บ้านมนุษย์อวกาศบนดวงจันทร์หรือดาวอังคารหน้าตาจะเป็นอย่างไร
Article recordsdata
- Creator, กีตา ปันเดย์
- Role, บีบีซีนิวส์ เดลี
มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่บ้านหรือที่อยู่อาศัยสำหรับนักบินอวกาศของอินเดียบนดวงจันทร์หรือดาวอังคารในอนาคตอาจจะมีลักษณะหน้าตาเป็นโครงสร้างรูปไข่แบบนี้
นี่คือ Hab-1 ที่ย่อมาจาก Habitat-1 (แปลว่าที่อยู่อาศัย) เป็นภารกิจการทดสอบภาคสนามในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมเสมือนอยู่ในอวกาศ (analog mission) ครั้งแรกขององค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (Indian Residence Research Organisation – ISRO) เพื่อเตรียมความพร้อมนักบินอวกาศก่อนที่จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอวกาศในอนาคต โดยเมื่อไม่นานมานี้ได้รับการทดสอบเป็นระยะเวลาสามสัปดาห์บนเทือกเขาหิมาลัยของภูมิภาคลาดักห์
อาสธา คาชา-จฮาลา สถาปนิกอวกาศจากบริษัทอาคา (Aaka) ในรัฐคุชราต บอกบีบีซีว่า การทดลองจำลองสภาพแวดล้อมในอวกาศของนักบินอวกาศนี้จะช่วยให้สามารถระบุและพบปัญหาต่าง ๆ ที่นักบินอวกาศและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเจอก่อนที่จะเริ่มภารกิจในอวกาศได้
Hab-1 สร้างขึ้นจากเทฟลอนเกรดที่ใช้ในภารกิจในอวกาศและหุ้มด้วยโฟมที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ประกอบด้วยห้องนอนหนึ่งห้อง มีถาดเก็บของที่สามารถดึงออกมาและใช้เป็นพื้นที่ทำงาน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่จัดเก็บสิ่งของและอุปกรณ์ฉุกเฉิน ห้องครัวขนาดเล็กสำหรับอุ่นอาหารและห้องน้ำ นักบินอวกาศที่ร่วมการทดสอบในสภาพจำลองดังกล่าวใช้เวลาสามสัปดาห์ซ่อนตัวอยู่ในศูนย์แห่งนี้
“Hab-1 ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงสภาพในอวกาศที่จะมีข้อจำกัดบนดวงจันทร์หรือดาวอังคาร” คาชา-จฮาลา กล่าวและว่า “นอกจากนี้ นักบินอวกาศยังจะมีน้ำ[อุปโภคและบริโภค]อย่างจำกัด ดังนั้น เราจะต้องออกแบบให้มีห้องน้ำแห้ง และต้องตระเตรียมให้มีระบบการกำจัดของเสียอย่างเหมาะสม และทำให้มั่นจว่า บ้านแห่งอนาคตหลังนี้จะต้องปลอดกลิ่นอีกด้วย
Skip เรื่องแนะนำ and continue readingเรื่องแนะนำ
Pause of เรื่องแนะนำ
ในขณะนี้ เธออยู่ระหว่างการหารือกับ ISRO เพื่อสร้างศูนย์อวกาศจำลองถาวรแห่งแรกของอินเดีย ในภูมิภาคลาดักห์
ภารกิจนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อินเดียเตรียมส่งนักบินอวกาศชุดแรกขึ้นสู่อวกาศ หรือ ภารกิจกากันยาน (Gaganyaan) ของ ISRO ที่วางแผนว่าจะส่งนักบินอวกาศ 3 คนขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำของโลกที่มีระดับความสูง 400 กม. เป็นเวลาสามวัน หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ภารกิจจะเริ่มในปีหน้า อินเดียยังวางแผนที่จะจัดตั้งสถานีอวกาศแห่งแรกภายในปี 2035 และส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2040
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา องค์การอวกาศยุโรป รัสเซีย จีน และประเทศอื่น ๆ ตลอดจนบริษัทเอกชนที่มีโครงการอวกาศดำเนินภารกิจจำลองหลายสิบภารกิจ และนักบินอวกาศชาวอินเดียสองในสี่คนที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมภารกิจกากันยาน กำลังได้รับการฝึกอบรมที่นาซาในขณะนี้
“เมื่อเรามีภารกิจทดลองจำลองสถานการณ์ที่เป็นของเราแล้ว เราจะไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานอวกาศต่างประเทศเพื่อฝึกนักบินอวกาศของเรา” ศาสตราจารย์สุบรัต ชาร์มา คณบดีภาควิชาการวิจัยศึกษา มหาวิทยาลัยลาดักห์ ซึ่งมีส่วนร่วมในโครงการนี้ กล่าว
เขาบอกกับบีบีซีว่า ลาดักห์ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่สำหรับการทดลองนี้เพราะ “จากมุมมองทางภูมิศาสตร์ ภูมิทัศน์และดินที่แห้งแล้งและเต็มไปด้วยหินมีความคล้ายคลึงกับวัสดุและหินที่พบบนดาวอังคารและภูมิประเทศบางส่วนของดวงจันทร์ซึ่งทำให้เหมาะสำหรับการวิจัยอวกาศ “.
ตัวอย่างดินที่เก็บระหว่างปฏิบัติภารกิจกำลังได้รับการทดสอบโดยมหาวิทยาลัยแห่งนี้เพื่อดูว่านักบินอวกาศจะสามารถใช้วัสดุจากท้องถิ่นเพื่อสร้างบ้านในอวกาศได้หรือไม่
สภาพของภูมิภาคหิมาลัยตรงบริเวณชายแดนอินเดีย-จีนตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 3,500 เมตร มีสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและมีอากาศเบาบาง ในหนึ่งวัน อุณหภูมิที่นี่สามารถเปลี่ยนจากสูงสุด 20 องศาเซลเซียส มายังอุณหภูมิที่ต่ำสุด -18 องศาเซลเซียสได้
อย่างไรก็ตาม สถานนี้แห่งนี้เทียบไม่ได้กับดาวอังคาร (ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า -153 องศาเซลเซียส) หรือดวงจันทร์ (ที่ปกติจะมีอุณหภูมิ -250 องศาเซลเซียส ในหลุมอุกกาบาตลึกบางแห่ง) แต่การทดลองนี้ยังคงเป็นการทดสอบความอดทนของมนุษย์ และดังที่ ศ.ชาร์มา กล่าวว่า “เนื่องจากคุณไม่สามารถไปทดสอบในอวกาศได้ทุกครั้ง คุณจึงจำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ที่สามารถสร้างเงื่อนไขที่เหมือนกับอวกาศได้”
นอกจากนี้ เขากล่าวเสริมว่า ลาดักห์ยังเป็นภูมิภาคแห่งหนึ่งของอินเดียซึ่งมีพื้นที่แห้งแล้งทอดยาวหลายไมล์ “ทำให้คุณรู้สึกเหมือนอยู่ตามลำพังบนโลกใบนี้”
และนั่นคือสิ่งที่นักบินอวกาศจำลองใช้เวลาสามสัปดาห์ภายในแคปซูลกลางทะเลทรายอันหนาวเย็นแห่งนี้
“ผมถูกแยกออกจากสภาพแวดล้อมของมนุษย์ทั่วไป ทุกความเคลื่อนไหวของผมจะมีการกำหนดเวลา เช่น จะต้องตื่นกี่โมง จะต้องทำอะไร ตอนไหน และเข้านอนเวลาใด โดยมีกล้องจับภาพติดตามทุกการเคลื่อนไหวตลอดเวลาและส่งข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมและสุขภาพของผมไปยังทีมหลังบ้าน” หนุ่มวัย 24 ปีที่ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าว
เขาบอกว่า “สองสามวันแรกเป็นไปด้วยดีอย่างมาก แต่หลังจากนั้นก็เริ่มรู้สึกถึงความซ้ำซาก แล้วมันเริ่มส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานในแต่ละวันของผม ตารางการนอนหลับของผมได้รับผลกระทบเล็กน้อยและสมาธิของผมก็แย่ลง”
นักบินอวกาศจำลองที่ร่วมการทดลองต้องสวมอุปกรณ์ไบโอเมตริกซ์เพื่อติดตามรูปแบบการนอนหลับ อัตราการเต้นของหัวใจ และระดับความเครียด นอกจากนี้ เขายังต้องทดสอบเลือดและน้ำลายทุกวันเพื่อดูว่าเขารับมืออย่างไร
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ส่วนสำคัญที่สุดของภารกิจนี้ คือ การจำลองปัจจัยทางจิตวิทยาเพื่อพิจารณาว่า ปัจจัยอะไรบ้างจะส่งผลต่อมนุษย์ในอวกาศ และปัจจัยเหล่านั้นมีผลต่อพวกเขาอย่างไร
หน่วยงานด้านอวกาศจากทั่วโลกมีเป้าหมายที่จะส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์และตั้งฐานถาวรที่นั่นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้น ภารกิจทดลองจำลองสภาพแวดล้อมในอวกาศคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการวิจัยและการฝึกอบรม[เพื่อเตรียมความพร้อม]
ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรได้เริ่มการทดลองในรัฐโอเรกอนของสหรัฐอเมริกา เพื่อเตรียมหุ่นยนต์สุนัขของนาซาชื่อ “ลาสซี” เพื่อให้สามารถเดินบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ ต่อมาในเดือน ก.ค. มีอาสาสมัคร 4 คนปรากฏตัวขึ้นหลังจากใช้เวลาหนึ่งปีในสถานที่ “อนาล็อก” (analog) ที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษในเท็กซัสเพื่อจำลองการใช้ชีวิตบนดาวอังคาร
นิตยสาร Economist รายงานว่า นาซาหวังที่จะพิมพ์ฐานแบบ 3 มิติโดยใช้วัสดุที่พบบนพื้นผิวดวงจันทร์เท่านั้น ในขณะที่จีนและรัสเซียกำลังร่วมมือกันในการพัฒนาแผนการลักษณะเดียวกันนี้ด้วย
ด้านอินเดียเองก็ไม่ต้องการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ศาสตราจารย์ชาร์มากล่าวว่า เมื่อข้อมูลที่รวบรวมได้ในลาดักห์ได้รับการวิเคราะห์แล้ว ข้อมูลนี้จะ “ช่วยให้เราพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อจัดการกับความต้องการของนักบินอวกาศของเราเมื่อพวกเขาประสบปัญหาในอวกาศ”
“เราจำเป็นต้องรู้ว่า ร่างกายของเราจะทำงานอย่างไรบนดวงจันทร์ ที่กลางวันและกลางคืนยาวนานกว่าบนโลกมาก หรือในอวกาศ ซึ่งมีสภาวะแวดล้อมที่ออกซิเจนไม่เพียงพอ” เขากล่าวทิ้งท้าย
ที่มา BBC.co.uk