ปี 2567 กำลังจะผ่านพ้นไป นักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนจำนวนมากยังคงเผชิญภาระทางคดีความที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-2565 โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 พวกเขาบางส่วนถูกคุมขังในเรือนจำ บางส่วนลี้ภัยออกนอกประเทศ
จากผู้ลี้ภัยระลอกล่าสุดที่มีอย่างน้อย 30 คน ประชาไทติดตามสัมภาษณ์ชีวิตและการตั้งตัวเริ่มต้นชีวิตใหม่ของ 6 คน ประกอบด้วย 3 แกนนำที่ได้สถานะพำนักถาวรแล้ว กับ 3 คนที่เป็นประชาชนทั่วไปซึ่งยังคงรอสถานะพำนักถาวร โดยมีหนึ่งคนในกลุ่มหลังเพิ่งจะได้สถานะพำนักจากรัฐบาลฝรั่งเศสไปหมาดๆ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ผู้ลี้ภัยยุคนี้มีความแตกต่างจากผู้ลี้ภัยยุคก่อนมีอยู่ 3 ประการหลัก
หนึ่ง – แทบทั้งหมดเป็นการหนีให้พ้นจากการถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112
สอง – เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวอายุยังน้อย กรณีอายุน้อยที่สุดในขณะลี้ภัยคือ 18 ปี
สาม – เป็นคนในระดับประชาชนทั่วไปในสัดส่วนที่มากขึ้น
เมื่อมีคนหนีเพิ่มขึ้นก็นำมาซึ่งหลายคำถาม อาทิ
- ปรากฏการณ์ ‘ลี้ภัย’ นี้จะสร้างความลำบากให้กับจำเลยคนอื่นๆ ในประเทศหรือไม่
- ในมุมของเงินประกันถูกศาลยึดไป กระทบต่อการทำงานของกองทุนราษฎรประสงค์หรือไม่
- ภาวะสงครามที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้มีผู้ขอลี้ภัยในประเทศตะวันตกเป็นจำนวนมาก การขอลี้ภัยทางการเมืองของคนไทยจะเผชิญความยากลำบากมากขึ้นหรือไม่
ประชาไทหาคำตอบเรื่องนี้จาก พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ไอดา อรุณวงศ์ กรรมการของกองทุนราษฎรประสงค์ และ จรัล ดิษฐาอภิชัย นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายและอดีตแกนนำคนเสื้อแดงผู้ลี้ภัยในฝรั่งเศสมาราว 10 ปีแล้ว
ต้องหนี เพราะไม่มีสิทธิประกันตัว ?
ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ เอาผิดต่อผู้ชุมนุม
หลังจากนั้นก็ปรากฏรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มกลับมาบังคับใช้ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกครั้ง แม้ว่าช่วงกว่า 2 ปี ก่อนหน้านั้นจะว่างเว้นจากการใช้กฎหมายดังกล่าว โดย พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่านั่นเป็นพระเมตตาของรัชกาลที่ 10
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 276 คน ใน 308 คดี
ทนายพูนสุขกล่าวว่าเหตุผลที่ทำให้คนเลือกลี้ภัยมีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งประกอบด้วย 2 ปัจจัย
หนึ่ง — ระดับความเข้มข้นของรัฐในการคุกคามและใช้คดีความ
สอง — การไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว
พูนสุขตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงปลายปี 2563 ที่รัฐบาลประกาศว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด แล้วต่อมาก็ปรากฏข่าวการแจ้งข้อกล่าวหากับแกนนำและคนเล็กคนน้อย เราจะเห็นว่าในช่วงการเคลื่อนไหวกระแสสูง มาตรการของรัฐก็เข้มข้นและตึงเครียด แต่ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหายังได้รับสิทธิประกันตัว
นอกเหนือจากบรรยากาศการคุกคามโดยรัฐและการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวในระยะหลัง ซึ่งพูนสุขอธิบายว่าส่งผลให้คนหนีออกไปเพิ่ม เราถามต่อว่ากระแสการสนับสนุนจากมวลชนในขบวน ก็อาจถือเป็นอีกปัจจัยด้วยหรือไม่ พูนสุขตอบว่าก็มีผล แต่คงไม่ทั้งหมด
หลังช่วงพีคของชุมนุม กระแสการสนับสนุนจากสาธารณะเริ่มซาลง แต่ม็อบก็ยังมีต่อเนื่อง ช่วงนั้นแม้แกนนำได้ประกันตัวก็มีบางส่วนยังเคลื่อนไหว จึงเป็นเหตุให้รัฐอ้างถอนประกัน
ระลอกของการถอนประกันเกิดขึ้นมาตั้งแต่การเคลื่อนไหวยังมีลักษณะเป็นขบวนใหญ่ จนมาถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มเล็กอย่างใบปอและบุ้งกลุ่มทะลุวัง เมื่อปี 2565 เรื่อยมาจนถึงการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมอิสระ อย่างตะวันและแบมที่ตัดสินใจกลับเข้าเรือนจำด้วยการยื่นถอนประกันตัวเองเมื่อช่วงปี 2566 โดยมีการอดอาหารและน้ำในระหว่างถูกคุมขังเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้นักโทษการเมืองทุกคน
พูนสุขกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์การถอนประกันที่ทำให้แกนนำต้องกลับเข้าเรือนจำ และการไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างสู้คดีเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในขณะที่ม็อบก็ซาลง จากความตื่นตัวของสาธารณะเมื่อมีแกนนำถูกจับก็ได้กลายมาเป็นความเคยชิน
ในเดือนพฤษภาคม 2566 ไทยมีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลพลเรือน แต่สถานการณ์นักโทษทางการเมืองดูเหมือนยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น คนที่ถูกขังมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วยังไม่ได้ประกันตัว ขณะที่มีผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีรายใหม่นั้นก็เริ่มเพิ่มขึ้น
จากการสัมภาษณ์ของประชาไทพบว่า มีประชาชนทั่วไป 2 คนที่ตัดสินใจยื่นขอลี้ภัยเมื่อเห็นสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนรัฐบาล คือ แบมบู-ภัคภิญญา อดีตบรรณารักษ์ และ โตโต้–ธนกร อดีตบัณฑิตเอกภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
พูนสุขกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา ศาลมีแนวโน้มไม่ให้ประกันตัว ต่อให้ไม่มีเหตุที่ทําให้ศาลจะตีความเข้าข้อกฎหมายได้ว่าจําเลยจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น เป็นอุปสรรคในการสอบสวน กระทั่งต่อให้มีเหตุผลทางกฎหมายจริงๆ ก็ต้องมาพิจารณาที่ข้อเท็จจริง ซึ่งตีความได้ว่าเขาจะหลบหนี
ตัวอย่าง 2 นักโทษการเมืองที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว คือ ขนุน–สิรภพ นักศึกษาที่กำลังเรียนปริญญาโท และ อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พูนสุขเห็นว่า สองคนนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายและไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนําไปสู่การตีความว่าเขาจะหลบหนีได้เลย ในทางตรงกันข้าม มีหลักฐานอื่นๆ ที่สามารถพิจารณาได้ว่าเขามีความเสี่ยงต่ำที่จะหลบหนีเสียด้วยซ้ำ
“เวลาเราจะสรุปเข้าเหตุผลในทางกฎหมาย มันต้องมีข้อเท็จจริงก่อนว่า ข้อเท็จจริงอันนี้นําไปสู่การตีความว่าเขาจะหลบหนี แต่ว่าหลายๆ กรณี ศาลให้เหตุผลว่าเป็นเพราะว่ามีคําพิพากษาแล้ว อัตราโทษสูง เกรงว่าจําเลยจะหลบหนี ซึ่งเหตุผลแบบนี้ไม่ได้เป็นเหตุผลที่สามารถนํามาเป็นเหตุผลจริงๆ
เพราะว่าถ้าบอกว่าอัตราโทษสูงเกรงว่าจําเลยจะหลบหนี แปลว่าร้อยเปอร์เซ็นต์คุณต้องไม่ให้ประกันตัวเลยนะคดีลักษณะนี้ แปลว่าคดีฆาตกรรมหรือคดีอะไรที่โทษสูงกว่านี้ คุณก็ต้องไม่ให้ประกันเลยนะ เพราะว่าอัตราโทษสูงเกรงว่าจําเลยจะหลบหนี ซึ่งเหตุผลอันนี้มันเอามาใช้พิจารณาประกอบได้ แต่ไม่ใช่เหตุผลหลัก”
หลังจากการเสียชีวิตในเรือนจำของ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ หรือ เนติพร เสน่ห์สังคม แม้ไม่ได้ส่งผลถึงขั้นมีการปล่อยตัวชั่วคราวล็อตใหญ่ แต่สถานการณ์นักโทษทางการเมืองดูเหมือนจะบรรเทาลง
ช่วงนั้นมีการปล่อยตัว 2 นักเคลื่อนไหว คือ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แฟรงค์ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ซึ่งเข้าเรือนจำช่วงเดียวกันกับบุ้ง แต่เป็นคดีมาตรา 116
แนวโน้มพิพากษาจำคุก
สำหรับนักกิจกรรมและประชาชนจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2566 เรื่อยมาจนถึงปีนี้ ก็ยังคงเป็นปีแห่งคำพิพากษา พูนสุขบอกว่าแนวโน้มของคำพิพากษาส่วนมากยังเป็นการลงโทษจำคุก การประกันตัวยังเป็นเรื่องยากอยู่ แม้ว่าทนายความจะมีการยื่นประกันตัวตามกระแสทางการเมือง
ตามข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในปี 2567 นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฏาคม มีการยื่นประกันตัวผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองถึง 109 ครั้ง
ในจำนวนนี้มีถึง 85 ครั้งที่เป็นการยื่นคำร้องในคดีหลักตามมาตรา 112 และ มาตรา 116 ส่วนที่เหลือเป็นคดีอื่นๆ ที่มีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง ในช่วงเดือนดังกล่าว พบว่าศาลให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองเพียง 5 คน
อย่างไรก็ตาม พูนสุขกล่าวด้วยว่าก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลนี้ เพราะว่าเป็นคดีที่เกิดขึ้นในรัฐบาลที่แล้ว แต่มีกำหนดพิพากษาคดีในช่วงนี้พอดี
โดยในปีนี้ มีการนัดฟังคำพิพากษาในหลายคดี และพบว่าจำเลยคดี ม.112 บางส่วนที่เคยได้รับสิทธิประกันตัว ไม่ได้มาปรากฏตัวตามที่ศาลนัด จึงเป็นเหตุให้ศาลออกหมายจับ
ภาณุพงศ์ จาดนอก (มะณีวงศ์) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ไมค์ ระยอง’ แกนนำซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112 รวมถึงคดีอื่นๆ ทั้งหมด 43 คดี โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อเดือนกันยายนว่าเขาได้ตัดสินใจลี้ภัย
เช่นเดียวกันกับ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ ‘เพนกวิน’ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เป็นแกนนำที่มีคดี ม.112 ติดตัวมากที่สุดคนหนึ่ง โพสต์เฟซบุ๊กในเดือนตุลาคมว่าตนเองเดินทางออกนอกประเทศไทยแล้ว เพราะได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในต่างประเทศ แต่ไม่ได้ร่ำลาใครเนื่องจากเขาต้องเผชิญสถานการณ์คดีความกว่า 30 คดี
ทั้งนี้ จากกรณีข้างต้น พวกเขาไม่ได้ระบุว่าลี้ภัยไปในช่วงใด
ก่อนหน้านี้พบว่ามีแกนนำคนรุ่นใหม่ที่ทยอยลี้ภัยออกไปในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ เช่น ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือ ฟอร์ด หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก, เมลิญณ์ (ชื่อเดิม เมนู)–สุพิชฌาย์ ชัยลอม และ พลอย–เบญจมาภรณ์ นิวาส อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง รวมถึง ญาณิศา วรารักษพงศ์ นักศึกษาและผู้ลี้ภัยคดี ม.112 ในสหรัฐอเมริกา
สำหรับคำถามที่ว่าการที่มีคนลี้ภัยเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ทิศทางคดีของคนอื่นๆ ยากลำบากขึ้นหรือไม่
พูนสุขตอบว่า ตามหลักแล้วในทางคดีความ ต่อให้เป็นคู่คดีเดียวกัน หากคนหนึ่งหนีไป ประเด็นการได้สิทธิประกันตัวหรือไม่ รวมทั้งการพิพากษาลงโทษหรือไม่ ตามหลักการแล้วจะไม่มีผลต่ออีกคน แต่ว่าการที่หนุ่มสาวหนีเพิ่มก็อาจส่งผลในเชิงสังคม ที่อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์กันไป
“การต่อสู้ก็ยังต้องยืนหยัดต่อสู้ เราคิดว่าทุกคนที่ออกมาสู้ ไม่ได้มีการจัดตั้งหรืออะไร ปัจจัยของแต่ละคนก็ต่างกัน ความสามารถในการแบกรับเรื่องต่างๆ ก็ต่าง เราคิดว่าตัวคนที่ถูกดําเนินคดีเอง เขาก็ต้องมีสิทธิเลือก มันไม่ใช่ว่าไปคาดหวังว่าขบวนการต่อสู้มันจะต้องแบบนั้นแบบนี้”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- นางรำผู้ไม่มีที่ยืนในเมืองไทย ชีวิตลี้ภัยของ ‘มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ’
กระทบกองทุนราษฎรประสงค์อย่างไร
ไอดา กรรมการของกองทุนราษฎรประสงค์ให้สัมภาษณ์ประชาไทผ่านทางอีเมลว่า การมีผู้ลี้ภัยนั้นส่งผลกระทบต่อกองทุนโดยตรง เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียลำดับแรก เพราะกองทุนเป็นผู้ทำสัญญาประกันไว้กับศาล เมื่อมีการผิดสัญญาก็ต้องก้มหน้ายอมรับการถูกริบ
ไอดาระบุว่า ในกติกานี้นายประกันไม่มีหน้าที่หรือทางเลือกอื่นใดนอกจากรักษาคำสัญญา ส่วนเงินเมื่อถูกริบไปก็ย่อมทำให้มีเงินหมุนกลับมาในระบบเพื่อช่วยเหลือคนอื่นต่อไปน้อยลง และการผิดสัญญามากเข้าก็อาจเป็นเหตุให้ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือในการช่วยเหลือคนอื่นต่อไป นี่คือผลกระทบตรงๆ ตามเนื้อผ้า
“แต่เราก็ไม่มีอะไรต้องฟูมฟายไปกว่านั้น เราเป็นคนตัดสินใจก้าวเข้ามาอยู่ภายใต้กติกานี้เองในภาวะฉุกเฉินที่ผ่านมา ด้วยหวังว่าจะช่วยให้ทุกคนได้ใช้สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เมื่อผิดสัญญาเสียเองแบบนี้ก็คือผิดกติกา แต่เราไม่มีอะไรจะตัดสินจำเลยที่หนีไปเหล่านั้น เราเป็นแค่นายประกัน เราไม่ใช่ผู้พิพากษา”
“ไม่เคยมีจำเลยคนใดมาปรึกษาหรือบอกเราว่าทำไมจึงจะหนี เราเหมือนเป็นคนสุดท้ายที่มารู้พร้อมศาลทุกที โดยปริยายเราเข้าใจได้อยู่ว่าทุกคนมีเหตุผล ทุกคนมีปัจจัย และทั้งหมดเป็นความรู้อยู่แก่ใจตัวเองของแต่ละคนว่าตัดสินใจเพราะอะไร มันไม่ใช่เรื่องง่าย และเราไม่มีอะไรจะตัดสินในฐานะปัจเจกมนุษย์ด้วยกัน อย่างน้อยที่สุดไม่ใช่ในลักษณะที่เป็นการเหมารวม” ไอดากล่าว
ทั้งนี้ ไอดาตั้งข้อสังเกตด้วยว่าผู้ลี้ภัยรุ่นใหม่ตัดสินใจหนีหลังจากที่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไปแล้ว แตกต่างจากผู้ลี้ภัยในยุครัฐประหารทั้งสองครั้งก่อนหน้า ซึ่งเป็นการหนีเพื่อปฏิเสธอำนาจเผด็จการตั้งแต่ต้น รวมถึงหนีการกวาดจับเถื่อนของเผด็จการชนิดเสี่ยงถูกอุ้มฆ่าอุ้มหาย
ส่วนประเด็นเรื่องแนวทางการทำงานของกองทุนฯ ในตอนนี้ ไอดาบอกว่า เปลี่ยนไปพอสมควร มีคดีซึ่งต้องไปรอประกันในลักษณะฉุกเฉินกะทันหันทั้งคืนทั้งวันน้อยลง แต่ยังคงมีการยื่นประกันรายวันสำหรับคดีต่างๆ ที่ทยอยมีคำพิพากษาแล้วกองทุนต้องประกันในศาลชั้นต่อไป รวมทั้งมีคดีประเภทที่อัยการเพิ่งขุดมาฟ้องเมื่อใกล้หมดอายุความ คดีเหล่านี้พอทราบกำหนดล่วงหน้า ทำให้จัดสรรได้ทันทั้งเงินและนายประกัน
งานอีกส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคืองานช่วยเหลือผู้ต้องขังและครอบครัว กับการดูแลค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไปตามนัดคดีต่างๆ ซึ่งมีจำนวนมากยิบย่อยทุกวัน เป็นงานหลังบ้านก้อนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาในน้ำหนักที่เท่าๆ กันกับงานประกันทั้งในแง่การลงแรงและเวลา
ส่วนการระดมทุน กองทุนไม่มีการระดมแล้ว เนื่องจากเงินในบัญชีมีเพียงพอ ทั้งยังมีเงินที่ค้างอยู่ในศาลอีก แค่ต้องบริหารให้ดี ให้รัดกุมและทั่วถึง โดยมีเป้าหมายคือจ่ายให้หมดไป มากกว่าจะหาเพิ่มเข้ามาใหม่ เพราะกองทุนนี้เกิดขึ้นมาในฐานะภารกิจจำเป็นเฉพาะหน้า และจะอยู่เท่าที่ภารกิจจบเท่านั้น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ‘ไอดา อรุณวงศ์’ เบื้องหลังยัง(ต้อง)ไปต่อ กองทุนราษฎรประสงค์ในวันกระแสต่ำ
อุปสรรคจากปลายทาง
เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ที่ทำให้ จรัล ดิษฐาอภิชัย นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรก และอดีตแกนนำคนเสื้อแดง ต้องกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในแผ่นดินฝรั่งเศส ต่อมาเขาได้สัญชาติเป็นพลเมืองฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยรุ่นใหม่ผุดขึ้นมาอีกระลอก เขายังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ปฏิวัติอย่างเข้มข้น ยังทำงานรณรงค์ทางการเมืองและคอยช่วยเหลือผู้ลี้ภัยรุ่นลูกรุ่นหลานอยู่ปลายทาง
จรัลเล่าให้ประชาไทฟังว่า สถานการณ์ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยในต่างแดนขณะนี้ยังไม่ถือว่ายากถึงขั้นน่าเป็นห่วง แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะยากขึ้นในอนาคต เพราะกระแสฝ่ายขวาขึ้นมามีอำนาจในหลายประเทศฝั่งยุโรป นั่นหมายความว่าผู้ลี้ภัยอาจต้องติดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านนานขึ้น และอาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น
ฝรั่งเศสกับเยอรมนีเป็นสองประเทศที่มีผู้ลี้ภัยการเมืองไทยมากกว่าชาติยุโรปอื่นใด ถึงกระนั้นสภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยก็ไม่ง่าย ในกรณีฝรั่งเศส มีจำนวนคนขอลี้ภัยทั้งหมดปีละประมาณ 40,000-50,000 คน แต่มีการรับเป็นผู้ลี้ภัยได้เพียง 20% เท่านั้น
จรัลยกตัวอย่างอุปสรรคของผู้ลี้ภัยไทยในฝรั่งเศส แบ่งได้เป็น 4 ข้อ
- ยังไม่ได้มีการจัดตั้งเป็นองค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไทย
- ปัญหาที่อยู่อาศัยในช่วงตั้งตัว ด้วยความที่ค่าเช่าบ้านแพงมาก และหากต้องการไปอาศัยที่ศูนย์พักพิงสำหรับผู้ขอลี้ภัยก็จะต้องต่อคิว
- ขาดเงินทุนสำหรับตั้งตัวและค่าใช้จ่ายในระหว่างการเดินเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัย เช่น ค่าแปลเอกสาร หรือในกรณีที่ต้องขึ้นศาลเพื่อตัดสินว่าฝรั่งเศสควรช่วยเหลือบุคคลนี้หรือไม่ ก็จะมีค่าล่าม ค่าทนายความ เป็นต้น
- เมื่อก่อนมีองค์กรไม่แสวงหากำไรในฝรั่งเศสประมาณ 2-3 แห่งที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โดยได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากรัฐ แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเงินทุนช่วยเหลือก็ลดลง
บรรยากาศส้ม-แดง ตีกัน
การแบ่งขั้วแบ่งข้างกันทางการเมืองของกองเชียร์ ‘ส้ม-แดง’ กลายมาเป็นบรรยากาศมวลรวมไปแล้ว โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ชาวเน็ตที่เป็นแฟนคลับของทั้งสองพรรคต่างก็ปะทะกันให้เห็นอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรงหรือไม่ก็ตาม แน่นอนว่าประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยและจำเลยในคดีทางการเมืองก็ถูกลากเข้ามาอยู่ในบทสนทนาที่ต่างฝ่ายโจมตีกัน
ในเรื่องนี้ จรัลแสดงความคิดเห็นว่าในยุคสมัยที่การเมืองสีเสื้อเข้มข้น เสื้อเหลืองกับเสื้อแดงในอดีตก็ฟาดฟันกันแบบนี้ ส่วนมวลอารมณ์ในต่างแดน การแบ่งขั้วก็มีให้เห็นอยู่บ้าง ม็อบที่ฝั่งแดงจัด ส้มก็ไม่มา กลับกันถ้าฝั่งส้มจัด แดงก็ไม่มา
อย่างไรก็ตาม จุดยืนของตัวเขาเองคือ “การผนึกกำลังของส้มกับแดง เพราะว่าศัตรูยังแข็งแรง” ด้วยเหตุผลนี้ เขาจึงมีแนวปฏิบัติส่วนตัวที่ว่า “พูดทุกคำ ทำทุกอย่าง เพื่อชัยชนะของการต่อสู้” เพื่อไม่ให้เกิดการแบ่งแยกกันในขบวนไปมากกว่าเดิม
“เวลาต่างฝ่ายต่างสู้กัน สิ่งที่ถูกทำลายเป็นอย่างแรกคือความจริง สองฝ่ายเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากเชื่อ แล้วก็ไปหาเหตุและผลมา สองฝ่ายจะเอาชนะกัน ใช้จุดยืนพวกกู-พวกมึง แยกไม่ออกระหว่างหลักการกับตัวบุคคล”
จรัลยังกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมทั้ง 4 ฉบับเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ด้วยว่า ถ้าไม่มีการนิรโทษกรรมรวมความผิดตามมาตรา 112 กลุ่มคนเสื้อเหลืองจะได้ประโยชน์มากที่สุด
ทางด้านทนายพูนสุขมองว่า การแบ่งขั้วกันเชียร์พรรคใดที่ชอบอย่างสุดใจก็ถือเป็นสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง แต่ว่าในอีกมุมหนึ่ง การแบ่งเขา-แบ่งเราก็อาจไม่เป็นผลดีกับขบวนประชาธิปไตยที่เรายังจําเป็นต้องอาศัยแนวร่วม เมื่อการเลือกตั้งครั้งหน้ามาถึง คนที่ไม่มีอํานาจก็ยังจะต้องจับมือกันในการที่จะสู้ผู้มีอํานาจอยู่ดี
เมื่อถามว่าคิดเห็นอย่างไร เมื่อนักเคลื่อนไหวหรือผู้ลี้ภัยซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองที่อาจไม่ตรงกับความคาดหวังของมวลชนอาจถูกซ้ำเติมจากคนในขบวนอยู่บ่อยครั้ง
พูนสุขกล่าวว่า สําหรับศูนย์ทนายความฯ แล้วยังจําเป็นที่จะต้องช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าผู้นั้นจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร
“แต่เราอยากจะชวนลองมองว่า การเปลี่ยนท่าทีในการแสดงออกทางการเมือง มันไม่ได้ไปลบล้างว่าเขาเป็นผู้ถูกกระทํา แล้วเอาเข้าจริง แม้ว่าหลายคนจะเปลี่ยนท่าทีในการแสดงออก แต่เขาก็ยังไม่ได้หลุดพ้นจากเรื่องนั้นเสียทีเดียว เขายังจะต้องเผชิญกับมันอยู่ กลายเป็นว่าเผชิญความยากลําบากในชีวิตมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ
เราคิดว่าการเปลี่ยนท่าทีในการแสดงออกมันก็เป็นทางเลือกเพื่อทางรอดของเขาเหมือนกัน ไม่ต่างกับการที่บางส่วนเลือกที่จะลี้ภัย นั่นก็คือทางเลือกเพื่อทางรอดเหมือนกัน”
ขณะที่ไอดาบอกว่า บรรยากาศของส้ม-แดงซัดกันนัวส่งผลกระทบอยู่บ้าง หากนับว่าดรามาต่างๆ มีส่วนก่อความเสียหายในทางชื่อเสียงแก่กองทุนฯ เช่น ทำให้เข้าใจผิดว่ากองทุนสนับสนุนพรรคใด หรือมีการนำชื่อกองทุนฯ ไปพ่วงหาประโยชน์ แต่เนื่องจากเธอยังคงตอบตัวเองได้ทุกวันว่ากำลังทำอะไร และก็ชี้แจงให้เห็นอยู่ทุกสัปดาห์ว่ากองทุนทำอะไร ไม่เคยมีท่าทีทั้งสิ้นว่าสนับสนุนพรรคไหน
“เราจึงตัดใจว่า สำหรับคนที่อยากรู้ความจริง เขาย่อมเห็นการทำงานเป็นข้อพิสูจน์ได้ เราจะไม่เสียเวลาไปร่วมวงดรามา เราไม่มีเวลา” ไอดากล่าว
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )