ป.ป.ช.มีมติชี้มูล ชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว-ภิรพล ลาภาโรจน์กิจ 2 อดีต สส.ป.ช.ป. -ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ อดีต สส.เพื่อไทยเสียบบัตรแทนกัน เผยพฤติการณ์เจ้าตัวไปต่างจังหวัด เลยฝากบัตรให้เพื่อน สส.ลงคะแนนร่างกฎหมายช่วง ก.ย.56
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่าเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2568 สำงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เผยแพร่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์กรณี ป.ป.ช.มีมติชี้มูลนายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว และนายภิรพล ลาภาโรจน์กิจ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ และนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ในกรณีเสียบบัตรแทนกัน
โดยกรณีนี้สืบเนื่องจากที่ ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 3 ราย ฝากผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงคะแนนแทน ในการพิจารณาและลงมติร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 โดยที่ตนเองไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (3 สำนวนคดี)
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 3 ครั้งที่ 11 (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. ได้ปรากฏชื่อนายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว และนายภิรพล ลาภาโรจน์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ และนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย แสดงตนและลงคะแนนทั้งที่บุคคลทั้งสามไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตลอดระยะเวลาที่มีการประชุม
เนื่องจากมีการเดินทางไป – กลับ ต่างจังหวัดโดยเครื่องบิน กรณีจึงรับฟังได้ว่านายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว นายภิรพล ลาภาโรจน์กิจ และนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ได้ฝากบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ของตนไว้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น หรือยินยอมให้บัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ของตนไปอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์กดปุ่มแสดงตนและลงคะแนนแทนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้การกระทำของนายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว นายภิรพล ลาภาโรจน์กิจ และนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172)
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )