พื้นที่ใดบ้างที่ไทยและเมียนมายังปักหลักเขตแดนไม่แล้วเสร็จ ?

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

Article recordsdata

  • Creator, จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
  • Map, ผู้สื่อข่าว.

เขตแดนทางบกของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความยาวประมาณ 5,656 กิโลเมตร โดยพบว่าเส้นเขตแดนที่ยาวมากที่สุด คือ เส้นเขตแดนไทย-เมียนมา ความยาว 2,401 กิโลเมตร

ทว่าการปักหลักหรือการจัดทำหลักเขตแดน (Demarcation of Boundary) บริเวณดังกล่าวกลับมีความคืบหน้าน้อยที่สุด เมื่อเทียบเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ

นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย บอกว่าในตอนนี้เพิ่งได้ปักหลักเขตแดนฝั่งเมียนมาไปได้เพียง 59 กิโลเมตรเท่านั้นเฉพาะในบริเวณแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก

ข้อมูลจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า เขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นผลมาจากการตกลงปักปันหรือกำหนดเขตแดนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ระหว่างไทยกับประเทศมหาอำนาจเจ้าอาณานิคม เช่น ฝรั่งเศส และ อังกฤษ

สำหรับเส้นเขตแดนไทย-เมียนมาเป็นผลจากการปักปันหรือกำหนดเส้นเขตแดน (Delimitation of Boundary) ตามสนธิสัญญาสยาม-อังกฤษที่ทำขึ้นระหว่างปี 1968-1940 จำนวน 9 ฉบับ รวมถึงบันทึกความเข้าใจไทย-เมียนมา ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 1991 จำนวน 1 ฉบับ

Skip เรื่องแนะนำ and proceed learningเรื่องแนะนำ

Discontinue of เรื่องแนะนำ

เหตุใดงานปักหลักเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกและทางเหนือของไทยจึงเป็นงานท้าทายที่สุด และมีความคืบหน้าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเส้นเขตแดนไทย-ลาว และ ไทย-มาเลเซียที่ปักหลักเขตแดนสำเร็จไปแล้วมากกว่า 90% ขณะที่งานปักหลักเขตแดนไทย-กัมพูชามีความคืบหน้าไปแล้วมากกว่าครึ่ง

ร่วมสำรวจเรื่องนี้ไปกับ. ผ่านการพูดคุยกับอธิบดีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายคนปัจจุบัน

ความหมายของเส้นเขตแดนและการปักหลักเขตแดน

จากข้อมูลของมูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ที่ปรับตามกับคำนิยามตามกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ อธิบายว่า การกำหนดเส้นเขตแดนหรือการปักปัน (Delimitation of Boundary) หมายถึงการกำหนดแนวเส้นเขตแดนเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปหลักฐานทางเอกสารสนธิสัญญา หรือกำหนดเส้นเขตแดนลงในแผนที่หรือแผนผัง ตามผลที่ได้จากการเจรจาแบ่งเส้นเขตแดนระหว่างประเทศของประเทศทวิภาคี ในสำนักงาน หรือบนโต๊ะเจรจา ว่าจะให้แนวเส้นเขตแดนเป็นไปอย่างไร เช่น ให้เป็นไปตามสันปันน้ำ (Watershed) หรือร่องน้ำลึก (Thalweg) หรือสภาพธรรมชาติอื่น ๆ หรือเป็นแนวเส้นตรง

ส่วนการปักหลักเขตแดน (Demarcation of Boundary) หมายถึง การแบ่งเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ โดยการจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการจัดทำหลักเขตแดนระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันชี้ชัด หรือเจาะจงลงไปว่าเส้นแบ่งเขตแดนของรัฐ หรือประเทศที่กำหนดกันไว้ในชั้นการกำหนดเส้นเขตแดนนั้น จะอยู่ ณ ที่ใด ในภูมิประเทศ โดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนดังกล่าวจะต้องสร้างหลักเขตแดน เพื่อเป็นเครื่องหมายลงในภูมิประเทศ หรือบนพื้นแผ่นดิน เป็นหลักฐานแสดงแนวเส้นเขตแดนระหว่างกันไว้ให้ปรากฏอย่างชัดเจน

ดังนั้น โดยข้อเท็จจริงแล้ว ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างมีกำหนดเส้นเขตแดนประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่ทำร่วมกันในอดีตแล้ว แต่ขณะเดียวกันงานที่ยังดำเนินอยู่ถึงทุกวันนี้ คือ การปักหลักเขตแดน ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงเส้นเขตแดนในภูมิประเทศจริง

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

ด้านอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ อธิบายเพิ่มเติมว่าในบางครั้งกรมแผนที่ทหารต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทุรกันดาล ป่าทึบ เสี่ยงกับระเบิดตามแนวชายแดนเข้าไปหาจุดกำหนดเส้นเขตแดนตามที่ระบุไว้ในแผนที่ แต่พบว่าข้อเท็จจริงในพื้นที่ ไม่ตรงกับเอกสารที่มี

“ด้านกัมพูชาบอกว่า [เส้นเขตแดนอยู่ตรง] ต้นไม้สูงสุด เป็นต้นไม้ต้นใหญ่อายุร้อยกว่าปีแล้วนะ ปัจจุบันลงไปดูพบว่าต้นไม้ถูกปลวกกินไปแล้ว แล้วจะให้ทำอย่างไรเมื่อแผนที่บอกว่าให้ไปหาต้นไม้นี้ แต่ต้นไม้มันไม่มีในพื้นที่แล้ว นี่คือตัวอย่างของปัญหาที่เกิดขึ้น” นางสุพรรณวษา กล่าว

“การปักหลักเขตแดนในอดีต ยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยี คณะสำรวจก็จะอาศัยภูมิประเทศในบริเวณนั้น จุดที่เห็นเด่นชัด ก็ใช้กำหนดเป็นจุดที่ทำหลักเขตแดนกัน”

ที่ผ่านมา การทำงานระหว่างไทยและเมียนมาได้ชะงักลงไปช่วงหนึ่งจากปัจจัยภายนอกหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการเมืองภายในของเมียนมา การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 จึงทำให้ไม่สามารถใช้คณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-เมียนมา (Joint Boundary Committee – JBC) มาเป็นกลไกในการดำเนินการต่อได้

โดยการประชุม JBC ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2560 และมีแผนว่าจะมีการประชุมขึ้นอีกครั้งในปี 2568 นี้ โดยฝ่ายเมียนมาจะเป็นเจ้าภาพ

การปักหลักเขตแดนไทย-เมียนมาบริเวณใด มีความคืบหน้ามากที่สุด

สำหรับงานปักหลักเขตแดนที่มีความคืบหน้ามากที่สุด หรือที่นางสุพรรณวษาระบุว่า เกิดผลสำเร็จแล้ว คือ บริเวณแม่น้ำรวก-แม่น้ำสาย ความยาว 59 กิโลเมตร โดยทั้งสองประเทศเห็นร่วมกันให้ปักหลักเขตแดนแบบคงที่ (mounted boundary demarcation) เนื่องจากแม่น้ำทั้งสองสายมีการเปลี่ยนทางเดินน้ำอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่กำหนดการปักหลักแบบคงที่ในบริเวณแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก คือ บันทึกความเข้าใจไทย-เมียนมา เรื่องเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก ฉบับลงวันที่ 16 มิ.ย. 1991 แต่งานรักษาหลักเขตแดน (Maintenance) ยังคงต้องดำเนินการต่อไป ปัจจุบันประชาชนบางส่วนยังเข้าใจว่า แม่น้ำคือเส้นเขตแดนระหว่างสองประเทศ และเข้าไปตั้งบ้านเรือนชิดแนวแม่น้ำทั้งสองฝั่งในเวลาต่อมา

“บางคนเข้าใจว่าแม่น้ำอยู่ตรงไหน ก็สามารถเข้าไปตั้งบ้านชิดแม่น้ำได้ แต่มันไม่ใช่ หลักเขตแดนได้ mounted มาแล้ว เมื่อแม่น้ำเปลี่ยนทางเดินมันก็เลยเกิดปัญหาว่าประชาชนไปสร้างบ้านคร่อมเขตแดน รุกล้ำอธิปไตยของอีกฝ่ายหนึ่ง” อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ กล่าว

โดยพบว่ามีบ้านเรือนของฝั่งไทยรุกล้ำเข้าไปในเขตแดนเมียนมาจำนวนหนึ่ง และฝั่งเมียนมารุกล้ำเข้ามายังฝั่งไทยจำนวนหนึ่งเช่นกัน ซึ่งทางการของทั้งสองประเทศพยายามป้องกันไม่ให้เกิดการรุกล้ำเพิ่มเติม และพยายามหามาตรการจัดการรุกล้ำในพื้นที่ดังกล่าว เช่น รื้อถอนออก เป็นต้น

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

คำบรรยายภาพ, น้ำท่วมสองฝั่งของแม่น้ำสาย บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา

การรุกล้ำลำน้ำสายยังส่งผลให้ชาวบ้านในจังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศเมียนมา รวมถึง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประสบกับปัญหาอุทกภัยอย่างหนักจากลำน้ำที่แคบลงและตื้นเขิน รวมถึงปัญหาดินโคลนข้ามพรมแดนที่สร้างความเสียหายอย่างหนักเมื่อช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค. ที่ผ่านมา จนทำให้รัฐบาลของทั้งสองประเทศเล็งเห็นตรงกันว่าต้องใช้กลไกที่อยู่ภายใต้บันทึกความเข้าใจไทย-เมียนมา เรื่องเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวกฯ เพื่อบำรุงรักษาแนวเขตแดนร่วมกัน

โดยช่วงเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมาเกี่ยวกับเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก (JCR) ครั้งที่ 3 และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าการขยายช่องทางการไหลของน้ำ โดยการขุดลอกแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก เป็นแนวทางการสำคัญการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และควรแก้ปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยในเบื้องต้นจะดำเนินการสำรวจและขุดลอกร่องน้ำให้เสร็จสิ้นก่อนฤดูน้ำหลากของปี 2568

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, สภาพบ้านของนายแสนวง คำวัง ชาวบ้านใน อ.แม่สาย หลังจากน้ำท่วมลดลงปรากฏภาพโคลนสูงภายในพื้นที่บ้าน

ทว่า การดูแลรักษาแนวเขตแดนบริเวณนี้ก็ยังมีความท้าทายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องหลักเขตแดนถูกทำลายโดยคนในท้องถิ่นด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของลำน้ำที่ยังเกิดขึ้นได้

“จุด hotspot” อื่น ๆ ที่ยังปักหลักเขตแดนไม่สำเร็จ

เนื่องจากมีเพียง 59 กิโลเมตรเท่านั้นที่ปักหลักเขตแดนเสร็จสิ้น หมายความว่ายังเหลือแนวเขตแดนอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนปักปันเขตแดน .รวบรวมจุด sizzling place หรือ จุดสำคัญ ๆ ที่น่าจับตาความเคลื่อนไหว ดังนี้

  • ปัญหาดอยลาง-ดอยห้วยฮะ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

จากข้อมูลของเรื่องความเข้าใจเรื่องเขตแดนไทย-พม่า ซึ่งเขียนโดย รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2011 ระบุว่า ปัญหาดังกล่าว เกิดจากฝ่ายไทยและฝ่ายเมียนมายึดถือเส้นเขตแดนคนละแนว โดยฝ่ายไทยยึดถือแนวสันเขาดอยห้วยฮะที่ลึกเข้าไปในฝั่งเมียนมา ขณะที่ทางฝั่งเมียนมายึดแนวสันเขาดอยลางที่เข้ามาในฝั่งไทย จนส่งผลให้เกิดการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อนประมาณ 20,000 ไร่ โดยทั้งสองฝ่ายยังวางกำลังทหารบนพื้นที่ทับซ้อนเพื่อธำรงอธิปไตยและความมั่นคงแห่งรัฐ

“หากสำรวจภูมิประเทศแนวหุบเขาระหว่างดอยลางกับดอยห้วยฮะ รวมถึงหุบเขาในบริเวณข้างเคียงจะพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวไทใหญ่ประมาณ 50-60 หลังคาเรือน ตลอดจนมีการวางกำลังทหารของไทย ทหารเมียนมา รวมถึงทหารของไทใหญ่ และว้าแดง กระจายกันไปตามหุบเขา ซึ่งจากลักษณะภูมิประเทศดังกล่าว ย่อมส่งผลให้บริเวณดอยลางและดอยห้วยฮะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ซึ่งมีความสำคัญต่อความได้เปรียบทางทหารและอาจส่งผลให้ข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองระหว่างประเทศ” รศ.ดร.ดุลยภาค เขียนไว้ในบทความดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ อธิบายแก้ไขข้อมูลบางส่วนจากบทความของ รศ.ดร.ดุลยภาคข้างต้นว่า ปัญหาข้างต้นเกิดจากฝ่ายไทยและฝ่ายเมียนมาตีความสนธิสัญญาแตกต่างกันยึดถือสันเขาที่กำหนดให้เป็นเส้นเขตแดนคนละแนว โดยฝ่ายไทยยึดถือแนวสันเขาดอยห้วยฮะที่ลึกเข้าไปในฝั่งเมียนมา ขณะที่ทางฝั่งเมียนมายึดแนวสันเขาดอยลางที่เข้ามาในฝั่งไทย จนส่งผลให้การเจรจายังไม่ลุล่วง

ที่มาของภาพ, Getty Pictures

คำบรรยายภาพ, สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 บริเวณตลาดริมเมย
  • เกาะใต้สะพานบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 อ.แม่สอด จ.ตาก บริเวณตลาดริมเมย

พบว่าเกิดเกาะใต้สะพานเนื่องจากแม่น้ำเมยเปลี่ยนทิศทาง และมีชาวบ้านเข้าไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าว จึงเป็นประเด็นที่กรมสนธิสัญญาฯ ต้องนำเรื่องนี้มาหารือกัน

  • ด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ทั้งฝ่ายไทยและเมียนมายังมีความเห็นจากการตีความสนธิสัญญาและแผนที่แนบท้ายไม่ตรงกัน จึงจัดทำหลักเขตแดนไม่แล้วเสร็จ

ขณะเดียวกันพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากและกำลังเป็นฐานสแกมเมอร์ของกลุ่มจีนเทาที่เข้ามาตั้งในเขตอิทธิพลของกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยหรือดีเคบีเอ (Democratic Karen Buddhist Navy – DKBA) แต่ฝังเมียนมายังคงปิดอยู่จึงมีผลต่อการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนดังกล่าว

ในระหว่างนี้ แต่ละฝ่ายก็ต้องพยายามไม่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมไปจากเดิม สำหรับปัญหาของเมืองสแกมเมอร์ที่ขยายตัวมากขึ้น หาก ณ จุดหนึ่งสามารถปักหลักแดนได้สำเร็จ ก็จะทราบแนวเขตที่แน่ชัด และใช้อำนาจทางกฎหมายของแต่ละประเทศจัดการในเขตแดนของตนเองได้

ที่มาของภาพ, กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

  • จุดผ่อนปรนชายแดนไทย-เมียนมา ช่องด่านสิงขร อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์

เป็นช่องทางการค้าที่เชื่อมต่อไปยังเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา รวมถึงนครย่างกุ้งได้ และยังอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลกลางเมียนมา

นางสุพรรณวษาบอกว่า ทางการไทยพยายามผลักดันการปักปันหลักเขตแดนบริเวณนี้อย่างมาก เนื่องจากเห็นศักยภาพในฐานะช่องทางการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารทะเลต่าง ๆ รวมถึงการท่องเที่ยว

ที่ผ่านมาทางการไทยและเมียนมาได้ร่วมกันสำรวจเขตแดนร่วมกันซึ่งเรียกว่าเจดีเอส (Joint divulge Gaze – JDS) ตั้งแต่ปี 2555 เพื่อผลักดันให้ด่านสิงขรเป็นจุดผ่านแดนถาวร ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการไหลเวียนของสินค้าและผู้คนมากกว่าจุดผ่อนปรนพิเศษเช่นปัจจุบัน เนื่องจากการก่อสร้างที่ตามมาอาจทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศบางส่วนไป เช่น สันปันน้ำ

ขั้นตอนการทำ “JDS ก็คือทางกรมแผนที่ทหารลงไปสำรวจภูมิประเทศในพื้นที่ว่ามันมียอดเขา ห้วย ลำน้ำอย่างไร มีสิ่งก่อสร้าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เจดีย์ วัด อะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้มีภาพพื้นที่ตรงนั้น และเป็นหลักฐานที่ freeze (คงสภาพ) พื้นที่เอาไว้ และเมื่อถึงเวลาที่พร้อมจะเจรจา เราก็อ้างหลักฐานการสำรวจขึ้นมาประกอบ ดังนั้น การทำ JDS ก็เพื่อเก็บเป็นหลักฐานไว้สำหรับเราทั้งสองฝ่ายไว้เจรจาจัดทำหลักเขตแดนกันต่อไปในอนาคต” อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ อธิบายให้เห็นภาพ

เหตุใดงานปักหลักเขตแดนจึงไม่สามารถเร่งรัดได้ ?

อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กล่าวว่า งานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนที่เกี่ยวข้องกับกรมสนธิสัญญาฯ จะเป็นเรื่องการตีความสนธิสัญญาต่าง ๆ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดตั้งแต่ยุคสมัยเจ้าอาณานิคม

“เมื่อลงพื้นที่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับกรมแผนที่ทหารซึ่งเป็นหน่วยงานทางเทคนิคที่มีความร่วมมือต่อกันดีมาก กรมเอเชียตะวันออกของกระทรวงการต่างประเทศก็จะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะมันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ต่อประเทศเพื่อนบ้าน ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน…บริบทของการเมืองและความสัมพันธ์เป็นตัวช่วยเอื้อให้เกิดการคุยเรื่องเขตแดน เพราะเขตแดนมีความเป็นปรปักษ์อยู่แล้วโดยธรรมชาติ มีนัยเกี่ยวกับการปกป้องอธิปไตย ดังนั้นการที่เราจะไปคุยอะไรที่เป็นเทคนิค เป็นข้อกฎหมายที่อาจทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะมีส่วนได้ส่วนเสีย มันเต็มไปด้วยความรู้สึกที่เผชิญหน้า” เธอกล่าว

ดังนั้น การเจรจา สำรวจและจัดทำหลักเขตแดนจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่สามารถทำด้วยความเร่งรัดได้ เนื่องจากต้องรักษาบรรยากาศการเจรจาไม่ให้เกิดสุญญากาศ ไม่บาดหมางจนคุยกันไม่ได้และเอื้อให้เกิดการพูดคุยร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกความท้าทายหนึ่งของกระบวนการนี้

หมายเหตุ: รายงานฉบับนี้ได้รับการแก้ไขปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีความถูกต้องตามข้อสังเกตของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2567