มารู้จัก “โอเรชนิค (Oreshnik)” ขีปนาวุธรุ่นใหม่ที่รัสเซียยิงใส่ยูเครนเป็นครั้งแรก
ในตอนแรกไม่ค่อยมีใครรู้เกี่ยวกับโอเรชนิค (Oreshnik) ขีปนาวุธที่โจมตีเมืองดนีโปรของยูเครนในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา หรือไม่รู้แม้กระทั่งว่ามันคือขีปนาวุธชนิดใด
พาเวล อัคเซนอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจากสำนักข่าวบีบีซี แผนกภาษารัสเซีย กำลังตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับขีปนาวุธดังกล่าว พร้อมกับสัญญาณอะไรที่ทำให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียพยายามจะส่งไปยังยูเครนและชาติตะวันตก จากการการตัดสินใจใช้ขีปนาวุธดังกล่าว
ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า การโจมตีเมืองดนีโปรทางตะวันออกของยูเครนเกิดขึ้นโดยใช้ “ขีปนาวุธพิสัยกลางแบบใหม่” ที่มีชื่อรหัสว่า “โอเรชนิค”
ยูเครน แม้ว่าจะโต้แย้งเรื่องนี้ โดยบอกว่าน่าจะเป็นขีปนาวุธ Ked (Cedar) แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ไม่มากที่อาวุธชนิดนี้จะเป็นได้
การยิงขีปนาวุธในระยะไกลดังกล่าวไม่สามารถมองข้ามไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่มีหน่วยข่าวกรองหลายแห่งติดตามอย่างใกล้ชิด
Skip เรื่องแนะนำ and continue readingเรื่องแนะนำ
Stop of เรื่องแนะนำ
ขีปนาวุธดังกล่าวสามารถตรวจจับได้ชัดเจนในระหว่างทำการบิน โดยเฉพาะเปลวไฟที่ลุกไหม้ซึ่งไหลออกมาจากเครื่องยนต์จรวด ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยดาวเทียมและเครื่องบินลาดตระเวน
โดยหลักฐานสามารถเรียนรู้ได้มากมายจากไอเสียของขีปนาวุธ ซึ่งมักพบเห็นได้ในระหว่างการทดสอบหรือการฝึกซ้อม และคุณลักษณะของขีปนาวุธต่างๆ ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
ด้วยการศึกษาข้อมูลการยิงจากขีปนาวุธใหม่ นักวิเคราะห์สามารถอนุมานได้มากขึ้น
แม้ว่าหน่วยข่าวกรองของชาติตะวันตกไม่ได้เผยแพร่ผลสรุปการตรวจสอบดังกล่าว แต่พวกเขาน่าจะมีความคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเภทของขีปนาวุธ
นักวิจารณ์ในสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญต่างคิดทฤษฎีของตนเองโดยอิงจากเบาะแสอื่น ๆ ด้วย
แนวความคิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ รัสเซียได้ดัดแปลงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ที่อยู่ในระหว่างการทดลง ที่มีชื่อเรียกว่ารูเบซ (Rubezh) ซึ่งใช้สำหรับการโจมตีระยะกลาง
เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับโอเรชนิค ?
ในคำแถลงของปูติน เขากล่าวว่าขีปนาวุธดังกล่าวติดตั้ง “หัวรบที่มีความเร็วเหนือเสียงที่ไม่ใช่แบบนิวเคลียร์” และหัวรบของมัน “โจมตีเป้าหมายด้วยความเร็ว 10 มัค ซึ่งอยู่ระหว่าง 2.5-3 กม./วินาที”
การไม่มีหัวรบนิวเคลียร์นั้นชัดเจน และความเร็วของหัวรบแบบขีปนาวุธของขีปนาวุธดังกล่าวนั้นเป็นชนิดความเร็วเหนือเสียง
ศูนย์ควบคุมอาวุธและการแพร่ขยายอาวุธ (Center for Arms Alter and Non-Proliferation) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ระบุตัวเลขในแผ่นพับว่าขีปนาวุธนิวเคลียร์จะต้องมีความเร็ว 3,200 กม./ชม. หรือเกือบ 900 ม./วินาที
มันเป็นการยากมากที่จะสกัดกั้นหัวรบที่เดินทางด้วยความเร็วดังกล่าว
ขีปนาวุธนี้มีหัวรบแยกออกจากกันและนี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดความสับสนมากที่สุดในหมู่ผู้ที่ออกมาแสดงความเห็น
วิดีโอที่ถ่ายทำขึ้นในช่วงเวลาของการพุ่งชนโจมตีในดนีโปรแสดงให้เห็นกลุ่มวัตถุ 6 กลุ่มที่ตกลงสู่พื้น แต่ละกลุ่มจะมีจุดเรืองแสงประมาณหกจุด
นี่ถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมากสำหรับขีปนาวุธ อย่างไรก็ตาม ไม่พบการระเบิดบนพื้น ซึ่งบ่งชี้ว่าจุดที่เรืองแสงอาจเป็นกระสุนปืนกลจลนศาสตร์
สิ่งเหล่านี้อาจมีขนาดแตกต่างกันไป และอาจจะเป็นกระสุนโลหะ ที่พยายามทำลายเป้าหมายโดยใช้พลังงานจลน์ที่ปล่อยออกมาระหว่างการกระแทก เมื่อพิจารณาจากความเร็วสูง พลังงานนี้จะมีนัยสำคัญ
แหล่งข่าวหลายแห่งระบุว่าขีปนาวุธดังกล่าวถูกยิงจากสถานที่ทดสอบ คาปูสติน ยาร์ ของแคว้นอแอสตราคาน ของรัสเซีย
หากเป็นกรณีนี้ ระยะการยิงของขีปนาวุธจะอยู่ที่ประมาณ 800-850 กม.
ประธานาธิบดีปูติน เรียก “โอเรชนิค” ว่าเป็นขีปนาวุธพิสัยกลาง โดยทั่วไประยะของขีปนาวุธดังกล่าวมีพิสัยตั้งแต่ 1,000 – 5,500 กม. แต่นี่เป็นเพียงตัวเลขอย่างเป็นทางการเท่านั้น และเป็นไปได้ว่าขีปนาวุธดังกล่าวสามารถยิงได้ในระยะทางที่สั้นกว่า
ขีปนาวุธนี้สร้างขึ้นที่ไหน?
มีความเป็นไปได้มากว่าโอเรชนิคที่ปูตินกล่าวถึงนั้น ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีความร้อนแห่งกรุงมอสโก (MIT)
ในรัสเซีย มีสองหน่วยงานที่พัฒนาขีปนาวุธประเภทนี้ คือ ศูนย์ขีปนาวุธเมเคเยฟ และศูนย์ MIT
หน่วยงานแห่งแรกจะมุ่งเน้นไปที่ขีปนาวุธเชื้อเพลิงเหลวซึ่งยิงจากไซโล มีน้ำหนักมากและมีพิสัยการยิงที่ไกลมาก ตัวอย่างเช่น พิสัยของขีปนาวุธซาร์มัตอ้างว่าสามารถไปไดไกลถึง 18,000 กม.
สถาบันเทคโนโลยีความร้อนแห่งกรุงมอสโกมีความเชี่ยวชาญในการสร้างขีปนาวุธขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งที่ปล่อยจากฐานยิงเคลื่อนที่
ขีปนาวุธเหล่านี้มีน้ำหนักเบากว่า มีหัวรบที่เล็กกว่า และมีพิสัยการบินได้ที่สั้นกว่า ตัวอย่างเช่น ขีปนาวุธยาร์ส (Yars) มีพิสัยการบินได้ 12,000 กม.
ดังนั้น ขีปนาวุธที่คล้ายกับขีปนาวุธที่โจมตีเมืองดนีโปรน่าจะได้รับการพัฒนาโดย MIT
พวกเขาเคยสร้างขีปนาวุธที่คล้ายกันมาก่อน เช่น RSD-10 Pioneer Missile ซึ่งใช้งานตั้งแต่ปี 1970 จนกระทั่งสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Vary Nuclear Forces -INF) มีผลบังคับใช้ในปี 1988
ในเวลานั้น ขีปนาวุธพิสัยกลางและระยะสั้นและเครื่องยิงขีปนาวุธในสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาถูกทำลาย และทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะไม่ผลิต ทดสอบ หรือปรับใช้ขีปนาวุธดังกล่าวในอนาคต
ขีปนาวุธถูกสร้างขึ้นเมื่อใด ?
สนธิสัญญา INF สิ้นสุดลงในปี 2019 ดังนั้น การพัฒนาขีปนาวุธดังกล่าว อย่างน้อยในแง่ของการนำไปใช้จริง สามารถเริ่มได้หลังจากวันดังกล่าวเท่านั้น
ในขณะนั้น เซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียประกาศว่า รัสเซียตั้งใจที่จะสร้างระบบขีปนาวุธพิสัยกลางภาคพื้นดินภายในปี 2020 อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้น แต่การพัฒนาเกี่ยวกับขีปนาวุธดังกล่าวยังดำเนินอยู่
หนึ่งในการพัฒนาล่าสุดของ MIT คือ RS-26 Rubezh ซึ่งเป็นขีปนาวุธข้ามทวีป มีการรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่าพิสัยของมันอยู่ระหว่าง 2,000 – 6,000 กม. ดังนั้นจึงแทบจะไม่เกินขีดจำกัดของสนธิสัญญา INF เลย
MIT พัฒนาขีปนาวุธดังกล่าวก่อนที่สนธิสัญญาจะสิ้นสุดลง สำนักข่าวทาสส์ของทางการรัสเซีย กล่าวว่า พลเอกอาวุโสเซอร์เกย์ คาราเกเยฟ ผู้บัญชาการกองกำลังขีปนาวุธยุทธศาสตร์ของรัสเซีย เปิดเผยลักษณะเฉพาะบางประการของขีปนาวุธดังกล่าวเมื่อปี 2013
“หากเรากำลังพูดถึงขีปนาวุธยาร์ส ที่ใช้ภาคพื้นดินเคลื่อนที่ [หมายถึง RS-26 Rubezh] ยานยิงมีน้ำหนักมากกว่า 120 ตัน ในขีปนาวุธที่อัปเกรดแล้วนี้ เราจะถึง … 80 ตัน ซึ่งทำให้มีน้ำหนักเบาขึ้น ” คาราเกเยฟกล่าว
กล่าวอีกนัยหนึ่ง รัสเซียเริ่มพัฒนาขีปนาวุธที่มีน้ำหนักเบากว่าโดยใช้ขีปนาวุธยาร์ส ซึ่งเกินขีดจำกัดของสนธิสัญญา INF เพียง 500 กม.
ด้วยเหตุนี้ นักวิจารณ์หลายคนเห็นพ้องกันว่าโอเรชนิคที่ปูตินกล่าวถึงนั้น น่าจะเป็นระบบขีปนาวุธที่มีพิสัย 800 กม. หรือการพัฒนาเพิ่มเติมจากระบบนั้น ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อพิสัยที่สั้นกว่านั้นอีก
ความสำคัญของสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางเป็นอย่างไร
สนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง หรือ INF มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความตึงเครียดในยุโรป
มีขึ้นตามแนวคิดเรื่องการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ใช้ได้กับขีปนาวุธข้ามทวีป ซึ่งสามารถตรวจจับการยิงได้ด้วยระบบเตือน ทำให้มีเวลาเพียงพอในการตอบสนองด้วยการตอบโต้ เช่นเดียวกับเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์
แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลหากวัดเวลาการบินของขีปนาวุธได้ภายในไม่กี่นาที
ขีปนาวุธพิสัยใกล้และระยะกลางเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์เชิงกลยุทธ์ที่มีประสิทธิผล ขีปนาวุธเหล่านี้สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสกัดกั้นหรือทำลาย ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสตอบโต้ตอบโต้ หรือมีเวลาไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ เครื่องยิงแบบเคลื่อนที่สำหรับขีปนาวุธดังกล่าวยังตรวจจับและทำลายได้ยากมากในการโจมตีครั้งแรก
การปรากฏตัวของขีปนาวุธระยะสั้นและระยะกลางใกล้ชายแดนอาจกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งทางทหาร เนื่องจากขีปนาวุธดังกล่าวถือเป็นคำขู่ว่าจะโจมตีที่แทบจะป้องกันไม่ได้ สิ่งนี้อาจนำไปสู่การชิงโจมตีด้วยนิวเคลียร์ก่อน
มีการแจ้งเตือนก่อนการโจมตีหรือไม่
การโจมตีที่เมืองดนีโปรถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ขีปนาวุธประเภทนี้ในการสู้รบ ขณะที่ประธานาธิบดีปูตินประกาศว่า รัสเซียจะเตือนการใช้ขีปนาวุธดังกล่าว
“30 นาทีก่อนการปล่อยโอเรชนิค รัสเซียส่งการแจ้งเตือนอัตโนมัติไปยังสหรัฐฯ ผ่านทางศูนย์ลดความเสี่ยงด้านนิวเคลียร์” ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของประธานาธิบดีปูติน กล่าว
สหรัฐฯ สั่งปิดสถานทูตของตนในกรุงเคียฟหนึ่งวันก่อนที่ขีปนาวุธจะถูกปล่อยออกไปเพื่อโจมตี เนื่องจากมี “ข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศที่สำคัญที่อาจเกิดขึ้น”
สถานทูตสเปน อิตาลี และกรีซก็ปิดเช่นกัน ในขณะที่สถานทูตฝรั่งเศสและเยอรมนียังคงเปิดอยู่ แต่แนะนำให้พลเมืองของตนใช้ความระมัดระวัง
แพลตฟอร์มเทเลแกรมของยูเครนมีการรายงานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะใช้ขีปนาวุธ รูเบซต่อยูเครนก่อนที่จะมีการปล่อยขีปนาวุธ โดยมีรายงานว่าขีปนาวุธดังกล่าวถูกนำไปใช้ที่สถานที่ทดสอบคาปุสติน ยาร์ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ในการใช้อาวุธชนิดใหม่ เคยถูกประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้โดยนายวยาเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาความมั่นคงของรัสเซีย
“การใช้ระบบอาวุธใหม่ ซึ่งสหพันธรัฐรัสเซียไม่ได้ใช้ในดินแดนยูเครน ไม่สามารถตัดทิ้งออกไปได้” เขาเขียนไว้เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา
ที่มา BBC.co.uk