นักวิเคราะห์เตือนระวังโลกปั่นป่วน หลังทรัมป์ละทิ้งรากฐานอำนาจเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ที่มาของภาพ : Getty Shots

Article files

  • Creator, ไฟซาล อิสลาม
  • Characteristic, บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เพิ่งสร้างกำแพงยักษ์ขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่ง ซ้ำร้ายเขายังคิดจะให้คนอื่นเป็นผู้จ่ายค่าก่อสร้างกำแพงนี้อีกครั้ง เหมือนกับตอนที่สร้างกำแพงกั้นแนวพรมแดนเพื่อขัดขวางผู้อพยพเมื่อหลายปีก่อน อย่างไรก็ตาม กำแพงยักษ์แห่งใหม่ที่ว่านี้คือกำแพงภาษี ซึ่งสินค้าที่นำเข้ามาในสหรัฐฯ เกือบทุกชนิด ต้องถูกจัดเก็บในอัตราที่สูงลิ่วอย่างน้อย 10% โดยทรัมป์หวังว่ากำแพงเศรษฐกิจที่มองไม่เห็น จะช่วยเก็บรักษาการลงทุนและการจ้างงานไว้ภายในประเทศได้

เมื่อพิจารณาถึงบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว กำแพงภาษีที่สูงลิ่วนี้ได้นำพานโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้ย้อนยุคกลับไปถึงหนึ่งศตวรรษสู่สมัยของการใช้นโยบายกีดกันทางการค้า (protectionism) ที่เน้นปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศตนเองเป็นหลัก ความเปลี่ยนแปลงแบบกลับหลังหันนี้ ทำให้สหรัฐฯ ดีดตัวเองออกพ้นจากแนวทางของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำเจ็ดชาติ (G7) และกลุ่มประเทศ G20 ไปไกลลิบ ซ้ำยังก้าวถอยหลังไปสู่นโยบายหารายได้เข้ารัฐด้วยการเน้นเก็บภาษีอากรแบบโบราณ เหมือนกับประเทศอย่างเซเนกัล, มองโกเลีย, และคีร์กีซสถาน

สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่แค่การที่สหรัฐฯ เปิดฉากสงครามการค้ากับทั้งโลก หรือเพียงแค่ก่อความปั่นป่วนให้ตลาดหุ้นตกร่วงแบบกราวรูดเท่านั้น มหาอำนาจฝ่ายโลกเสรียังหันหลังให้กับกระบวนการโลกาภิวัตน์ (globalization) อย่างแน่วแน่ชนิดไม่เหลียวกลับไปมอง แม้อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองนี้ จะเป็นแนวคิดที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนและเชิดชูมาโดยตลอด ซ้ำยังเคยได้ผลกำไรและผลประโยชน์อื่น ๆ อย่างงาม จากกระบวนการโลกาภิวัตน์ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

ทรัมป์ได้ประกาศข่าวการตั้งกำแพงภาษีครั้งใหญ่ในสวนกุหลาบของทำเนียบขาว โดยนอกจากจะเผยถึงแผนการใหม่ทางเศรษฐกิจแล้ว เขายังใช้สมการที่เป็นหลักคิดเดียวกัน สละทิ้งรากฐานของระบบเศรษฐกิจและการทูตแบบดั้งเดิมของสหรัฐฯ ให้กลายเป็นอดีตไปด้วย

วิวาทะครั้งใหญ่ว่าด้วยการค้าเสรี

ระหว่างการแถลงข่าวข้างต้น ผู้นำสหรัฐฯ ได้เอ่ยถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในปี 1913 หลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ โดยมีการจัดเก็บภาษีเงินได้เข้ารัฐบาลกลางเป็นครั้งแรก รวมทั้งปรับลดอัตราภาษีศุลกากรลงอย่างมาก

เรื่องแนะนำ

เรื่องแนะนำ

แต่ก่อนจะถึงจุดเปลี่ยนในปี 1913 ดังกล่าว รัฐบาลกลางสหรัฐฯ พึ่งพาการจัดเก็บภาษีศุลกากรเป็นรายได้หลักมายาวนาน นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศเป็นต้นมา ซ้ำยังดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าอย่างเปิดเผย ตามกลยุทธ์ที่วางไว้โดยอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน รัฐมนตรีคลังคนแรกของประเทศ

บทเรียนพื้นฐานที่ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ได้จากการศึกษาประวัติศาสตร์ นั่นก็คือการตั้งกำแพงภาษีในระดับสูง ทำให้สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ได้เป็นครั้งแรก โดยไม่ต้องอาศัยการเก็บภาษีเงินได้เข้ารัฐบาลกลางเลย

อย่างไรก็ตามที่อีกฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก สหราชอาณาจักรได้ใช้ทฤษฎีการค้าตามความได้เปรียบสัมพัทธ์ (comparative benefit) หรือที่บางคนเรียกว่าทฤษฎีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งคิดค้นขึ้นเมื่อปี 1817 โดยเดวิด ริคาร์โด นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ มาเป็นหลักการเบื้องหลังที่ช่วยผลักดันกระบวนการโลกาภิวัตน์และการค้าเสรี

แม้ทฤษฎีดังกล่าวจะเขียนอธิบายออกมาเป็นสมการที่ดูยุ่งยากซับซ้อน แต่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า แต่ละประเทศมีความถนัดในการผลิตสินค้าและบริการที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่และความเชี่ยวชาญของประชากรในแต่ละประเทศ ดังนั้นทั้งโลกจะสามารถได้ผลประโยชน์ร่วมกัน หากทุกประเทศทำการผลิตสิ่งที่ตนเชี่ยวชาญที่สุด และทำการค้าระหว่างกันอย่างเสรี

ที่มาของภาพ : Reuters

บทเรียนพื้นฐานที่ผู้นำสหรัฐฯ ได้จากการศึกษาประวัติศาสตร์ นั่นก็คือการตั้งกำแพงภาษีในระดับสูง ทำให้สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ได้เป็นครั้งแรก

ปัจจุบันหลักการนี้ยังคงเป็นรากฐานแห่งนโยบายเศรษฐศาสตร์การเมืองของสหราชอาณาจักร และสำหรับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น ส่วนใหญ่ก็ยังคงเชื่อมั่นในทฤษฎีการค้าตามความได้เปรียบสัมพัทธ์อยู่ เนื่องจากมันคือแก่นภูมิปัญญาที่ขับเคลื่อนกระบวนการโลกาภิวัตน์นั่นเอง

แต่ถึงกระนั้น ความเคลื่อนไหวล่าสุดได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แท้จริงแล้วสหรัฐฯ มีความลังเลสงสัยต่อแนวคิดดังกล่าวแอบแฝงอยู่มาโดยตลอด ทำให้ไม่เคยตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายทางเศรษฐกิจ จากการกีดกันทางการค้ามาเป็นการเปิดเสรีตามแนวคิดโลกาภิวัตน์อย่างเต็มตัว โดยจะเห็นได้จากตัวเลขประมาณการที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) สร้างขึ้นจากสมการที่วาดฝันอย่างสวยหรู และถูกนำเสนอบนแผ่นป้ายประกอบการแถลงข่าวของทรัมป์ เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ก่อน

หลักการและเหตุผลเบื้องหลัง “ภาษีตอบโต้”

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น “ภาษีต่างตอบแทน” (reciprocal tariff) หรืออัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ เตรียมจัดเก็บเพื่อเป็นมาตรการตอบโต้อัตราภาษีที่ประเทศต่าง ๆ จัดเก็บกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ แต่ตัวเลขสูงลิบลิ่วน่าตกใจที่ทรัมป์นำเสนอในการแถลงข่าวนั้น ไม่ได้ใกล้เคียงกับอัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศเหล่านั้นประกาศเอาไว้เลย

การปรับอัตราภาษีศุลกากรในครั้งนี้ ทางทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชี้แจงว่า ได้คิดรวมเอาค่าเสียโอกาสจากระบบบริหารและราชการที่ไร้ประสิทธิภาพของประเทศเหล่านั้น รวมทั้งค่าเสียเปรียบจากการใช้เล่ห์กลควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามใจชอบเอาไว้ด้วย

แต่อันที่จริงแล้ว สมการซับซ้อนที่สหรัฐฯ ใช้ปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากร เป็นเพียงวิธีวัดขนาดการได้เปรียบดุลการค้าที่แต่ละประเทศมีกับสหรัฐฯ เท่านั้น โดยนำตัวเลขการขาดดุลของสหรัฐฯ มาหารด้วยจำนวนสินค้าส่งออกที่ประเทศนั้นส่งมาจำหน่าย

ก่อนการแถลงข่าวไม่กี่ชั่วโมง เจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวผู้หนึ่งได้อธิบายต่อสื่อมวลชนโดยไม่ปิดบังว่า “อัตราภาษีศุลกากรใหม่เหล่านี้ ถูกปรับขึ้นให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศด้วยการคำนวณของสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ แบบจำลองที่ใช้ในการคำนวณ มาจากแนวคิดพื้นฐานเรื่องการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเกิดจากผลกระทบโดยรวมของแนวปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลาย พูดง่าย ๆ ก็คือ ผลรวมของการโกงทั้งหมด”

ที่มาของภาพ : Shutterstock

สหรัฐฯ มีเป้าหมายในระยะยาว มุ่งปรับลดการขาดดุลการค้าถึงกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้เหลือศูนย์

ทางทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังกล่าวย้ำว่า ประเด็นปัญหาดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง พวกเขามองว่าการที่ประเทศต่าง ๆ ขายสินค้าให้สหรัฐฯ มากกว่าที่สหรัฐฯ ขายให้กับประเทศเหล่านั้น แท้จริงแล้วก็คือการโกงที่สมควรถูกลงโทษด้วยการขึ้นอัตราภาษีตอบโต้ ซึ่งอัตราภาษีศุลกากรใหม่นี้ถูกคำนวณมาเพื่อปรับสมดุลการค้านั่นเอง

นี่คือหลักการและเหตุผลเบื้องหลังการตั้งกำแพงภาษีรอบล่าสุดของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่เกาะเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเพนกวินและไม่มีมนุษย์ไปเยือนมานานกว่าสิบปีแล้ว เรื่องเหลือเชื่อดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า วิธีการคิดคำนวณอัตราภาษีต่างตอบแทนเพื่อแก้ไขดุลการค้านี้ น่าจะมีความผิดพลาดบางอย่าง

ในระยะยาวสหรัฐฯ มีเป้าหมายมุ่งปรับลดการขาดดุลการค้า ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งหมดกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งปรับลดตัวเลขการขาดดุลกับประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด ให้ลดลงเหลือศูนย์ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้จงได้ ดังนั้นสมการที่ใช้คำนวณอัตราภาษีตอบโต้ จึงมุ่งเล่นงานประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงอัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศเหล่านั้นจัดเก็บจริงกับสินค้าจากสหรัฐฯเลย ส่งผลให้ประเทศที่ยากจนและประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่หลายแห่ง หรือแม้แต่หมู่เกาะเล็ก ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องต้องพลอยรับเคราะห์ไปด้วย

เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง ดุลการค้าและอัตราภาษีศุลกากรนั้นเป็นคนละเรื่องที่แทบจะไม่เกี่ยวข้องกัน แม้จะมีความเชื่อมโยงทับซ้อนกันอยู่บ้างในบางแง่มุมก็ตาม อันที่จริงแล้ว สาเหตุที่ประเทศใดประเทศหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบดุลการค้านั้น มาจากปัจจัยหลากหลายประการ ทั้งยังไม่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่ชัดเจนมาช่วยยืนยันว่า เหตุใดตัวเลขดุลการค้าเหล่านี้จึงควรจะลดลงเหลือศูนย์ เพราะพื้นฐานของการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน ยืนอยู่บนหลักการค้าตามความได้เปรียบสัมพัทธ์ ซึ่งแต่ละประเทศที่มีทรัพยากรและความถนัดไม่เหมือนกัน ต่างก็ผลิตสินค้าและให้บริการที่แตกต่างกันออกไป

ทว่าสหรัฐฯ ดูเหมือนจะไม่เชื่อถือในหลักการดังกล่าวอีกต่อไปแล้ว แม้ว่าในความเป็นจริงสหรัฐฯ เองคือผู้ได้เปรียบดุลการค้าสูงสุดของโลกในภาคการบริการหลากหลายด้าน ตัวอย่างเช่นการเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน และบริการเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ แต่ทางทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลับไม่นำตัวเลขสถิติในส่วนนี้มาคิดรวมในการคำนวณอัตราภาษีศุลกากรใหม่

แรงกระแทกจากจีนและปรากฏการณ์ระลอกคลื่น

รองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ ของสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมาว่า ในสายตาของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันแล้ว หลักการโลกาภิวัตน์นั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะแนวคิดที่เชื่อมั่นว่า “ประเทศร่ำรวยจะขยับขึ้นไปสู่การผลิตระดับสูงในห่วงโซ่มูลค่า (price chain) ในขณะที่ประเทศซึ่งยากจนกว่า จะผลิตสินค้าและบริการในระดับพื้นฐาน” ไม่ปรากฏเป็นจริงตามที่ทฤษฎีการค้าตามความได้เปรียบสัมพัทธ์ทำนายไว้ โดยประเด็นนี้เห็นได้เด่นชัดอย่างยิ่งในกรณีของจีน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ผลักดันให้สหรัฐฯ ถอยห่างจากอุดมการณ์โลกาภิวัตน์

ด้วยเหตุนี้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่สหรัฐฯ ยึดถือในปัจจุบัน จึงไม่ใช่แนวคิดของเดวิด ริคาร์โด อีกต่อไป แต่กลับเป็นทรรศนะของเดวิด ออเทอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์หรือเอ็มไอที (MIT) ซึ่งเป็นคนแรกที่บัญญัติคำศัพท์ “แรงกระแทกจากจีน” (China shock)

ย้อนไปเมื่อปี 2001 ในขณะที่ผู้คนยังคงตกตะลึงกับเหตุก่อการร้ายสะเทือนโลก 11 ก.ย. จีนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งส่งผลให้สินค้าจีนเข้าถึงตลาดผู้บริโภคชาวอเมริกันได้อย่างเสรีเกือบทั้งหมด แต่ในเวลาต่อมา เหตุการณ์นี้ได้ส่งผลเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจโลกไปอย่างมาก

ในตอนแรกเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขยายตัวเติบโตขึ้น พร้อมกับการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของชาวอเมริกัน บริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐฯ มีผลกำไรเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดหลักทรัพย์ก็เฟื่องฟูอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์เหล่านี้มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในประเทศจีน ซึ่งผู้คนในชนบทอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาทำงานในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงงานแถบชายฝั่งทะเลที่ผลิตสินค้าส่งออกราคาถูกให้กับผู้บริโภคชาวอเมริกัน

สถานการณ์ข้างต้นถือเป็นตัวอย่างที่ดีของหลักการค้าตามความได้เปรียบสัมพัทธ์ เพราะในขณะที่จีนสามารถกอบโกยรายได้ไปหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผลกำไรเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ถูกนำกลับมาลงทุนในสหรัฐฯ ในรูปของการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งช่วยตรึงอัตราดอกเบี้ยให้คงอยู่ในระดับต่ำ

ที่มาของภาพ : Getty Shots

แม้ทรัมป์จะบอกว่าการค้าเสรีในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แท้จริงแล้วคือ “การปล้นชิงและข่xขืxย่ำยี” แต่รัฐบาลสหรัฐฯ กลับไม่นำเสนอข้อเท็จจริงในประเด็นนี้อย่างรอบด้าน

แม้จะดูเหมือนสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้า แต่ในขณะที่ชาวอเมริกันจำนวนมากร่ำรวยขึ้นจากสินค้าราคาถูก สิ่งที่ต้องสูญเสียไปคืออุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องพ่ายแพ้อย่างหมดรูปให้กับเอเชียตะวันออก

การคำนวณของเดวิด ออเทอร์ ได้เคยคาดการณ์ไว้ว่า แรงกระแทกจากจีนจะทำให้ภายในปี 2011 ชาวอเมริกันจะต้องสูญเสียตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมไปถึง 1 ล้านตำแหน่ง รวมทั้งสูญเสียตำแหน่งงานในทุกภาคของการผลิตและการบริการไปถึง 2.4 ล้านตำแหน่ง โดยจะส่งผลกระทบรุนแรงเป็นพิเศษต่อภาคใต้ของสหรัฐฯ รวมทั้งภูมิภาค “แถบสนิม” (Rust Belt) ซึ่งเคยเป็นแหล่งผลิตเหล็กกล้าในทางตะวันออกเฉียงเหนือ และในทางตอนกลางติดชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของประเทศ

ผลกระทบจากเหตุดังกล่าว ยังทำให้อัตราค่าแรงและเงินเดือนของชาวอเมริกันแทบจะไม่ขยับขึ้นมานานหลายปี ออเทอร์ยังได้เผยถึงผลการวิเคราะห์ใหม่ล่าสุดของเขาเมื่อปีที่แล้วว่า แม้รัฐบาลของทรัมป์ในสมัยแรกจะพบอุปสรรคในการดำเนินนโยบายตั้งกำแพงภาษี ซ้ำยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยรวมทางเศรษฐกิจน้อยมาก แต่นโยบายดังกล่าวของทรัมป์ทำให้พรรคเดโมแครตสูญเสียฐานเสียงในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมไปอย่างมาก จนทรัมป์ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลามในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020

นั่นคือที่มาของภาพการเฉลิมฉลองกำแพงภาษีใหม่ในทำเนียบขาว ที่เหล่าคนงานในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ รวมทั้งคนงานในอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเข้าร่วม โดยวาดฝันว่าตำแหน่งงานจำนวนมหาศาลจะหวนกลับคืนมาในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ

เป้าหมายนี้มีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง เพราะคำขู่ที่ทรัมป์บอกกับบริษัทต่างชาติให้ย้ายฐานการผลิตมาอยู่ในสหรัฐฯ หากไม่ต้องการจ่ายภาษีศุลกากรในอัตราสูงลิบลิ่ว ผนวกกับมาตรการจูงใจที่อดีตประธานาธิบดีไบเดนเคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ อาจร่วมกันผลักดันให้บังเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมได้ไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตาม การที่ทรัมป์บอกว่าการค้าเสรีในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แท้จริงแล้วคือ “การปล้นชิงและข่xขืxย่ำยี” แต่รัฐบาลสหรัฐฯ กลับไม่นำเสนอข้อเท็จจริงในประเด็นนี้อย่างรอบด้าน ทั้งยังส่อแววว่านโยบายตั้งกำแพงภาษีนี้ อาจไม่ได้ผลกับทุกภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งกับทุกกลุ่มประชากรในทุกภูมิภาคของสหรัฐฯ เสมอไป

อันที่จริงแล้วภาคการบริการของสหรัฐฯ นั้นเฟื่องฟูมาก จนถึงขั้นครองความเป็นใหญ่เหนือประเทศใดในโลกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการทางการเงินที่ย่านวอลล์สตรีต ไปจนถึงภาคบริการทางเทคโนโลยีที่ซิลิคอนวัลเลย์ สินค้าสำหรับผู้บริโภคของสหรัฐฯ ใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งยวด ส่งตรงสินค้าของตนไปยังตลาดในเอเชียตะวันออก จนทำกำไรได้มหาศาลมาแล้ว

หากทำการประเมินในภาพรวม เศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้นถือว่ากำลังไปได้สวย แต่มีปัญหาอยู่บ้างตรงที่ไม่มีการกระจายความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจไปสู่ทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม ซึ่งสิ่งนี้เป็นผลมาจากทางเลือกทางการเมืองที่ชาวอเมริกันเป็นผู้ตัดสินใจเอง

สงครามการค้าทางสื่อโซเชียลครั้งแรกของโลก

แม้สหรัฐฯ จะเลือกปกป้องภาคอุตสาหกรรมของตนเอง ด้วยการบังคับใช้อัตราภาษีตอบโต้อย่างกะทันหัน แต่สหรัฐฯ อาจลืมไปว่า ประเทศอื่น ๆ และผู้บริโภคต่างชาติก็มีทางเลือกเป็นของตนเองเช่นกัน ซึ่งพวกเขาอาจเลือกไม่สนับสนุนกระแสเงินทุนและการค้าที่ทำให้สหรัฐฯ มั่งคั่งก็ได้

การที่หุ้นของบรรดาบริษัทบลูชิป (blue chip) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการขนาดยักษ์ที่หลักทรัพย์มีมูลค่าสูง พากันตกร่วงกราวรูดอยู่ในขณะนี้ เป็นเพราะนโยบายตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์ได้ทำลายกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทเหล่านี้ ซ้ำยังเสี่ยงจะทำให้ภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์สินค้าอเมริกันต้องเสื่อมเสียไปด้วย

ที่มาของภาพ : Shutterstock

รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันของประธานาธิบดีทรัมป์ มองว่ากระบวนการโลกาภิวัตน์ได้ล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง

จะว่าไปแล้วนี่คือสงครามการค้าทางสื่อโซเชียลครั้งแรกของโลก ดังจะเห็นได้จากกรณียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาที่ตกต่ำลงฉับพลัน รวมทั้งการต่อต้านสินค้าอเมริกันในประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบโต้กำแพงภาษีของทรัมป์ที่กำลังระบาดลุกลามไปทั่วโลก ซ้ำยังเป็นการตอบโต้ที่รุนแรงทรงพลัง ไม่แพ้อัตราภาษีต่างตอบแทนที่ทรัมป์เป็นฝ่ายกำหนดขึ้นมาก่อนเลย

บรรดาประเทศที่เป็นโรงงานผลิตสินค้าป้อนตลาดสหรัฐฯ อาจจับมือกันเป็นพันธมิตรเพื่อหาทางโดดเดี่ยวสหรัฐฯ ในทางการค้า ดังเช่นที่แคนาดาและสหภาพยุโรป (อียู) ได้เคยเตรียมหารือกัน จนทำให้ทรัมป์โมโหโกรธาอย่างยิ่งและขู่จะขึ้นภาษีศุลกากรให้สูงขึ้นไปอีกมาแล้ว

กฎของทฤษฎีเกมแห่งการค้านั้น มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ความน่าเชื่อถือ ซึ่งพลังอำนาจทางทหารและเทคโนโลยีที่ไร้เทียมทานของสหรัฐฯ ถือเป็นข้อได้เปรียบในเรื่องนี้ แต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการค้าโลก โดยใช้สูตรคำนวณที่คิดขึ้นตามใจชอบและหลักการที่ปราศจากความโปร่งใส มีแต่จะทำให้ประเทศอื่น ๆ คัดค้านต่อต้านและเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ

สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลเสียต่อตัวสหรัฐฯ เอง มูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำลงมากที่สุดในสหรัฐฯ ซึ่งส่อแววว่าอัตราเงินเฟ้อก็จะพุ่งขึ้นสูงที่สุดในสหรัฐฯ ด้วย ภาคการเงินที่วอลล์สตรีตก็กำลังคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้สูงกว่า 50% ที่สหรัฐฯ จะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในไม่ช้า

หลายคนจึงได้แต่หวังและสวดภาวนาว่า นโยบายตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์จะเป็นเพียงแผนชั่วคราว เพื่อมุ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนตัวลง และลดทอนยอดเงินกู้ต่างประเทศลงไปบ้าง ไม่ใช่เพื่อมุ่งทำสงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบกับทั้งโลก ซึ่งจะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายมหาศาลอย่างแน่นอนในอนาคต