รู้ได้อย่างไรว่าคอนโดฯ ที่เราอยู่ ยังแข็งแรงปลอดภัยหรือไม่ หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดของกรุงเทพฯ ในรอบ 100 ปี

ที่มาของภาพ : Monetary institution Property

ภาพความเสียหายภายในอาคารคอนโดแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา

“ตอนนั้นตกใจมากเลย ทำอะไรไม่ถูก… รู้สึกกังวลและระแวงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กังวลว่าโครงสร้างตัวอาคารปลอดภัยพอที่จะอาศัยต่อได้หรือไม่” ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านลาดกระบัง แต่ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวกับบีบีซีไทย

ด้านนายหน้าปล่อยเช่าคอนโดฯ ที่ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ Monetary institution Property เล่าให้บีบีซีไทยฟังเกี่ยวกับมุมมองของผู้เช่าคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนไปหลังเกิดแผ่นดินไหวเช่นกันว่า “ลูกค้าย้ายออกเลยครับ..มีลูกค้าไปนอนบ้านเพื่อนด้วย”

นี่เป็นเสียงสะท้อนความกังวลของผู้อยู่อาศัยและผู้ปล่อยเช่าคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ บางส่วน หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา และสั่นไหวรุนแรงจนรู้สึกได้ในหลายพื้นที่ของไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ถึงขนาดที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว. กลาโหม กล่าวว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่ “ไม่เคยเกิดมาก่อนในรอบ 100 ปี สำหรับกรุงเทพมหานคร”

ทั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกแถลงการณ์หลังเกิดเหตุว่า เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมอาคาร “อาคารในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอาคารใหม่ มีการก่อสร้างที่สามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้ และตัวเลข ความรุนแรงที่รับได้ เข้าใจว่ามากกว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้”

อย่างไรก็ตาม คำยืนยันดังกล่าวยังไม่สามารถทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดฯ หลายแห่งสบายใจได้ โดยผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมหลายรายแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียว่า ตนยังไม่พร้อมกลับเข้าพักในคอนโดฯ

and proceed studyingเรื่องแนะนำ

Discontinue of เรื่องแนะนำ

บีบีซีไทยพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา และวิศวกรโยธาประสบการณ์มากกว่า 30 ปี เพื่อดูว่ามีสิ่งใดบ้างที่ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมควรสังเกต เพื่อให้มั่นใจว่าอาคารที่อาศัยอยู่มีความปลอดภัยพอที่จะอยู่อาศัยต่อไปได้ รวมถึงรอยร้าวรูปแบบต่าง ๆ บ่งบอกอะไรได้บ้าง

แผ่นดินไหวเป็นบทพิสูจน์ความแข็งแรงของตึกสูง แต่ยังไม่ใช่สำหรับอาคารเตี้ย

ที่มาของภาพ : Getty Shots

ภาพคอนโดฯ ใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งปรากฎรอยร้าวที่ตัวอาคารภายนอก หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.

“ระดับความรุนแรงครั้งนี้ จะเป็นการทดสอบได้แล้วสำหรับอาคารสูง” ศ.ดร.วิโรจน์ บุญญภิญโญ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิศวกรรมโยธา ม.ธรรมศาสตร์ และประธานอนุกรรมการสาขาผลกระทบต่อแผ่นดินไหวและแรงลม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ระบุกับบีบีซีไทย พร้อมบอกด้วยว่า ความรุนแรงของแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลถึงอาคารสูงในกรุงเทพฯ ในระดับความรุนแรงใกล้เคียงกับที่มาตรฐานการคำนวณแรงแผ่นดินไหว (มยศ.) กำหนดไว้สำหรับตึกอาคารสูง

“อาคารสูงเราก็เห็นว่าองค์รวมเนี่ย ถือว่าสมรรถนะโดยรวมถือว่าดี ถือว่าได้มาตรฐาน” ศ.ดร.วิโรจน์ กล่าว พร้อมเสริมว่า ในทางกลับกันสำหรับอาคารเตี้ย ความรุนแรงครั้งนี้ยังส่งผลอยู่ในระดับที่น้อยกว่าที่ มยศ. กำหนดไว้อยู่มาก

ด้าน รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ระบุผ่านจดหมายข่าวประชาสัมพันธ์ของคณะวิศกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ “ไม่เกินกว่าค่ามาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่ออกประกาศให้ใช้ โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2561”

ที่มาของภาพ : Getty Shots

กรุงเทพฯ มีอาคารพาณิชย์และคอนโดฯ สูง จำนวนมาก ซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวคลื่นยาว ที่ส่งมาจากเมียนมา

ผศ.ดร.จินตหรา ลาวงศ์เกิด อาจาร์ยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิศวกรรมโยธา ม.ธรรมศาสตร์ ได้กล่าวกับบีบีซีไทยถึงสาเหตุที่ทำให้ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ มีความรุนแรงสำหรับตึกสูงในประเทศไทยมากกว่า ว่าเกิดจาก “ตัวคลื่นแผ่นดินไหวที่ถูกส่งมาจากเมียนมา เป็นแผ่นดินไหวคลื่นยาว (Lengthy-length Ground Circulation) ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากสำหรับอาคารที่เป็นอาคารสูง ก็เลยจะเห็นว่ามีความเสียหายในตัวตึกที่เป็นอาคารสูงค่อนข้างเยอะ”

เธอระบุด้วยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตึกในกรุงเทพฯ นั้นแตกต่างกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ซึ่งอาคารเตี้ยได้รับผลกระทบอย่างมาก

“อาคารเตี้ยจะได้รับผลกระทบจากคลื่นแผ่นดินไหวที่เป็นคลื่นสั้น เหมือนพื้นที่ต่าง ๆ ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ของเมียนมา ที่เราเห็นว่าอาคารแค่ 3-4 ชั้น แต่ว่ามีการพังถล่มค่อนข้างเยอะ” ผศ. ดร.จินตหรา กล่าวกับบีบีซีไทย

รอยร้าวแบบใดเป็นอันตราย และแบบใดอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย

ที่มาของภาพ : Monetary institution Property

รอยร้าวในคอนโดมิเนียมย่านอ่อนนุช หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.

“เมื่อตัวอาคารมันเคลื่อนตัวโยกไปโยกมา สิ่งเหล่านี้อ่อนแอกว่าโครงสร้างเยอะ เป็นสิ่งแรก ๆ ที่จะเกิดความเสียหาย ซึ่งไม่ผิดปกติ… รอยร้าวใหญ่จังเลย ฝ้าก็หล่น กระเบื้องก็หลุด ผนังก็เห็นเป็นรอยฉีกขาด แต่ทั้งหมดนั้นถ้ามันไม่ใช่โครงสร้าง ถือว่าเป็นสิ่งที่มันเกิดได้ ไม่ผิดปกติ” นายเกรียงไกร ช่วยดำรงสกุล วิศวกรโยธาที่มีประสบการณ์ 30 ปี เจ้าของเพจบริการให้คำปรึกษาด้านการก่อสร้าง ‘คุยกับลุงช่าง' กล่าวอธิบายกับบีบีซีไทย พร้อมบอกว่าองค์ประกอบต่าง ๆ ของอาคาร เช่น ผนังและฝ้า สามารถถูกทำให้เคลื่อนไหวได้เป็นเรื่องปกติหลังเกิดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว

นายเกรียงไกรชี้ว่า ในกรณีที่เป็นรอยร้าวที่ไม่ได้เกิดกับโครงสร้าง ถือว่าไม่เป็นอันตราย แต่หากเป็นรอยร้าวบริเวณโครงสร้าง ผู้อยู่อาศัยควรจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาแทนว่าความเสียหายรุนแรงแค่ไหน

ทั้งนี้ ศ.ดร.วิโรจน์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบระดับความเสียหายเบื้องต้น โดยอ้างอิงจากคู่มือของกรมโยธาธิการและผังเมืองไว้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอาคารสามารถแยกระดับความรุนแรงออกได้เป็น 3 ระดับ คือ

  • ระดับสีเขียว หรือ ระดับที่ไม่เป็นอันตรายใด ๆ คือ ผลกระทบต่อบริเวณลักษณะของโครงสร้างรอง เช่น อิฐก่อ ฝ้าเพดาน หรือ ปูนฉาบ
  • ระดับสีเหลือง หรือ ระดับรุนแรงระดับปานกลาง คือ ผลกระทบต่อบริเวณ เสา คาน กำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก และพื้นคอนกรีตมีการฉีกขาดจนเห็นถึงบริเวณเหล็ก
  • ระดับสีแดง หรือ ระดับอันตราย จำเป็นต้องถูกตรวจสอบโดยวิศวกรก่อนเข้าใช้อาคาร คือผลกระทบต่อบริเวณโครงสร้างหลัก คอนกรีตแตกร้าว เห็นเหล็กดุ้ง หรือโค้งงอ

ทั้งนี้ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เปิดเผยวันนี้ว่า ทางกรุงเทพมหานครได้รวบรวมวิศวกรอาสาลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบ 155 แห่ง และพบว่ามีอาคารที่เสียหายในระดับสีแดง 2 แห่ง ซึ่งประชาชนที่พักอาศัยได้รับข้อมูลและออกจากพื้นที่แล้ว อาคารที่อยู่ในระดับสีเหลือง 33 แห่ง และอาคารที่อยู่ในระดับสีเขียว 102 แห่ง และอยู่ในระหว่างการรายงานอีก 18 แห่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลว่าอาคารแต่ละระดับสีคืออาคารใดบ้าง

ที่มาของภาพ : กรมโยธาธิการและผังเมือง

การตรวจสอบความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารจากรอยร้าว จัดทำโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง

ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ Suwat Mesuk ได้เผยแพร่ภาพถ่ายบริเวณคอนโดฯ ย่านลาดพร้าว ซึ่งเกิดรอยร้าวขึ้นบริเวณเสาชั้น 1 ของอาคาร พร้อมเล่าประสบการณ์ที่ต้องอพยพออกจากตึกที่ตนอาศัยอยู่ว่า

“นี่คือประสบการณ์ที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ผมไม่อยากอยู่คอนโดอีกต่อไป แล้วดันอยู่ชั้นสูงด้วย ตอนวิ่งขึ้นไปเก็บของที่ห้องครั้งนึงและต้องลงมา โดยการที่แพ็คของหนักมาก คนอื่นอยู่ชั้นล่างล่างยังไม่เท่าไหร่ ผมอยู่ชั้น 41 ใจจะขาด”

ข้าม X โพสต์ , 1ยินยอมรับเนื้อหาจาก X

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก X เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ X และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ X ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก “ยินยอมและไปต่อ”

สิ้นสุด X โพสต์, 1

“อันนี้จะเห็นว่าเหล็กมันดุ้งออกมาเลย อย่างที่ผมบอก อันนี้ต้องเรียกว่า อยู่ระดับ สีแดงละ” ศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวถึงระดับความเสียหายของภาพข้างต้นว่าอยู่ในเกณฑ์อันตราย เนื่องจากเกิดความเสียหายของเสาบริเวณมุมตึก โดยเห็นชัดถึงเหล็กโครงสร้าง

ประธานอนุกรรมการสาขาผลกระทบต่อแผ่นดินไหวและแรงลม วสท. วิเคราะห์ต่อว่า อาการของเสาต้นนี้เป็นผลจากการตอบสนองของแรงแผ่นดินไหวที่เกิดจากแรงด้านข้างที่กระทำกับอาคารซึ่งเกิดจากการสั่นไหวของพื้นดิน และการบิดตัวของอาคาร โดยเกิดจากการที่จุดศูนย์กลางการหมุน (heart of rotation) ของอาคารเอียงน้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง ขณะที่จุดศูนย์กลางมวล (heart of mass) อยู่ใกล้กับจุดกึ่งกลางของตัวอาคาร ทำให้ขาดความสมดุล นอกจากนี้ความเสียหายยังเกิดที่บริเวณชั้นล่าง เนื่องจากแรงแผ่นดินไหวสูงสุดอยู่ที่บริเวณชั้นล่างเช่นกัน

ด้านนายเกรียงไกร แสดงทัศนะเกี่ยวกับอาคารหลังนี้กับบีบีซีไทยว่า ตอนนี้ไม่ควรอนุญาตให้ใช้อาคารในรูปข้างต้น “สมมุติอาคารนี้มีเสาอยู่ 10 ต้น ถ้าเสาต้นใดต้นหนึ่ง ต้นนี้ที่มันคา ๆ อยู่เกิดล้มลงมา คนอาจจะนึกว่าล้มแค่ตรงนี้ แต่ไม่ใช่ เวลาเสาต้นนี้หายไป น้ำหนักที่เสาต้นนี้รับไว้ทั้งหมด จะวิ่งไปหาเสาต้นที่ใกล้เคียง เสาต้นใกล้เคียงก็รับไม่ไหว มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า โดมิโนเอฟเฟกต์ (domino end)”

เขากล่าวเสริมด้วยว่า กรณีตึกที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งถล่มลงมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค. นั้น เป็นกรณีตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของโดมิโนเอฟเฟกต์ที่เขาพูดถึง โดยเริ่มจากการที่เสาต้นเดียวหักและเสาต้นที่เหลือแบกรับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้ตึกถล่มลงมาในที่สุด

ด้าน ผศ.ดร.จินตหรา ระบุกับบีบีซีไทยเช่นกันว่า ตึกดังกล่าวต้องมีการตรวจดูความเสียหายว่าเสาต้นดังกล่าวยังใช้งานได้อยู่หรือไม่ “จริง ๆ ถ้าตามความเห็นของอาจารย์ อาจารย์ว่าก็ไม่สามารถที่จะใช้งานได้แล้วนะคะ ก็อาจจะต้องมีการเสริมกำลัง หรือเสริมตัวเหล็ก”

บีบีซีไทยยังได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธาดูภาพความเสียหายของคอนโดมิเนียมอีกแห่งหนึ่ง ที่เกิดรอยร้าวบริเวณกำแพงด้านข้างของอาคาร จนเห็นเหล็กด้านในโผล่ออกมาด้วย

ผศ.ดร.จินตหรา ระบุกับบีบีซีไทย ให้ “ประเมินให้เป็นวิกฤตไว้ก่อน… มันเข้าไปจนเห็นเหล็กเสริม อันนี้อันตรายมากค่ะ เพราะว่าเหล็กปลิ้น ดูเหล็กแล้วมันคดไปเลย”

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.วิโรจน์ ที่มองว่า “อันนี้เป็นสีแดง ที่บอกว่าเหล็กยื่นโก่งออกเลย อันนี้เป็นระดับสีแดงเลย แล้วเป็นบริเวณยาวชัดเจน ห้ามใช้อาคารเลย ห้ามเข้าเลย อันนี้อันตราย” โดยให้เหตุผลว่าบริเวณที่เกิดรอยร้าวของอาคารได้สูญเสียกำลังไปแล้ว เพราะเหล็กเกิดการดุ้งออกมาทั้งหมด และตัวเหล็กต่อที่รัดก็เกิดการอ้าออกมาด้วย โดยรอยร้าวดังกล่าวอาจเกิดจากแรงแผ่นดินไหวที่ส่งผลสะบัดต่อตึกชั้นสูง ทำให้เกิดผลกระทบขั้นรุนแรง

“แรงแผ่นดินไหว ก็จะทำแรงตั้งแต่พื้นจนถึงยอด จากชั้นล่างที่แรงจะไปกระทำน้อย และค่อย ๆ เพิ่มความแรงไปตามความสูง เพราะบริเวณปลาย ๆ ข้างบน มันจะสะบัดแรง” ประธานอนุกรรมการสาขาผลกระทบต่อแผ่นดินไหวและแรงลม วสท. ระบุ

ที่มาของภาพ : Reuters

พบรอยร้าวบนอาคารสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่บริเวณใจกลางประเทศเมียนมาร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

สำหรับในกรณีความเสียหายอื่น ๆ เช่น ผนังหรือกำแพงด้านในอาคารร้าว ศ.ดร.จินตหรา ระบุว่า “เป็นความเสียหายสำหรับตัวโครงสร้างที่ไม่ได้เป็นโครงสร้างหลัก เป็นโครงสร้างรอง เป็นพวกผนัง ความอันตรายก็น้อยกว่า” อย่างไรก็ตาม เธอระบุด้วยว่า แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าผู้เข้าอาศัยจะสามารถเข้าใช้ตึกได้ในทันทีโดยที่ไม่ต้องมีการตรวจสอบ เพราะควรต้องมีการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญร่วมประกอบการตัดสินใจด้วย

“บางทีการแตกร้าวแบบนี้อาจส่งผลให้ตัวผนังที่เราเห็นมันสามารถที่จะหล่น ล้มลงมาทับได้ หรือพวกเศษอิฐอาจกระจายร่วงหล่น… ต้องมีการระมัดระวังในการเข้าไปอยู่ค่ะ” อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา ม.ธรรมศาสตร์ ระบุ

