มารู้จัก 10 บุคคลที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ไว้ใจ ให้ช่วยขับเคลื่อนนโยบาย ในสมัยที่ 2 มีใครบ้าง ?
Article recordsdata
- Creator, นาตาลี เชอร์แมน
- Position, ผู้สื่อข่าวธุรกิจ ของบีบีซี ประจำนครนิวยอร์ก
โดนัลด์ ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะนำเสนอการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงตั้งแต่วันแรกที่เขากลับเข้าทำเนียบขาวในวันที่ 20 ม.ค. นี้
บุคคลที่เขาเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลที่สุดมีแนวคิดร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ ความภักดีต่อผู้เป็นหัวหน้า ทว่า แต่ละคนก็ยังนำแนวคิดของตนเองที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับแนวนโยบายของทรัมป์ด้วย
บีบีซีสำรวจบุคคลใน 5 กลุ่มที่จะได้รับความไว้วางใจเพื่อทำหน้าที่ตามคำมั่นสัญญาของโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมกับขอให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า พวกเขาเหล่านี้มีประสิทธิภาพหรือจะสร้างปัญหาได้มากเพียงใด
นโยบายการย้ายถิ่นฐาน: กลุ่มหัวแข็งที่ดูแลชายแดน
นี่คือหนึ่งในคำมั่นสัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทรัมป์ในช่วงหาเสียง เพื่อรักษาความปลอดภัยชายแดนและขับไล่ผู้ที่เข้ามาในสหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย
การเนรเทศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาที่ได้รับคำมั่นสัญญาไว้ ซึ่งการสำรวจความคิดเห็นบางส่วนชี้ให้เห็นว่านโยบายนี้ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่แนวทางการปฏิบัติจะเป็นอย่างไรหรือแหล่งเงินทุนจะมาจากทางไหนยังไม่มีใครรู้
Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ
End of เรื่องแนะนำ
คริสตี้ โนเอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ
“การกระทำแรกของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในประเทศของเราคือการทำที่ละเมิดกฎหมาย”
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงสี่สมัย ผู้นี้ เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ รัฐเซาท์ดาโคตา ในปี 2018 ได้รับความสนใจจากทั่วประเทศด้วยการปฏิเสธอย่างเปิดเผยต่อการบังคับใส่หน้ากากอนามัยและมาตรการล็อกดาวน์ระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19
ท่ามกลางการระบาดใหญ่ โนเอมได้เฉลิมฉลองวันชาติ 4 ก.ค. ร่วมกับโดนัลด์ ทรัมป์ที่เมานต์รัชมอร์ หรือ อนุสรณ์สถานแห่งชาติเขารัชมอร์ในรัฐของเธอ
เธอมักจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อนโยบายด้านชายแดนของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน
โนเอมปฏิเสธที่จะรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานและเป็นผู้ว่าการรัฐคนแรกที่ส่งสมาชิกกองกำลังป้องกันประเทศของรัฐของเธอไปยังเท็กซัสเพื่อช่วยบังคับใช้กฎหมายชายแดน
การแต่งตั้งของเธอยังต้องได้รับการรับรองจากวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ
ทอม โฮแมน เจ้าแห่งพรมแดน
ด้วยประสบการณ์กว่าทศวรรษ ในฐานะเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายชายแดนสหรัฐฯ และอดีตตำรวจที่เคยบริหารหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร (Immigration and Customs Enforcement – ICE) นี่ดูเหมือนจะเขาเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับหนึ่งในภารกิจหลักของทรัมป์
เขาเป็นผู้สนับสนุนคนแรก ๆ ในการแยกเด็กออกจากพ่อแม่หรือผู้ดูแลที่ข้ามชายแดนโดยไม่มีเอกสาร ซึ่งกลายเป็นนโยบายการย้ายถิ่นฐานที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งมากที่สุดนโยบายหนึ่งของทรัมป์ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก
โฮแมนเป็นนักวิจารณ์ที่แสดงความคิดเห็นประจำช่องข่าวโทรทัศน์ฝ่ายอนุรักษ์นิยม เขามีความเห็นที่ขัดแย้งกับนักการเมืองจากพรรคเดโมแครตที่ไม่เต็มใจให้ความร่วมมือกับความพยายามบังคับใช้กฎหมายการย้ายถิ่นฐานของรัฐบาลกลาง
บทวิเคราะห์: การบังคับใช้นโยบายการปราบปราม
นอกเหนือจากประเด็นเศรษฐกิจแล้ว ผลการสำรวจความคิดเห็นยังชี้ให้เห็นหลาย ๆ ครั้งว่า การย้ายถิ่นฐานและชายแดนกับเม็กซิโกเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก การให้ โฮแมน และ โนเอม เป็นผู้นำ โดยมีสตีเฟน มิลเลอร์ ซึ่งเป็นคนหัวแข็งอีกคนให้เป็นผู้รับผิดชอบนโยบายชายแดน จึงแสดงให้เห็นว่า ทรัมป์จริงจังที่จะทำตามสัญญาที่ให้ไว้
แต่การเนรเทศคนจำนวนมากและการบุกเข้าตรวจค้นสถานที่ทำงานอาจทำให้ให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐและเขตอำนาจศาลที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตซึ่งอาจตัดสินใจผลักดันกลับหรือไม่ให้ความร่วมมือพรรครีพับลิกันในบางรัฐซึ่งเศรษฐกิจบางส่วนของพวกเขาต้องพึ่งพาแรงงานผู้อพยพก็อาจคัดค้านเช่นกัน และหากครอบครัวถูกแยกจากกันอีกครั้งเช่นเดียวกันกับในวาระแรกของทรัมป์ หรือพลเมืองอเมริกันถูกเนรเทศออกนอกประเทศไปพร้อมกับญาติที่ไม่มีเอกสาร ความคิดเห็นของสาธารณชนอาจเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
นโยบายต่างประเทศ: สายเหยี่ยวต้านจีน
นักอนุรักษ์นิยมหลายคนเชื่อว่า จีนเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อการครองอำนาจทั่วโลกของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการทหาร
แม้ว่าทรัมป์จะมีความรอบคอบมากขึ้น โดยจำกัดการวิจารณ์ของเขาต่อจีนแทบทั้งหมดไว้ในขอบเขตของการค้า แต่เขากำลังรวบรวมทีมนโยบายต่างประเทศของเขาด้วยนักวิจารณ์ประเทศจีนที่แสดงออกอย่างเปิดเผย ซึ่งน่าจะช่วยผลักดันคำมั่นสัญญาของทรัมป์ที่จะเก็บภาษีศุลกากรเพิ่ม
มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ
“ภัยคุกคามที่จะกำหนดศตวรรษนี้คือจีน และเราจะต้องใช้ความพยายามจากทั้งสังคม ไม่ใช่จากแค่รัฐบาลเท่านั้น ที่จะเทียบขั้นกับจีน”
รูบิโอคือชาวอเมริกันที่ครอบครัวอพยพมาจากประเทศคิวบา เป็นวุฒิสมาชิกที่เป็นตัวแทนของรัฐฟลอริดาตั้งแต่ปี 2011
เขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอาวุโสที่เคยสนับสนุนการปฏิรูปการย้ายถิ่นฐานของทั้งสองพรรคและเคยวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ตั้งแต่ช่วงแรกๆ
เขาและทรัมป์บางครั้งมีความขัดแย้งกันอย่างดุเดือดเมื่อครั้งที่รูบิโอลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันในปี 2016 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ต่อมาเขาก็หันมาสนับสนุนทรัมป์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาปกป้องทรัมป์อย่างแข็งขันระหว่างการหาเสียงและการปรากฏตัวของเขาในสื่อ
เขาเป็นสมาชิกคณะกรรมการข่าวกรองและความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภา และเป็นที่รู้จักจากจุดยืนที่แข็งกร้าวต่ออิหร่านและความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงจีน
แม้ว่าเขาจะมีอายุ fifty three ปีแล้ว แต่เขาก็ยังคงมีความทะเยอทะยานที่จะดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาว และอาจใช้ตำแหน่งในกระทรวงการต่างประเทศเพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของตัวเองในประเทศ
ไมเคิล วอลทซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ
“ระบอบเผด็จการได้รับการสนับสนุนจากความอ่อนแอที่รับรู้ได้ ไม่ว่าจะยุติธรรมหรือไม่ เป็นความคิดของพวกเขา และมันถูกขัดขวางด้วยความแข็งแกร่ง”
วอลซ์ซึ่งเป็นทหารผ่านศึกหน่วยรบพิเศษที่ได้รับการยกย่อง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของรัฐฟลอริดาเช่นเดียวกับรูบิโอ
เขาก็พูดจาด้วยท่าที่อันแข็งกร้าวต่อจีนเช่นกัน โดยเขาเคยโต้แย้งในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสภาผู้แทนราษฎรที่เรียกร้องให้สหรัฐฯ เตรียมพร้อมรับมือกับความขัดแย้งในแปซิฟิกมากขึ้น
ในปี 2022 เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภาคนแรกที่เรียกร้องให้สหรัฐฯ คว่ำบาตรการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง
เขาได้วิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของรัฐบาลที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง รวมถึงเรื่องการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน
เขายังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายทางทหารของสหรัฐฯ ว่า เน้นย้ำถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติและเพศ ความเท่าเทียม และความเสมอภาคมากกว่าความสามารถในการทำสงคราม
บทวิเคราะห์: ความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุด
ในสมัยแรก ทรัมป์ได้จุดชนวนสงครามการค้ากับรัฐบาลกรุงปักกิ่งและเรียกโควิดว่าเป็น “ไวรัสจีน” แต่เขาก็ยกย่องประธานาธิบดีสีจิ้นผิงว่าเป็นผู้นำที่ “ยอดเยี่ยม” ที่ปกครองด้วย “กำปั้นเหล็ก”
ความคาดเดาไม่ได้นี้อาจทำให้การจัดการความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯยากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ รูบิโอ อาจขัดแย้งกับ ทุลซี แกบบาร์ด ซึ่งทรัมป์เลือกเป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยวิพากษ์วิจารณ์เขาเรื่องนโยบายต่างประเทศ โดยกล่าวว่าเขา “เป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ ผู้ก่อสงคราม”
ประสิทธิภาพ: ผู้ตัดลดงบประมาณ
ทรัมป์แต่งตั้งบุคคลสำคัญในแวดวงเทคโนโลยีสองคน ได้แก่ อีลอน มัสก์ และ วิเวก รามาสวามี ให้เป็นผู้นำในความพยายามการลดต้นทุนที่เรียกว่า “กรมประสิทธิภาพรัฐบาล” (Division of Government Effectivity – Doge) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายาม “รื้อถอน” ระบบราชการเมื่อเขากลับเข้ารับตำแหน่ง
มัสก์ได้เสนอแผนลดค่าใช้จ่ายที่อาจมีมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมให้คำมั่นว่าจะส่ง “คลื่นกระแทก” ไปทั่วทั้งรัฐบาล
รามาสวามีสนับสนุนการยุบหน่วยงานจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร และกระทรวงศึกษาธิการ
แต่ยังต้องรอดูว่ากรมประสิทธิภาพรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาลอย่างเป็นทางการ จะดำเนินการอย่างไร
อีลอน มัสก์ ประสิทธิภาพของรัฐบาล
“ภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยหรือไม่ ? ไม่ใช่ มันคือภัยคุกคามต่อระบบราชการ!!!”
อีลอน มัสก์ เกิดในแอฟริกาใต้และเป็นเจ้าของ แอปพลิเคชัน “เอ็กซ์”, บริษัท เทสลา และ สเปซเอ็กซ์ รวมถึงกิจการอื่นๆ เขาเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
อีลอน มัสก์ เป็นที่รู้จักจากการต่อต้านการกำกับดูแลที่มากเกินไปของรัฐบาล การมีตัวตนในโซเชียลมีเดียที่แข็งกร้าวพร้อมต่อสู้ และการลดต้นทุนอย่างเอาจริงเอาจังหลังจากเข้าซื้อแอปพลิเคชัน “เอ็กซ์” (เดิมชื่อ ทวิตเตอร์)
มัสก์ต่อต้านความพยายามของคนที่จะให้ชื่อจุดยืนทางการเมืองของเขามานาน แต่ในปี 2024 เขากลายเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนทรัมป์ที่บริจาคและใช้เงินมากที่สุด โดยทุ่มเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเลือกตั้งอีกครั้งของทรัมป์ และปรากฏตัวร่วมกับทรัมป์และในงานเดี่ยวและรวมถึงในรัฐสมรภูมิสำคัญ
เขาแนะนำว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่สามารถทำให้รัฐบาลมีขนาดเล็กลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีประสิทธิผลมากขึ้น
วิเวก รามาสวามี, ประสิทธิภาพของรัฐบาล
“เอฟบีไออาจจะไม่ได้รับการ ‘ปฏิรูป' ได้ คำตอบที่ถูกต้องคือ: ยุบทิ้ง ใช่ ประธานาธิบดีทำได้ ฉันจะทำ”
มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียคนนี้สร้างฐานะจากการเป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ จากนั้นจึงก่อตั้งบริษัทจัดการสินทรัพย์
เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันในปี 2024 โดยให้คำมั่นว่าจะยึดตามแนวทาง “อเมริกาต้องมาก่อน” (The USA First) ของทรัมป์
เป็นเวลาหลายเดือนที่ความนิยมของเขาพุ่งสูงขึ้นภายในพรรค ทำให้เขามีตำแหน่งที่โดดเด่นในระหว่างการดีเบตชิงตำแหน่งประธานาธิบดี (ซึ่งทรัมป์ไม่เข้าร่วม) และถูกสื่อจับตามองมากขึ้น
ในที่สุด เขาก็ถอนตัวเพื่อสนับสนุนอดีตประธานาธิบดี แต่ก็ได้รับความสนใจจากนโยบายการหาเสียงที่ไม่ธรรมดาของเขาและการยอมรับทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ รวมถึงที่ว่าการเลือกตั้งในปี 2020 “ถูกบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ขโมยไป” จากทรัมป์ และเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาในปี 2021 เป็น “กิจการภายใน”
เขาสนับสนุนให้มีการตัดงบประมาณรัฐบาลกลางอย่างเข้มข้น รวมถึงการไล่คนออกจำนวนมากและยุบหน่วยงานและแผนกทั้งหมด
บทวิเคราะห์: เพิ่มศักยภาพให้กับกองเชียร์ผู้ช่วยหาเสียง
การแต่งตั้งดังกล่าวเป็นตอบแทนความช่วยเหลือที่ทรัมป์ได้รับจาก มัสก์ และ รามาสวามี ในการหาเสียง แต่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพวกเขาจะมีอำนาจต่อไปอย่างไร กระทรวงนี้ไม่ใช่หน่วยงานอย่างเป็นทางการและเพียงแค่สามารถให้คำแนะนำด้านการใช้จ่ายเท่านั้น ซึ่งงบประมาณการใช้จ่ายอยู่ภายใต้การควบคุมบางส่วนโดยรัฐสภา การตัดงบประมาณครั้งใหญ่ยังขัดแย้งกับคำมั่นสัญญาอื่นๆ ของทรัมป์ เช่น การไม่แตะต้องประกันสังคมและประกันสุขภาพ
การเปลี่ยนแปลงทั้งหมด: ผู้ก่อกวน
ผู้ได้รับแต่งตั้งจากทรัมป์หลายคนได้รับบทบาทที่มุ่งท้าทายขนบธรรมเนียมเดิม
ทรัมป์ได้เลือกการต่อสู้ที่เฉพาะเจาะจงให้ในแต่ละหน่วยงานที่พวกเขาจะดูแล เช่น เคนเนดี อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ ขณะที่แกบบาร์ด เป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ
โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี จูเนียร์ คุมกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์
“อาหารแปรรูปสูงเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคอ้วนระบาด เมื่อเราได้ประธานาธิบดีทรัมป์กลับมาที่ทำเนียบขาวและผมได้ไปกรุงวอชิงตัน เราจะแก้ไขระบบอาหารที่พังของเราและทำให้ประเทศอเมริกามีสุขภาพดีอีกครั้ง”
ผู้ได้รับเลือกจากทรัมป์ผู้นี้ คือทนายความและนักสิ่งแวดล้อมจากครอบครัวเดโมแครตที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศมาอย่างยาวนาน
แม้เขาจะไม่มีคุณสมบัติใด ๆ ในทางการแพทย์ แต่เขาก็มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กว้างขวางในการดูแลหน่วยงานด้านสุขภาพของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ รวมถึงหน่วยงานที่ดูแลการอนุมัติวัคซีน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เขากล่าวว่าต้องการตรวจสอบการทำงาน
เป้าหมายที่เคนเนดีประกาศไว้บางส่วน เช่น ฟลูออไรด์ในน้ำ มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ผิดพลาด
เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในเรื่องอื่นๆมากกว่า เช่น การตรวจสอบระบบอาหารและการใช้สารเติมแต่ง
ในตอนแรก เคนเนดีพยายามหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตในปี 2024 และเปลี่ยนมาเสนอชื่อโดยอิสระเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
แต่ในที่สุด เขาก็เลิกหาเสียงและสนับสนุนอดีตประธานาธิบดี ทำให้พันธมิตรที่ไม่น่าจะเป็นไปได้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้เขาได้รับตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรีของทรัมป์ได้ หากได้การยืนยันจากวุฒิสภา
ทัลซี แกบบาร์ด หน่วยข่าวกรองแห่งชาติ
“(ทรัมป์) ใช้ความกล้าหาญที่เราคาดหวังจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเรา… มีความกล้าที่จะพบปะกับศัตรู เผด็จการ พันธมิตร และหุ้นส่วน เพื่อแสวงหาสันติภาพ โดยมองว่าสงครามเป็นทางเลือกสุดท้าย”
แกบบาร์ด เป็นทหารผ่านศึกที่เคยประจำการในหน่วยแพทย์ในอิรัก และมักจะคัดค้านนโยบายต่างประเทศของอเมริกาอยู่เสมอ
ในปี 2017 ขณะที่เธอเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครต และได้พบปะกับประธานาธิบดีซีเรียในขณะนั้น บาชาร์ อัล-อัสซาด เธอได้แสดงถึงความสงสัยเกี่ยวกับการประเมินข่าวกรองของสหรัฐฯ ที่กล่าวโทษว่าเขาใช้อาวุธเคมีที่ร้ายแรง
หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครนห้าปีต่อมา เธอกล่าวโทษ นาโต และสนับสนุน รัฐบาลรัสเซีย ว่ามีห้องปฏิบัติการชีวภาพที่ได้รับทุนจากสหรัฐฯ อยู่ในยูเครน
การเปลี่ยนแปลงของเธอจากผู้สนับสนุนฝ่ายซ้ายของ เบอร์นี แซนเดอร์ส มาเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์อย่างเปิดเผยทำให้การเดินทางทางการเมืองของเธอไม่ธรรมดา
แต่ทัศนคติต่อต้านกระแสการเมืองหลักและต่อต้านการแทรกแซงของเธอยังคงสม่ำเสมอตลอดมา
บทวิเคราะห์: การควบคุมผู้ขว้างระเบิด
เคนเนดี และ แกบบาร์ด อาจเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนแผนของทรัมป์ในการล้มล้าง “ดีปสเตต” ( Deep Affirm) ของระบบราชการอย่างแน่วแน่ ผู้ได้รับการแต่งตั้งทั้งสองคนมักจะล้มล้างแผนการสมคบคิด แต่ผู้ขว้างระเบิดยังสามารถเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดื้อรั้นได้อีกด้วย เคนเนดีต้องการการควบคุมที่เข้มงวดยิ่งขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ซึ่งอาจขัดแย้งกับแผนงานการลดขนาดรัฐบาลของทรัมป์ และแกบบาร์ดซึ่งเป็นนักวิจารณ์ที่ดุเดือดต่ออำนาจของอเมริกาจะทำงานให้กับประธานาธิบดีที่ไม่กลัวที่จะใช้อำนาจ ตัวอย่างเช่น ใช้มันต่อต้านอิหร่าน
นโยบายเศรษฐกิจ: ผู้บังคับใช้ภาษีศุลกากร
บุคคลที่ได้รับเลือกคาดว่าจะช่วยผลักดันวาระการค้าและภาษีศุลกากรที่ทรัมป์ให้คำมั่นว่า จะปกป้องงานของชาวอเมริกัน
พวกเขาอาจถูกขอให้จัดเก็บภาษีนำเข้าที่ทรัมป์ขู่ไว้กับสินค้าที่ส่งมายังสหรัฐอเมริกา รวมถึงจากประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน แคนาดา และเม็กซิโก
ฮาวเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์
“เป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์… เราจะทำเงินได้มหาศาลจากภาษีศุลกากร แต่ส่วนใหญ่แล้ว คนอื่น ๆ จะมาเจรจากับเรา”
ลุตนิก เป็นซีอีโอมหาเศรษฐีของบริษัทการเงินแคนเตอร์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ซึ่งเป็นบริษัทที่เขาสร้างใหม่หลังจากที่สูญเสียพนักงานไป 658 คนจากการโจมตีเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อวันที่ 11 ก.ย.
การที่เขาเป็นผู้บริจาคเงินจำนวนมากให้กับแคมเปญหาเสียงของทรัมป์ทำให้เขาได้รับตำแหน่งรองประธานคณะทำงานร่วมในการเปลี่ยนผ่านโดยเขาจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเติมเต็มตำแหน่งงานที่ว่างหลายพันตำแหน่งในรัฐบาลชุดใหม่
เขายังเป็นผู้ได้รับเลือกจากประธานาธิบดีคนใหม่ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์อีกด้วย
เขาสนับสนุนแผนเศรษฐกิจของทรัมป์อย่างเปิดเผย รวมถึงการเก็บภาษีศุลกากรที่ครอบคลุมหลายด้าน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะมีหน้าที่บังคับใช้ รวมถึงการยกเลิกการควบคุมสกุลเงินดิจิทัลและการยกเลิกภาษีเงินได้
การที่เขาสนับสนุนนโยบายเหล่านี้ทำให้เขามีมุมมองมองในทิศทางที่ต่างจากหลายๆ คนในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งมักมองว่าภาษีศุลกากรเป็นสิ่งที่ไม่ดีสำหรับองค์กรในอเมริกา
สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
“เช่นเดียวกับอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน เราไม่ควรกลัวที่จะใช้พลังของการเก็บภาษีศุลกากรเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของครอบครัวและธุรกิจในสหรัฐฯ”
เบสเซนต์ยังเป็นนักการเงินที่มีประสบการณ์ ซึ่งหลายคนบนวอลล์สตรีทมองว่าการที่เขาได้รับการแต่งตั้งนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างปลอดภัย
เขาใช้ประวัติการทำงานที่ค่อนข้างเป็นไปตามขนบธรรมเนียมในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งครอบคลุมหลายด้าน รวมถึงการได้ทำงานร่วมกันกับ จอร์จ โซรอส มหาเศรษฐี ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนแคมเปญหาเสียงของพรรคเดโมแครตที่มีชื่อเสียงและมีผลงานมากที่สุดคนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เบสเซนต์ ตอนนี้สนับสนุนกลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างมั่นคง โดยเขาสนับสนุนการลดงบประมาณ การยกเลิกกฎระเบียบ และการเพิ่มการลงทุนในการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ
เขาสนับสนุนข้อเรียกร้องของทรัมป์ในการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้า แต่เช่นเดียวกับลุตนิก เขาก็ได้กล่าวว่า ทรัมป์มองภาษีเป็นเพียงเครื่องมือในการเจรจาเท่านั้น ไม่ใช่แหล่งรายได้ถาวรของสหรัฐฯ
บทวิเคราะห์: ไพ่ต่อรองของทรัมป์
ทรัมป์แสดงความต้องการของเขาต่อการเก็บภาษีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และการใช้มันเป็นเครื่องมืออเนกประสงค์เพื่อเสริมกำลังประเทศในด้านต่างๆ
แต่แผนของเขากลับขัดแย้งกับลำดับความสำคัญอื่นๆ เช่น ตลาดหุ้นที่สดใสและการลดอัตราเงินเฟ้อ ทำให้เกิดคำถามว่าเขาพร้อมที่จะยอมจ่ายต้นทุนมากเพียงใด
ทีมเศรษฐกิจของทรัมป์ถือเป็นทีมที่ผู้เล่นที่มีประสบการณ์มากที่สุดในรัฐบาลของเขา และแม้พวกเขาจะภักดีต่อแนวคิดของเจ้านาย แต่ภูมิหลังที่ค่อนข้างธรรมดาๆของพวกเขาก็ทำให้ตลาดโล่งใจ นั่นเป็นสัญญาณของทั้งคุณค่าที่ทรัมป์ให้กับสิ่งที่วอลล์สตรีทคิด และภารกิจอันละเอียดอ่อนที่ทีมของเขาต้องเผชิญในการจัดสมดุลวาระทางเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกันของเขา
เขียนโดย Anthony Zurcher, Laura Blasey, James FitzGerald, Tom Geoghegan, Bernd Debusmann Jr, Natalie Sherman, Tom Bateman and Mike Wendling. Make by Oliver Bothwell, François de Montremy and Jenny Laws.
ผลิตและบรรณาธิการโดย Tom Finn, Paul Sargeant and Dominic Bailey.
ภาพจาก Getty
ที่มา BBC.co.uk