บทเรียนต่อไทย จากกรณีเกาหลีใต้ต่อต้านกฎอัยการศึก

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ประชาชนชาวเกาหลีใต้มารวมตัวกันนอกรัฐสภา หลังจากประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อคืนที่ผ่านมา (4 ธ.ค.)

Article data

  • Author, จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
  • Characteristic, ผู้สื่อข่าว.

การประกาศใช้กฎอัยการโดยประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ของเกาหลีใต้โดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อนในคืนของวันที่ 3 ธ.ค. แต่ต่อมาถูกยกเลิกภายในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกาหลีสามารถเข้าไปในรัฐสภาได้สำเร็จ แม้บางส่วนต้องปีนป่ายรั้วเข้าไป และร่วมกันลงมติยกเลิกคำสั่งดังกล่าวด้วยคะแนน 190 เสียง

หลังการก่อตั้งประเทศเมื่อปี 1948 เกาหลีใต้ก็อยู่ในระบอบเผด็จการอำนาจนิยมตั้งแต่เริ่มต้น และเผชิญปัญหาทางการเมืองเป็นระยะ ๆ โดยพบว่าในช่วงปี 1962-1992 เกาหลีใต้อยู่ภายใต้การปกครองของนายพลทหารถึง 3 นายด้วยกัน และเกิดรัฐประหารอยู่หลายครั้ง

ครั้งสุดท้ายที่เกาหลีใต้ประกาศใช้กฎอัยการศึกคือปี 1980 ซึ่งนำไปสู่การปราบปรามประชาชนและนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในเมืองควังจูอย่างรุนแรง จนบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 200 ราย

ดังนั้นการประกาศกฎอัยการศึกครั้งล่าสุดของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล จึงเป็นการกลับมาของกฎหมายพิเศษนี้อีกครั้งในรอบเกือบ 50 ปี แต่มันกลับเป็นกฎอัยการศึกที่มีระยะเวลาสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ช่วงศตวรรษที่ 21

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 มีหลายคนมองว่าบรรยากาศการเมืองระหว่างไทยกับเกาหลีใต้มีความคล้ายคลึงกัน ในแง่ภาพของการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและภาคประชาชน รวมถึงการมีอยู่ของระบอบอำนาจนิยมของเผด็จการทหาร

Skip เรื่องแนะนำ and continue readingเรื่องแนะนำ

Pause of เรื่องแนะนำ

แต่สำหรับกรณีของเกาหลีใต้ดูเหมือนเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนที่เมืองควังจูถือเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ประชาธิปไตยสามารถลงหลักปักฐานในเกาหลีใต้ได้สำเร็จ และไม่เกิดการรัฐประหารในเกาหลีใต้อีกนับตั้งแต่ปี 1992 จึงไม่แปลกใจเลยที่ชาวกรุงโซลรายหนึ่งเกิดความกังวลต่อประกาศของประธานาธิบดีเมื่อกลางดึกวานนี้อย่างมาก และบอกกับบีบีซีว่า “รู้สึกเหมือนเกิดรัฐประหาร”

อีกด้านประเทศไทยกลับเผชิญกับรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จถึง 13 ครั้ง และยังมีความไม่แน่นอนว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกหรือไม่

จากเหตุการณ์ล่าสุดประชาชนชาวเกาหลีใต้ออกมาแสดงพลังต่อต้านการประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในครั้งนี้ .สนทนากับผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลี เพื่อวิเคราะห์ว่า มีประเด็นใดบ้างที่คนไทยควรทำความเข้าใจและเรียนรู้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้

เหตุใดประชาชนเกาหลีใต้รู้สึกอ่อนไหวกับคำสั่งกฎอัยการศึกครั้งล่าสุด

ศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ ที่ปรึกษาศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออก ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ.ว่า ตลอดทศวรรษ 1960 จนถึงปลายทศวรรษ 1980 เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยโดยชาวเกาหลีใต้มาโดยตลอด เพราะประเทศนี้เริ่มต้นจากระบอบอำนาจนิยมตั้งแต่แรก แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นจะอยู่ภายใต้การนำของ ดร.ซิง-มัน รี วีรบุรุษผู้ร่วมต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นซึ่งไม่ใช่นายทหารก็ตาม

จากนั้นประเทศอยู่ภายใต้การนำของเผด็จการทหาร 3 คน ได้แก่ นายพลพัค จอง-ฮี, นายพลชุน ดู-ฮวาน และนายพลโรห์ แต-วู โดยรวมแล้วเกาหลีใต้จึงอยู่ในระบอบอำนาจนิยมเกือบ 40 ปี

“ตลอดการต่อสู้ของภาคประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยหลาย ๆ ครั้ง มีคนจำนวนมากบาดเจ็บ ล้มตาย ถูกดำเนินคดี ถูกคุมขัง บ้างต้องหนีออกนอกประเทศ ดังนั้นชาวเกาหลีใต้จึงให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยมาก ๆ เพราะพวกเขาเข้าใจว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นมาได้ง่าย ๆ” ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ร่วมสมัยผู้นี้ กล่าว

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

คำบรรยายภาพ, การชุมนุมที่เรียกว่า “การปฏิวัติแสงเทียน” เมื่อช่วงปี 2016

เขามองว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยที่ไม่มีเหตุคุกคามใด ๆ อย่างที่ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล กล่าวอ้าง ทำให้ชาวเกาหลีใต้ที่ยังมีความทรงจำจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในห้วงเวลาดังกล่าว รู้สึกว่าประเทศนี้กำลังหวนกลับไปยุคระบอบเผด็จการ และนั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่อาจยอมรับได้

“เมื่อคืนนี้ หากดูข่าวต่าง ๆ เราจะเห็นว่าผู้คนที่มาประท้วงจะเป็นผู้สูงอายุประมาณ 60 ปีขึ้นไปอยู่จำนวนหนึ่ง คนเหล่านี้ในอดีตก็อาจเคยเป็นบรรดานักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวในสมัยก่อน ซึ่งยังมีความทรงจำเกี่ยวกับการต่อสู้อยู่” เขากล่าว และเสริมว่าในบรรดาผู้เข้าร่วมการต่อต้านเมื่อคืนก็ปรากฏใบหน้าของคนรุ่นใหม่ เช่น วัยหนุ่มสาวและวัยกลางคนอยู่ด้วย

เขาคิดว่าคนกลุ่มนี้น่าจะเป็นผู้คนที่ยังมีความทรงจำผ่านการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “การปฏิวัติแสงเทียน” ซึ่งเกิดขึ้นราว 8 ปีก่อน โดยพบว่าชาวเกาหลีใต้หลายแสนคนพร้อมใจกันออกมาชุมนุมและจุดเทียนร่วมกันที่จตุรัสควางฮวามุน กลางกรุงโซล หลังสื่อในประเทศเปิดโปงว่านางพัค กึน-ฮเว ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตัวเอง จนกระทั่งเธอถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และเข้าถูกดำเนินคดีในที่สุด

“ดังนั้น สำนึกรักประชาธิปไตยจึงอยู่ในหมู่ชาวเกาหลีมาโดยตลอด และเมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืน ชาวเกาหลีจึงรู้สึกว่าประชาธิปไตยถูกคุกคามอีกครั้งหนึ่ง” ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เกาหลีศึกษา ระบุ

รากฐานประชาธิปไตยที่เข้มแข็งของเกาหลีใต้ เกิดขึ้นได้อย่างไร

นอกจากเลือดเนื้อและชีวิตของชาวเกาหลีใต้ที่สูญไปในห้วงที่เกิดการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ศ.ดร.นภดล กล่าวว่า การปลูกฝังให้ตระหนักถึงคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยในเกาหลีใต้นั้นเกิดขึ้นทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา ส่งผลให้พลเมืองเข้าใจว่าพวกเขาต้องยึดมั่นคุณค่านี้ไว้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

“มันไม่ใช่แค่การให้ครูมาสอนในโรงเรียน แต่มันยังรวมถึงพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จัดแสดงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ งานวรรณกรรม งานศิลปะต่าง ๆ ที่สะท้อนการต่อสู้ของภาคประชาชน รวมถึงภาพยนตร์และซีรีส์หลายเรื่องที่ฉายภาพให้เห็นการสังหารหมู่ประชาชนที่ควังจู ซึ่งเป็นการปราบปรามการนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงรัฐบาลทหาร”

จากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืน นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยผู้นี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าไม่ใช่ทุกคนในกองทัพเกาหลีใต้ที่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว และมีกำลังพลน้อยมากที่เข้าควบคุมพื้นที่รัฐสภา และไม่มีการเคลื่อนพลไปยึดสถานีข่าวหรือหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่มีความสำคัญ

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

คำบรรยายภาพ, ผู้ประท้วงคำสั่งกฎอัยการศึกพยายามฝ่าแนวทหารที่ตรึงกำลังอยู่ที่รัฐสภา (4 ธ.ค.)

ศ.ดร.นภดล อธิบายต่อว่านับตั้งแต่เกาหลีใต้เข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มขั้น พวกเขาก็สามารถจัดวางและกำหนดบทบาทของกองทัพได้อย่างชัดเจนว่ามีหน้าที่ป้องกันประเทศจากภัยความมั่นคงต่าง ๆ จากเกาหลีเหนือเป็นหลัก รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามในภูมิภาคหากเกาหลีใต้จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งเพียงเท่านี้ก็ถือว่า “กองทัพเองมีหน้าที่หนักหนาสาหัสมากอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการปกครองประเทศ”ความสำเร็จของชาวเกาหลีใต้ที่ทำให้ทหารอยู่ภายใต้การนำของพลเรือนได้ ปัจจัยสำคัญคือเมื่อสงครามเย็นเริ่มสิ้นสุดลง รัฐบาลทหารไม่สามารถโน้มน้าวผู้คนให้เชื่อได้ว่าเผด็จการทหารมีความชอบธรรมในการบริหารประเทศอีกต่อไป

“แม้เกาหลีเหนือจะ[ดำรง]อยู่ แต่สหภาพโซเวียตสิ้นสุดไปแล้ว ไม่ได้หนุนเกาหลีเหนือแล้ว จีนเองก็มีการปฏิรูป 4 ทันสมัย ทำมาค้าขายกับโลกเสรีแล้ว ภัยเกาหลีเหนือมันจึงหายไปเยอะแล้ว ดังนั้นข้ออ้างที่เคยมีน้ำหนักมันก็ไม่มีแล้ว” ศ.ดร.นภดล กล่าว “อำนาจนิยมนั้นไม่สามารถอยู่ได้ด้วยกระบอกปืนเพียงลำพัง มันต้องมีคนเข้ามาสนับสนุนด้วย”

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

คำบรรยายภาพ, ประเทศเกาหลีใต้มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก

ผู้เชี่ยวชาญจาก ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวต่อว่า เกาหลีใต้มีการเติบโตด้านเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ทำให้เกิดชนชั้นกลางจำนวนมหาศาลในเวลาอันสั้น และคนกลุ่มนี้ต้องการมีส่วนแบ่งในทรัพยากรต่าง ๆ อย่างเป็นธรรมและโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการทำงาน โอกาสในการศึกษา หรือโอกาสการสร้างธุรกิจที่เป็นธรรม พวกเขาจึงเรียกร้องประชาธิปไตยเพราะมันคือระบบที่เปิดกว้างต่อโอกาสเหล่านั้นมากกว่าระบอบอำนาจนิยมเผด็จการ

“คนเหล่านี้ เขาเป็นคนตัวเล็ก ๆ ก็จริง แต่เขามีจำนวนมาก เขาจึงต้องการระบอบใหม่ที่ทำให้พวกเขามีที่ยืน…เขาต้องการระบบที่ free and magnificent (เสรีและเป็นธรรม) ไม่ใช่ระบอบอุปถัมภ์ที่ต้องรู้จักกับคนนั้น หรือได้ทำงานเพราะเป็นคนร่วมรุ่นกับคนนี้ ฯลฯ ชนชั้นกลางกลุ่มนี้จึงเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนประชาธิปไตย”

ปัจจัยภายนอกที่มองข้ามไม่ได้ในช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 คือ บทบาทของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหามิตรของเกาหลีใต้

“ในยุคหนึ่งรัฐบาลเผด็จการเกาหลีใต้ก็ตอบโจทย์สหรัฐฯ ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ แต่มาถึงปลายทศวรรษ 1980 สหรัฐฯ ต้องการเกาหลีใต้ที่มั่งคั่งร่ำรวย ซึ่งถึงจุดนั้นเกาหลีใต้ก็เริ่มมั่งคั่งขึ้นมาแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้เป็นประชาธิปไตยด้วย เพื่อแสดงความสำเร็จของค่ายโลกเสรี เหมือนเป็นตู้โชว์ของฝ่ายโลกเสรีว่าเส้นทางนี้คือเส้นทางที่ถูกต้อง และนี่คือตัวอย่างของประเทศเสรีประชาธิปไตยที่มั่นคง มั่งคั่ง” ศ.ดร.นภดลอธิบาย และกล่าวเสริมว่าตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารเกาหลีใต้ถูกสหรัฐฯ กดดันหลายครั้งให้ยอมผ่อนปรนต่อข้อเรียกร้องของประชาชน

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

คำบรรยายภาพ, นักศึกษาถูกทหารจับกุมระหว่างการปราบปรามประชาชนในเมืองควังจู

อีกหนึ่งเสาหลักที่ขาดไปจากระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ คือ หลักนิติรัฐ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านพบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญ ๆ ของเกาหลีใต้ล้วนถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิจารณาความผิด ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นเป็นถึงอดีตประธานาธิบดี นักธุรกิจบริษัทชั้นนำ อดีตรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งนักการเมืองในระดับท้องถิ่นก็ตาม

“ทุกฝ่ายที่รักษาหลักนิติรัฐของเกาหลีใต้มีความเข้มแข็งมาก ดูได้จากกรณีที่นำตัวอดีตประธานาธิบดีชุน ดู-ฮวาน และ อดีตประธานาธิบดีโรห์ แต-วู เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี จะเห็นได้ว่าวงการนิติศาสตร์ของเกาหลีใต้ทำงานหนักมากในการนำ 2 คนนี้มาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เพราะระหว่างที่ทั้งสองคนอยู่ในอำนาจ ก็มีกฎหมายหลายอย่างที่คุ้มครองตัวเขาอยู่ แต่ในที่สุดก็ถูกดำเนินคดีจนได้” ศ.ดร.นภดล ยกตัวอย่างกรณี

ทั้งนี้ อดีตประธานาธิบดีชุน ดู-ฮวาน ถูกตัดสินประหารชีวิตจากการใช้กำลังปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ประท้วงที่เมืองควังจู แต่ต่อมาได้รับการอภัยโทษ ขณะที่อดีตประธานาธิบดีโรห์ แต-วู ถูกดำเนินคดีเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน

นอกจากนี้ เขายังชี้ให้เห็นด้วยว่า บทบาทของสื่อมวลชนในเกาหลีใต้นั้นตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มแข็งมาก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การเมืองของเกาหลีใต้มีความโปร่งใสมากขึ้น

อะไรคือบทเรียนที่คนไทยควรเรียนรู้

ศ.ดร. นภดล ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์การประท้วงเมื่อคืนจนมาถึงตอนนี้ที่ประชาชนออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ลาออกจากตำแหน่งท่ามกลางอุณหภูมิติดลบ สะท้อนให้เห็นว่าการปกป้องประชาธิปไตยเป็นหน้าที่ของทุกคน

“ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม หากเกิดอะไรขึ้นที่คุกคามกับคุณค่าหลักประชาธิปไตย ก็ต้องออกมาพิทักษ์รักษา เพราะมันก็เป็นระบอบที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คิดค้นได้ในตอนนี้ ถึงแม้ยังมีข้อบกพร่อง” เขาบอก

นอกจากนี้ เขายังชี้ให้เห็นว่าเมื่อสร้างประชาธิปไตยในประเทศได้แล้ว ก็ต้องรักษาระบอบนี้ไว้ให้ได้ ซึ่งเห็นได้จากความพยายามของชาวเกาหลีใต้

“กรณีของชาวเกาหลีใต้ จริง ๆ แล้วเขาก็เจอวิกฤตหลายครั้ง แต่เขาไม่เคยใช้วิถีนอก[ระบอบ]ประชาธิปไตย ไม่ใช้ทางลัด เพราะหากใช้ทางลัด มันก็จะไปเจอปัญหาใหม่ ๆ และด้วยเส้นทางนี้ มันก็ทำให้เศรษฐกิจของเขาเจริญก้าวหน้า เป็นที่เชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของเขาด้วย” นักวิชาการจากศูนย์เกาหลีศึกษากล่าว

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

คำบรรยายภาพ, คำสั่งกฎอัยการศึกทำให้ชาวเกาหลีใต้รู้สึกว่า ประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคาม ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เกาหลีศึกษา ระบุ

ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อจากพรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์เดิม) ว่า รู้สึกชื่นชมต่อการสู้กลับของประชาชนและนักการเมืองเกาหลีใต้ในการใช้กลไกสภายกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี

เขาหวังว่าหากประชาชนเกาหลีใต้ปกป้องประชาธิปไตยได้สำเร็จ ชัยชนะนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประเทศอื่น รวมถึงไทย ในการวางแนวทางป้องกันรัฐประหาร ซึ่งนายพริษฐ์เห็นว่าต้องดำเนินการ 2 อย่างคู่ขนาน คือ แก้กฎหมาย เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ แก้ไข พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เพื่อให้ประชาชนมีกลไกต่อต้านกับผู้ต้องการก่อรัฐประหารในอนาคต

นอกจากนี้ สส.จากพรรคประชาชนยังเห็นว่าจำเป็นต้องมีการรณรงค์ทางความคิดให้ประชาชนและนักการเมืองทุกฝ่าย มีจุดยืนปกป้องประชาธิปไตยร่วมกัน ไม่ว่าจะสังกัดพรรคใดหรือสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองแบบใดก็ตาม

ทั้งนี้ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ก็โพสต์ผ่านเอ็กซ์เช่นกันว่า บทเรียนจากเกาหลีใต้ในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยนั้นมีความสำคัญอย่างไร

“หันกลับมามองสังคมไทย เรายังอยู่ภายใต้กรงขังของรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นมรดกของการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่เลย” เขาระบุ “ตราบใดที่สังคมไทยไม่สามารถผลักดันให้มีรธน.ฉบับใหม่ ก็ยากที่เราจะเจริญก้าวหน้าอย่างเข้มแข็งได้”