รู้จัก “เด็กยุคหิน” ชีวิตวัยเยาว์เป็นอย่างไรในสมัยก่อนประวัติศาสตร์
Article data
- Creator, คริสตินา เด ฮัวนา ออร์ติน
- Characteristic, เดอะคอนเวอร์เซชัน
ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน ช่วงชีวิตในวัยเด็กของมนุษย์ล้วนเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ทั้งมีความต้องการพึ่งพาผู้ใหญ่เป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกัน วัยเด็กก็ยังเป็นวัยแห่งการเล่นซน เพื่อสำรวจโลกหาประสบการณ์รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเด็กในยุคปัจจุบันก็ไม่แตกต่างไปจากเด็กในสมัยโบราณมากนัก เพราะแม้กระทั่งเด็กในยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อหลายพันปีที่แล้วก็เป็นเช่นนี้
นักมานุษยวิทยาพบหลักฐานทางโบราณคดีมากมายที่ช่วยยืนยันข้อเท็จจริงข้างต้น รวมทั้งรอยมือและรอยเท้าเล็ก ๆ ของเด็กยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งพวกเขาได้ประทับทิ้งร่องรอยเอาไว้ในสถานที่ต่าง ๆ มาตั้งแต่ยุคหินเก่าแล้ว
ที่แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีลาการ์มา (La Garma) ในชุมชนปกครองตนเองกันตาเบรีย (Cantabria) ของสเปน นักโบราณคดีได้พบรอยเท้าของเด็กวัย 6-7 ขวบ ที่อาจมีอยู่มากถึง 14 รอยด้วยกัน โดยรอยเท้าเหล่านี้มีอายุเก่าแก่ถึง 16,500 ปี ส่วนใหญ่เป็นรอยประทับของส้นเท้า หัวแม่เท้า และข้อศอกในพื้นโคลน นอกจากนี้ยังพบรอยประทับดังกล่าวในดินโคลนที่ถูกขุดออกมาเป็นก้อน ๆ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นเศษดินที่เหลืออยู่จากการละเล่นบางอย่างของเด็ก ๆ ในยุคหินเก่า (Paleolithic) ก็เป็นได้
ดูเหมือนว่า 29% ของรอยเท้าเด็กยุคหินเก่าในแหล่งโบราณคดีข้างต้น จะเป็นของเด็กเล็กวัยต่ำกว่า 4 ขวบ ซึ่งกำลังเดินมุ่งหน้าไปบนเส้นทางสู่แหล่งน้ำที่มีการทำประมง ร่องรอยที่เหล่าหนูน้อยยุคก่อนประวัติศาสตร์ทิ้งไว้ทำให้สันนิษฐานได้ว่า พวกเขาอาจกำลังเล่นดินโคลน ระหว่างที่เดินทางไปกลับจากแหล่งทำมาหากินของพ่อแม่ในทุกวัน
นอกจากรอยประทับมือและเท้าในดินโคลนแล้ว นักโบราณคดียังพบรอยประทับแบบเดียวกันที่มีสีสัน เนื่องจากมีส่วนประกอบของเม็ดสีปะปนอยู่ด้วย เช่นรอยมือของเด็กที่ประทับลงบนผนังถ้ำมอนเตคาสตีโญ (Monte Castillo) ของสเปน ซึ่งอยู่ในแหล่งโบราณคดีเดียวกันกับรอยเท้าในดินโคลน แต่มีอายุเก่าแก่ระหว่าง 17,000 – 10,000 ปี ก่อนคริสตกาล
Skip เรื่องแนะนำ and proceed finding outเรื่องแนะนำ
Stop of เรื่องแนะนำ
ส่วนที่ถ้ำฮูฟฟีแย็ก (Rouffignac) ในประเทศฝรั่งเศส พบจิตรกรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์บนผนังถ้ำ ซึ่งใช้รอยนิ้วมือของเด็กเล็กหลายคนที่มีอายุระหว่าง 2-5 ปี ประทับรวมกันเป็นรูปทรงพุ่มไม้ ความสูงของภาพดังกล่าวที่อยู่เหนือพื้นถ้ำค่อนข้างมาก ทำให้เลสลี ฟาน เกลเดอร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวัลเดนของสหรัฐฯ สันนิษฐานว่า น่าจะมีผู้ใหญ่ช่วยอุ้มหรือยกตัวเด็กน้อยขึ้น ขณะที่พวกเขากำลังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นนี้
ภาพเหมือนของหนูน้อยยุคหิน
นอกจากรอยมือและรอยเท้าของเด็กแล้ว นักโบราณคดียังสามารถจะศึกษาชีวิตวัยเยาว์ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้ จากรูปปั้นหรือรูปสลักคนตัวเล็กที่อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นรูปเด็กจากฝีมือผู้ใหญ่ รูปปั้นเหล่านี้มีลักษณะเรียบง่ายและมักจะมีส่วนศีรษะใหญ่ผิดปกติ ซึ่งคล้ายกับภาวะศีรษะโต (macrocephaly) ในทางการแพทย์ รูปปั้นเด็กเหล่านี้มักอยู่ในท่างอตัว และไม่มีลักษณะทางเพศปรากฏอย่างชัดเจนมากนัก
ตัวอย่างหนึ่งของภาวะศีรษะโตในเด็กยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่รูปสลักนูนต่ำยุคหินเก่าบนผนังถ้ำที่หมู่บ้านลามาร์เช (La Marche) ของฝรั่งเศส ซึ่งปรากฏเป็นรูปศีรษะของเด็ก 5 คน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า รูปสลักดังกล่าวอาจเป็นภาพที่แสดงถึงการเต้นรำ บ่งบอกถึงการมีส่วนรวมของเด็ก ๆ ในกิจกรรมทางสังคมของชุมชน
ในเวลาต่อมาเมื่อมนุษยชาติก้าวเข้าสู่ยุคหินใหม่ (Neolithic) มีการทำรูปปั้นขนาดเล็กของหญิงมีครรภ์และทารกซึ่งยังมีสายสะดือติดอยู่ โดยพบหลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวที่เมืองกาสเตญอน (Castellón) ของสเปน ทั้งยังพบรูปปั้นหญิงกำลังคลอดบุตรที่เมืองเตรูเอล (Teruel) ของสเปนเช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น นักโบราณคดียังพบภาพเขียนบนผนังถ้ำหรือเพิงหิน ซึ่งแสดงให้เห็นการขนย้ายเด็กหรือภาพเด็กเดินเคียงข้างไปกับผู้ใหญ่ ที่เมืองเซนเตเญส (Centelles) รวมทั้งที่ถ้ำลาซัลตาดอรา (La Saltadora) และเพิงหินที่พักยุคก่อนประวัติศาสตร์วัลเดลชาร์โค (Val Del Charco) ซึ่งล้วนตั้งอยู่ในเมืองกาสเตญอนของสเปน นอกจากนี้ยังพบภาพเขียนโบราณลักษณะดังกล่าวที่เมืองซาราโกซา (Zaragoza) ของสเปนอีกด้วย
แม้ในภาพหรือรูปปั้นเกี่ยวกับแม่และเด็ก ทารกและผู้เยาว์มักจะมีบทบาทเป็นรอง โดยเป็นผู้ได้รับการดูแลจากแม่เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ในกรณีของภาพหรือรูปปั้นที่มีการเดินทาง ดูเหมือนว่าเด็กโตจะมีบทบาทนำในการช่วยดูแลเด็กเล็กในขบวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กหญิงที่เป็นพี่สาวผู้มีอายุมากกว่า
ภาพของเด็กโตที่ช่วยอุ้มน้องหรือแบกสัมภาระ มักจะมีศีรษะตั้งตรงและเหยียดแขนออกไปอย่างมีชีวิตชีวา ซึ่งแสดงถึงการกระทำที่อาจมองได้ว่าเป็นพิธีกรรมแรกรับเข้ากลุ่ม (initiation ceremony) อันบ่งบอกว่าพวกเขาได้เข้าเป็นสมาชิกและส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคมนั้นแล้ว โดยมีสถานะและบทบาทเป็นตัวแสดงทางสังคม (social actor) เช่นเดียวกับผู้ใหญ่
การละเล่นของเด็กเมื่อกว่าหมื่นปีก่อน
เด็กในทุกยุคทุกสมัย นอกจากจะเที่ยวเล่นซุกซนหรือหยอกล้อกับสัตว์ต่าง ๆ แล้ว พวกเขายังเสาะแสวงหาของเล่น ซึ่งไม่ใช่อุปกรณ์นันทนาการเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น แต่เราควรจะมองว่าของเล่นยังเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนการสอนด้วย
ตัวอย่างเช่นรูปสลักขนาดเล็กของหัวหมีหรือหัวควายไบซันที่แกะจากกระดูกสัตว์ รวมทั้งรูปสลักสิงโตถ้ำที่แกะจากเขากวางเรนเดียร์ ซึ่งถูกพบที่ถ้ำแห่งหนึ่งในเมืองอิซตูริตซ์ (Isturitz) ของฝรั่งเศส ถือเป็นอุปกรณ์ประกอบการสอนวิชาล่าสัตว์และเอาตัวรอดในป่าอย่างดีให้กับเด็ก ๆ เพราะสัตว์เหล่านี้เป็นจำพวกที่นายพรานคนถ้ำรู้จักคุ้นเคยอยู่ทุกวัน ในยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อกว่า 12,000 ปีที่แล้ว
ของเล่นโบราณที่น่าทึ่ง ยังรวมถึงวงล้อหรือจานแบนที่ทำจากกระดูก โดยมีการประดับประดาด้วยภาพสัตว์และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในขณะที่ตรงกลางมีรอยปรุฉีก (perforation) เหลืออยู่ นักโบราณคดีคาดว่า วงล้อนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องดนตรีโบราณที่ใช้เคาะจังหวะ หรือเป็นส่วนประกอบหนึ่งในของเล่นเด็กที่ใช้เขย่าให้เกิดเสียง
หากสอดสายเชือกเข้าไปในรูตรงกลางแล้วดึงให้หมุนติ้ว ของเล่นชิ้นนี้จะกลายเป็นอุปกรณ์ฉายภาพเคลื่อนไหวของสัตว์ต่าง ๆ ให้เด็กได้ดูอย่างเพลิดเพลิน เนื่องจากมีการแกะสลักภาพสัตว์ที่เหมือนหรือต่างกันไว้ที่ทั้งสองด้านของวงล้อ โดยของเล่นชนิดนี้ถูกค้นพบในถ้ำหลายแห่งของเมืองอัลฟอซ เด ญอเรโด (Alfoz de Lloredo) ในเขตชุมชนปกครองตนเองกันตาเบรียของสเปน
ส่วนยุคหินใหม่ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคทองแดง (Chalcolithic) เริ่มมีการทำเซรามิกและมีการขยายตัวของชุมชนจนกลายเป็นเมืองแห่งแรก ๆ ของโลก นักโบราณคดีจากสภาเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (CSIC) ของสเปน ชื่อว่าดร.ฮวน โฮเซ เนโกร ได้พบของเล่นเด็กอีกชิ้นหนึ่งจากยุคนี้ นั่นก็คือแผ่นคล้ายเครื่องรางขนาดเล็กที่มีสองตาใหญ่ยักษ์ ซึ่งดร.เนโกรเชื่อว่าอาจเป็นภาพสลักของนกฮูกตาโตจากฝีมือเด็ก
หากเราสามารถทำความเข้าใจแผ่นเครื่องรางนี้ด้วยมุมมองเชิงพิธีกรรม เราอาจได้ทราบถึงบทบาทที่แท้จริงของมัน ซึ่งอาจจะเป็นอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนสำหรับเด็กอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่า เด็กหญิงในยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็มีตุ๊กตาที่ทำจากไม้ ดินเหนียว หรือเศษวัสดุต่าง ๆ เหมือนกับเด็กหญิงในชนเผ่าทางตอนใต้ของแอฟริกาในปัจจุบัน แต่ก็เป็นไปได้ด้วยว่า ตุ๊กตาโบราณเหล่านั้นได้สูญสลายหายไปจนหมดสิ้นแล้วตามกาลเวลา
สิ่งของที่ติดตามเราไปสู่ปรโลก
หากเด็กยุคก่อนประวัติศาสตร์มีอันต้องเสียชีวิตลงก่อนวัยอันควร ก็จะมีการประกอบพิธีศพเหมือนกับผู้วายชนม์ที่เป็นผู้ใหญ่ โดยจะมีการชำระล้างและแต่งตัวให้ศพก่อนจะนำไปฝัง ตัวอย่างเช่น”หลุมฝังกระดูก” (Sima de los Huesos) ของเด็ก 10 คน ที่มีอายุเก่าแก่ 350,000 ปี ซึ่งถูกขุดพบที่เมืองบูร์โกส (Burgos) ของสเปน
สุสานของเด็กที่เป็นมนุษย์โบราณสายพันธุ์หนึ่ง ประกอบไปด้วยฟอสซิลกระดูกของเด็กชายวัย 5 ขวบ 1 คน และผู้เยาว์อายุระหว่าง 11-15 ปี อีก 9 คน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการประกอบพิธีศพด้วยการฝังอย่างตั้งใจ เพราะมีการฝังเครื่องสังเวยอย่างเช่น “ดาบวิเศษ” (Excalibur) หรือหินเหล็กไฟสีแดงที่มีรอยถากอยู่ทั้งสองหน้าลงไปด้วย
นอกจากนี้ นักโบราณคดียังพบหลุมศพของเด็กยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายคน ในถ้ำแห่งหนึ่งที่หมู่บ้านฟินาเล ลิกูเร (Finale Ligure) ของอิตาลี ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นผู้เยาว์วัย 15 ปี เด็กวัยรุ่นคนนี้มีเครื่องแต่งกายหรูหราติดตัวเป็นหมวก ซึ่งประดับประดาด้วยการปักเปลือกหอยเจาะรู ทั้งยังมีจี้ห้อยที่ทำจากงาช้างแมมมอธปักติดอยู่โดยรอบอีก 4 ชิ้น ข้างกายยังมีคทาที่แสดงถึงอำนาจอีก 4 ท่อน, เขากวางเอลค์, และแผ่นหินเหล็กไฟขนาด 25 เซนติเมตรอีก 1 แผ่น
หลุมศพของเด็กที่ฝังพร้อมเครื่องสังเวยมีค่าสูงอีกแห่ง อยู่ที่แหล่งโบราณคดี Majoonsuo ทางตะวันออกของฟินแลนด์ โดยเด็กชายผู้นี้น่าจะมีอายุระหว่าง 3-10 ปี สวมเสื้อกันหนาวมีหมวกคลุมศีรษะทำจากขนห่านซึ่งตกแต่งด้วยสีแดง ทั้งยังมีหัวลูกศรทำจากหินควอร์ตซ์และขนเหยี่ยวรวมอยู่ด้วย
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ มีซากของสุนัขบ้านหรือหมาป่าตัวหนึ่งอยู่ที่ปลายเท้า ทั้งหลุมศพถูกราดทับด้วยสีธรรมชาติจากดินเหลือง (ocher) ซึ่งนอกจากจะมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์แล้ว สีนี้ยังมีคุณสมบัติเป็นสารฆ่าเชื้ออีกด้วย ทำให้สันนิษฐานได้ว่าศพเด็กที่ได้รับการฝังอย่างหรูหราไม่ธรรมดาเช่นนี้ น่าจะเป็นทายาทของตระกูลสำคัญผู้มีบารมีในยุคนั้น
ในกรณีที่มีเด็กถูกฝังรวมกันจำนวนมาก อาจใช้เทคโนโลยีตรวจสอบความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรม เพื่อพิสูจน์ว่าดีเอ็นเอของพวกเขาเป็นของคนในครอบครัวเดียวกันหรือไม่ ทั้งยังอาจจะบอกได้ด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กเหล่านี้ด่วนจากไปเป็นเพราะโรคร้ายหรือเพราะอุบัติเหตุแบบใดกันแน่
อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปการทำพิธีศพให้เด็กก็มีความเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่นในยุคทองแดงนิยมฝังศพทารกร่วมกับผู้ใหญ่ ทั้งยังเริ่มมีการฝังภาชนะเซรามิกลงไป นอกเหนือจากวัตถุที่ทำจากหิน และเครื่องประดับต่าง ๆ ที่ทำจากกระดูกและเปลือกหอย
ซากกระดูกและโบราณวัตถุเหล่านี้ บ่งบอกถึงชีวิตที่ร่ำรวยและมีสีสันหลากหลายของเด็กในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าพวกเขามีตัวตนในชุมชนและมีบทบาทสำคัญในสังคมของผู้ใหญ่ และเมื่อพวกเขาจากไป เราได้เห็นร่องรอยของความรักและความห่วงหาอาทรผ่านการประกอบพิธีศพอย่างซับซ้อน ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นแหล่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์และโบราณคดีที่ไม่อาจประเมินค่าได้
ที่มา BBC.co.uk