- ‘ผ่านด่านแรก' ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไข รธน. มาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร.แล้ว คาดเข้ารัฐสภา 14-15 ม.ค.นี้ ‘พริษฐ์' มองตัวแปรหลักอยู่ที่เสียง สว. 1 ใน 3
- ด้าน ‘ชูศักดิ์’ เผยเตรียมนำฉบับเพื่อไทย ขอความเห็นชอบที่ประชุม สส. 7 ม.ค.นี้ ยืนยันไม่กังวลหากมีคนร้องปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
- ส่วน ‘นิกร’ ติงฉบับพรรคประชาชนตัดอำนาจ สว. อาจทำสองสภาร้าวลึก ด้าน ‘จุรินทร์’ ไม่รับปากสนับสนุนหรือไม่ พิจารณาเป็นรายฉบับ แตะหมวด 1- 2 ไม่เห็นชอบ
ถือว่าเป็นกระแสข่าวดีของฝ่ายสนับสนุน ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง หลังจากที่พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.จากพรรคประชาชน เดินสายหารือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายฝ่ายแบบไม่พัก ไม่ว่าจะเป็นชูศักดิ์ ศิรินิล พรรคเพื่อไทย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงคณะกรรมการของประธานรัฐสภา เพื่อผลักดันให้มีการบรรจุวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เข้าที่ประชุมรัฐสภา หวังเป็นใบเบิกทางสู่การทำประชามติ 2 ครั้ง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จทันก่อนเลือกตั้งปี 2570
ก้าวนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญ เพราะก่อนหน้านี้มีประเด็นทางกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกันหลายฝ่ายว่าจะต้องทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง เหตุสืบเนื่องจากในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปลายปี 2563 พรรคการเมืองต่างๆ เคยมีความพยายามยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 เพื่อจัดตั้ง สสร.มาแล้ว ทว่า สมชาย แสวงการ สว.ในขณะนั้น และไพบูลย์ นิติตะวัน สส.พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีสิทธิแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้ง สสร.โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า รัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ 256 ได้ แต่ต้องทำประชามติถามประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ‘ก่อน’ ซึ่งนำไปสู่การตีความที่ไม่ตรงกันว่าต้องทำกี่ครั้งกันแน่
นั่นเป็นเหตุให้ก่อนหน้านี้คณะกรรมการของประธานรัฐสภายืนยันไม่ให้บรรจุวาระก่อนหน้านี้ เพราะเกรงว่าหากบรรจุวาระแก้ ม.256 โดยไม่มีการทำประชามติก่อนอาจจะขัดคำวินิจฉัยของศาล
ล่าสุด 3 ม.ค. 2568 พริษฐ์ โพสต์ข้อความยืนยันว่า วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยเพิ่มหมวด 15/1 เรื่อง สสร. ซึ่งพรรคประชาชนได้เสนอไว้ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว คาดว่าจะมีการพิจารณาประมาณวันที่ 14-15 ม.ค.นี้
เปิดเนื้อหา สสร. ฉบับพรรคประชาชน- ตัดเสียง สว. 1 ใน 3
เว็บไซต์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 256 เพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอโดย พริษฐ์ และคณะจากพรรคประชาชน ตั้งแต่เมื่อ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา
โดยมีสาระที่น่าสนใจ คือ การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ระบุว่า การออกเสียงในชั้นรับหลักการ วาระที่ 1 และออกเสียงเห็นชอบร่างกฎหมาย วาระที่ 3 กำหนดให้ใช้เสียง ‘เห็นชอบ’ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา โดยมีการ ตัดเงื่อนไข ออก คือ วาระ 1 และวาระ 3 ไม่ต้องใช้เสียง สว.1 ใน 3 แล้ว โดยเปลี่ยนเงื่อนไขเป็น ‘ต้องใช้เสียง สส. ‘เห็นชอบ’ จำนวน 2 ใน 3’ แทน
สสร. เลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด
ต่อมา ในหมวด 15/1 ว่าด้วยที่มาของ สสร. กำหนดให้มีสมาชิกทั้งหมดจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด โดยสามารถแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบ่งเป็นการเลือกตั้งสมาชิกแบบแบ่งเขต 100 คน และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน อ้างอิงเขตเลือกตั้งจากการเลือกตั้ง กกต. ส่วนทีมที่ลงสมัครต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 20 คน แต่ไม่เกิน 100 คน
คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิก สสร. ต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในส่วนของ ข้อห้ามระบุไว้ 13 ข้อ เช่น เป็นข้าราชการการเมือง เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ เป็นสมาชิกสภาหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็น สส. หรือ สว. หรือรัฐมนตรี ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทุจริตการเลือกตั้ง เป็นต้น
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องข้อห้ามนั้นเป็นการอ้างอิงจากข้อห้ามในลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ครั้งล่าสุด ยกเว้นข้อที่ระบุว่า อยู่ระหว่างต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ระหว่างถูกระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นกิจการสื่อมวลชนและหนังสือพิมพ์
นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มีเหตุให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง กกต.ต้องรับรองผลภายใน 15 วัน
ให้เวลา 360 วันยกร่างรัฐธรรมนูญ
ในบทบัญญัติว่าด้วยการทำงานของ ส.ส.ร. ต้องเรียกประชุมภายใน 15 วันหลังจากวันประกาศแต่งตั้ง ส.ส.ร. และให้จัดทำและยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกำหนดเวลาให้ทำเสร็จสิ้นภายใน 360 วันนับจากวันประชุมครั้งแรก
ในการยกร่างตั้งต้น กำหนดให้ สสร. แต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อทำหน้าที่ยกร่างตามแนวทางที่สสร. กำหนด กมธ.ดังกล่าวให้มีจำนวน forty five คน ในจำนวนี้ 30 คนต้องเป็นสมาชิก สสร. และเปิดให้คนนอกที่เชี่ยวชาญ เหมาะสมอีก 15 คน
อย่างไรก็ตาม หาก สสร. ทำไม่เสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ แล้วให้รัฐสภาตั้ง สสร.ใหม่ภายใน 60 วัน
- หากสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดอายุ หรือมีการยุบสภาฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ
- การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อการเปลี่ยนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข หรือมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะไม่สามารถทำได้
ในส่วนของขั้นตอนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น กำหนดว่า สสร.ต้องเสนอรัฐสภา เพื่อให้มีการอภิปรายแสดงความเห็น แบบไม่ลงมติ ภายใน 7 วันหลังร่างเสร็จ จากนั้น กกต.จะนำร่างดังกล่าวไปจัดทำประชามติ ภายในเวลา 90-120 วัน พร้อมกำหนดการตั้งคำถามประชามติ บนหลักการชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ และเป็นกลางต่อทุกฝ่าย
กรณีที่ผลประชามติ ‘เห็นชอบ’ ให้ประธาน สสร.นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่หากประชามติ ‘ไม่เห็นชอบ’ ให้ถือว่าตกไป พร้อมกำหนดบทที่ใช้บังคับกรณีที่การจัดทำรัฐธรรมนูญนั้นตกไปด้วยว่า ให้สิทธิสมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ 1 ครั้งในสมัยของรัฐสภา โดยใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ และต้องมี สส.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ทั้งนี้ บุคคลที่เป็น สสร.มาแล้ว จะเป็น สสร.อีกไม่ได้
ส่วนการจัดทำ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ต้องจัดทำทันทีหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และต้องทำแล้วเสร็จภายใน 180 วัน แต่หากทำไม่เสร็จตามกรอบเวลาให้เป็นอำนาจของรัฐสภาดำเนินการต่อ
