บทเรียนจากสหรัฐฯ แซลมอนหวนคืนต้นน้ำครั้งแรกในรอบร้อยปี หลังรื้อเขื่อน 4 แห่ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, แม่น้ำกลับมาไหลตามเดิมอีกครั้ง ในจุดที่เขื่อนเจซีบอยล์ (J C Boyle Dam) เคยอยู่

Article records

  • Author, ลูซี เชอร์ริฟฟ์
  • Role, บีบีซี ฟิวเจอร์

หลังจากที่หายสาบสูญไปกว่าหนึ่งศตวรรษ ปลาแซลมอนสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้หวนคืนกลับมาปรากฏตัวในบริเวณลุ่มแม่น้ำแคลแมธ (Klamath River Basin) ของรัฐออริกอนอีกครั้ง หลังทางการสหรัฐฯ ได้ลงมือรื้อถอนเขื่อนขนาดใหญ่ 4 แห่ง ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นักชีววิทยาประมงจากสำนักงานพิทักษ์พันธุ์ปลาและสัตว์ป่าของรัฐออริกอน ตรวจพบปลาแซลมอนชินุก (Chinook salmon) ซึ่งว่ายทวนน้ำขึ้นมาจากมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อมาผสมพันธุ์และวางไข่ในสาขาของแม่น้ำแคลแมธ ตรงต้นน้ำเหนือตำแหน่งที่ตั้งในอดีตของเขื่อนเจซีบอยล์ (J C Boyle Dam) ซึ่งปัจจุบันถูกรื้อถอนไปเรียบร้อยแล้ว

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ปลาแซลมอนชินุก กลายเป็นปลาชนิดแรกในบรรดาปลาจำพวกที่อพยพจากมหาสมุทรเพื่อวางไข่ในน้ำจืด (anadromous fish) ที่หวนคืนสู่ลุ่มแม่น้ำแคลแมธของรัฐออริกอน นับตั้งแต่พวกมันหายสาบสูญไปในปี 1912 เนื่องจากตอนนั้นเริ่มมีการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรก ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนทั้งหมด 4 แห่ง ที่รัฐบาลมีโครงการจะก่อสร้างขึ้นในแถบนั้น

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เขื่อนแห่งสุดท้ายในจำนวน 4 แห่งดังกล่าว ถูกรื้อถอนจนเสร็จสิ้น โดยคำสั่งรื้อถอนนี้เป็นผลมาจากการรณรงค์อย่างไม่ย่อท้อของเหล่าชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเฝ้าหวังกันมานานว่า การรื้อถอนเขื่อนจะเปิดทางให้ปลาแซลมอนหวนคืนถิ่น เพราะปลาชนิดนี้คือแหล่งอาหารสำคัญของชนพื้นเมืองเผ่าต่าง ๆ ที่ปักหลักอาศัยอยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำแคลแมธ

มาร์ก เฮียร์ฟอร์ด หัวหน้าโครงการฟื้นฟูการประมงในแม่น้ำแคลแมธของรัฐออริกอน บอกว่า “เมื่อวันก่อนเราเห็นปลาใหญ่ว่ายขึ้นมาที่ผิวน้ำในแม่น้ำแคลแมธ แต่เราเห็นแค่ครีบหลังของมันเท่านั้น ผมได้แต่สงสัยว่ามันคือปลาแซลมอน หรือปลาเทราต์สายรุ้ง (rainbow trout) ที่ตัวใหญ่มาก ๆ กันแน่นะ ?”

Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ

Smash of เรื่องแนะนำ

สองวันต่อมาทีมงานของเฮียร์ฟอร์ดเดินทางกลับไปยังจุดที่พบเห็นปลาตัวดังกล่าว และมีความปีติยินดีอย่างยิ่งที่พวกเขาสามารถยืนยันได้ว่า มีปลาแซลมอนอยู่ในลำน้ำสาขาของแม่น้ำแคลแมธจริง ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีรายงานการพบเห็นปลาแซลมอนหวนคืนถิ่นกำเนิด ในบริเวณปลายน้ำของแม่น้ำแคลแมธซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองด้วย โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง ในสายตาของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ที่มาของภาพ, Oregon Department of Fish and Wildlife

คำบรรยายภาพ, ปลาแซลมอนชินุกที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมาผสมพันธุ์ในฤดูใบไม้ร่วง ถูกพบในลุ่มน้ำแคลแมธของรัฐออริกอนเป็นครั้งแรกในรอบร้อยปี

แบร์รี แม็กคอวีย์ นักชีววิทยาประมงอาวุโสของชนเผ่ายูร็อก (Yurok) กล่าวว่า “ตอนแรกผมคาดการณ์ว่า น่าจะมีปลาแซลมอนกลับมาที่ต้นน้ำเหนือเขื่อนบ้างภายในปีนี้ แต่ก็น่าประหลาดใจที่ตอนนี้เราได้เห็นปลาจำนวนมากกลับมาแล้ว แถมยังกระจายตัวไปตามตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ต่าง ๆ เป็นบริเวณกว้าง”

“ผมไม่อยากจะเชื่อเลยว่าเราจะได้พบมันในรัฐออริกอน มันช่างเป็นข่าวที่เหลือเชื่อจริง ๆ ผมถึงกับตกตะลึงไปเลยตอนได้ยินข่าว ได้แต่คิดในใจว่า “เดี๋ยวก่อน…ปลามาแล้วเหรอ ?” มันช่างเหนือความคาดหมายชนิดที่ไม่เคยมีใครกล้าฝันถึงมาก่อน” แม็กคอวีย์กล่าว

ต้นธารของแม่น้ำแคลแมธมีจุดกำเนิดอยู่ในรัฐออริกอน จากนั้นสายน้ำได้ไหลผ่านเทือกเขาที่สลับซับซ้อนเข้าสู่ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ก่อนจะไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในที่สุด สายน้ำนี้มีความยาวคิดเป็นระยะทางถึง 423 กิโลเมตร และเป็นแหล่งผลิตปลาแซลมอนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคแถบชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ทั้งยังเป็นสายน้ำที่เกื้อหนุนการดำรงชีวิตของชนพื้นเมืองอเมริกันหลายเผ่า รวมถึงเผ่ายูร็อกที่ได้ฉายาว่า “ชนเผ่าปลาแซลมอน” ด้วย

อย่างไรก็ตาม การสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่งในอดีต ทำให้เส้นทางการอพยพของปลาแซลมอนและปลาในสายพันธุ์ที่เป็นญาติใกล้ชิดกันถูกขัดขวาง จนมีปลาจำนวนมหาศาลต้องตายลงและคุณภาพน้ำก็พลอยเสื่อมลงตามไปด้วย โดยหลังการก่อสร้างเขื่อน Copco-1 เสร็จสิ้นในปี 1922 ประชากรปลาแซลมอนชินุกที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ในฤดูใบไม้ร่วง ลดฮวบลงถึงกว่า 90% ส่วนประชากรปลาแซลมอนชินุกที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ในฤดูใบไม้ผลิ ลดต่ำลงถึง 98% เลยทีเดียว นอกจากนี้จำนวนประชากรของปลาเทราต์สตีลเฮด (Steelhead trout) ปลาแซลมอนโคโฮ (Coho salmon) และปลาไหลแลมพรีย์แปซิฟิก (Pacific lamprey) ก็ลดลงอย่างฮวบฮาบเช่นกัน ทำให้นับแต่นั้นเป็นต้นมา บรรดาชนเผ่าพื้นเมืองในแถบต้นน้ำแคลแมธไม่สามารถทำประมงจับปลาแซลมอนได้อีกเป็นเวลากว่าร้อยปี

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การรณรงค์เรียกร้องอย่างยาวนานหลายสิบปีของกลุ่มพันธมิตรชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งรวมถึงเผ่ายูร็อกและเผ่าคารุก (Karuk) ทำให้ทางการตัดสินใจทำลายเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่งแห่งสุดท้ายเพิ่งมีการรื้อถอนเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นชนเผ่าต่าง ๆ ได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่คุ้มครองสัตว์ป่าของรัฐออริกอนและรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อจับตาดูการหวนคืนถิ่นผสมพันธุ์และวางไข่ของปลาจำพวก anadromous ในบริเวณลุ่มน้ำแคลแมธที่ไม่มีเขื่อนกีดขวางทางน้ำอีกต่อไป

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ภาพถ่ายเขื่อนไอออนเกตเมื่อปีที่แล้ว ขณะมีการผันน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำเหนือเขื่อน ก่อนการทุบทำลาย

ก่อนหน้านี้นักอนุรักษ์ส่วนใหญ่คาดว่า จะต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีกว่าที่ปลาแซลมอนและผองเพื่อนจะหวนกลับคืนถิ่น ทว่าภายหลังการรื้อถอนเขื่อนเพียงไม่กี่เดือน ก็มีรายงานจากนักชีววิทยาในรัฐแคลิฟอร์เนียว่า ได้พบเห็นปลาแซลมอนในลำธารสาขา ซึ่งปลาไม่อาจแหวกว่ายเข้าไปถึงได้มาก่อนในตอนที่เขื่อนยังอยู่

“ปลาพวกนี้เริ่มวางไข่ในลำธารสาขาของแม่น้ำ ซึ่งเมื่อ 9 เดือนก่อน บริเวณนั้นยังจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อนที่ลึกถึง 9 เมตร เหตุการณ์นี้สร้างความหวังต่ออนาคตให้กับพวกเรามากมายจริง ๆ มันทำให้ผมรู้สึกว่า ที่ผ่านมาเราได้ทำถูกแล้วและตอนนี้เรากำลังเดินไปบนเส้นทางที่ถูกต้อง แม่น้ำกำลังเยียวยาตนเอง” แม็กคอวีย์กล่าว

