ภาพปก: แรงงานก่อสร้างในประเทศไทย (ที่มา: หน่วยงานสื่อสาร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.))
ผู้ประกอบการร่วมค้านมติต่ออายุใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติ 24 ก.ย. 67 เพราะซับซ้อน ยุ่งยาก และราคาแพง แถมต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กระชั้น ด้านภาคประชาสังคม หวั่นแรงงานพม่าหลุดระบบอื้อ กรมการจัดหางาน รับหาทางออก
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2567 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) และเครือข่ายด้านแรงงาน ร่วมจัดเสวนาหัวข้อ “ชำแหละมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 กันยายน 2567 การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ” โดยได้ตัวแทนหลายภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม กรมการจัดหางาน และนักการเมือง มาร่วมสะท้อนปัญหามติคณะรัฐมนตรีต่ออายุแรงงานข้ามชาติ เมื่อ 24 ก.ย. 2567 ที่ได้เริ่มเอาระบบกึ่ง MOU เข้ามาใช้
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย
- อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)
- ปัญญารักษ์ โรเก้ องค์กร Dignity in work for all
- กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สหัสวัต คุ้มคง สส.พรรคประชาชน
- นิลุบล พงษ์พยอม กลุ่มนายจ้างสีขาว
- อรรถพันธ์ มาศรังสรรค์ ที่ปรึกษาด้านแรงงาน สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย
- จำนงค์ ทรงเคารพ ผู้แทนจากกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน MWG เกริ่นถึงภาพรวมมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา มีหลักสำคัญ 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การเปิดให้จดทะเบียน 4 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ทั้งเข้ามาใหม่ และหลุดออกจากระบบ 2. ต่ออายุแรงงานข้ามชาติตามมติ ครม.เดิม 18 ก.พ. 2568 3. ขยายเวลาการเปลี่ยนนายจ้าง 30 วัน เป็น 60 วัน และสุดท้าย 4. งดเว้นการแจ้งเข้าในกรณีการขออนุญาตทำงานครั้งแรก
สำหรับมติ ครม. 24 ก.ย.ที่ผ่านมา หรือเรียกง่ายๆ ว่ามติต่ออายุใบอนุญาตทำงาน 24 ก.ย. 2567 ได้หยิบแนวคิด MOU เข้ามาใช้ เพื่อให้แรงงานอยู่ในไทยได้นานกว่าเดิม โดยการขออนุญาตทำงานได้ครั้งละ 2 ปี และต่ออายุ 2 ปี แต่ในทางปฏิบัติเหมือนว่าจะยังมีปัญหาอยู่มากโข
ขั้นตอนยุ่งยาก เวลากระชั้น
อดิศร ฉายภาพขั้นตอน 9 ขั้นตอน สำหรับการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน โดยเริ่มจากยื่น namelist (บัญชีรายชื่อ) ผ่านช่องทางออนไลน์ให้กรมจัดหางาน จากนั้น กรมจัดหางานแต่ละท้องที่อนุมัติบัญชีรายชื่อ และให้นายจ้างเอาเอกสารไปยื่นที่สถานทูตประเทศต้นทาง สำหรับส่วนขยายของสถานทูตพม่า มีสำนักงานอยู่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
ต่อมา นายจ้างต้องเอาเอกสารจากประเทศต้นทางไปยื่นขอใบอนุญาตทำงานและตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชน และสุดท้ายต้องไปตรวจลงตราวีซ่าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยทั้งหมดต้องเสร็จภายใน 13 ก.พ. 2567 หรือมีระยะเวลาอย่างน้อย 43 วันทำการราชการ
ขั้นตอนการทำใบอนุญาตทำงานตามมติ ครม. 24 ก.ย. 2567
สิ่งที่น่ากังวลใจรอบนี้คือแรงงานพม่า เพราะมีจำนวนสูงถึง 2 ล้านกว่าคนที่ต้องทำเรื่องต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน
“หากพิจารณาจากแรงงานข้ามชาติพม่าที่ต้องต่ออายุ และต้องทำให้เสร็จก่อน 13 ก.พ. 2568 เฉลี่ยแล้วภาครัฐต้องดำเนินการตกวันละ 39,468 คน เกือบ 4 หมื่นคนต่อวัน แต่ถ้าประเทศต้นทางยังไม่เริ่มดำเนินการ ตัวเลขเฉลี่ยต่อวันจะเพิ่มขึ้นอีก”
“คำถามที่เป็นข้อกังวลใจแน่ๆ คือทันหรือไม่ และถ้าไม่ทันจะอย่างไร เพราะถ้าเกิดไม่ทัน หลัง 13 ก.พ. จะกลายเป็นผิดกฎหมายทันที” อดิศร กล่าว
ผู้ประสานงาน MWG เผยด้วยว่า ตอนนี้แนวโน้มแรงงานข้ามชาติพม่าอาจมีจำนวนมากขึ้น จากปัจจัยสำคัญคือมาตรการบังคับเกณฑ์ทหารของกองทัพพม่า โดยชายอายุ 18-35 ปีต้องรับราชการทหารเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี ปัจจัยดังกล่าวทำให้มีแนวโน้มว่าจะมีผู้ชายชาวพม่าอพยพเข้ามาในประเทศมากขึ้น 1.4 ล้านคนทีเดียว
“ถ้าเรายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเรื่องการต่ออายุคน 2 ล้านกว่าคน สิ่งที่จะเจอแน่ๆ ก็คือปัจจัยความเสี่ยงทั้งความมั่นคงของไทย ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องการพึ่งพาแรงงานในระยะยาว และก็สิ่งหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตคือ ที่เราบอกว่าเรามีแรงงานผิดกฎหมายเยอะ มันเป็นเพราะนโยบายของรัฐหรือไม่” อดิศร กล่าว
จำนวนแรงงานพม่าที่ต้องต่ออายุใบอนุญาตทำงาน
หวั่นข้อมูลส่วนบุคคลหลุดถึงกองทัพพม่า
อดิศร แสดงความกังวลด้วยว่า หากต้องดำเนินการในเวลากระชั้นอาจส่งผลให้แรงงานหลุดออกจากระบบ และด้านความปลอดภัยในชีวิต เพราะแรงงานข้ามชาติกังวลเรื่องติดต่อกับประเทศต้นทาง และความปลอดภัยในเรื่องการทำเอกสาร เพราะก่อนหน้านี้ ตอนที่นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ไปประชุม และได้พบนายพลทหารพม่ามินอ่องหล่าย สิ่งที่มินอ่องหล่ายขอคือให้ส่งข้อมูลแรงงานพม่าในประเทศไทยให้ แต่นายกฯ โยนให้กระทรวงแรงงานรับผิดชอบ และอีกอันก็คือ มีการออกแนวปฏิบัติจากประเทศต้นทางต่อบริษัทจัดส่งแรงงานว่า กรณีที่แรงงานเข้ามาในประเทศไทยครบ 2 ปีแล้ว สามารถถูกเรียกไปเป็นทหารได้ทันที
ระบบออนไลน์ล่ม ไปทำเรื่องเองก็เสียค่านายหน้า
นิลุบล ตัวแทนกลุ่มนายจ้างสีขาว และเป็นตัวแทนผู้ประกอบการรายกลาง-ย่อย กล่าวว่า เธอไม่เห็นด้วยกับมติ ครม. เมื่อ 24 ก.ย. 2567 เนื่องจากมีความยุ่งยาก และซับซ้อน
นิลุบล สะท้อนปัญหานายจ้างที่อยู่ในบริเวณพื้นที่วิกฤตน้ำท่วมภาคเหนือ และภาคใต้ ส่งผลให้นายจ้างได้รับผลกระทบ การเดินทางไปทำเรื่องต่ออายุแรงงานพม่ายากลำบาก ถนนถูกตัดขาดจากเหตุดินโคลนถล่ม อีกทั้ง ที่ตั้งส่วนขยายของสถานทูตมี 3 แห่งเท่านั้น คือ กทม. เชียงใหม่ และระนอง หากนายจ้างอยู่นอกพื้นที่ต้องเดินทางไกลเพื่อทำเรื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้มาในช่วงที่แรงงานพม่ากว่า 2 ล้านคนต้องต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และเวลาในการดำเนินการไม่ถึง 2 เดือนจึงมีคำถามจากนายจ้างรายย่อยว่าทำไมถึงเลือกใช้วิธีการนี้ในสถานการณ์เช่นนี้
“ผู้ประกอบการเกือบ 100% ที่เราลงแบบสอบถามไป ไม่สนับสนุนกับการทำมติ ครม.นี้” นิลุบล กล่าว
นอกจากนี้ ระหว่างไลฟ์สดออนไลน์ของประชาไท มีผู้รับชมเข้ามาตั้งคำถามด้วยว่าคนทำงานชาวพม่ามีทุกจังหวัด แต่ทำไมสำนักงานของสถานทูตมีแค่เพียง 3 จังหวัดเท่านั้น
อย่างไรก็ดี จำนงค์ ทรงเคารพ จากกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ทางกรมฯ พยายามอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่โดยนายจ้างสามารถยื่นบัญชีรายชื่อ (namelist) ผ่านระบบออนไลน์ และหากนายจ้างประสบปัญหาไม่สามารถทำเรื่องเองได้ สามารถมอบอำนาจให้นายหน้าทำเรื่องแทนได้
นายจ้างรายย่อยกุมขมับ ค่าใช้จ่ายเพิ่ม 2 เท่า
นอกจากความยุ่งยาก และซับซ้อน นิลุบล กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการยังมีราคาที่แพงมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน เธอยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายแรงงานกรรมกร เดิมทำบัตรชมพู สมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร อยู่ที่ 9 พันกว่าบาท แต่ต่ออายุใบอนุญาตทำงาน MOU แบบใหม่ ต้องใช้เงินสูงถึง 2.1 หมื่นบาทขึ้นไป โดยค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวม ‘ค่าคิวผี’ และอื่นๆ
ภาพสไลด์เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายต่อใบอนุญาตทำงานของกรรมกรข้ามชาติ (ที่มา: กลุ่มนายจ้างสีขาว)
ตัวแทนกลุ่มนายจ้างสีขาว กล่าวว่า บางกรณีนายจ้างต้องยื่นบัญชีรายชื่อให้กรมจัดหางาน ก็ประสบปัญหาระบบออนไลน์ล่ม ทำให้ต้องเดินทางไกลไปทำเรื่องที่สำนักงานกรมจัดหางานในพื้นที่ แต่พอไปถึง กลับพบว่าไม่มีคิว ต้องจ่ายเงินซื้อคิว สร้างภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มให้นายจ้าง ขอให้กรมจัดหางานช่วยแก้ไข นอกจากนี้ นายจ้างยังได้ความชัดเจนเรื่องเวลาว่ากระบวนการทั้งหมดใช้ระยะเวลากี่วัน
“ดีไซน์ออกมา หารือผู้ประกอบการหรือคนที่มีส่วนร่วมบ้างหรือไม่ เพราะมันมีปัญหาสำหรับทุกฝ่าย เราไม่เคยมีส่วนร่วมเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการนโยบาย หรือชุดอนุฯ ต่างๆ” ตัวแทนสมาชิกผู้ประกอบการสีขาว กล่าว
ท้ายที่สุด ตัวแทนสมาชิกกลุ่มนายจ้างสีขาว เสนอว่าให้ทางการไทยช่วยตัดราคาค่าบัญชีรายชื่อ และตัดค่าภาษีออก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้นายจ้าง และเสนอให้ภาครัฐปรับปรุงระบบให้เป็นออนไลน์ หรือทำศูนย์ One Cease Carrier เพื่อให้นายจ้างสามารถทำทุกอย่างได้เองโดยไม่ต้องจ่ายเงินพึ่งพานายหน้า หรือคิวผีอื่นๆ
บริษัทต่างประเทศกังวลแรงงานบังคับ
ปัญญารักษ์ ร่วมสะท้อนภาพมุมมองของผู้ซื้อ (Purchaser) จากต่างประเทศ โดยแนวโน้มช่วงที่ผ่านมาสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ กำลังให้ความสำคัญในการนำเข้าสินค้าที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือสินค้าที่มาจากแรงงานบังคับ-แรงงานขัดหนี้
ปัญญารักษ์ แสดงความเป็นห่วงเช่นกันว่า ‘ค่าดำเนินการที่แพง’ และ ‘ขั้นตอนที่ยุ่งยาก’ ที่ทำให้ต้องใช้บริการนายหน้าลัดคิว กำลังส่งผลต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสมรรถนะการแข่งขันของธุรกิจไทย
ปัญญารักษ์ กล่าวต่อว่า ถ้าค่าใช้จ่ายที่แพงถูกผลักภาระให้กับแรงงาน ก็อาจทำให้เกิดภาวะแรงงานขัดหนี้ เนื่องจากแรงงานต้องไปกู้เงินเพื่อนำมาขึ้นทะเบียน แต่ขณะเดียวกัน หากนายจ้างต้องการแก้ไขปัญหาแรงงานขัดหนี้ ก็ต้องใช้ ‘หลักการนายจ้างจ่าย’ หรือนายจ้างจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดของแรงงาน ซึ่งปัญหาก็จะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายของนายจ้างที่เพิ่มขึ้น และปัญหาการแข่งขันด้านธุรกิจติดตามมา
“ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการสรรหาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งผู้ประกอบการไทยส่วนมากจำเป็น และไม่มีทางเลือกอื่นที่จะไม่ใช้ ควรจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผลเพียงพอที่จะนำแรงงานเข้าสู่ระบบอย่างแท้จริง ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะบานปลายหลังจากนี้ เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทย” ปัญญารักษ์ กล่าว
หลักการดี คำถามคือภาครัฐพร้อมหรือไม่
กิริยา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เธอเข้าใจว่าทุกคนมีความฝันร่วมกันที่จะให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานและอาศัยในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย อยู่อย่างมั่นคง ไม่ถูกขูดรีดและถูกเอาเปรียบ และเข้าใจว่ากระทรวงแรงงานคาดหวังเช่นเดียวกัน ความคาดหมายดังกล่าวนำมาสู่กระบวนการที่เปลี่ยนแปลงออกไป ทั้งกระบวนการที่ซับซ้อน ยุ่งยากมากขึ้น และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคำถามสำคัญคือทุกฝ่ายพร้อมหรือยัง
กิริยา กุลกลการ
กิริยา กล่าวว่า ถ้าเราดูจากภาครัฐ กระทรวงแรงงานอาจบอกว่าพร้อมแล้ว มีระบบออนไลน์ในการช่วยดำเนินการ มีปัญหาอะไรก็ค่อยปรับไประหว่างทาง ซึ่งสำหรับเอกชนเรื่องนี้มันรอไม่ได้ เพราะมันขึ้นกับความอยู่รอด และที่ไม่พร้อมที่สุดคือการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ เพื่อผู้ประกอบการทุกระดับให้เข้าใจกระบวนการต่ออายุใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติ
ส่วนภาคเอกชนพร้อมหรือไม่ เพราะขั้นตอนดำเนินการที่ซับซ้อน และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับช่วงเศรษฐกิจไทยที่ไม่ปกติ โตต่ำกว่า 3% และได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภาคเหนือ และภาคใต้
ขณะที่แรงงานข้ามชาติก็ไม่พร้อม เพราะด้วยสถานการณ์ที่ไม่ปกติในเมียนมา ทำให้แรงงานกลัวข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล ซึ่งต้องถามว่าภาครัฐได้คุยกับประเทศต้นทางเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานแล้วหรือยัง ดังนั้น แม้ว่าหลักการ MOU จะเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝัน แต่ว่ามันใช่ช่วงเวลาหรือไม่ที่เราจะดำเนินการตามกระบวนการนี้ในช่วงสภาวะที่ทุกคนไม่พร้อม
“นายจ้างกับลูกจ้างเขาจับมือกัน NGO เขาร่วมอยู่ด้วย NGO มันต้องทะเลาะกับนายจ้าง วันนี้เขามารวมกัน เขาไม่โอเคกับภาครัฐ และการที่ทุกอย่างไม่ชัดเจน ขั้นตอนเยอะ และเวลาจำกัด ตามหลักวิชาการคือการเปิดช่องทุจริต ถ้าทุกอย่างชัดเจน ขั้นต่ำบริษัทเล็กๆ ต้องมีทางเลือกที่จะทำเองได้โดยไม่ต้องเสียค่าคนกลาง แต่ถ้าเขาทำเองไม่ได้ และเขาต้องการถูกกฎหมาย วิธีการมันก็คือทุจริตคอรัปชัน อันนั้นคือสิ่งที่เราอยากจะเห็นหรือเปล่า ใครได้ประโยชน์หรือเปล่า …อยากให้เป็นไปได้ไหมถ้าเราจะยืดเวลาออกไป ต่ออายุอีกสักหน่อยได้หรือไม่ แรงงานข้ามชาติมีความสำคัญกับประเทศมากๆ แต่ว่าการบริหารจัดการต่างหากที่เราต้องจัดการให้ดี” กิริยา กล่าว
ชงกระจายหน้าที่ให้ท้องถิ่นช่วย
สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชลบุรี พรรคประชาชน มองว่าระบบการขึ้นทะเบียนควรอยู่บนหลักการ ‘ถูก เร็ว ง่าย’ แต่ตอนนี้ประเทศไทยเป็นระบบที่ แพง ยุ่งยาก และซับซ้อน ซึ่งขัดกับหลักการสากล
สหัสวัต คุ้มคง
สหัสวัต เห็นสอดคล้องกับกิริยา ว่า การจ้างงานแบบ MOU เป็นกระบวนการที่ดีมาก เพราะว่าแรงงานถูกจ้างอย่างถูกกฎหมายมาตั้งแต่ประเทศต้นทาง และเราทราบข้อมูลคนเข้า-ออกตลอดเวลา แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันพม่าอยู่ในสงครามกลางเมือง และแทบจะเรียกได้ว่าเป็น ‘รัฐล้มเหลว’ (Failed Pronounce) สถานการณ์แบบนี้ MOU เกิดขึ้นได้ยากมาก ซึ่งเราอาจจะต้องคิดถึงการจัดการเอกสารของแรงงานข้ามชาติของประเทศไทยฝ่ายเดียว
สำหรับข้อเสนอของพรรคประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของกระบวนการต่ออายุใบอนุญาตทำงานที่แพง ซับซ้อน และยุ่งยาก สหัสวัต ได้เสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ถ้าจะให้บทบาท ‘ท้องที่’ ในการจดทะเบียนและต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ แล้วให้มีการประสานงานด้านข้อมูลกับส่วนกลาง
เขาคิดว่าท้องถิ่นที่จะได้ประโยชน์ในการบริหารจัดการดูแลแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ และให้ศูนย์ในท้องถิ่นเป็นแบบ One Cease Carrier จัดการในประเทศทั้งหมด และเราค่อยกลับมาใช้ระบบ MOU หลังจากสถานการณ์เมียนมาฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ
หลังจบอภิปรายแล้วยังมีผู้ร่วมแสดงความเห็นอีกหลายคน โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการที่สะท้อนปัญหาว่า คิวในการตรวจสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติในบริษัทตามโรงพยาบาลรัฐให้เวลาค่อนข้างน้อย และเสี่ยงไม่ทันระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งกรมการจัดหางาน ชี้แจงว่า หากโรงพยาบาลรัฐตรวจโรคให้แรงงานข้ามชาติไม่ทันเวลา สามารถดำเนินการตรวจโรคที่โรงพยาบาลเอกชนได้
ด้านจำนงค์ ตัวแทนกรมการจัดหางาน กล่าวระหว่างเสวนาด้วยว่า ทางกรมฯ ยินดีรับฟังข้อขัดข้อง และจะพยายามไปหาวิธีการดำเนินการแก้ไขมาให้ได้
จำนงค์ ทรงเคารพ
ส่วนปัญหาเรื่องคิวผี หรือคนที่ขายคิวให้นายจ้าง จำนงค์ กล่าวว่า ถ้าพบการกระทำดังกล่าว สามารถแจ้งทางกรมจัดหางาน
ต่อประเด็นขยายเวลาการดำเนินการต่ออายุแรงงานข้ามชาติหรือไม่นั้น ตัวแทนกรมจัดหางาน กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการยื่นเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หากมีการยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง และพิจารณาแล้วเห็นว่ายื่นไม่ทันจริงๆ อาจจะเป็นข้อมูลในการประกอบพิจารณาขยายระยะเวลาดำเนินการตามมติ 24 ก.ย. 2567 แต่ปัญหาที่พบคือนายจ้างชอบยื่นเอกสารใกล้วันหมดเวลาดำเนินการ
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )