แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/bf6j | ดู : 0 ครั้ง

ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับพรรคประชาชน เปิดทางเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 200 คน กำหนดคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม ไม่ให้บุคคลล้มละลาย เคยต้องคำพิพากษาคดีทุจริต-ร่ำรวยผิดปกติ อดีตนักการเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น-วุฒิสภา นั่ง สสร. – ห้ามดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี สส.-สว-ผู้บริหารท้องถิ่น ศาล-องค์กรอิสระ-อัยการ 5 ปี


สืบเนื่องจากกรณีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ออกมาระบุว่า เตรียมบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. เสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) พร้อมคณะ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 14-15 มกราคม 2568 นี้

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ดังกล่าว เป็นการแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 โดยกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมญ (สสร.) จำนวน 200 คน โดยให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ประกอบด้วย มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 100 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน เพื่อจัดทำร่างรัฐธธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า โดยสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฯ มาตรา 256/5 และ มาตรา 256/6 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สสร. ดังนี้

มาตรา 256/5 กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก สสร. ดังนี้

1.มีสัญชาติไทย

2.มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีนับถึงวันเลือกตั้ง

3.ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย

  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
  • อาศัย ทำงาน หรือศึกษา อยู่ในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
  • เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
  • เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปีการศึกษา
  • เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี

มาตรา 256/6 กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก สสร. ดังนี้

  • เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (1) (2) หรือ (4)

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 96 กำหนดลักษณะบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช (2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ และ (4) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

  • ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  • ติดยาเสพติดให้โทษ
  • เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  • เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
  • เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  • เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ความผิดดามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
  • เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
  • เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม

ทั้งนี้ มาตรา 144 เป็นกรณีความผิดเกี่ยวกับการแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับงบประมาณ ส่วนมาตรา 235 วรรคสาม บุคคลที่พ้นจากตำแหน่งโดยคำพิพากษาของศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

  • เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือรัฐมนตรี
  • เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  • เป็นข้าราชการการเมือง
  • เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

ทั้งนี้ มาตรา 256/14 กำหนดตำแหน่งทางการเมืองที่ สสร.ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนั้นได้เป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่สมาชิกภาพของ สสร.สิ้นสุดลง ดังนี้

  • นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี
  • สส. หรือ สว.
  • สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  • ผู้พิพากษาศาลฎีกา
  • ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  • ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
  • อัยการสูงสุด

ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

ผู้เรียบเรียง

ให้คะแนนความพอใจของคุณ :

0 / 5 คะแนน 0

คุณให้คะแนน:

แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/bf6j | ดู : 0 ครั้ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *


Share via
Click to Hide Advanced Floating Content