ทั้งนี้ ร่างของพรรคประชาชนยังกำหนดเพิ่มเติมว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี ที่สมาชิกภาพ สสร.สิ้นสุดลลง ห้ามดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สส. สว. สมาชิกสภาหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตุลาการรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ และอัยการสูงสุด
ที่ปรึกษา ‘แพทองธาร’ มองทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ
ช่วงกระแสที่ผ่านมา มีคนการเมืองออกมาร่วมให้ความเห็นเกี่ยวกับการเดินเกมของพรรคประชาชน เพื่อบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เข้าที่ประชุมรัฐสภาหลายส่วน
ขอย้อนไปเมื่อปี 2566 เริ่มจากคนแรกคือ พงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ‘บ้านพิษณุโลก’ เคยเสนอความเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำฉบับใหม่ ทำประชามติ 2 ยกก็เพียงพอ ซึ่งเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 พร้อมทั้งลงลึกในรายละเอียดความเห็นเสียงข้างมาก ของตุลาการ 6 เสียง ซึ่งยืนยันเหมือนกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำฉบับใหม่ ทำได้ และทำประชามติแค่ 2 รอบก็พอ
ต่อมา ในช่วงปลาย ธ.ค. 2567 พงศ์เทพ ร่วมกับพริษฐ์ ชี้แจงให้คณะกรรมการของประธานรัฐสภา ซึ่งส่งผลให้ท้ายที่สุดประธานสภามีการบรรจุร่างของพรรคประชาชน
‘นิกร' ให้กำลังใจ แต่หวั่นสงครามสองสภาร้าวลึก เหตุตัดอำนาจ สว.
นิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์หลังมีข่าวว่าประธานรัฐสภาบรรจุร่างพรรคประชาชนว่า เขาก็เอาใจช่วย แต่มองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีปัญหาอุปสรรคด้านนิติศาสตร์ และอาจมีสมาชิกรัฐสภายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าทำได้หรือไม่ เหมือนปี 2563 ที่สมาชิกรัฐสภายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเนื่องจากกังวลว่า การลงคะแนนสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่หากไม่ทำประชามติก่อน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัด ก็อาจมีความเสี่ยงถูกร้องมาตรา 157 หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และผิดมาตรฐานจริยธรรม นำไปสู่การถอดถอนภายหลัง
นิกร มองฉากทัศน์ว่า ตัวร่างกฎหมายน่าจะผ่านวาระที่ 1 ยาก แต่ถ้าผ่านไปได้ในชั้น กมธ. ก็น่าจะเจอแรงต้านสูง เนื่องจากลดอำนาจการออกเสียงของ สว. นอกจากนี้ เขายังเตือนว่าการยื่นร่างของพรรคประชาชน จะทำให้ความขัดแย้งระหว่าง สส. และ สว.รุนแรง อภิปรายกันหนัก ดังนั้น เขาอยากให้ระวังผลกระทบที่ตามมา นอกจากจะไม่ได้อะไร ยังมีแต่ทำให้เกิดบาดแผลความขัดแย้งที่ลงลึกไปอีก
อย่างไรก็ดี ในการโหวตของสมาชิกรัฐสภาครั้งนั้นในวาระ 3 ถูก สว.โหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้ข้ออ้างจากคำวินิจฉัยของศาลนี้เอง
‘เพื่อไทย' เตรียมหารือที่ประชุม สส. 7 ม.ค.นี้
วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.พรรคเพื่อไทย และผู้ประสานงานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ว่า ชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าทีมกฎหมายจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ฉบับพรรคเพื่อไทย เข้าที่ประชุมและชี้แจงต่อ สส.ในวันที่ 7 ม.ค.นี้ เพื่อขอความเห็นชอบก่อน หากผ่านมติ สส.พรรค จะมีแผนเสนอต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 8 ม.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ประธานรัฐสภาได้นัดหารือวิป 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดวันและกรอบในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีที่อาจจะมีคนไปยื่นร้องเรียนมาตรา 157 วิสุทธิ์ มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลตามกฎหมาย และรัฐบาลยินดีให้ตรวจสอบ
เช่นเดียวกับชูศักดิ์ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อไปในแนวทางเดียวกับวิสุทธ์ว่า ถ้าบรรจุไปแล้ว แล้วมีคนไปร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ถือเป็นเรื่องที่ดี จะได้ชัดเจนไปเลยว่าต้องทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง และหากทำ 2 ครั้ง ก็จะมีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้
ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2567 พรรคเพื่อไทยเคยพยายามขอมติรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ชัดเจนว่า ประธานสภาฯ สามารถบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยที่ไม่ต้องทำประชามติก่อนได้หรือไม่ แต่เมื่อไปถึงที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ เม.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับพิจารณา เพราะเคยมีคำวินิจฉัยไปแล้ว
เมื่อถามถึงกรณีนิกร จำนง ให้ความเห็นว่า การแก้มาตรา 256 โดยไม่ทำประชามติก่อนเสี่ยงจะถูกร้องกฎหมายอาญามาตรา 157 นั้น ชูศักดิ์ ตอบว่า เราทำตามอำนาจหน้าที่ของสภา ไม่ต้องวิตกกังวล ที่ผ่านมาเราคิดเรื่องนี้กันมาก แต่ลืมไปว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสภา เราก็ทำโดยสุจริตไม่ต้องกลัวอะไร ใครจะร้องก็ว่ากันไป
‘จุรินทร์' ขอดูก่อน แตะหมวด 1 กับ 2 หรือไม่
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในคนที่ถูกสื่อถามความเห็นหลังประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขามองว่า ต้องพิจารณาเป็นรายฉบับ และต้องดูหลายส่วนประกอบกัน
ประการแรก ดูว่าเรื่องขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยไมทำประชามติ
ประการที่สอง ต้องดูว่าการแก้ไขแตะหมวด 1 และ 2 (หมวดพระมหากษัตริย์) หรือไม่ หากแตะก็ไม่เห็นชอบ
ประการที่สาม ดูเนื้อหาว่ามีความเหมาะสมและนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นหรือไม่
ประการที่สี่ แก้แล้วทำให้มาตรฐานเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและมาตรฐานจริยธรรมหรือมาตรฐานทางการเมืองของประเทศลดต่ำลงหรือไม่
ต่อประเด็นที่สื่อถามว่าคิดเห็นอย่างไรกับ สว.ที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจุรินทร์ เชื่อว่า วุฒิสมาชิกจะลงมติอย่างไรก็ต้องมีเหตุผลอยู่แล้ว
จุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญควรเป็นสิทธิของแต่ละพรรค เพราะว่าแต่ละพรรคอาจมีจุดยืนเรื่องรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน ส่วนจะมีคนไปร้องเรียนหรือไม่ ไม่อาจคาดเดาได้
ตัวแปรหลักยังอยู่ที่เสียง สว.
พริษฐ์ มองว่า ต้องจับตาดูวันที่ 14-15 ม.ค.นี้ เพราะฝั่งสนับสนุนประชามติ 2 ครั้ง จะต้องเผชิญด่าน 2 คือ การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในวาระที่ 1 ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจาก สส. และเสียง สว.อย่างน้อย 1 ใน 3 (67 เสียง)
พริษฐ์ ประเมินว่า การได้เสียงสนับสนุนจาก สส.ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะมีแนวร่วมจากฝั่งรัฐบาล และการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เป็นนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อประชาชนไว้แล้ว แต่การได้เสียงสนับสนุนจาก สว. เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยากกว่า หรือมีความท้าทายมากกว่า
“มารอดูกันว่าใน 12 วันข้างหน้านี้ นายกฯ จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำและความจริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร เพื่อทำให้พรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันผลักดันนโยบายเรือธงของรัฐบาลเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ประสบความสำเร็จตามที่ได้เคยสัญญาไว้กับประชาชน” พริษฐ์ กล่าว
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )