พบทางเดินไดโนเสาร์พร้อมรอยเท้า กว้างใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร

ที่มาของภาพ, BBC/Kevin Church

คำบรรยายภาพ, รอยเท้าเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อ 166 ล้านปีก่อน ขณะที่ไดโนเสาร์เดินข้ามทะเลสาบ

Article records

  • Creator, รีเบกกา มอเรลล์
  • Role, บรรณาธิการข่าววิทยาศาสตร์

นักบรรพชีวินวิทยาค้นพบทางเดินของไดโนเสาร์ในยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมาในสหราชอาณาจักร โดยมีรอยเท้าขนาดยักษ์ประทับอยู่ราว 200 แห่ง บนพื้นหินปูนอายุเก่าแก่ 166 ล้านปี ในเหมืองหินแห่งหนึ่งของมณฑลอ็อกซ์ฟอร์ดเชียร์

ร่องรอยดังกล่าวชี้ว่า สถานที่แห่งนั้นในอดีตเคยเป็นทางสัญจรไปมาของไดโนเสาร์อย่างน้อยสองชนิด ซึ่งนักบรรพชีวินวิทยาคาดว่าได้แก่ “เซทิโอซอรัส” (Cetiosaurus) ไดโนเสาร์กินพืชคอยาวตัวใหญ่จำพวกซอโรพอด (sauropod) กับ “เมกะโลซอรัส” (Megalosaurus) ซึ่งตัวเล็กกว่าและกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร

ทางเดินไดโนเสาร์เส้นที่ยาวที่สุดในการค้นพบครั้งนี้ มีระยะทางที่ปรากฏให้เห็นราว 150 เมตร แต่ในความเป็นจริงแล้ว เส้นทางดังกล่าวอาจจะทอดยาวไปไกลกว่านั้นมาก เพราะการขุดค้นหาร่องรอยของไดโนเสาร์ภายในเหมืองหิน เพิ่งทำไปได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

ศาสตราจารย์คริสตี เอ็ดการ์ นักจุลบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม แสดงความเห็นว่า “นี่เป็นสถานที่ประทับรอยเท้าของไดโนเสาร์ซึ่งมีความน่าทึ่งที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่ผมเคยเห็นมา คุณสามารถจะย้อนเวลาไปในอดีต จนได้รู้ได้เห็นว่าสภาพการณ์ในยุคดึกดำบรรพ์นั้นเป็นอย่างไร ตอนนั้นสัตว์ยักษ์พวกนี้ต่างเดินเพ่นพ่านไปทั่ว พากันสาละวนทำธุระของตัวเอง”

ที่มาของภาพ, Richard Butler/University of Birmingham

คำบรรยายภาพ, นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ารอยเท้าสามนิ้วอันเป็นเอกลักษณ์นี้เกิดจากเมกะโลซอรัส

ผู้ที่ค้นพบทางเดินของไดโนเสาร์นี้เป็นคนแรก คือนายแกรี จอห์นสัน คนงานประจำเหมืองหิน Dewars Farm Quarry ซึ่งเขาพบมันเข้าโดยบังเอิญขณะกำลังขับรถขุดอยู่

“ตอนนั้นผมกำลังขุดพื้นเพื่อเอาชั้นดินเหนียวออกไป แต่หัวขุดกลับไปกระแทกเข้ากับวัตถุนูนแข็งบางอย่างใต้ดิน ตอนแรกผมคิดว่า มันคงเป็นแค่ความผิดปกติอะไรบางอย่างในชั้นดินเท่านั้น” จอห์นสันเล่าพลางชี้ให้ดูขอบนูนรอบรอยเท้าไดโนเสาร์ ซึ่งเกิดจากโคลนที่ถูกดันขึ้นมา เมื่อเท้าของไดโนเสาร์เหยียบกดลงไปบนพื้นดินเมื่อหลายล้านปีก่อน

“หลังจากนั้นผมได้พบวัตถุนูนแข็งที่ว่าอีกครั้งหนึ่ง โดยมันอยู่ห่างออกไปจากจุดที่พบครั้งแรก 3 เมตร ผมเดินหน้าขุดต่อไป แต่ก็ได้เจอมันอีกซ้ำ ๆ เป็นระยะ ครั้งแล้วครั้งเล่าในทุก 3 เมตร”

เนื่องจากเคยมีการค้นพบทางเดินไดโนเสาร์ในเหมืองหินแห่งนั้นมาแล้ว เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 โดยเส้นทางดังกล่าวอยู่ไม่ห่างจากบริเวณที่จอห์นสันกำลังทำงานอยู่เท่าใดนัก เขาจึงนึกขึ้นได้ว่า รอยนูนและแอ่งเว้าที่เขาพบในชั้นดินเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอนั้น อาจเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์

“ผมว่าผมเป็นคนแรกที่ได้เห็นมัน เหตุการณ์ตอนนั้นมันเหนือจริงมาก ถึงกับทำให้รู้สึกขนลุกกันเลยทีเดียว” จอห์นสันกล่าวกับผู้สื่อข่าวบีบีซี

ที่มาของภาพ, BBC/Kevin Church

คำบรรยายภาพ, แกรี จอห์นสัน สังเกตเห็นรอยเท้าขณะที่เขากำลังทำงานที่เหมืองหิน

เมื่อช่วงฤดูร้อนกลางปีที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์รวมทั้งบรรดานักศึกษาและอาสาสมัครกว่า 100 คน ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำการขุดค้นทางบรรพชีวินวิทยาในเหมืองหินดังกล่าว ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ถูกบันทึกภาพ เพื่อนำเสนอในตอนใหม่ของสารคดีชุด “ขุดเพื่ออังกฤษ” (Digging for Britain) ของบีบีซีด้วย

ผลของการขุดค้นครั้งนั้น ได้พบทางเดินของไดโนเสาร์ที่แตกต่างกันถึง 5 เส้นทาง โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นทางเดินของไดโนเสาร์จำพวกซอโรพอดไปแล้ว 4 เส้นทาง ซึ่งไดโนเสาร์ชนิดนี้กินพืชและเดินสี่ขาด้วยเท้าที่ทำให้เกิดรอยประทับเหมือนเท้าช้าง เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก เนื่องจากมันเป็นสัตว์ร่างยักษ์ที่อาจมีความยาวได้สูงสุดถึง 18 เมตร

ส่วนทางเดินไดโนเสาร์อีก 1 เส้นทางที่เหลืออยู่ คาดว่าเป็นของเมกะโลซอรัส โดยดร.เอ็มมา นิคอลส์ นักบรรพชีวินวิทยาของสัตว์มีกระดูกสันหลัง จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด อธิบายเรื่องนี้ว่า “รอยเท้าของมันแทบจะเหมือนรอยเท้าไดโนเสาร์ในภาพการ์ตูนเลย มันเป็นรอยประทับแบบที่เราเรียกว่ารอยสามนิ้ว (tridactyl print) ซึ่งจะเห็นนิ้วเท้าทั้งสามของมันได้ชัดเจนมาก”

ดร.นิคอลส์ยังบอกว่า “เมกะโลซอรัสเป็นสัตว์กินเนื้อที่เดินสองขา ทั้งยังเป็นนักล่าที่ปราดเปรียวว่องไว ร่างกายทั้งตัวของมันอาจมีความยาวได้ระหว่าง 6-9 เมตร ทำให้มันกลายเป็นไดโนเสาร์ผู้ล่าซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เราได้เคยรู้จักมา ในช่วงยุคจูราสสิกของเกาะอังกฤษ”

ที่มาของภาพ, Tag Witton

คำบรรยายภาพ, ไดโนเสาร์ทิ้งร่องรอยไว้ขณะเดินข้ามทะเลสาบเขตร้อน

สภาพแวดล้อมในถิ่นที่เมกะโลซอรัสเคยอาศัยอยู่ น่าจะเป็นบริเวณทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่ง (lagoon) ที่ตื้นเขิน และระดับอุณหภูมิของน้ำค่อนข้างอบอุ่น ทำให้ไดโนเสาร์สามารถประทับรอยเท้าเอาไว้ในพื้นโคลน ตอนที่พวกมันเดินลุยน้ำตื้นข้ามทะเลสาบแห่งนั้นไปมา

ศ.ริชาร์ด บัตเลอร์ นักบรรพชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม แสดงความเห็นว่าน่าจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในตอนนั้น ซึ่งทำให้รอยเท้าไดโนเสาร์ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในสภาพของฟอสซิล “เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าเหตุการณ์นั้นคืออะไรกันแน่ แต่เป็นไปได้ว่าอาจมีพายุใหญ่ซัดถล่มชายฝั่ง จนเกิดการทับถมของตะกอนปริมาณมหาศาลบนรอยเท้าไดโนเสาร์ในครั้งเดียว ทำให้มันคงอยู่ไม่ลบเลือนหายไปตามธรรมชาติ”

ในระหว่างที่ทำการขุดค้น ทีมนักบรรพชีวินวิทยาได้ศึกษารายละเอียดของทางเดินไดโนเสาร์ดังกล่าวไปด้วย โดยมีการหล่อแบบจำลองของทางเดิน รวมทั้งบันทึกภาพนิ่งไว้กว่า 20,000 ภาพ และสร้างแบบจำลองสามมิติของรอยเท้าแต่ละรอย กับแบบจำลองสามมิติของสถานที่ขุดค้นทั้งหมดเอาไว้ด้วย

“สิ่งดี ๆ ที่น่าชื่นชม ในการพบเจอรอยเท้าไดโนเสาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ค้นพบทางเดินของพวกมัน ก็คือเราได้ภาพถ่ายจากชั่วขณะหนึ่งในชีวิตจริงของสัตว์ดึกดำบรรพ์ คุณสามารถจะใช้ร่องรอยนี้ เพื่อเรียนรู้ว่าพวกมันเคลื่อนไหวอย่างไร ทั้งยังสืบรู้ได้อย่างแน่ชัดอีกด้วยว่า สภาพแวดล้อมที่พวกมันอาศัยอยู่มีลักษณะเป็นแบบไหน ดังนั้นทางเดินไดโนเสาร์จึงให้ข้อมูลความรู้ใหม่กับเราอีกชุดหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ฟอสซิลกระดูก” ศ.บัตเลอร์กล่าว

ที่มาของภาพ, BBC/Kevin Church

คำบรรยายภาพ, เส้นทางรถไฟเป็นทางแยกในยุคก่อนประวัติศาสตร์

ที่มาของภาพ, BBC/Kevin Church

คำบรรยายภาพ, การขุดค้นเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน

ที่มาของภาพ, BBC/Kevin Church

คำบรรยายภาพ, ทางเดินบางส่วนยาวถึง 150 เมตร และอาจลึกเข้าไปในเหมืองหินด้วยซ้ำ

อย่างไร ทั้งยังสืบรู้ได้อย่างแน่ชัดอีกด้วยว่า สภาพแวดล้อมที่พวกมันอาศัยอยู่มีลักษณะเป็นแบบไหน ดังนั้นทางเดินไดโนเสาร์จึงให้ข้อมูลความรู้ใหม่กับเราอีกชุดหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ฟอสซิลกระดูก” ศ.บัตเลอร์กล่าว

มีรายงานเพิ่มเติมว่า ทีมนักบรรพชีวินวิทยายังค้นพบ “จุดตัด” ที่เส้นทางของซอโรพอดกับเมกะโลซอรัสมาบรรจบพบกัน ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของเหมืองหินอีกด้วย ซึ่งร่องรอยในส่วนนี้มีความชัดเจนจนสามารถแยกแยะได้ว่า ไดโนเสาร์ชนิดใดเดินผ่านไปก่อนและชนิดใดมาถึงทีหลัง โดยคณะผู้ทำการขุดค้นเชื่อว่า ไดโนเสาร์ยักษ์ซอโรพอดได้เดินผ่านจุดนั้นก่อน เพราะขอบของรอยเท้าส่วนหน้านั้นกลมมนและมีขนาดใหญ่ แต่รอยนั้นถูกเหยียบทับจนบี้แบนไปบางส่วน ด้วยรอยเท้าสามนิ้วของเมกะโลซอรัสที่เดินตามมาทีหลัง

“การที่เราได้รู้ว่า เคยมีไดโนเสาร์ตัวหนึ่งเดินผ่านพื้นผิวจุดนี้ไปและทิ้งรอยเท้าไว้ มันช่างน่าตื่นเต้นจริง ๆ” ดร.ดันแคน เมอร์ด็อก จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดกล่าว “คุณแทบจะนึกภาพในจินตนาการได้เลยว่า พวกมันกำลังเดินลุยน้ำผ่านไป โดยค่อย ๆ ดึงขาขึ้นจากพื้นโคลน ขณะเคลื่อนตัวไปข้างหน้า”

แม้จะยังไม่มีการตัดสินใจอย่างเป็นทางการว่า ชะตากรรมของสถานที่เก็บรักษาทางเดินและรอยเท้าไดโนเสาร์แห่งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ล่าสุดเหล่านักวิทยาศาสตร์ได้เริ่มหารือกับบริษัท Smiths Bletchington ซึ่งเป็นผู้บริหารเหมืองหินดังกล่าวแล้ว เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการอนุรักษ์ที่เป็นไปได้ในอนาคต เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่า ยังมีรอยเท้าของไดโนเสาร์อีกเป็นจำนวนมากที่ถูกฝังอยู่ในนั้น