ย้อนฟังคำพูดทักษิณ เคยพูดอะไรบ้างเกี่ยวกับ ม.112
การตอบคำถามที่ไม่ชัดเจนของนายทักษิณ ชินวัตร ว่าจะทวงคืนความยุติธรรมให้นักโทษคดีการเมืองได้อย่างไร ที่เวทีหาเสียงนายก อบจ.อุดรธานี การตัดพ้อว่าตัวเองเป็น “เหยื่อรายหนึ่ง” ของคดี 112 และการกล่าวถึงพรรคการเมือง “สีส้ม” ว่า “อย่าไปพยายามรื้อโครงสร้างจนมากเกินไป” เป็นอีกครั้งที่นายทักษิณ เผยความคิดที่มีต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
นายทักษิณ มีสถานะเป็นจำเลยคดี 112 จากการให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 จากการกล่าวพาดพิงถึงกลุ่มคนที่เขาเรียกว่า Palace Circle หรือที่แปลว่า “แวดวงวัง” หรือ “ผู้แวดล้อมวัง” ซึ่งเป็นคดีที่ได้รับภายหลังรัฐประหารปี 2557 โดยมีนายทหารฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ
สถานการณ์คดี ม.112 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา มีผู้ถูกกล่าวหาข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” อย่างน้อย 274 คน ในจำนวน 307 คดี ตามการรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
แต่หากย้อนไปในสมัยที่เกิดขบวนการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว คดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ ได้ถูกนำมาใช้กล่าวหาทางการเมืองและใช้มาตรา 112 แจ้งความกันไปมาหลายคดี โดยนายทักษิณ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นเบื้องสูงหลายกรณี เช่น คดีที่ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นพระมหากษัตริย์กรณีทำบุญในพระอุโบสถวัดพระแก้ว ซึ่งอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีเมื่อปี 2549 ไม่กี่เดือนก่อนที่เขาจะถูกรัฐประหารพ้นจากอำนาจ
ตามการรายงานของสำนักข่าวอิศรา ซึ่งอ้างการสืบค้นข้อมูลคดีความในสารบบอัยการและศาล เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายทักษิณตั้งแต่ปี 2549 พบว่าจากทั้งหมด 31 คดี เป็นคดีที่กล่าวหาว่าดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ 11 คดี ซึ่งอัยการสั่งไม่ฟ้องแทบทั้งหมด จนมีเพียงคดีเดียวในปัจจุบัน
Skip เรื่องแนะนำ and proceed readingเรื่องแนะนำ
Conclude of เรื่องแนะนำ
นี่คือ ความเห็นของชายชื่อทักษิณ ต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เขาตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาหลายครั้ง จากรอยเท้าดิจิทัลตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา
22 ก.พ. 2564: ทักษิณในนาม “โทนี่ วูดซัม” ขอไม่ตอบเรื่อง ม.112
เดือน ก.พ. ปี 2564 ในห้วงที่การชุมนุมเคลื่อนไหวของประชาชนที่ต่อเนื่องมาจากปี 2563 เกิดประเด็นเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 และแกนนำผู้ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎร” เริ่มทยอยถูกสั่งฟ้องจากคดีชุมนุมหลายครั้งก่อนหน้านี้ ระหว่างนั้นในโลกออนไลน์ อย่างแอปพลิเคชันสนทนาผ่านเสียง Clubhouse (คลับเฮาส์) ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยในไทย ห้องพูดคุยคลับเฮาส์ครั้งที่ฮือฮาที่สุดครั้งหนึ่ง คือ การปรากฏตัวและเสียงของนายทักษิณที่คลับเฮาส์ในนาม โทนี่ วูดซัม
เพียงครั้งแรกที่โทนี่ วูดซัม มาปรากฎตัวตนในพื้นที่สื่อใหม่เมื่อคืนวันที่ 22 ก.พ. 2564 ห้อง “ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้!” โดยมีผู้ร่วมพูดคุยเป็นอดีตรัฐมนตรีหลายคนในคณะรัฐบาลทักษิณ เนื้อหาของการพูดคุยเกี่ยวข้องกับที่มา แนวคิด และการนำนโยบายที่เป็นที่นิยมในอดีตไปใช้ เช่น “30 บาท รักษาทุกโรค” “หวยบนดิน” “โอทอป” เป็นต้น
แต่ในช่วงหนึ่ง ผู้สื่อข่าว.สอบถามความเห็นของอดีตนายกฯ กรณีความเห็นต่างของคนในสังคมไทยกรณี มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ว่าเขาจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร หากเป็นนายกฯในปัจจุบัน เขาตอบว่า เขาอยู่ไกลประเทศไทย ไม่เข้าใจรายละเอียดของสถานการณ์ในประเทศได้ดีพอ จึงไม่ขอตอบคำถามนี้
“ขออนุญาตไม่ตอบ ตอนนี้ตามแต่เรื่องปัญหาเกี่ยวกับโลก ไม่ค่อยตามข่าวในไทย”
2 พ.ย. 2564: ทักษิณโพสต์เฟซบุ๊ก “กฎหมาย (ม.112) ไม่ใช่ปัญหา”
การออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 ของนายทักษิณ ชินวัตร เกิดขึ้นหลังจากพรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะนำข้อเสนอของกลุ่ม “ราษฎร” ที่ต้องการให้แก้ไขกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภา ทำให้หลายฝ่ายเกิดคำถามว่าท่าทีของอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นไปในทางเดียวกับพรรคที่เขาเพิ่งส่งลูกสาวคนเล็ก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มาเป็นที่ปรึกษาของพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม หรือไม่
ความเห็นของนายทักษิณที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กของเขาช่วงดึกของวันที่ 2 พ.ย. 2564 มีใจความสำคัญว่า ตัวกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งบังคับใช้มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วนั้นไม่มีปัญหา แต่ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายข้อนี้ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายของคนในกระบวนการยุติธรรม และคนที่นำประเด็นนี้มาสร้างความแตกแยก
“กฎหมายเองไม่เคยเป็นปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มันเกิดจากการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าบุคคลในกระบวนการยุติธรรมอาจจะเกิดจากความกลัวหรืออาจจะเกิดจากความอยากแสดงความจงรักภักดีโดยไม่ยึดหลักนิติธรรม แล้วเกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือ Abuse of Strength เพื่อหวังผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางรัฐบาล เพื่อหวังผลทางการเมือง เลยทำให้เกิดความไม่พอใจ” นายทักษิณระบุ
ข้าม Fb โพสต์ ยินยอมรับเนื้อหาจาก Fb
บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Fb เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Fb และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Fb ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก “ยินยอมและไปต่อ”
คำเตือน: บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มาจากภายนอก
สิ้นสุด Fb โพสต์
เขาเสนอให้รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเวลานั้น จับเข่าคุยกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ควบคู่ไปกับการปรับกระบวนการในการดำเนินคดีตามมาตรา 112 เสียใหม่ให้เป็นระบบระเบียบ ไม่กลั่นแกล้ง ไม่หาเรื่อง
นายทักษิณยังได้เรียกร้องให้ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านมาตรา 112 “หยุดดรามา” และหันมาพูดคุยกัน “เพื่อการถวายความจงรักภักดีที่ถูกต้อง ถูกทาง ไม่ให้เจ้านายต้องถูกครหาโดยที่ไม่รู้”
หลังโพสต์ของ นายทักษิณ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลี้ภัยในฝรั่งเศสโพสต์ทางบัญชีเฟซบุ๊ก ตั้งคำถามถึงจุดยืนของอดีตนายกฯ “ด้วยความผิดหวังและเหลือเชื่อ”
“นี่คือที่เขาเองเคยพูดไว้กับทูตสหรัฐ หนึ่งในวาระของเขา… คือการถอดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากประมวลกฎหมายอาญา ประเทศไทยไม่สามารถอ้างความเป็นประชาธิปไตยได้ ตราบใดที่ยังมีการขู่จะเล่นงานด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
สมศักดิ์ระบุด้วยว่า “ประการแรก กฎหมายไม่มีปัญหา ? นี่เป็นคำกล่าวอ้างที่ฟังจนชวนเบื่อ ถ้าไม่มีปัญหาเหตุใดจึงมีขึ้นใหม่ หลังการปราบปรามนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลา ?”
“ประการต่อมา แค่คุยทำความเข้าใจก็หมดเรื่อง? ทักษิณตามการเมืองไทยอยู่หรือเปล่า? กฎหมาย 112 ที่ใช้กันจนเกร่อนี้ ใช้เพื่อสกัดกั้นข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในเมื่อไม่ยอมพิจารณาข้อเสนอนี้ แล้วปัญหากฎหมาย 112 จะหมดไปหรือ?”
9 พ.ย. 2564:7 วันหลังบอกกฎหมายไม่ใช่ปัญหา ทักษิณพูดในคลับเฮาส์ว่า “ม.112 ต้องรีบแก้ไข”
ต่อมาเมื่อ 9 พ.ย. 2564 หลังจากนายทักษิณ โพสต์เฟซบุ๊กว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่ปัญหา เขาได้ร่วมเสวนาในห้องคลับเฮาส์ของกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย นายทักษิณได้ตอบคำถามแสดงความเห็นหลังจากผู้ร่วมสนทนารายหนึ่งขอให้เขาอธิบายขยายความโพสต์ดังกล่าว โดยนายทักษิณเกริ่นว่าในโพสต์นั้นเขาพูดสั้นไป ก่อนอธิบายว่า ในอดีตการฟ้องคดี ม. 112 ระบบคณะกรรมการรับเรื่องว่าจะฟ้องหรือไม่ แต่ช่วงหลังเป็นระบบที่ให้ใครฟ้องก็ได้ ตำรวจก็ต้องรับหมด แล้วไปสอบจนเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งเป็นสิ่งที่เลวร้ายและต้องรีบแก้ไข
“โทษ 15 ปี มันมากไป ก็อาจจะต้องแก้ไขเรื่องโทษ แต่ว่ากฎหมายจริง ๆ ต้องมาดูที่วิธีการฟ้องให้ถูกต้อง มีคณะกรรมการ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะไปแจ้งความได้หมด มันต้องมีกระบวนการในการแจ้งความ ไม่ใช่เหมือนทุกวันนี้ ถ้าเหมือนทุกวันนี้ มันพังหมด ประเทศมีแต่แตกแยก จะแตกแยกมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเด็กรุ่นใหม่ ความจริงวิธีคิดเขา เขาหวังดี ปรารถนาดี แต่ว่าถูกตีความไปว่าเขาไม่จงรักภักดีบ้างอะไรบ้าง ซึ่งมันก็ทำให้ปัญหาลุกลามใหญ่โต” นายทักษิณกล่าว
นายทักษิณ กล่าวด้วยว่า อยากบอก พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นนายกฯ ในขณะนั้น ให้พูดคุยพับเด็กรุ่นใหม่ อย่าคิดว่าเป็นการเสียเหลี่ยม เด็กจะได้ทราบว่าจะมีอนาคตอย่างไร จุดไหนเป็นอุปสรรค จุดไหนแก้ไขไม่ได้ก็บอกว่าแก้ไม่ได้
ช่วงตอนหนึ่งนายทักษิณ ได้กล่าวถึงการใช้กลไกลของสภาในการพูดคุยเรื่องปัญหาของ ม.112 และสิทธิการประกันตัว
“เมื่อก่อนไม่เคยมีปัญหา แต่วันนี้มีปัญหาเพราะความเฮงซวยของระบบการบริหารจัดการ และการมองทุกอย่างเป็นเรื่องเผด็จการ ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพการพูดของคน ถ้าเราใช้ระบบประชาธิปไตยเราจะไม่ปล่อยให้มันเละอย่างนี้ แล้วพอเละไปอย่างนี้ ศาลก็ดันไม่ให้สิทธิประกันตัว ซึ่งเรื่องนี้เพื่อไทยจะเอาไปคุยกันในสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี หามาตรการในการแก้ไขกันดีกว่าว่า ต้องทำยังไงถึงจะให้ได้สิทธิประกันตัวแก่เด็ก ทำยังไงถึงจะให้โทษไม่สูงเกินไป ทำอย่างไรถงจะให้มีกระบวนการพิจารณาที่มีความเป็นธรรมกว่านี้ ไม่ใช่สะเปะสะปะจนเกิดความแตกแยกในสังคม ความแตกแยกทั้งหมดนี้ เป็นความห่วยของรัฐบาลเอง” นายทักษิณระบุ
ที่มา BBC.co.uk