ประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล คิดอะไร จึงตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึก

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ตำรวจวางกำลังล้อมอยู่ด้านหน้ารั้วของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกาหลี หลังจากประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึก

Article files

  • Author, ฟราสเชส เหมา, เจค ควอน และ ลอรา บิกเกอร์
  • Position, บีบีซีนิวส์

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ทำให้ทั้งประเทศต้องตื่นตระหนกเมื่อคืนวันอังคาร เมื่อเขาประกาศกฎอัยการศึกอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปีในเกาหลีใต้

กฎอัยการศึกของประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ถูกประกาศทางโทรทัศน์ในช่วงดึก โดยระบุถึง “กองกำลังต่อต้านรัฐ” และภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ

แต่ไม่นานนัก มันก็เป็นที่ชัดเจนว่ากฎอัยการศึกดังกล่าวไม่ได้มีที่มาจากภัยคุกคามนอกประเทศ แต่เกิดจากความพยายามอย่างสิ้นหวังของเขาเองที่จะขจัดปัญหาการเมืองภายใน

มาตรการรุนแรงดังกล่าวทำให้ผู้คนนับพันมารวมตัวกันประท้วงหน้ารัฐสภาเกาหลีใต้ ในขณะที่ สส. ฝ่ายค้านได้เร่งรุดไปที่สภาเพื่อทำการลงมติยกเลิกกฎอัยการศึกดังกล่าว

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาหลังจาก สส. ร่วมกันโหวตยกเลิกกฎอัยการศึกดังกล่าวได้สำเร็จ ประธานาธิบดียุนได้ปรากฏตัวอีกครั้งเพื่อยอมรับมติการโหวตของ สส. และประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในที่สุด

Skip เรื่องแนะนำ and continue studyingเรื่องแนะนำ

Cease of เรื่องแนะนำ

เกิดอะไรขึ้นบ้างตลอดคืนแห่งความวุ่นวายในเกาหลีใต้

นักวิเคราะห์มองว่า ยุนกระทำการเหมือนประธานาธิบดีที่จนมุม

ในระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนวันอังคาร เขาอ้างถึงความพยายามของฝ่ายค้านในการบ่อนทำลายรัฐบาลของเขา ก่อนที่จะบอกว่าเขาประกาศกฎอัยการศึกเพื่อ “ทำลายกองกำลังต่อต้านรัฐที่ซุ่มซ่อนอยู่ภายในสาธารณรัฐเกาหลี”

กฎอัยการศึกที่เขาประกาศทำให้ทหารขึ้นมามีอำนาจเต็ม โดยทหารและตำรวจเต็มเครื่องแบบถูกส่งไปที่อาคารสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึงมีเฮลิคอปเตอร์หลายลำบินลงจอดบนหลังคาของอาคารสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย

สื่อท้องถิ่นของเกาหลีใต้ยังได้แสดงภาพกองกำลังติดอาวุธสวมหน้ากากเข้าไปในอาคารสภาฯ ด้วย ในขณะที่เจ้าหน้าที่สภาพยายามแข็งขืนไม่ให้กองกำลังเหล่านี้เข้าไปด้วยการใช้ถังดับเพลิงฉีดใส่

ราว 5 ทุ่มตามเวลาท้องถิ่นของเกาหลีใต้ (ประมาณ 3 ทุ่มตามเวลาประเทศไทย) กองทัพเกาหลีใต้ได้ออกคำสั่งห้ามการชุมนุม รวมถึงห้ามกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภท ทั้งกิจกรรมของรัฐสภาและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ รวมถึงประกาศให้สื่อและสิ่งพิมพ์ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล

แต่เหล่านักการเมืองในเกาหลีใต้ได้ออกมาประกาศแทบจะในทันทีว่า การประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุนนั้นไม่ถูกกฎหมายและละเมิดรัฐธรรมนูญ หัวหน้าพรรคพลังประชาชนหรือพีพีพี (Other folks Energy Occasion – PPP) ซึ่งเป็นพรรคฝั่งอนุรักษนิยมของประธานาธิบดียุนเอง ได้ออกมาบอกว่าการประกาศกฎอัยการศึกของนายยุนครั้งนี้เป็น “การเดินหมากที่ผิดพลาด”

ในขณะเดียวกัน ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่าง ลี แจ-มยอง จากพรรคประชาธิปไตยหรือดีพี (Democratic Occasion – DP) ได้เรียกให้ สส. ของพรรคมารวมตัวกันที่รัฐสภาเพื่อโหวตคว่ำประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าว

เขายังได้เรียกร้องให้ประชาชนชาวเกาหลีใต้มาชุมนุมประท้วงที่หน้ารัฐสภาด้วย

“รถถัง รถหุ้มเกราะ และทหารติดอาวุธจะปกครองประเทศนี้… พลเมืองร่วมชาติของผม โปรดมารวมตัวกันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”

มีผู้คนหลายพันคนที่ตอบรับคำเรียกร้องดังกล่าว และเร่งรุดไปรวมตัวกันด้านนอกอาคารรัฐสภาซึ่งในขณะนั้นเต็มไปด้วยกองกำลังที่มารักษาความสงบ เหล่าผู้ประท้วงตระโกนว่า “ไม่เอากฎอัยการศึก!” และ “เผด็จการจงพินาศ”

สื่อท้องถิ่นของเกาหลีใต้ที่ถ่ายทอดสถานการณ์จากด้านหน้าอาคารรัฐสภา แสดงให้เห็นว่ามีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ด้านหน้ารั้ว และแม้ว่าทหารจะปรากฏตัวอยู่ด้วย แต่ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้บานปลายไปสู่ความรุนแรง

ในที่สุดเหล่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติของเกาหลีก็สามารถเข้าไปภายในอาคารรัฐสภาได้ โดยบางส่วนต้องปีนรั้วเข้าไป

หลังเวลาตี 1 ของวันพุธตามเวลาท้องถิ่นไม่นาน รัฐสภาเกาหลีใต้ก็ได้ลงมติด้วยคะแนน 190 เสียง (สภานิติบัญญัติแห่งชาติเกาหลีมีสมาชิกทั้งสิ้น 300 คน) ตีตกการประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวของประธานาธิบดียุน ซึ่งทำให้การประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวของเขาเป็นโมฆะไป

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ประธาธิบดียุน ซอก-ยอล ประกาศกฎอัยการศึกผ่านทางโทรทัศน์ในช่วงคืนวันอังคาร

กฎอัยการศึกมีนัยสำคัญแค่ไหน ?

กฎอัยการศึกจะทำให้ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพเป็นการชั่วคราวเมื่อประเทศอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งการปกครองโดยพลเรือนอาจไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ครั้งสุดท้ายที่กฎอัยการศึกถูกประกาศในเกาหลีใต้คือเมื่อปี 1979 โดยในตอนนั้นผู้นำเผด็จการทหาร พัก จอง-ฮี (Park Chung-hee) ได้ถูกลอบสังหารระหว่างเกิดรัฐประหาร

กฎอัยการศึกไม่เคยถูกประกาศเลยแม้แต่ครั้งเดียว นับตั้งแต่ประเทศได้กลายเป็นระบบรัฐสภาในปี 1987

แต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประธานาธิบดียุนได้ประกาศกฎอัยการศึกเป็นครั้งแรก โดยระบุว่าเขาพยายามปกป้องเกาหลีใต้จาก “กองกำลังต่อต้านรัฐ”

ประธานาธิบดียุน ซึ่งมีจุดยืนแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือกว่าประธานาธิบดีคนก่อน ๆ ได้กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองว่าเป็นพวกที่เห็นอกเห็นใจเกาหลีเหนือ โดยที่ไม่ได้ให้ข้อมูลหลักฐานใด ๆ

ภายใต้กฎอัยการศึก กองทัพจะมีอำนาจพิเศษ และโดยทั่วไปสิทธิพลเมือง รวมถึงการปกครองด้วยกฎหมายตามปกติจะถูกระงับไว้ชั่วคราว

แม้ว่ากองทัพเกาหลีใต้จะประกาศห้ามการทำกิจกรรมทางการเมืองและสื่อ แต่ผู้ประท้วงและนักการเมืองเกาหลีก็ปฏิเสธคำประกาศดังกล่าว นอกจากนี้ ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ด้วยว่ารัฐบาลได้เข้าควบคุมสื่อแล้ว โดยสำนักข่าวยอนฮัป ซึ่งเป็นช่องโทรทัศน์ระดับชาติ รวมถึงสำนักข่าวอื่น ๆ ยังคงรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติของเกาหลีใต้ ได้ร่วมกันโหวตคว่ำกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากมันถูกประกาศ

เหตุใดประธานาธิบดียุนจึงรู้สึกกดดัน ?

ประธานาธิบดียุนชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธาธิบดีในเดือน พ.ค. 2022 โดยเขาเป็นพวกอนุรักษนิยมขนานแท้ แต่เขาก็กลายเป็นประธานาธิบดีเป็ดง่อยที่ทำอะไรแทบไม่ได้นับแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เมื่อฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งแบบแลนสไลด์ในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (เกาหลีใต้เลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแยกกัน ไม่เหมือนระบบรัฐสภาไทย – ผู้แปล)

นับแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือน เม.ย. รัฐบาลของนายยุนก็ไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายที่ต้องการได้อีก และทำได้เพียงใช้สิทธิวีโตยับยั้งกฎหมายที่ผ่านสภาโดยฝ่ายค้านที่เป็นฝั่งเสรีนิยม

ผลสำรวจคะแนนความนิยมของเขายังตกต่ำลงด้วย ล่าสุดอยู่ที่ประมาณแค่ 17% โดยในปีนี้เขาได้เผชิญกับเรื่องราวคอร์รัปชันอื้อฉาวหลายเรื่อง โดยหนึ่งในนั้นคือการที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้รับของขวัญเป็นกระเป๋าดิออร์ และอีกกรณีหนึ่งเกี่ยวข้องกับการปั่นหุ้น

เดือนที่แล้ว ประธานาธิบดียุนต้องออกมาขอโทษผ่านทางโทรทัศน์ พร้อมบอกว่าเขาได้ตั้งทีมขึ้นมาตรวจตราหน้าที่ความรับผิดชอบต่าง ๆ ของสตรีหมายเลขหนึ่งแล้ว กระนั้นเขายังคงปฏิเสธไม่ให้มีการสอบสวนที่ลึกกว่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านเรียกร้อง

และในสัปดาห์นี้เอง ฝ่ายค้านได้เสนอตัดงบประมาณประจำปีของรัฐบาลลงอย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวประธานาธิบดีไม่มีอำนาจวีโตยับยั้ง

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านได้เดินหน้ากล่าวโทษเพื่อถอดถอนรัฐมนตรีบางคน รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ หลายคนในรัฐบาลของนายยุนออกจากตำแหน่ง ซึ่งนี่รวมถึงผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบบัญชีของรัฐบาลเกาหลีใต้ ฐานล้มเหลวในการสืบสวนกรณีที่เกี่ยวข้องกับสตรีหมายเลขหนึ่งด้วย

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ประชาชนชาวเกาหลีใต้จำนวนมากมาประท้วงด้านหน้าอาคารรัฐสภาเมื่อคืนวันอังคาร

ประธานาธิบดียุนคิดอะไร จึงประกาศกฎอัยการศึกเช่นนี้ ?

ลอรา บิกเกอร์ ผู้สื่อข่าวของบีบีซี ตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่งในคำถามที่คาใจผู้คนมากที่สุดตอนนี้คือ ประธานาธิบดียุนคิดอะไรอยู่ตอนที่เขาตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึก

มีข่าวลือในแวดวงการเมืองของเกาหลีใต้มาหลายเดือนแล้วว่า นายยุนกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการประกาศกฎอัยการศึก ในเดือน ก.ย. กลุ่มผู้นำและสมาชิกพรรคฝ่ายค้านได้ประกาศว่าสิ่งนี้อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้นี้และบอกว่ามันเป็นทางเลือกที่สุดโต่งเกินไป

แต่นายยุนอาจมีแรงขับดันมากไปกว่านั้น นั่นคือความกลัวต่อการถูกตัดสินโทษ

พัค กึน-ฮเย ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ โดนจำคุกหลังพบว่ามีความผิดฐานใช้อำนาจโดยมิชอบและคอร์รัปชัน ส่วนประธาธิบดีคนก่อนหน้านั้นอย่าง ลี เมียง-บัค ก็ถูกสืบสวนจากข้อกล่าวหาว่าเขามีส่วนร่วมในการปั่นหุ้น โดยเขาถูกตัดสินลงโทษจำคุก 17 ปีฐานคอร์รัปชันและติดสินบนในปี 2020

อดีตประธานาธิบดีอีกคนอย่าง โนห์ มู-เฮียน ได้ปลิดชีพตัวเองในปี 2009 ขณะที่กำลังถูกสืบสวนข้อกล่าวหาว่าเขารับสินบนนับพันล้านวอน

ในเกาหลีใต้ การฟ้องร้องดำเนินคดีได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองหนึ่ง ซึ่งฝ่ายค้านสามารถหยิบมาใช้ข่มขู่ได้ นี่อาจอธิบายได้ส่วนหนึ่งว่าทำไมประธานาธิบดียุนจึงดำเนินการอันสุดโต่งเช่นนี้

ไม่ว่าแรงจูงใจของเขาคืออะไร แต่เส้นทางการเมืองของนายยุนจะต้องเผชิญกับความยากลำบากต่อจากนี้ มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้เขาลาออก โดยสื่อท้องถิ่นของเกาหลีใต้รายงานด้วยว่าสมาชิกของพรรคพลังประชาชน (Other folks Energy Occasion) ของเขาเองได้ประชุมกันก่อนหน้านี้เพื่อจะขับเขาออกจากพรรค

เกาหลีใต้ถือเป็นสังคมประชาธิปไตยที่มั่นคง แต่ก็เต็มไปด้วยเสียงโหวกเหวก และสังคมแห่งนี้ก็ปฏิเสธที่จะยอมรับการปกครองเผด็จการอีกครั้ง

นับแต่นี้ ประธานาธิบดียุนจะต้องเผชิญกับการตัดสินทั้งจากรัฐสภาและประชาชน หลังจากที่พวกเขาปฏิเสธความท้าท้ายที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นกับประชาธิปไตยของประเทศตั้งแต่ทศวรรษ 1980

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, นายลี แจ-มยอง ผู้นำพรรคประชาธิปไตยหรือดีพี (Democratic Occasion) ออกมากล่าวกับสื่อหลังรัฐสภาโหวตคว่ำกฎอัยการศึกเมื่อช่วงประมาณตี 1 ของวันพุธ ตามเวลาท้องถิ่นของเกาหลีใต้

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

การประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุนเกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด และในช่วงเวลากว่า 6 ชั่วโมง ทั้งประเทศตกอยู่ในความสับสนว่ากฎอัยการศึกดังกล่าวมีนัยอย่างไรบ้าง

แต่พรรคฝ่ายค้านก็สามารถไปรวมตัวกันที่รัฐสภาได้อย่างรวดเร็ว และมีจำนวนเสียงมากพอที่จะโหวตคว่ำการประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าว

และแม้ว่าจะมีทหารและตำรวจปรากฏตัวอยู่มากมายในกรุงโซล แต่ดูเหมือนว่าการยึดกุมโดยกองทัพไม่ได้เกิดขึ้น

ภายใต้กฎหมายของเกาหลีใต้ รัฐบาลจะต้องยกเลิกกฎอัยการศึกหากเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาโหวตไม่เห็นชอบ

กฎหมายฉบับเดียวกันยังระบุด้วยว่า การจับกุม สส. ด้วยกฎอัยการศึกนั้นไม่สามารถทำได้

แต่ในขณะนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อประธานาธิบดียุนต่อไปคืออะไร ทั้งนี้ ผู้ประท้วงบางส่วนที่รวมตัวกันด้านนอกอาคารรัฐสภาเมื่อคืนวันอังคารได้ตะโกนว่า “จับตัว ยุน ซอก-ยอล!”

แน่นอนว่าการกระทำที่หุนหันพลันแล่นของประธานาธิบดียุนทำให้ทั้งประเทศตะลึงงัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวเกาหลีใต้เองมองว่าตนเองเป็นประเทศประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่รุงเรือง และเดินมาไกลจากช่วงเวลาที่เป็นเผด็จการมากแล้ว

หลายฝ่ายมองว่านี่เป็นความท้ายทายที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษที่เกิดขึ้นกับสังคมประชาธิปไตยแห่งนี้

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า เหตุการณ์นี้กระทบชื่อเสียงของเกาหลีใต้ในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตย มากกว่าเหตุการณ์จลาจลในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2021 เสียอีก

“การประกาศกฎอัยการศึกของนายยุนเป็นทั้งความเลยเถิดทางกฎหมายและการคำนวณผิดพลาดทางการเมือง และทำให้เศรษฐกิจและความมั่นคงของเกาหลีใต้ตกอยู่ในความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น” ลีฟ-อีริค อีสลีย์ จากมหาวิทยาลัยอีฮวาในกรุงโซล กล่าว

“เขาดูเหมือนนักการเมืองจนตรอก ที่พยายามดิ้นรนท่ามกลางเรื่องอื้อฉาวที่ท่วมท้น อุปสรรคในเชิงสถาบัน และเสียงเรียกร้องให้ถอดถอนจากตำแหน่ง ซึ่งทั้งหมดนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้นต่อจากนี้”

และอย่างที่ประธานสภาฯ ของเกาหลีใต้ได้กล่าวเมื่อวันพุธว่า “เราจะปกป้องประชาธิปไตยร่วมกับประชาชน”