ด้าน ศ.ดร.วิโรจน์ วิเคราะห์รูปที่ผนังแตกทั้ง 2 กับบีบีซีไทยว่า “เป็นรอยแยกระหว่างเสาคอนกรีตเสริมเหล็กและกำแพงหินก่อ… ดูตามภาพจะเป็นความอันตรายระดับสีเขียว” พร้อมเสริมว่าโครงสร้างหลักของตึกในทั้งสองภาพ ตรงบริเวณดังกล่าวไม่ได้มีความเสียหาย และสามารถเข้าใช้อาคารได้ เพียงแต่ต้องระวังการใช้งานในบริเวณที่เกิดความเสียหาย เนื่องจากกำแพงยังสามารถล้มลงมาได้ แต่อาคารโครงสร้างโดยรวมยังถือว่ายังใช้ได้

รอยร้าวอันตรายบริเวณโครงสร้าง สามารถซ่อมแซมได้หรือไม่ ?

“หากถามว่าซ่อมได้ไหม ถ้าตึกยังไม่ถล่มลงมา ซ่อมได้ครับ วิศวกรรมไม่ได้มีปัญหาอะไร” นายเกรียงไกร วิศวกรโยธาประสบการณ์ 30 ปี กล่าวกับบีบีซีไทย พร้อมบอกด้วยว่า การซ่อมแซมรอยร้าวที่ไม่ได้กระทบกับโครงสร้างหลักของตึกอาคาร สามารถดำเนินการซ่อมได้ในทันทีเหมือนการซ่อมแซมบ้านและอาคารทั่วไป แต่สุดท้ายก็ควรต้องมีการเรียกผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจอีกครั้งเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย

ด้าน ศ.ดร.วิโรจน์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการซ่อมแซมอาคารที่โครงสร้างได้รับความเสียหายไว้ว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วิธี

  • การเสริมกำลังเฉพาะจุด เพื่อเพิ่มความเหนียวให้กับโครงสร้าง เช่น การใช้แผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ (CFRP) หรือแผ่นเหล็กประกบเพื่อเพิ่มความเหนียวเฉพาะจุด
  • การเสริมกำลังโดยรวมของโครงสร้าง เพื่อเพิ่มกำลังของโครงสร้างทั้งอาคาร และเพิ่มความแข็งแกร่ง (stiffness) เช่น การหุ้มเสาทั้งเสาด้วยเหล็ก หรือเสริมกำลังด้วยคอนกรีตที่เสาให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิม (concrete jacketing)
  • การใช้อุปกรณ์สลายพลังงาน โดยหนึ่งในวิธีย่อยของเทคโนโลยีดังกล่าวที่เคยถูกประยุกต์ใช้ในประเทศไทย คือการยึดไร้การโก่งเดาะ (Buckling Restrained Brace : BRB)

ข้าม X โพสต์ , 2ยินยอมรับเนื้อหาจาก X

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก X เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ X และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ X ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก “ยินยอมและไปต่อ”

สิ้นสุด X โพสต์, 2

ศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวด้วยว่า การซ่อมและฟื้นฟูโครงสร้างของตึกในรูปข้างต้นที่ถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย สามารถทำได้ แต่จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ว่า กำลังโดยรวมของโครงสร้าง และความแข็งแรงของโครงสร้างยังเพียงพอ และความเสียหายเป็นเพียงเฉพาะจุดเท่านั้น โดยหากเป็นกรณีดังกล่าว “อาจต้องเสริมกำลังของเสาริม และเพิ่มความเหนียว แล้วอาจจะใช้วิธีที่เรียกว่า หุ้มปลอกเหล็ก (steel jacket) คือเอาโครงสร้างเหล็กมาหุ้มเสา หรือจะใช้เป็นคอนกรีตหุ้มเหล็กที่เรียกว่า หุ้มปลอกคอนกรีต (concrete jacketing) ได้”

ด้าน ผศ.ดร.จินตหรา กล่าวถึงการซ่อมแซมโครงสร้างหลักที่ได้รับผลกระทบไว้ว่า “ในส่วนที่เริ่มมีความเสียหายในส่วนของโครงสร้างหลัก จนส่วนที่เราเห็นเหล็กเสริมที่มันผุดออกมา ต้องมีการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อดูว่าโครงสร้างยังสามารถรับกำลังได้อยู่หรือไม่”

ทั้งนี้ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา ม.ธรรมศาสตร์ ได้แสดงทัศนะต่อการฟื้นฟูอาคารที่มีความเสียหายบริเวณเสาชั้น 1 ย่านลาดพร้าวไว้ว่า “อาจต้องมีการเสริมกำลัง โดยการเสริมกำลังด้วยคอนกรีตหรือเหล็กเสริม (concrete/ steel jacketing) ทำการสกัดตัวคอนกรีตที่มันเสียหายออก และเอาเหล็กเสริมไปเสริมเพิ่ม หรือว่ามีการทำเสาขึ้นมา อาจจะเป็นเสาที่พอกเพิ่มขึ้นมาจากเสาที่มีการเสียหาย”

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธาทั้งสองเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความเห็นของนายเกรียงไกร ที่ระบุกับบีบีซีไทยว่า เสาโครงสร้างในรูปข้างต้นสามารถทำการซ่อมแซมได้ “พอเคลียร์คนแล้ว จะซ่อมแซมต้องทำค้ำยันชั่วคราว (non eternal give a hang to) ดูแบบและหาวิธีว่าจะต้องค้ำยันชั่วคราวอย่างไร ถ่ายแรงอย่างไร แล้วถึงจะซ่อมเสาต้นนี้”

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.วิโรจน์ ยังกล่าวถึงบางกรณีที่ตึกและอาคารไม่สามารถถูกซ่อมฟื้นฟูได้ด้วย โดยชี้ว่าต้องคำนึงจากหลายปัจจัย “ถ้ากำลังและความแข็งแรงต่ำกว่าเกณฑ์เยอะ และเสียหายหลายจุด อย่างนั้นจะต้องทุบทิ้ง… ถ้าเกิดจุดอ่อนแค่เฉพาะบริเวณ เราอาจจะเสริมเฉพาะจุดได้อยู่ แต่ว่าถ้าโดยรวมแล้วเสียหายเยอะมากอาจจะซ่อมไม่ได้”

จุดอับที่มองไม่เห็นแต่ควรเฝ้าระวัง

ที่มาของภาพ : Getty Shots

หน้าอาคารคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ หลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 ม.ค.

“ที่ที่ควรดูมากกว่าการกังวลว่าตึกจะถล่มไหม ก็คือพวกฝ้า พวกผนัง พวกกระเบื้อง ซึ่งบางอันที่หลุดแล้ว ที่เห็นแล้ว มันไม่มีปัญหาหรอก แต่มันจะมีบางอย่างที่ขยับแล้วแต่ยังไม่หลุด สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่อยากให้ไปไล่ตรวจดู มันอาจไม่เกี่ยวว่าจะทำให้โครงสร้างพัง แต่มันอาจสร้างความเสียหายบาดเจ็บ” นายเกรียงไกร กล่าว โดยเน้นย้ำว่าผู้ใช้งานอาคารควรให้ความสำคัญกับบริเวณเหล่านี้ โดยเฉพาะฝ้าที่หลาย ๆ คนอาจคิดว่าถล่มเรียบร้อยแล้ว และยังไม่ทำการซ่อมแซม โดยกลับเข้าไปใช้งานอาคารทันที แต่บริเวณเหล่านี้หลังผ่านการใช้งานไปสักระยะ อาจเกิดการพัง หลุด หล่น หรือแตก ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน

“นอกจากนี้ การตรวจสอบ สำรวจท่อน้ำ ท่อประปา ยังถือเป็นเรื่องจำเป็น” วิศวกรโยธารายนี้กล่าว โดยชี้ว่าเนื่องจากเวลาตึกอาคารมีการขยับ อาจทำให้เกิดการรั่วซึมของท่อได้ แม้บางครั้งน้ำอาจยังไม่มีการรั่วไหลออกมา แต่ข้อต่ออาจมีการขยับ หรือผิดรูป ผู้ใช้งานจะได้ทำการซ่อมแซมได้อย่างทันท่วงที แม้ความอันตรายจะไม่เท่าผลกระทบต่อตัวโครงสร้าง แต่สิ่งเหล่านี้ก็สามารถสร้างความเดือดร้อนเสียหายได้

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.จินตหรา ที่กล่าวกับบีบีซีไทยว่า นอกจากการมุ่งเน้นซ่อมส่วนที่เสียหายชัดเจนแล้ว ยังต้อง “พิจารณาพวกงานระบบต่าง ๆ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญช่วยพิจารณาในเรื่องพวกงาน ข้อต่อ ท่อ ระบบต่าง ๆ หรือพวกสายไฟว่าอาจมีการชำรุดเสียหายหรือเปล่า”