“ผู้ชายบอกว่าจะยอมมีเซ็กส์ด้วย เพราะสงสารที่ฉันพิการ”

ที่มาของภาพ, BBC Recordsdata

คำบรรยายภาพ, ฮอลลีกล่าวว่า ความสัมพันธ์เชิงบวกของพิการจำเป็นต้องได้รับการเสนอให้ดีกว่านี้

Article records

  • Creator, เจมมา ดันสแตน
  • Role, บีบีซี เวลส์ ไลฟ์

ฮอลลี เกรเดอร์ เพิ่งมีอายุได้เพียง 16 ปี ตอนที่มีคนมาถามตรง ๆ ซึ่งหน้าว่า คนพิการอย่างเธอสามารถจะมีเพศสัมพันธ์เหมือนคนทั่วไปได้หรือไม่

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฮอลลีถูกคนรอบข้างเซ้าซี้กวนใจด้วยคำถามสารพัดเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ ตัวอย่างเช่นคำถามที่ว่า เธอสามารถจะมี “เซ็กส์แบบรุนแรง” ได้หรือไม่ รวมทั้งสงสัยกันว่า เธอจะร่วมรักได้เหมือนคนปกติก็ต่อเมื่อนั่งในรถเข็นวีลแชร์เท่านั้นหรือไม่

ฮอลลีกล่าวถึงบรรดาเพศตรงข้าม ที่พากันเข้ามาเสนอตัวเพื่อมีเซ็กส์กับเธอว่า “พวกเขาคิดว่ากำลังช่วยสงเคราะห์ฉัน แทบจะมองว่าเป็นการเสียสละตนเองด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ตอนนี้ฉันด้านชาไปแล้ว ไม่ตกใจหรือรู้สึกว่าถูกเหยียดหยามอีกต่อไป”

ปัจจุบันฮอลลีมีอายุ 26 ปีแล้ว เธอป่วยด้วยโรคข้อหลวมหรือข้อหย่อน (hypermobility syndrome) ซึ่งทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้มากกว่าปกติมานาน แต่ตอนนี้เธอเป็นหนึ่งในผู้พิการหญิงไม่กี่คน ที่กล้าออกมาแสดงความเห็นอย่างเปิดเผย เพื่อต่อสู้ท้าทายกับการตีตราและการเหมารวมในทางลบต่อผู้พิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการหาคู่ครองและการคบหาอยู่ในความสัมพันธ์

ฮอลลีมักกล่าวเน้นย้ำอยู่เสมอว่า การนำเสนอเรื่องราวชีวิตรักที่มีความสุขของกลุ่มคนพิการ ให้ปรากฏชัดเจนต่อสายตาของสาธารณชน ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง “บ่อยครั้งที่สื่อนำเสนอแต่ความทุกข์ยากในชีวิตของคนพิการ พวกเราถูกมองเป็นแค่เรื่องเศร้าเรื่องหนึ่งเท่านั้น”

Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ

Finish of เรื่องแนะนำ

ฮอลลีเริ่มคบหาดูใจกับ “เจมส์” สามีของเธอมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น พวกเขาเป็นแฟนกันมานานถึง 9 ปี ก่อนจะตัดสินใจแต่งงานกันเมื่อช่วงต้นปีนี้ แต่ในขณะที่เธอได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจากสามีเป็นอย่างดี ฮอลลีกลับรู้สึกได้ว่า คนอื่น ๆ พากันมองเธอแบบตีตราเหมารวม โดยพวกเขาบอกเธอว่าคนพิการจะต้องผิดหวังในความรักอย่างแน่นอน

“หลายคนบอกกับฉันในตอนที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่กับสามีว่า หากสุขภาพร่างกายของฉันเริ่มย่ำแย่ลงไปอีก สามีจะต้องทิ้งฉันไปอย่างแน่นอน เพราะฉันจะกลายเป็นภาระหนักที่เขาไม่อาจรับไหว”

ที่มาของภาพ, RAM Photography & Movie

คำบรรยายภาพ, ฮอลลีแต่งงานกับเจมส์เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เธอบอกว่าเขาคอยช่วยสนับสนุนเธออยู่เสมอเกี่ยวกับประเด็นทางสุขภาพ

ฮอลลีย้อนเล่าถึงสมัยที่ยังเป็นนักเรียนมัธยม โดยบอกว่าผู้คนในโรงเรียนมักจะทึกทักเอาเองถึงเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตของเธอ โดยคาดว่ามันจะต้องผิดปกติหรือน่าเศร้าตามแบบฉบับของคนพิการ บางคนถึงกับเข้ามาถามตรง ๆ ซึ่งหน้ากันเลยทีเดียว “เวลาที่ผู้คนพบเห็นผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคำถามแรก ๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัวของพวกเขาก็คือ คนพิการมีเซ็กส์ได้ไหมนะ ?”

เหล่าเด็กหนุ่มเพื่อนร่วมชั้นของฮอลลี ก็มักจะถามเธอแบบละลาบละล้วงด้วยเรื่องที่มีความเป็นส่วนตัวสูง “คำถามมักเป็นในทำนองว่า คุณมีเซ็กส์ได้แค่ตอนที่นั่งรถเข็นอยู่ใช่ไหม ? ข้อต่อของคุณจะหลุดไหมหากเรามีอะไรกัน ? หากผมอยากมีเซ็กส์แบบรุนแรงกับคุณ ผมจะทำได้ไหม ?”

ฮอลลียังเล่าว่าผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มักส่งข้อความมาหาเธอ เพื่อพูดคุยหรือสอบถามเกี่ยวกับเรื่องเพศ รวมทั้งเสนอตัวจะยอมมีเพศสัมพันธ์กับเธอ ซึ่งพวกเขามักจะใช้คำพูดที่ทำให้เธอรู้สึกด้อยค่า เสมือนกับว่าเธอควรจะรู้สึกขอบคุณที่ตนเอง “โชคดี” เพราะได้รับการสงเคราะห์สิ่งที่ขาดจากพวกเขา

เหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้ฮอลลีต้องการเห็นสื่อนำเสนอเรื่องราวเชิงบวกของผู้พิการให้มากขึ้น เธอยกตัวอย่างถึงตัวละครที่ชื่อ “ไอแซก กูดวิน” ในละครซีรีส์ยอดนิยมทางโทรทัศน์ Intercourse Training (เพศศึกษา) ว่าเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ของคนพิการในทางที่ดีเพียงตัวอย่างเดียวที่เธอเห็นในตอนนี้

ที่มาของภาพ, BBC Recordsdata

คำบรรยายภาพ, นิโคลากล่าวว่า เรามักจะมองโลกในแบบที่ต่างออกไปและปรับให้มันเป็นในแบบของเรา

นิโคลา โทมัส หญิงวัย 38 ปี จากเมืองแคร์ฟิลลีในแคว้นเวลส์ของสหราชอาณาจักร ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์อย่างเป็นทางการว่า มีความบกพร่องทางการมองเห็นถึงขั้นตาบอด “เรื่องหนึ่งที่ผู้คนมักจะถามก็คือ คุณมีเซ็กส์ยังไง ? มันเป็นคำถามชนิดที่ทำให้ต้องหยุดหายใจไปชั่วขณะเลย มันละลาบละล้วงและเป็นเรื่องส่วนตัวมาก”

นิโคลาป่วยด้วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) ซึ่งนำไปสู่โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งชนิด NMOSD (Neuromyelitis Optica Spectrum Dysfunction) ที่ทำให้เส้นประสาทตาอักเสบและตาบอดในที่สุด เธอสูญเสียการมองเห็นในดวงตาข้างหนึ่งเมื่อ 15 ปีก่อน ส่วนอีกข้างที่เหลือก็บอดสนิทตามไปเมื่อราว 5 ปีที่แล้ว

“คนจำนวนไม่น้อยมองว่าภาวะตาบอดเป็นอุปสรรคขัดขวาง แต่ฉันเป็นคนหนึ่งที่จะทลายกำแพงนั้นลงให้จงได้” นิโคลากล่าว เธอมีงานอดิเรกเป็นการเล่นกีฬากลางแจ้งหลายประเภท ทั้งการล่องเรือใบ, เล่นแพดเดิลบอร์ดหรือการยืนพายเรือบนกระดานโต้คลื่น รวมทั้งชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งจุดหมายปลายทางแห่งต่อไปของเธอคือฮ่องกง

ที่มาของภาพ, Nicola Thomas

คำบรรยายภาพ, นิโคลาและพอล แฟนหนุ่ม รักในการออกไปท่องโลกด้วยกัน

นิโคลาเคยมีแฟนหนุ่มในตอนที่เธอเริ่มตาบอดไปแล้ว แต่ต่อมาต้องเลิกรากันไปเพราะ “ฉันถูกปฏิบัติเหมือนกับเป็นภาระ ทุกคนต่างบอกกับแฟนเก่าฉันว่า เขาไม่อาจจะเป็นคนดูแลฉันตลอดไปได้ แต่ที่จริงแล้วฉันไม่ได้ต้องการคนดูแลเลย”

ปัจจุบันนิโคลามีแฟนใหม่ซึ่งเป็นผู้มีความบกพร่องทางสายตาเช่นกัน “แม้พวกเราจะตาบอดทั้งคู่ แต่ก็สามารถนำทางตัวเองไปรอบ ๆ เมืองได้ เรายังสามารถไปออกเดตกันได้เอง ไม่มีอะไรขัดขวางเราได้”

แต่ถึงกระนั้น นิโคลาก็ยังรู้สึกว่าถูกผู้คนตีตราและเหมารวมด้วยความพิการ แม้ในตอนที่มีเพศตรงข้ามมาแสดงความสนใจในตัวเธอ “คนในสื่อสังคมออนไลน์พากันส่งข้อความหาฉันเพื่อชวนไปออกเดต แต่ความสนใจและท่าทีของพวกเขาจะเปลี่ยนไปจากเดิมทันที เมื่อได้รู้ว่าฉันตาบอด”

“คุณจะถูกปฏิบัติด้วยเสมือนกับว่า พวกเขากำลังช่วยสงเคราะห์คุณ มันทำให้ฉันหมดอารมณ์ในทันที” นิโคลากล่าว “คนส่วนใหญ่มีทัศนคติที่คับแคบต่อคนพิการ ฉันอยากจะทำลายการเหมารวมแบบนี้ให้หมดไปเสียที เพราะตัวฉันเองก็มีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ดีเหมือนคนอื่น ๆ”

คำบรรยายภาพ, “เมื่อคุณเป็นคนพิการ คุณจะคุ้นเคยกับความยากจน แต่ความยากจนไม่ได้มีแค่ในแง่ของมูลค่าตัวเงิน การมีความสัมพันธ์ที่ดีนั้นถือเป็นความยากจนอย่างแท้จริง”

แคต วัตกินส์ เจ้าหน้าที่ของโครงการเพิ่มโอกาสเข้าถึงสิทธิทางการเมือง ประจำองค์กรเพื่อผู้พิการแห่งแคว้นเวลส์ (Incapacity Wales) บอกว่าคนกลุ่มนี้ก็มีสิทธิในการสำรวจตัวตนทางเพศ และมีสิทธิที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ในชีวิตรักเหมือนกับคนทั่วไป

“ทำไมเรื่องเซ็กส์และความสัมพันธ์ทางเพศ จึงถือเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับคนพิการ ? พวกเขาก็เป็นคนซึ่งมีความต้องการในด้านต่าง ๆ มากกว่าแค่ต้องการมีบ้านอยู่มีข้าวกิน การใช้ชีวิตและสนุกกับตัวเองให้เต็มที่ ถือเป็นเรื่องธรรมดาส่วนหนึ่งของชีวิตคนเรา แต่กลับไม่มีใครให้ความสำคัญอย่างเพียงพอกับประเด็นนี้ของผู้พิการเลย” วัตกินส์กล่าว

เธอบอกว่าการได้ยินได้ฟังเรื่องที่ผู้พิการหญิงได้รับข้อความเชิงดูหมิ่นทางเพศนั้น “ช่างน่าเศร้าที่มันกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว”

วัตกินส์เสนอแนะว่า ของเล่นเซ็กส์ทอยที่ปรับแต่งได้ รวมทั้งอุปกรณ์ช่วยเหลือในการมีเพศสัมพันธ์อื่น ๆ สามารถจะช่วยให้คนทั่วไปและผู้พิการมีความมั่นใจมากขึ้น และเธออยากเห็นสิ่งของเหล่านี้ออกวางจำหน่าย หรือถูกใช้ตามร้านค้าหรือเว็บไซต์เกี่ยวกับเรื่องเพศต่าง ๆ ให้มากขึ้น

“คุณจะต้องรู้สึกผ่อนคลายกับตัวเอง และทำความเข้าใจร่างกายของตนเองให้มากขึ้น เพื่อที่จะไปอธิบายกับคนอื่นได้ว่ามันทำได้อย่างไร นอกจากนี้ การรักตัวเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากด้วย” วัตกินส์กล่าวทิ้งท้าย