ในวันนี้ (1 เม.ย.) นับเป็นวันที่ 22 ของการชุมนุมของคนงานยานภัณฑ์ที่ถูกลอยแพ และวันที่ 21 ของแรงงานที่อดอาหารประท้วง เพื่อขอให้คณะรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร มีมติอนุมัติเบิกงบประมาณรายจ่ายกลางสำรองจ่าย ช่วยเหลือคนงานที่ถูกลอยแพ 4 บริษัท จำนวนเงิน 466 ล้านบาท
‘กรรณิการ์’ อายุ 40 ปี ชาวจังหวัดจันทบุรี เธอเป็นหนึ่งใน 6 แรงงานยานภัณฑ์ที่อดอาหารมาประมาณ 19 วันแล้ว
บริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น ครัช เบรก เกียร์ และอื่นๆ และเป็นซัปพลายเออร์ให้กับยี่ห้อรถยนต์อย่างอีซูซุ และโตโยต้า ได้ปิดกิจการลง เนื่องด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้คนงาน 859 คนตกงานทันที
‘มีแฟนทำงานยานภัณฑ์ แต่ไม่มีลูก ตกงานแพกคู่”
ความอ่อนล้าจากการอดอาหารทำให้ใบหน้าของกรรณิการ์ซีดเซียวอย่างเห็นได้ชัด เธอเล่าให้ฟังว่า ถ้าได้เงินชดเชย เธอจะกลับบ้านที่จังหวัดจันทบุรี ไปทำธุรกิจเล็กๆ เปิดร้านขายของ ช่วยแม่
“คุณแม่ทำอาหารอร่อย ขายดีมากเลย แม่พี่เขาจะทำขายทุกวันเสาร์ และก็วันอังคาร ก็ขายบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะทำเยอะๆ ขายวันเสาร์ เพราะวันเสาร์มีตลาดที่วัด เพื่อนๆ เขา สว. (สูงวัย) มาคุยกัน แม่จะทำข้าวเหนียวปิ้ง ต้มนึ่ง และก็ทำแกงมือบอน แกงหยวกกล้วย”
“(ที่บ้าน) เป็นห่วงอยู่ค่ะ เราไม่ได้บอกเขาว่าเราอดอาหาร แต่เขารู้ว่าเรามาตรงนี้ เขาก็บอกว่ามันจะให้เหรอนายกฯ เขาก็บอกอยู่ ไม่น่าให้ดูแล้ว เราก็เห็นๆ กันจะให้เหรอ นายจ้างก็ขี้โกง” แรงงานยานภัณฑ์ ระบุ
ข้อเรียกร้องของคนงานยานภัณฑ์มี 2 ข้อ
1. ให้เบิกงบกลางมาสำรองจ่ายให้คนงาน 4 บริษัทที่ถูกลอยแพ จำนวน 466 ล้านบาท ซึ่งคนงานระบุว่าไม่ได้เป็นการให้เปล่า แต่รัฐบาลจะได้ทรัพย์สินของนายจ้างที่ยึดได้ไปด้วย
2. รัฐบาลสามารถไปตามเงินมาคืนคงคลังได้ โดยการยึดทรัพย์สินของนายจ้างขายทอดตลาด หรือให้นายจ้างชดใช้รูปแบบอื่นๆ
“เรามีความหวังอยู่นะ เพราะว่าเหตุผลที่เรามาขอ (งบกลางสำรองจ่าย) เขาน่ะ ก็มีมาขอ และก็ให้เขาไปทวงกับนายจ้างเอง เขามีอำนาจ ให้เขาไปใช้กฎหมายกับนายจ้าง มันจะเร็วกว่า มันไม่เหมือนเราไปร้องเอง มันช้ามาก มันไม่ได้ผลเลยด้วยซ้ำ เขามีอำนาจในมือเราก็หวังให้เขามาช่วย นายกฯ”
กรรณิการ์มีอาการอ่อนเพลีย เวลาเคลื่อนไหวเยอะๆ จะมีอาการเป็นลม เกร็ง เป็นตะคริว และเหน็บชา ก่อนหน้านี้แพทย์เคยมาถามว่าอยากไปให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาลหรือไม่ แต่เธอไม่ได้มีโรคประจำตัวร้ายแรง เลยอยากขอปักหลักอยู่ที่เดิม
เธออยากได้เงินชดเชยเร็วๆ ก็ได้กลับบ้านช่วงสงกรานต์ ไปเที่ยวงานวัด งานรื่นเริง อยู่กับพ่อ-แม่ ครอบครัว
กรรณิการ์
“อาทิตย์นี้ไม่ได้ อังคารหน้าก็โอเค” กรรณิการ์ กล่าวขอให้เรื่องเข้าที่ประชุม ครม.เร็วๆ
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (1 เม.ย.) เซีย จำปาทอง สส.พรรคประชาชน ที่มาเยี่ยมคนงานของบริษัท ยานภัณฑ์ ได้ให้ข้อมูลว่าเรื่องน่าจะยังไม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์นี้
เกือบหนึ่งเดือนแล้วที่คนงานชุมนุมปักหลัก ในจำนวนนั้นมี 6 คนที่อดอาหารประท้วง โดย ‘มาลี’ คือคนที่อดอาหารนานที่สุด
อาการล่าสุดของมาลี ก่อนหน้านี้เธออาเจียน อ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด และเวลาเดินหรือเคลื่อนไหวต้องนั่งรถเข็น ก่อนหน้านี้แพทย์ได้เข้ามาตรวจอาการและสอบถามมาลี ว่าต้องการไปให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาลหรือไม่ แต่เธอยืนยันว่าจะปักหลักอยู่ที่เดิม
ขณะที่อาการของคนงานคนอื่นๆ ที่อดอาหาร เผยว่ายังกำลังใจดี แต่มีอาการอ่อนเพลีย ลุกขึ้นเดินไม่ค่อยไหว
โดยวิธีการอดอาหารประท้วงของคนยานภัณฑ์ จะงดทานอาหาร แต่ทานน้ำหวาน หรือน้ำเปล่า และหากข้อเรียกร้องยังไม่ได้รับการตอบรับ จะมีคนงานคนอื่นเข้าร่วมการอดอาหารประท้วงเพิ่มขึ้นวันละ 1 คน
มาลี
ปกติคนงานต้องได้ค่าชดเชยเลิกจ้างตามอายุงาน
ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2567 บริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น ครัช เบรก เกียร์ และอื่นๆ และเป็นซัปพลายเออร์ให้กับยี่ห้อรถยนต์อย่างอีซูซุ และโตโยต้า ได้ปิดกิจการลง เนื่องด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจขาดสภาพคล่อง ทำให้คนงาน 859 คนตกงานทันที โดยที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง ตามกฎหมายคุ้มครองครองแรงงาน จึงเป็นที่มาให้คนงานเริ่มปักหลักชุมนุมหน้าโรงงานยานภัณฑ์
ต่อมา ทางนายจ้าง และคนงาน ได้ตกลงกันจ่ายค่าชดเชยแบ่งเป็น 3 งวด ประกอบด้วย
- งวดแรก 20 ธ.ค. 2567 จำนวน 70%
- งวดที่ 2 วันที่ 27 ธ.ค. 2567 จำนวน 20% และ
- งวดที่ 3 วันที่ 27 ม.ค. 2568 จำนวน 10%
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงกำหนดจ่ายเงิน กลับไม่มีเงินโอนเข้าบัญชีของคนงานเลยสักคน คนงานจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
คนงานถูกลอยแพ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย
เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กลุ่มภาคประชาชนที่ติดตามเรื่องปัญหาแรงงาน ได้โพสต์ข้อความอัปเดตการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายกลางสำรองจ่ายให้คนงาน 4 บริษัท ประกอบด้วย เอเอ็มซีสปินนิ่ง แอลฟ่าสปินนิ่ง บอดี้แฟชั่น และยานภัณฑ์ รวมจำนวนเงิน 466 ล้านบาท โดยความคืบหน้าล่าสุดยังติดอยู่ที่ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) กำลังรอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8 หน่วยงานส่งเรื่องกลับมา ก่อนนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.
ทั้งนี้ 8 หน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์
คนงานของทั้ง 4 บริษัทดังกล่าว ประสบปัญหาเดียวกัน คือ นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง หรือจ่ายให้เพียงบางส่วน
เรื่องยังไม่ถึง ครม. ต้องรอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วานนี้ (31 มี.ค.) ตัวแทนคนงานยานภัณฑ์ เข้าพบสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อติดตามความคืบหน้า โดยทาง สลค. ตอบว่ามีหน่วยงานส่งความเห็นกลับมาแล้ว 5 แห่ง แต่ยังเหลือ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงบประมาณ ที่ยังไม่ได้ส่งเรื่องกลับมา และ สลค. ระบุด้วยว่าสำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม มีการส่งเรื่องไปตั้งแต่ 14 ก.พ. 2568 แล้ว
ช่วงบ่ายของวานนี้ (31 มี.ค.) เซีย สส.พรรคประชาชน และคนงานจึงเดินทางไปติดตามเรื่องที่ 3 หน่วยงานข้างต้น โดยได้ผลสรุปคือ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ยังคงไร้คำตอบ แม้รับปากกับทางคนงานไว้ในการติดตามครั้งที่แล้ว
ทางด้านฝั่งกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่ายังไม่ได้รับหนังสือ สุดท้ายมีการต่อสายคุยกับ สลค. จึงได้มีการส่งหนังสือให้รับทราบอีกทีเมื่อวานนี้ (31 มี.ค.) แต่ยังไร้กรอบเวลาแน่นอนว่าเมื่อได้รับหนังสือแล้วจะส่งความเห็นกลับมาเมื่อไหร่
อย่างไรก็ดี ฝั่งตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง มองว่า สลค.อาจไม่ต้องรอจนครบหมดทุกหน่วยงานก็สามารถเสนอเรื่องเองได้ โดยอ้างถึงระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 หมวด 2 การขอความเห็น มาตรา 9 กำหนดว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่แจ้งผลการพิจารณาให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ (หน่วยงานส่วนใหญ่ได้รับเรื่องจาก สลค. เมื่อ 14 ก.พ. 2568) ให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่อง (ซึ่งก็คือกระทรวงแรงงาน) เสนอเรื่องมายัง สลค. เพื่อดำเนินการเสนอ ครม. ต่อไปได้
ในมาตรา 10 กำหนดว่า หากหน่วยงานของรัฐมีข้อเสนอแนะให้เสนอผ่านทางรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของตนให้นำไปเสนอในที่ประชุม ครม. เองก็ได้ ดังนั้น จึงมองว่าคนงานควรไปตามเรื่องที่ สลค.ได้เลย
ในส่วนการยกระดับการชุมนุมรอบล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยคนงาน 4 บริษัท ประกอบด้วย เอเอ็มซีสปินนิ่ง แอลฟ่าสปินนิ่ง บอดี้แฟชั่น และยานภัณฑ์ ได้ชุมนุมปักหลักในพื้นที่อาคารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. (เก่า) และวันถัดมา (12 มี.ค.) มาลี เตวิชา ตัวแทนคนงานยานภัณฑ์ และประธานสหภาพชิ้นส่วนยานยนต์กรุ๊ป ได้ประกาศอดอาหารประท้วง จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติงบกลางมาสำรองจ่ายให้คนงานก่อน
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )