ผู้อำนวยการรพ.ศิริราช แจ้งผลตรวจสภาพอาคารหลังแผ่นดินไหว-พบจุดวิกฤต 4 แห่ง-สั่งปิดทางเชื่อมระหว่างตึกสยามินทร์ชั้น 6 กับตึกเฉลิมพระเกียรติฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2568 ศ.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช มีข้อความแจ้งแก่คณบดี ผู้บริหาร หัวหน้าภาคฯ อาจารย์ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลศิริราช เกี่ยวกับผลการสำรวจอาคารในโรงพยาบาลศิริราชหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 มีรายละเอียด ดังนี้
บุคคลากรโรงพยาบาลศิริราชร่วมมือกับทีมวิศวกรรมศิริราช วิศวะมหิดล วิศวะเกษตร สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย บริษัท PAC บริษัท Meinhard บริษัท ว.และสหาย บริษัท KLA บริษัท energy line บริษัทกรีไทย และบริษัท interpac ได้สำรวจอาคารในศิริราช รวมถึงหอพัก 8 ไร่ ดำเนินการโดยวิศวะที่มีใบอนุญาตรับรองการตรวจสำรวจ และแบ่งทีมออกสำรวจทั้งหมด 8 ทีม ผลสำรวจอาคารทั้งหมดที่ได้สำรวจ เป็นดังนี้
1. พบตำแหน่งจุดวิกฤตมาก (สีแดง) ได้แก่
ก. ทางเชื่อมระหว่างตึกสยามินทร์ชั้น 6 กับตึกเฉลิมพระเกียรติฯ
ข. ทางเชื่อมระหว่างตึกสยามินทร์(ห้องผ่าตัด)ชั้น 3 กับตึกเฉลิมพระเกียรติ
ทั้งสองจุดมีความเสี่ยงสูงมากในการหลุดร่วงทั้งทางเชื่อมตกลงมาชั้น 1 (ทั้งสองทางเชื่อม) (ถ้าไปยืนดูจะเห็นว่าแกว่งอยู่ตลอดเวลา) ซึ่งจะทะลุลงหลังคามายังทางเดินชั้น 1 ระหว่างตึกทั้งสอง จึงต้องปิดตั้งแต่ทางเดิน ห้ามผ่านเด็ดขาด ตั้งแต่ 30 มี.ค. 2568 เป็นต้นไป แผนการแก้ไข จะเริ่มเข้ามาจัดการรื้อหลังคา ตั้งนั่งร้าน ตัดทางเชื่อม โรยส่งลงชั้นล่าง ทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 1.5 เดือน (เริ่ม 31 มี.ค. 2568)
ผลกระทบ
1. ปิดช่วงทางเดินระหว่างตึกสยามินทร์และตึกเฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ทางลงบันไดไปชั้น B1 ในด้านศิริราชมูลนิธิ จนถึงทางขึ้น ramp ฝั่งด้านตึกกายวิภาคฯ
2. บุคลากรจะต้องเดินผ่านขึ้นบันไดข้างตึกศิริราชมูลนิธิ ผ่านไปลงที่ ramp
3. การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยรถนั่ง เปลนอน รถเข็นต่างๆ ขึ้นทาง ramp
4. จะรีบดำเนินการสร้าง ramp ชั่วคราวพาดบันไดและเชื่อมไปบริเวณสนามหญ้าหน้าศิริราชมูลนิธิ เพื่อใช้ในการเคลื่อนย้ายรถนั่ง เปลนอน
ได้นำเรียนถึงความจำเป็นของการดำเนินการแผนนี้ต่อศิริราชมูลนิธิแล้ว ซึ่งจะมีแผนย้ายจุดรับบริจาคกลับมายังตึกมหิดลบำเพ็ญใหม่อีกครั้ง
2. ตำแหน่งจุดวิกฤตปานกลาง (สีเหลือง) ได้แก่
ก. ทางเชื่อมระหว่างตึกพระศรี 100 ปีและตึกโกศล พบว่าโครงสร้างตึกแข็งแรง แต่พบว่ามีพื้นผิวแผ่นปูนตกลงมาที่ทางเดิน และจะมีโอกาสตกเพิ่มขึ้น การแก้ไข วันนี้เริ่มตั้งนั่งร้านขึ้นแก้ผิวฉาบ แต่ต้องระมัดระวังสายต่างๆที่เชื่อมโยง ใช้เวลาดำเนินการ 5 วัน ในระหว่างนี้จะปิดกันทางเดินตั้งแต่ทางออกตึกพระศรี (ข้างร้าน ณ ศิริราช) ที่ต้องเดินผ่าน ramp และซอกทางเดินระหว่างสองตึกนี้ เนื่องจากเศษปูนมีชิ้นใหญ่มาก ให้เดินผ่านทางหน้าร้าน S&P แทน
ข. หอพัก 8 ไร่ จากการตรวจสอบภายในตัวอาคารทั้งสองตึก (ตรวจทุกชั้นรวมที่จอดรถ) ไม่กระทบโครงสร้างใด ๆ เป็นเพียงรอยร้าวของผนังฉาบแต่พบว่าด้านนอกของอาคาร A&B ด้านปลายทั้งสองฝั่งของทั้งสองตึก มีเศษปูนชิ้นใหญ่ที่สามารถร่วงหล่นลงมา ตึก A จะร่วงลงที่จอดรถด้านนอก ด้านสถานีรถไฟและอีกด้านเป็นด้านคนเดินเข้าตึก ตึก B เป็นด้านติดกับวัดและด้านที่เป็นที่จอดรถหน้าศูนย์ฟอกเลืoด การแก้ไข จะต้องโรยตัวลงมากระเทาะพื้นผิวทั้ง 4 ฝั่ง ฉาบพื้นผิวใหม่ ผลกระทบ จะกั้นพื้นที่ช้้น 1 ห้ามจอดรถ ห้ามเดินผ่าน และเข้าแจ้งให้ทางวัดทราบ
3. จุดที่พบว่า ไม่พบความเสียหายต่อโครงสร้างหลัก (สีเขียว) อาคารที่สำรวจมีความปลอดภัยในการใช้งาน
ก. ตึกที่พบว่าเป็นการแตกร้าวของผนังฉาบหลายชั้น ได้แก่ ตึกนวมินทรฯ ตึกเฉลิมพระเกียรติฯ ตึกศรีสวรินทราฯ ซึ่งจะดำเนินการเข้าพื้นที่เพื่อซ่อมแซม แก้พื้นผิว ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ไล่ตามตึกที่แจ้ง
ข. กระเบื้องห้องน้ำหอผู้ป่วยนวมินฯ 12 ที่กำลังจะหลุด 3 ห้อง และที่แขวนทีวี ได้ดำเนินแก้ไขวันนี้แล้ว
ค. ฝ้าที่มีความเสี่ยงหลุดร่วงที่โถงตึกศรีสวรินฯ ชั้น 1 ได้ดำเนินการแก้ไขวันนี้แล้ว (วันนี้มีระดับคนงานจากภายนอกมาเตรียมพร้อมแก้ไขหน้างานเลยประมาณ 30 คน)
ง. แผ่นผนังกระเบื้องหินหลังพระรูปปั้นสมเด็จย่า มีความเสี่ยงที่จะหลุดร่วงทั้งสองแผ่น จะรีบดำเนินการแก้ไขในวันพรุ่งนี้
จ. ทางเชื่อมระหว่างศูนย์โรคหัวใจและตึกนวมินฯ มีความแข็งแรงปกติ
ในการสำรวจมีการลงนามรับรองในส่วนสีเขียวโดยวิศวกร
จึงเรียนมาเพื่อให้ทุกท่านได้เกิดความมั่นใจ และโปรดประชาสัมพันธ์ให้ทุกหน่วยงานทราบถึงผลการสำรวจดังกล่าว ตลอดจนความจำเป็นในการปิดทางสัญจรบางช่วง
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )