเทวีเสื่อมโทรมจากหลังคาที่รั่วซึมโดยน้ำได้รั่วไหลลงสู่พื้น ดังนั้น อิฐโบราณจึงเต็มไปด้วยเชื้อรา แม้กระทั่งต้นกล้าไม้ที่นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ปลูกไว้ระหว่างการเยือนเมื่อปีที่แล้วยังอยู่ในสภาพเหี่ยวเฉา

ที่มาของภาพ, Sanjaya Dahkal / BBC Nepali

คำบรรยายภาพ, บริเวณด้านนอกวิหารมายาเทวีมีน้ำท่วมขังอยู่ในระดับสูง

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโบราณสถานทางศาสนาแห่งนี้เกิดจากสภาพแวดล้อมที่เปียกชื้นจากการซึมเข้าไปของน้ำทั้งภายในและภายนอกของตัววิหารมายาเทวี ความเสียหายนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่องค์การยูเนสโกเสนอให้ขึ้นทะเบียนวัดมายาเทวีเป็นแหล่งมรดกโลกที่กำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย

ยูเนสโกยังกังวลเกี่ยวกับโครงการด้านการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สร้างเสร็จแล้ว รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงศาสนา และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสถานที่นี้

ในปี 2022 อาคารหอสมาธิและอนุสรณ์สถานที่สามารถรองรับผู้คนได้ 5,000 คน ได้เปิดตัวห่างจากวิหารมายาเทวีไปประมาณ 2 กิโลเมตร ยูเนสโกประเมินว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Prominent Universal Assign: OUV) ของวัดมายาเทวี ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้สถานที่แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก

และในปี 2014 รัฐบาลเนปาลได้ประกาศแผนโครงการอันทะเยอทะยานอีกโครงการหนึ่ง คือการพัฒนาเมืองลุมพินีให้เป็น “เมืองแห่งสันติภาพของโลก” (World Peace City) โดยมีการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาสนับสนุนมากกว่า 760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 26,296 ล้านบาท) แต่โครงการนี้ก็ยุติลงอย่างเงียบ ๆ หลังจากถูกคัดค้านอย่างกว้างขวางจากหลายฝ่าย รวมถึงองค์การยูเนสโก

“มีข้อกังวลว่าโครงการเมืองสันติภาพของโลกของเมืองลุมพินีจะส่งผลกระทบที่เลวร้ายกับคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล” รายงานของยูเนสโกเมื่อปี 2022 ระบุ

บัญชีแหล่งมรดกโลกคืออะไร ?

ลุมพินีเป็นหนึ่งในบัญชีแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกที่มีอยู่กว่า 1,000 แห่ง โดยอยู่ในสถานะเดียวกับอุทยานแห่งชาติเซเรนเกตีของแอฟริกาตะวันออก, พีระมิดของอียิปต์, แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟของออสเตรเลีย และโบสถ์ยุคบาโรกในแถบละตินอเมริกา มรดกโลกเหล่านี้เป็นมรดกโลกที่ถูกขึ้นทะเบียนในบัญชีด้านต่าง ๆ ทั้งความหลากหลายทางธรรมชาติที่โดดเด่นและมรดกโลกทางวัฒนธรรม

องค์การยูเนสโกให้นิยามของมรดกโลกว่า เป็นสถานที่ที่อยู่บนโลกซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลต่อมนุษยชาติ และด้วยเหตุนี้จึงได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลกเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม

ส่วนรายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตรายมีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งให้ชุมชนระหว่างประเทศทราบถึง สภาพที่ความโดดเด่นของมรดกโลกแห่งนั้นกำลังถูกคุกคาม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการแก้ไข โดยจนถึงปี 2024 มีมรดกโลกกว่า 50 แห่งที่อยู่ในบัญชีมรดกโลกที่กำลังตกอยู่ในสภาวะอันตราย

ในแถลงการณ์ที่ยูเนสโกส่งให้กับบีบีซีมีใจความว่า การได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่อยู่ในภาวะเสี่ยงภัย เป็นการกระตุ้นให้มีการดำเนินการอนุรักษ์ในระดับนานาชาติ

“มันกระตุ้นให้มีการพัฒนาแผนปฏิบัติการเฉพาะที่เปิดประตูให้ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากยูเนสโกและพันธมิตร แต่เมื่อภัยคุกคามได้รับการแก้ไขแล้ว สถานที่นั้นสามารถถูกนำออกจากรายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในสถานะอันตรายได้” ยูเนสโก ระบุในแถลงการณ์

ที่มาของภาพ, Sanjaya Dahkal / BBC Nepali

คำบรรยายภาพ, ขยะที่เกลื่อนกลาดอยู่ที่บริเวณประตูทางเข้าด้านหน้าลุมพินี

แต่สำหรับพระซาการ์ ธรรมะ เจ้าอาวาสวัดราชกียาพุทธะในเขตลุมพินี มองว่าการนำลุมพินีเข้าสู่รายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตรายจะเป็น “ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด”

“มันจะเป็นเรื่องที่น่าอับอายของชาวพุทธกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก ที่สถานที่ประสูติขององค์พระศาสดาพวกเขาเสี่ยงจะถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย” พระธรรมะกล่าวกับบีบีซี

อย่างไรก็ตาม การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่ตกอยู่ในสภาวะอันตรายไม่ได้หมายความว่า ลุมพินีจะถูกถอดออกจากการเป็นมรดกโลก

“สถานที่ที่จะถูกนำออกจากรายชื่อมรดกโลกก็ต่อเมื่อมันสูญเสียคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลอย่างเด็ดขาดเท่านั้น แต่สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก ตั้งแต่ปี 1972 เป็นต้นมา เกิดขึ้นกับมรดกโลกเพียง 3 แห่งเท่านั้น” ยูเนสโก กล่าวกับบีบีซี

เกิดอะไรขึ้นที่ลุมพินี ?

เมื่อปี 1978 องค์การสหประชาชาติและรัฐบาลเนปาลได้อนุมัติแผนพัฒนาพื้นที่ลุมพินี ซึ่งประกอบด้วยการบูรณะวัดมายาเทวี การก่อสร้างเขตพื้นที่สงฆ์ และจัดตั้งหมู่บ้านใหม่โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้าง “บรรยากาศทางจิตวิญญาณ ความสงบสันติสุข ภราดรภาพ และปราศจากความรุนแรงใด ๆ “

แต่หลังจากพยายามเสนอชื่อลุมพินีเป็นมรดกโลกไม่สำเร็จสองครั้ง ในที่สุด ลุมพินีก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1997

“พวกเราร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับยูเนสโกตอนที่ร่วมกันบูรณะวัดมายาเทวีขึ้นมาใหม่” บาซันต์ บิดารี อดีตหัวหน้านักโบราณคดีของลุมพินี กล่าว

กอช ปราสาด อาชารยา อดีตหัวหน้ากรมโบราณคดีของรัฐบาลเนปาล ก็มีส่วนร่วมในความพยายามที่จะทำให้ลุมพินีได้รับสถานะเป็นมรดกโลกเช่นกัน

“แต่อีกหลายปีต่อมา ผมรู้สึกว่า เราไม่ให้ความสำคัญและจริงจังมากพอต่อการบำรุงรักษาและดูแลมัน” เขากล่าวกับบีบีซี

ทางการได้ดำเนินการทางการทูตเพื่อป้องกันไม่ให้ยูเนสโกเพิ่มลุมพินีเป็นมรดกโลกที่กำลังอยู่ในสภาวะเสี่ยงภัย แต่ อาชารยากล่าวว่า เขายังไม่เห็น “ความจริงจังที่จำเป็นในการตอบสนองต่อความกังวลของยูเนสโก” ก่อนกำหนดเส้นตายในเดือน ก.พ.

ทว่าปัญหาพื้นฐานก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเช่นกัน

“แทนที่จะเลือกผู้เชี่ยวชาญหรือคนที่มีความสามารถเหมาะสมมาเป็นผู้นำโครงการลุมพินี ดีเวลลอปเมนต์ ทรัสต์ (LDT) เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ลุมพินี รัฐบาลดูเหมือนจะตั้งใจเลือกผู้ได้รับการแต่งตั้งที่อาจไม่มีความสามารถเพียงพอในการอนุรักษ์มรดกโลกเข้ามาดูแล” ดีพ กุมาร์ อุปธยา สมาชิกสภาและอดีตรัฐมนตรีวัฒนธรรมเนปาล บอกกับบีบีซี

“มันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เราจำเป็นต้องแน่ใจว่า ความศักดิ์สิทธิ์จะถูกรักษาไว้อย่างครบถ้วนทุกประการ ผู้เกี่ยวข้องต้องระวังเป็นพิเศษไม่ให้มีเรื่องการทุจริตในสถานที่แห่งความศรัทธาทุกแห่ง”

“เรามุ่งมั่นที่จะแก้ไขสิ่งที่เป็นข้อกังวล เพราะมันเกี่ยวข้องกับชื่อเสียงของชาติ” เขากล่าว

หน่วยงานบริหารพื้นที่ลุมพินีที่ชื่อว่า ลุมพินี ดีเวลลอปเมนต์ ทรัสต์ (LDT) ได้ทำงานร่วมกับยูเนสโกเพื่อแก้ไขปัญหาแล้วบางส่วน

ลาร์คิล ลามะ ประธานฝ่ายบริหาร LDT ระบุว่า พวกเขาได้เชิญผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกมาร่วมบูรณะและทำนุบำรุงพื้นที่ด้วยการใช้วัสดุทางเคมีมาใช้ปกป้องอิฐโบราณจากเชื้อรา

“เราดำเนินการแก้ไขในระยะแรกเพื่ออุดรอยรั่วซึมในส่วนของตัววัด” เขากล่าวกับบีบีซี

ลุมพินีต้องได้รับการ “ปกป้องในทุกวิถีทาง” มิดารี อดีตหัวหน้านักโบราณคดีของลุมพินี ซึ่งใช้เวลากว่า 40 ปีในการพยายามอนุรักษ์สถานที่นี้ กล่าวกับบีบีซีโดยมีน้ำตาคลอในดวงตาของเขา

“มิฉะนั้น มันจะคงอยู่ไม่ได้”