มลพิษทางอากาศวัดได้อย่างไร และระดับใดที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ?
Article records
- Author, หลุยส์ บาร์รูโช
- Role, บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
กรุงเดลี เมืองหลวงของอินเดีย และเมืองใกล้เคียงกำลังเผชิญกับระดับมลพิษซึ่งสูงกว่าขีดจำกัดความปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำถึง 30-35 เท่า หลังจากต้องเผชิญกับอากาศพิษและทัศนวิสัยอันเลวร้ายมาแล้วหลายสัปดาห์
หมอกควันหนาทึบซึ่งปกคลุมภาคเหนือของอินเดียและพื้นที่ในปากีสถานที่อยู่ใกล้เคียง สามารถเห็นได้จากอวกาศผ่านภาพดาวเทียมของนาซา และยังส่งผลให้เที่ยวบินเกิดความล่าช้าและต้องยกเลิกด้วย
จากข้อมูลของ IQAir ซึ่งเป็นกลุ่มติดตามดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index – AQI) ในสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า กรุงนิวเดลีเป็นเมืองหลวงที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกในปี 2023 และอินเดียยังติดอันดับประเทศที่มีมลพิษมากเป็นอันดับสาม รองจากบังกลาเทศและปากีสถาน
ทุกปีในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือน ต.ค.- ม.ค. มลพิษในประเทศอินเดียพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำ ควัน ฝุ่น ลมพัดช้า การปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ และการเผาตอซังพืชผลทางการเกษตร
แม้ว่าสถานการณ์ของอินเดียจะรุนแรง แต่ก็ไม่ได้ผิดแผกจากสถานการณ์ในประเทศอื่นนัก ข้อมูลของ WHO แสดงให้เห็นว่า ninety 9% ของประชากรโลกสูดอากาศที่มีคุณภาพต่ำ โดยประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางเผชิญกับสภาพอากาศเช่นนั้นบ่อยที่สุด
มลพิษทางอากาศมีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 7 ล้านคนต่อปี ตามข้อมูลของ WHO
ว่าแต่มลพิษในอากาศวัดอย่างไร และระดับใดที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ?
มลพิษทางอากาศวัดกันอย่างไร ?
มลพิษทางอากาศมาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลในยานพาหนะและการประกอบอาหาร และจากแหล่งธรรมชาติ เช่น พายุฝุ่น ไฟป่า และภูเขาไฟ
ตามโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Atmosphere Programme – UNEP) เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศใช้เซ็นเซอร์เพื่อตรวจจับสารมลพิษบางประเภท โดยบางประเภทใช้เลเซอร์เพื่อวัดความหนาแน่นของอนุภาค ในขณะที่เครื่องมือบางอย่างใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อประเมินพลังงานที่สะท้อนหรือปล่อยออกมาจากโลก
มลพิษที่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ PM2.5, PM10, โอโซนระดับพื้นดิน, ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์
PM2.5 ซึ่งหมายถึงอนุภาคขนาด 2.5 ไมครอน หรือเล็กกว่านั้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพมากที่สุด เนื่องจากอนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้สามารถเข้าสู่กระแสเลือดของเราและเชื่อมโยงกับการเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
ความเข้มข้นของมลพิษหลักทั้ง 5 ชนิดนี้ในอากาศวัดโดยตัวบ่งชี้ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) สากล
ระดับ AQI มีตั้งแต่ 0 (อากาศที่สมบูรณ์แบบ) ถึง 500 (เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในทันที)
โดยค่าดัชนีดังกล่าวบอกเราว่า อากาศสะอาดหรือเป็นมลพิษแค่ไหน และสรุปผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันหลังจากสัมผัสกับอากาศเสีย
“AQI เป็นเครื่องมือสื่อสารที่กลั่นกรองข้อมูลคุณภาพอากาศที่ซับซ้อนให้เป็นข้อมูลที่นำไปใช้ได้จริงเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน” อาร์เมน อราราเดียน โฆษกของ IQAir กล่าวกับบีบีซี
จากคำกล่าวของ UNEP ฐานข้อมูลคุณภาพอากาศจะรวมค่าที่อ่านได้จากหน่วยงานรัฐบาล แหล่งข้อมูลที่รวบรวมโดยมวลชน และเครื่องตรวจวัดจากดาวเทียม มารวมกันเพื่อสร้างค่าดัชนี AQI โดยข้อมูลดังกล่าวถูกถ่วงน้ำหนัก “บนฐานความน่าเชื่อถือและประเภทของมลพิษที่วัดได้”
ในปี 2021 UNEP และพันธมิตร IQAir ได้เปิดตัวเครื่องคำนวณค่ามลพิษทางอากาศแบบเรียลไทม์เครื่องแรก ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากเซ็นเซอร์ 6,475 เครื่อง ใน 117 ประเทศ มาประมวลผล
ฐานข้อมูลดังกล่าวให้น้ำหนักค่อนข้างมากกับค่า PM2.5 ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุด และใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อคำนวณค่าการสัมผัสมลพิษทางอากาศของประชากรเป็นรายชั่วโมง
“ทั่วโลก PM2.5 มักเป็นมลพิษหลักที่ขับเคลื่อนดัชนีคุณภาพอากาศ แต่ก็ไม่เสมอไป เมื่อระดับ PM2.5 เพิ่มขึ้น ประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ที่มีปัญหาภาวะทางเดินหายใจ รวมถึงภาวะทางหัวใจและหลอดเลือด จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก” อราราเดียน จาก IQAir กล่าว
“เมื่อตัวเลขดัชนีคุณภาพอากาศสูงขึ้น ประชากรในวงกว้างก็เผชิญความเสี่ยงจากคุณภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา และความเสี่ยงต่อสุขภาพที่รุนแรงยิ่งขึ้นก็เพิ่มขึ้นสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางด้วย” เขากล่าวเสริม
อราราเดียน ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ค่า AQI ของเมืองหนึ่ง ๆ ไม่ได้เป็นตัวแทนของคุณภาพอากาศทั่วทั้งพื้นที่
“ค่า AQI ขึ้นอยู่กับการวัดที่สถานีตรวจสอบเฉพาะ ซึ่งอาจไม่สามารถจับคุณภาพอากาศที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญภายในเมืองนั้น ๆ ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้กับถนนที่พลุกพล่านหรือเขตอุตสาหกรรม” เขาอธิบาย
เขาเสริมว่าการสร้าง “เครือข่ายที่แข็งแกร่ง” ของสถานีตรวจสอบทั่วเมืองเป็น “วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด” ในการตรวจจับระดับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ต่างๆ เหล่านั้น
มลพิษระดับใดที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ?
ตามคำแนะนำของ WHO อากาศที่มี AQI (ดัชนีคุณภาพอากาศ) ต่ำกว่า 100 ถือว่าปลอดภัยสำหรับการหายใจ ในขณะที่หากดัชนีอยู่ในช่วง 400-500 ถือว่า “รุนแรงวิกฤต”
IQAir รายงานว่าหลายพื้นที่ของกรุงเดลี ดัชนีขึ้นไปแตะระดับ 500 ในช่วงสัปดาห์ก่อน โดยเมืองบริวารรอบนอกอย่างนอยดาและคุรุครามก็บันทึกระดับค่า AQI ได้ใกล้ 500 เช่นกัน
รายงานปี 2021 จาก UNEP พบว่า การตรวจสอบคุณภาพอากาศไม่ใช่ข้อกำหนดทางกฎหมายใน ประเทศต่าง ๆ 37% ทั่วโลก และผู้เชี่ยวชาญมีความกังวลเกี่ยวกับความเข้มงวดในการตรวจสอบในประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ
“รัฐบาลจะต้องนำกฎหมายมาใช้ในการทำให้การตรวจสอบคุณภาพอากาศเป็นข้อบังคับตามกฎหมาย และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เพื่อปรับปรุงความถูกต้องของข้อมูลใหม่” UNEP กล่าว
อราราเดียนจาก IQAir อธิบายว่า “ภูมิภาคต่าง ๆ ใช้เกณฑ์ความเข้มข้นที่แตกต่างกันสำหรับค่า AQI ในพื้นที่ของตน”
“แม้ว่ามลพิษทางอากาศจะไม่มีระดับที่ปลอดภัย แต่ก็มีพื้นที่ต่าง ๆ ในโลกที่กลายเป็น ‘มาตรฐาน' ในแง่มลพิษทางอากาศในระดับสูง” โดยเขาอ้างถึงกรุงเดลีเป็นตัวอย่าง
ดังนั้นเขาจึงกล่าวเสริมว่า “เกณฑ์คุณภาพอากาศที่ถือว่า ‘ไม่ดีต่อสุขภาพ' จึงอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหน่วยงานด้านสาธารณสุขในแต่ละประเทศที่เป็นผู้กำหนดเรื่องนี้”
มีโรคใดบ้างที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ?
WHO ระบุว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กและมลพิษอื่น ๆ ในอากาศอาจทำให้ทางเดินหายใจและปอดอักเสบ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และลดความสามารถในการขนส่งออกซิเจนในเลือด
การสัมผัสมลพิษทางอากาศดังกล่าวสามารถนำไปสู่การติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็งปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และบุคคลที่มีรายได้น้อย
ตัวอย่างเช่น ก๊าซโอโซนทำให้อาการโรคหอบหืดแย่ลง ในขณะที่ไนโตรเจนไดออกไซด์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์มีส่วนทำให้เกิดโรคหอบหืด อาการหลอดลม ปอดอักเสบ และลดการทำงานของปอด
WHO ยังกล่าวอีกว่า คุณภาพอากาศที่ไม่ดีเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์ การแท้งบุตร และสภาวะทางระบบประสาท เช่น ความบกพร่องทางสติปัญญา และภาวะสมองเสื่อม
WHO ประเมินด้วยว่า มลพิษทางอากาศทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ล้านคนต่อปี โดย 4.2 ล้านคนเสียชีวิตจากมลภาวะภายนอกอาคาร และ 3.8 ล้านคนจากมลภาวะภายในอาคาร เช่น การเผาไม้และถ่าน
จากข้อมูลของ WHO ระบุว่า เกือบ 85% ของการเสียชีวิตเหล่านี้เชื่อมโยงกับโรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases – NCDs) รวมถึงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งปอด โรคหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคเบาหวาน ทำให้มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุอันดับที่สองของโรคไม่ติดต่อทั่วโลก รองจากการสูบบุหรี่
หน่วยงานของสหประชาชาตินี้ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า 90% ของการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศนอกสถานที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
การสำรวจโดย LocalCircles ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มชุมชนออนไลน์ในกรุงเดลีและเมืองใกล้เคียงพบว่า 81% ของครอบครัวที่ทำการสำรวจรายงานว่า มีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนในครอบครัวที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพเนื่องจากมลภาวะในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา
รัฐบาลเดลีได้ออกแผนปฏิบัติการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งห้ามการทำกิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ถ่านหินและฟืน รวมถึงการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลสำหรับบริการที่ไม่ฉุกเฉิน แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้เมืองนี้รอดพ้นจากมลพิษในระดับที่เป็นพิษได้
เจ้าหน้าที่ยังเรียกร้องให้ผู้อยู่อาศัยอยู่ในอาคารให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อากาศแย่ที่สุดและดีที่สุดในโลกอยู่ที่ไหน ?
จากข้อมูลของ IQAir ประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในปี 2566 ได้แก่ บังกลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย ทาจิกิสถาน บูร์กินาฟาโซ อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนปาล อียิปต์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
ในทางกลับกัน ประเทศที่มีอากาศสะอาดที่สุด ได้แก่ หมู่เกาะเฟรนช์โปลินีเซีย มอริเชียส ไอซ์แลนด์ เกรเนดา เบอร์มิวดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ และสวีเดน
ทั้งนี้ การจัดอันดับขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยต่อปี
ที่มา BBC.co.uk