การตัดสินใจทำลายเขื่อนทิ้งในครั้งนี้ เป็นโครงการรื้อถอนเขื่อนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะการรวมพลังต่อต้านของชนเผ่าพื้นเมืองในท้องถิ่น พวกเขาเดินหน้าเรียกร้องให้รื้อถอนเขื่อนมานานหลายสิบปี โดยเริ่มมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นอย่างน้อย

บรูก ทอมป์สัน วิศวกรโยธาซึ่งเป็นสมาชิกของชนเผ่ายูร็อก ผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการฟื้นฟูแม่น้ำแคลแมธเล่าว่า “ทุกคนต่างบอกเราว่ามันเป็นไปไม่ได้ พวกเขาบอกว่าเราทำเรื่องโง่ ๆ แม้จะขอให้รื้อถอนเขื่อนเพียงแห่งเดียวก็ตาม แต่นี่เราขอให้ทำลายถึง 4 เขื่อน”

หลังการเจรจาต้องล้มเหลวไปครั้งแล้วครั้งเล่า หลายปีหลังจากนั้นโครงการรื้อถอนเขื่อนในรัฐแคลิฟอร์เนีย 4 แห่ง ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2023 และสิ้นสุดลงในเดือน ส.ค. ปี 2024 ท่ามกลางความปีติยินดีของชนเผ่าพื้นเมือง โดยการรื้อถอนได้เปิดทางให้น้ำไหลอย่างอิสระได้กว่า 644 กิโลเมตร

“การที่ปลาแซลมอนหวนคืนสู่ต้นน้ำแคลแมธ ในฤดูกาลเดียวกับที่การรื้อถอนเขื่อนเสร็จสิ้นลง ทำให้ผมรู้สึกยินดีและปลาบปลื้มปีติอย่างยิ่ง ซึ่งปกติแล้วผมจะมีความรู้สึกแบบนี้ เฉพาะเวลาที่มีงานแต่งงานและมีเด็กเกิดมาเท่านั้น” ทอมป์สันกล่าว “เมื่อได้เห็นวิดีโอของปลาแซลมอนหวนคืนสู่ถิ่นกำเนิด ทำให้ผมรู้สึกโล่งใจและมีความสุขจนน้ำตาไหล เราทำสำเร็จแล้ว ผมรู้สึกว่าตัวเองเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงใจและความหวังใหม่ในการเดินหน้าทำงานอนุรักษ์ต่อไป เพื่อปกป้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและปลา”

ที่มาของภาพ, Damon Goodman

คำบรรยายภาพ, ทีมนักชีววิทยาติดป้ายทำเครื่องหมายให้ปลาแซลมอนและปลาสตีลเฮด บริเวณเขื่อนไอออนเกตที่ถูกรื้อถอนแล้ว

เป้าหมายสูงสุดของชนเผ่ายูร็อก อยู่ที่การฟื้นฟูการทำประมงปลาแซลมอนที่เคยรุ่งเรืองในอดีตให้กลับคืนมา เพื่อที่พวกเขาจะสามารถจัดงานเทศกาลปลาแซลมอน ซึ่งเคยมีขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือนสิงหาคมได้ โดยใช้ปลาจากลุ่มน้ำแคลแมธในท้องถิ่นของตนเอง แทนที่จะต้องสั่งนำเข้าปลามาจากอะแลสกา

“ชนเผ่าต่าง ๆ จะยังคงอนุรักษ์และเกื้อหนุนการดำรงเผ่าพันธุ์ของปลาแซลมอนต่อไป เช่นเดียวกับที่ปลาแซลมอนได้ช่วยเหลือเรามาตลอดหลายชั่วอายุคน” ทอมป์สันกล่าว “ผมมีความฝันว่า สักวันหนึ่งลูกหลานของเราในอนาคต จะใช้ชีวิตในแบบเดียวกับที่รุ่นปู่ของผมเคยเป็นในยุคต้นศตวรรษที่ 20 นั่นคือได้เห็นปลาแซลมอนแน่นขนัดเต็มลำน้ำ จนสามารถเดินเหยียบหลังพวกมันเพื่อข้ามไปยังอีกฝั่งได้”

นอกจากนี้ ชนเผ่ายูร็อกยังมีโครงการฟื้นฟูที่ดิน 2,200 เอเคอร์ ที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเป็นครั้งแรกในรอบร้อยปี หลังมวลน้ำมหาศาลถูกระบายออกไปจากเขื่อนสี่แห่งที่ถูกรื้อถอนแล้ว

“การดำเนินโครงการหลังจากนี้จะต้องมีขึ้นมีลง มันจะไม่เดินไปเป็นเส้นตรง และเราจะต้องมีช่วงที่ถดถอยตกต่ำบ้างอย่างแน่นอน โครงการฟื้นฟูบูรณะขนาดใหญ่ของที่ไหนก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น เรารู้ว่ามันจะไม่ง่าย แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะเราเคยผ่านมันมาแล้ว และจะยังคงเดินหน้าสู่อนาคตต่อไป” แม็กคอวีย์กล่าวสรุปทิ้งท้าย